มะเร็งจอตา (Retinoblastoma) โรคตาวาว (Leukocoria)


1,753 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ตามัว 

นิยาม

โรค/ภาวะ ตาวาว หรือ ลิวโคโคเรีย (Leukocoria) ได้แก่ โรคที่ทำให้การสะท้อนแสงภายในลูกตาผิดปกติ จึงเห็นเป็นตาวาวขึ้นโดยเฉพาะในที่มืด โดยชื่อโรคมาจาก คำว่า Leuko แปลว่า สีขาว Coria แปลว่า รูม่านตา เมื่อสองคำรวมกันจึงหมายความว่า ภาวะเป็นสีขาวบริเวณ รูม่านตา ซึ่งลักษณะที่เห็นจะเหมือนดวงตาของแมวเวลาค่ำคืน ที่ฝรั่งเรียกว่า Amaurotic cat eye (อะเมาโรติก แคท อาย หรือ ตาแมวตอนกลางคืน) เห็นเงาสะท้อนดูเป็นแสงแวววาวออกจากรูม่านตาบริเวณกลางตาดำ อาจจะมองเห็นเพียงจากด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกทิศทาง อาจเป็นตลอดเวลา หรือเห็นเป็นบางครั้งก็ได้

โรคตาวาว เป็นโรคมักเกิดในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 ปี) หากพบในเด็กคนใดต้องรีบพบจักษุแพทย์ (หมอตา) เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุของตาวาวนี้ทันที

โรคตาวาวมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของภาวะตาวาวนี้ อาจเกิดจากมีโรคภายในดวงตาเด็กได้หลายโรค อาทิเช่น

พบโรคมะเร็งจอตาบ่อยไหม? และมีลักษณะโรคเป็นอย่างไร?

มะเร็งจอตา เป็นมะเร็งในลูกตาที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของ มะเร็งในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เป็นอันดับ 3 รองลงมาจาก มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเนื้องอกในสมอง พบได้ทุกประเทศทั่วโลก โดยพบโรคได้ 1 ต่อ 15,000 – 30,000 ของเด็กคลอดมีชีวิต ซึ่งเชื่อกันว่า โรคนี้ อาจเกิดได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด หรืออายุเพียง 1 เดือนก็มี คงจะเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่เกิดตั้งแต่ในท้อง

โรค อาจจะเป็นกับตาข้างเดียวหรือพร้อมกัน 2 ตา โดยที่ไม่ใช่จากการกระจายจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้าง หรือบางคนอาจเป็นพร้อมกัน 3 ตา โดย อาจพบที่ ต่อมไพเนียล (Pineal gland) ในสมองร่วมด้วย (ต่อมไพเนียล เป็นต่อมอยู่ภายในใจกลางสมอง ถือเป็นตาที่ 3 ของคนเรา)

โรคมะเร็งจอตา เป็นมะเร็งที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นกรรมพันธุ์ สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้แบบปมเด่น (Dominant) จึงสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ถึงกึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่จะตรวจพบได้ในอายุ 1 เดือน ถึง 6 ปี อายุมากกว่านี้พบได้น้อยมาก ถ้าเป็น 2 ตา มักจะตรวจพบในอายุที่น้อยกว่าเป็นตาเดียว โดยมีการตรวจพบความผิดปกติในโครโมโซม (สารพันธุกรรม) อย่าง ชัดเจน

โรคมะเร็งจอตามีอาการอย่างไร?

อาการมะเร็งจอตาที่พบบ่อย คือ

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งจอตาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งจอตาได้ด้วยการตรวจดูจอตาอย่างละเอียดโดย ขยาย รูม่านตา ด้วยยาหยอดตา หากเด็กไม่ให้ความร่วมมือที่ดี อาจต้องให้ยานอนหลับโดยการกิน หรือฉีด หรือบางรายต้องดมยาสลบให้หลับ

เนื้องอกที่พบ จะมีลักษณะคล้ายเปลวมันหมู อาจพบก้อนเดียว หรือหลายก้อน ลักษณะของก้อนเนื้อมักแตกต่างชัดเจนไม่เหมือนโรคอื่นๆ โดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำให้ทำการ เอกซเรย์ดวงตาดูว่าเนื้อร้ายกระจายไปสู่เบ้าตาหรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ และอย่างไร เพื่อวางแผนในการรักษาต่อไป

โรคมะเร็งจอตา มักตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา (การตรวจทางพยาธิวิทยา) หรือ เจาะ/ดูดเซลล์ตรวจทางเซลล์วิทยา (การตรวจทางเซลล์วิทยา) ไม่ได้ เพราะก้อนเนื้ออยู่ลึกในลูกตา ต้องผ่าตัดรักษาก่อน จึงจะตรวจชิ้นเนื้อ และ/หรือ ตรวจเซลล์จากชิ้นเนื้อจากผ่าตัดได้

โรคมะเร็งจอตามีกี่ระยะ?

