บาดทะยัก (Tetanus)


1,234 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

กล้ามเนื้อ  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

กล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว 

บทนำ

โรคบาดะยัก (Tetanus) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คำว่า Tetanus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ teinein ซึ่งแปลว่า ‘ยืดออก’ ที่เรียกเช่นนี้ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีการหดตัวและแข็งเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นทั่วตัว โดยที่ทำให้แผ่นหลังมีการยืดตัวออก ซึ่งเป็นท่าทางที่เป็นรูปแบบเฉพาะ ทั้งนี้ แบคทีเรียที่ก่อโรคนี้ชื่อว่า Clostridium tetani ซึ่งความสำคัญของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเสียชีวิต และคนที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งแล้ว สามารถเป็นได้อีก แต่โรคนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันได้

อะไรคือสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคบาดทะยัก?

เชื้อบาดทะยัก เป็นเชื้อแบคทีเรียรูปแท่ง ที่ปลายมีสปอร์/Spore (จุดที่พักตัวของแบคทีเรียเพื่อรอการเจริญเติบโตเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม) ทำให้มีรูปร่างเหมือนไม้เทนนิส หรือไม้ตีกลอง เชื้อโรคนี้พบได้ทั่วทุกมุมโลก โดยเชื้อที่ ว่า อาศัยอยู่ในดิน ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ ฝุ่น รวมทั้งผิวหนัง และอุจจาระคน ตัวเชื้อบาด ทะยักถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน แต่สปอร์ของเชื้อมีความทนทาน สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมได้นานหลายปี ทนต่อน้ำเดือดได้นานถึง 20 นาที และทนต่อสารเคมี และยาฆ่าเชื้อต่างๆ

ติดเชื้อบาดทะยักได้อย่างไร?

เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง คือ

  • ผ่านทางแผลสด โดยส่วนใหญ่จะเป็นแผลขนาดเล็กๆแต่ลึก เช่น แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำ แผลอื่นๆ เช่น แผลถูกสัตว์กัด แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแม้แต่แผลผ่าตัดก็พบได้ ถ้าระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่มาตรฐาน หรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด รวมทั้งแผลจากการถอนฟัน รักษารากฟัน ก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
  • ผ่านทางแผลเรื้อรัง เช่นแผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี
  • ผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน พบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด หรือ การสักลาย (Tattoo)
  • ผ่านทางสายสะดือในเด็กแรกคลอด เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก และการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือเด็ก
  • จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ
  • มีบางกรณีที่ไม่พบสาเหตุว่า เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางไหน

เชื้อบาดทะยักก่อโรคได้อย่างไร?

เมื่อเชื้อบาดทะยัก เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะอยู่บริเวณเนื้อเยื่อที่เชื้อโรคเข้าไปก่อน เมื่อมีสภาวะที่เหมาะสม คือไม่มีออกซิเจน สปอร์ของเชื้อโรคก็จะงอก และผลิตสารพิษออกมา 2 ชนิด คือ ชนิดเตตาโนลัยซิน (Tetanolysin) ซึ่งยังไม่ทราบบทบาทที่ชัดเจนของสารพิษตัวนี้ และชนิดที่มีบทบาททำให้เกิดโรค ชื่อว่า เตตาโนสะปาสมิน (Tetanospasmin) สารพิษชนิดนี้ถ้าเทียบโดยน้ำหนักแล้ว ถือว่าเป็นสารพิษที่มีพิษรุนแรงมาก เพราะปริมาณเพียงแค่ 2.5 นาโนกรัม (1 ล้านนาโนกรัมคือ 1 กรัม) ต่อน้ำหนักคน 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้ เมื่อเชื้อโรคผลิตสารพิษแล้ว สารพิษก็จะเข้าสู่กระแสเลือด กระจายเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย แล้วเดินทางจากเส้นประสาทส่วนปลายเข้าสู่ไขสันหลัง และในที่สุดก็เข้าสู่สมอง ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้

สารพิษ เตตาโนสะปาสมิน จะเข้าขัดขวางการทำงานของเซลล์ประสาท ที่อยู่ในไขสันหลังและสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์ประสาทสั่งการทำงานมากเกินไป และสมองควบคุมไม่ได้ จึงทำให้กล้าม เนื้อมีการแข็งเกร็งและหดตัวมากเกินไป

โรคบาดทะยักมีอาการอย่างไร?

โรคบาดทะยัก มี ระยะฟักตัว คือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนกระทั่งเกิดอาการ ประมาณ 8 วัน (อยู่ในช่วง 3-21 วัน) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบาดทะยัก จะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่เกิดอาการทั่วร่างกาย เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ซึ่งไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่มักมีไข้ โดยเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อบริเวณกรามแข็งเกร็ง อ้าปากได้ยาก เรียกว่า ทริสมัส (Trismus) เกิดอาการกลืนลำบาก ต่อมา กล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และหลัง จะแข็งเกร็ง ทำให้มีอาการปวด และในที่สุดกล้ามเนื้อทั่วตัวก็จะแข็งเกร็ง และมีการหดตัวเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีท่าทางที่จำเพาะ เช่น การที่กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ามีการหดตัวและแข็งเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยแสดงสีหน้าที่ดูเหมือนกำลังแสยะยิ้ม มีชื่อเฉพาะเรียกว่า ไรสัส ซาร์โดนิคัส (Risus sardonicus) ส่วนการที่กล้ามเนื้อหลังหดตัวและแข็งเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหงายตัวออก กล้ามเนื้อขาเหยียดตึงไปด้านหลัง (คล้ายทำท่าสะพานโค้ง) และกล้ามเนื้อแขนงอ และบิดออกพร้อมกับกำหมัด ท่านี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่า โอปีสโธโทนัส (Opisthotonus)

    การหดเกร็งของกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ เพียงช่วงสั้นๆ โดยมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อยเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการหดเกร็งขึ้นมา เช่น เสียงดัง การสัมผัสตัว ในขณะที่มีการหดตัวและแข้งเกร็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นนั้น การรับรู้สัมผัสและความรู้สึกตัวของผู้ป่วยจะปกติทุกอย่าง (ซึ่งไม่เหมือนกับผู้ป่วยโรคลม ชัก ที่จะไม่รู้สึกตัว) ถ้าอาการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นยาวนาน จะทำให้หายใจได้ลำบาก ผู้ป่วยจะขาดอากาศ และตัวเขียว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่รุนแรง คือกล้ามเนื้อทั้งตัวหดตัวและแข็งเกร็งอย่างรุนแรงพร้อมๆกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดแสนสาหัส และทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยการหายใจทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ หลอดลมหดเกร็ง เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาและเสีย ชีวิตในที่สุด

    ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ (ระบบประสาทที่ทำงานโดยไม่ผ่านสมอง เช่น การบีบตัวของลำไส้) ผิดปกติร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแขน/ขาหดตัว หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดหัวใจหยุดเต้น มีไข้สูงมาก และ/หรือ เหงื่อออกทั่วตัว

    โรคในกลุ่มนี้ มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 4-30% ขึ้นกับได้รับเชื้อในปริมาณน้อย หรือ มาก และอายุ

    โดยในผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โอกาสเสียชีวิตจะสูง

  2. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้พบได้ค่อนข้างน้อย อาการจะมีแค่การหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณใกล้แผลเท่านั้น พิษของเชื้อไม่ลุกลามเข้าสู่สมองและไขสันหลัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโรคไม่รุนแรง อัตรา เสียชีวิตประมาณ 1%
  3. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ศีรษะ เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมากมาก เกิดจากผู้ป่วยมีอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือมีการติดเชื้ออักเสบของหูชั้นกลาง พิษของเชื้อจะเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณใบหน้า และอาจลุกลามเข้าสู่สมอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง

อนึ่งเด็กแรกเกิด ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือประกอบกับมารดาไม่เคยฉีดวัคซีน จึงไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อให้ลูกได้ อาการ คือ หลังคลอดได้ประมาณ 7 วัน เด็กทารกจะไม่ค่อยดูดนม งอแง และมีการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง เด็กมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 90%บาดทะยักใน

แพทย์วินิจฉัยโรคบาดทะยักได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคบาดทะยัก ได้จาก อาการเป็นหลัก รวมทั้งประวัติการมีบาดแผลตามร่างกาย การตรวจร่างกาย และประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยัก ซึ่งในบุคคลที่เคยได้รับวัคซีนครบและได้รับวัคซีนกระตุ้นตามกำหนด ก็จะไม่มีโอกาสเป็นโรคบาดทะยัก สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่มีการตรวจที่จำเพาะกับโรคนี้ การตรวจจะเป็นเพียงเพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกัน เช่น

  • การตรวจหาสารพิษสตริกนีน (Strychnine) ผู้ป่วยที่ได้รับพิษ Strychnine ซึ่งอยู่ในยาฆ่าแมลง จะมีอาการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยัก ถ้าประวัติการได้รับสารพิษของผู้ป่วยไม่ชัดเจน ก็ต้องเจาะตรวจหาสารพิษชนิดนี้ด้วย
  • การตรวจเม็ดเลือดขาวจากเลือด (การตรวจซีบีซี) ส่วนใหญ่จะพบ ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่มักมีปริมาณเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง จะพบว่าปกติ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ทำให้มีไขสันหลังและสมองอักเสบที่ทำให้มีอาการชักเกร็งคล้ายคลึงกัน

อนึ่งวัคซีนครบ ก็จะไม่เป็นบาดทะยัก) การเพาะเชื้อไม่ช่วยในการวินิจฉัย เพราะผิวหนังปกติของคนเราก็มีเชื้อบาดทะยักเจริญอยู่ได้ (ตราบใดที่เราไม่มีบาดแผล และได้รับการฉีด

รักษาโรคบาดทะยักได้อย่างไร?