มีการจัดระยะโรคมะเร็งจอตาหลายระบบ และแพทย์โรคมะเร็งมักใช้หลายๆระบบเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อการรักษาและประเมินผลการรักษา แต่โดยทั่วไป มะเร็งจอตาแบ่งได้เป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งอื่นๆ ได้แก่

ระยะที่ 1:ก้อนเนื้อมะเร็งยังลุกลามเฉพาะในลูกตา

ระยะที่ 2:มะเร็งลุกลามออกจากลูกตาเข้าในเบ้าตา และ/หรือ เข้าประสาทตา

ระยะที่ 3:มะเร็งลุกลามเข้าสมอง และ/หรือ น้ำไขสันหลัง

ระยะที่ 4: ไขกระดูก และกระดูกมะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ

โรคมะเร็งจอตารักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งจอตา ได้แก่ ผ่าตัดลูกตาทั้งตา เช่นเดียวกับหลักของการรักษามะเร็งทั่วๆไป ที่ต้องเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับมะเร็งจอตาเนื่องจากอยู่ภายในลูกตา ยากที่จะเข้าไปตัดเฉพาะก้อนเนื้อออก หรือแม้แต่การตัดชิ้นเนื้อมาตรวจเฉกเช่นมะเร็งบริเวณอื่นก็ทำไม่ได้ การผ่าตัดเอาตาออกจึงเป็นทั้งการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนและรักษาไปด้วย ดังนั้น จึงเป็นการยากมากที่ พ่อแม่เด็ก จะเข้าใจและยอมรับ หรือยอมผ่าตัดลูกตาออก มักจะต้องใช้เวลาให้ญาติพาไปพบหมอตาหลายๆท่านก่อนเสมอ ต่อเมื่อเห็นว่า วิธีรักษาเหมือนๆกัน จึงพอจะทำใจได้

ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งจอตาได้อีกหลายวิธี (นอกเหนือจากผ่าตัด) ดังจะกล่าวต่อไป ทั้งนี้เพื่อพยายามเก็บลูกตาไว้

อย่างไรก็ตาม จักษุแพทย์มักผ่าตัดลูกตาออกในกรณีพบว่าตาข้างนั้นมองไม่เห็นแล้ว หรือ ผ่าตัดตาข้างที่เป็นมาก (ในกรณีเป็น 2 ตา) เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

การรักษาวิธีการอื่น เพื่อเก็บลูกตาไว้ เช่น

  1. จี้เย็น โดยการใช้ความเย็นสูงมาก จี้บริเวณก้อนเนื้อเพื่อหยุดการ เจริญเติบโตของก้อนเนื้อ ใช้ในกรณีก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก
  2. ใช้แสงเลเซอร์ หลักการเช่นเดียวกับวิธีจี้เย็น
  3. รังสีรักษา เฉกเช่น มะเร็งอื่นๆในร่างกาย
  4. เคมีบำบัด ปัจจุบันมียาในกลุ่มนี้ออกใหม่มากมาย อาจใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อให้ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลง แล้วจึงตามด้วยการรักษาวิธีที่ 1 2 และ/หรือ 3 ต่อไป

โรคมะเร็งจอตารักษาหายไหม? รุนแรงไหม?

โรคมะเร็งจอตาเป็นโรครุนแรงปานกลาง โอกาสรักษาหายขึ้นกับระยะโรค ขนาด และ ตำแหน่งของก้อนเนื้อในลูกตา ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อโรคยังอยู่ในระยะที่ 1 อัตรารอดที่ห้าปี (โอกาสหาย) ประมาณ 80-90% และจะลดลงตามลำดับระยะโรคที่สูงขึ้น จนถึงไม่มีโอกาสรักษาได้หายในโรคระยะที่ 4

พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อมีลูกเป็นมะเร็งจอตา?

นอกจากการดูแลรักษาลูกที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ดังกล่าวแล้ว พ่อแม่ต้องดูแลลูกคนอื่นๆด้วย เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ พ่อแม่จึงควรทราบแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้ในลูกคนอื่นๆ หรือแม้แต่การมีลูกของผู้ป่วยเอง (เมื่อรอดชีวิตจากโรคมะเร็งและเติบโตมีครอบครัว) ว่าลูกมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งได้มีการศึกษาสรุปโอกาสของการเกิดโรค ดังนี้

  1. พ่อ-แม่ ปกติ มีลูกเป็นโรคนี้ 1 คน โอกาสที่ลูกคนต่อไปจะเป็นโรค 6%
  2. ถ้ามีลูกเป็นโรคนี้ 2 คน ลูกคนต่อไปมีโอกาสเป็นโรค 50%
  3. ถ้ามีประวัติคนอื่นในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ผู้ป่วยที่หายจากโรคมีโอกาสที่ลูกจะเป็นโรคนี้ ถึง 50%
  4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เพียงคนเดียวในครอบครัว มีโอกาสมีลูกเป็นโรคนี้ 12.5%

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ดังกล่าวแล้วว่า โรคอาจเกิดได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเช่นเดียวกับในการดูแลดวงตาลูก คือ ควรสังเกตดวงตาลูกตั้งแต่แรกเกิดเสมอ เมื่อพบความผิดปกติ หรือ สงสัย หรือ กังวลใจ ควรรีบปรึกษา จักษุแพทย์ ถ้าไม่มีจักษุแพทย์ ถามหมอเด็ก หมอที่ทำคลอด หรือ หมอแผนกใดก็ได้

จากการศึกษาติดตามผู้ป่วยโรคนี้ในระยะยาว แม้รักษาลูกตาข้างที่เป็นโรคหายแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดมะเร็งที่ตาอีกข้าง หรือที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น มะเร็งกระดูก ได้อีกด้วย แพทย์จึงต้องมีการนัดตรวจติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองจึงควรนำเด็กพบแพทย์ตามนัดเสมอ

อนึ่ง ดังกล่าวแล้ว ควรนำลูกคนอื่นๆมาให้ จักษุแพทย์ ตรวจดวงตาด้วย เพราะจากที่กล่าวแล้วว่า เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ลูกคนอื่นๆจึงอาจเกิดโรคได้โดยยังไม่แสดงอาการ ดังนั้น การตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และอาจเก็บดวงตาเด็กไว้ได้ ไม่ต้องผ่าตัดดวงตาออก
ที่มา   https://haamor.com/th/มะเร็งจอตา/

อัพเดทล่าสุด