หลักของการรักษาโรคบาดทะยัก คือ เพื่อกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสาร พิษ เพื่อทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว และการรักษาประคับประคองตาอาการ รวมทั้งการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคอีก

  1. การกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสปอร์ของเชื้อที่กำลังงอก ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลที่ยังไม่หายดี ก็จะ เปิดปากแผลให้กว้าง ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก เพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคที่อยู่ในบาดแผล
  2. การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายได้มาก โดยการให้สารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี (Antibody) ไปทำลายสารพิษ ซึ่งสารภูมิต้านทาน อาจได้จากน้ำเหลืองของม้าหรือของคน (Equine tetanus antitoxin หรือ Human tetanus immunoglobulin) ซึ่งแอนติบอดีที่ไปทำลายสารพิษนี้ จะทำลายเฉพาะสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น ไม่สามารถทำลายสารพิษที่เข้าสู่เส้นประสาทไปแล้วได้
  3. การรักษาประคับประคองตาอาการ ได้แก่ การให้ยาเพื่อลดการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งมียาอยู่หลายกลุ่ม ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ ผล ผู้ป่วยยังมีอาการหดเกร็งมาก เสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลว อาจจะพิจารณาให้ยาที่ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจไว้หายใจแทน ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นความดันโลหิตขึ้นสูงมาก ก็ให้ยาควบคุมความดันโลหิต ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้า หรือหยุดเต้นก็อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
  4. การให้วัคซีน ผู้ป่วยทุกรายที่หายจากโรคแล้ว ต้องให้วัคซีนตามกำหนดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อบาดทะยัก ไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้

มีผลข้างเคียงจากโรคบาดทะยักไหม? โรคบาดทะยักรุนแรงไหม?

ผลข้างเคียง หรือ ผลแทรกซ้อน ที่พบได้จากโรคบาดทะยัก คือ

อนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจมีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาจมีอาการหดตัวเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่รุนแรง อยู่ได้นานต่อไปอีกหลายเดือน แต่ในที่สุดก็จะหายเป็นปกติ

ส่วน ผู้ป่วยเด็กทารกที่สามารถมีชีวิตรอดจากโรคบาดทะยักได้ ก็มักมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตและสติปัญญา

ป้องกันโรคบาดทะยักได้อย่างไร?

สามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ดังนี้ คือ

  1. โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักถูกผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จในทหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาวัคซีนชนิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และอาจเป็นแบบวัคซีนรวมอื่นๆ
  2. ในเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือนและ 15-18 เดือน ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 4-6 ปี ก็ให้ฉีดวัคซีนรวมกระตุ้นอีก 1 ครั้ง พออายุได้ 11-12 ปี ก็ให้วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ กระตุ้น อีก 1 เข็ม หลังจากนั้นก็ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ กระตุ้นทุกๆ 10 ปี สาเหตุที่ต้องฉีดทุกๆ 10 ปีนั้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคจะค่อยๆ ลดไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา และอาจไม่พอที่จะป้องกันโรคเมื่อได้รับสารพิษของเชื้อบาดทะยัก
  3. สำหรับในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้รับวัคซีนในวัยเด็กไม่ครบ หรือได้รับมาเกิน 10 ปีแล้ว ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ เข็มที่ 3 ให้ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6-12 เดือน และฉีดกระตุ้นๆ ทุกๆ 10 ปีตลอดไป
  4. หากฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบถี่เกินไป คือน้อยกว่าทุก 10 ปีอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมาก มีอาการบวมแดงที่อาจเกิดทั้งแขนที่ฉีดก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคบาดทะยัก
  5. หญิงตั้งครรภ์ทุกราย ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักหรือประวัติการได้ รับวัคซีนไม่ชัดเจน หรือได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 10 ปีมาแล้ว ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดตรงตำแหน่งไหนหรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม ควรพบแพทย์ ดังนี้

  • ในกรณีที่แผลมีขนาดเล็ก แผลสะอาด เช่น แผลถูกตะปูตำ หนามตำ มีดในบ้านบาด ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักมาก่อน หรือฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 10 ปี ต้องพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนบาดทะยัก
  • ในกรณีที่แผลนั้นมีขนาดใหญ่ หรือค่อนข้างสกปรก เช่น แผลจากอุบัติเหตุรถชน โดนเศษแก้วจากกองขยะบาด แผลสัตว์กัด ถ้าฉีดวัคซีนมาครบตามกำหนดแต่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 5 ปี ต้องพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนบาดทะยัก ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบตามกำหนดนอกจากจะต้องฉีดวัคซีนบาดทะยักแล้ว ต้องให้แอนติบอดีเพื่อไปทำลายพิษด้วย

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สปอร์ของเชื้อบาดทะยักทนทานต่อสารเคมีหลายชนิด รวมทั้งยาฆ่าเชื้อด้วย ดังนั้นการล้างแผลเองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่นแอลกอฮอล์ 70% หรือ เบตาดีน ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่บาดแผลให้หมดไปได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ


ที่มา   https://haamor.com/th/บาดทะยัก/

อัพเดทล่าสุด