ตาขี้เกียจ (Amblyopia)


1,027 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ตาเข 

บทนำ

ภาวะ หรือ โรค ตาขี้เกียจ (Amblyopia) หรือ พจนานุกรมศัพท์แพทย์ศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๓ เรียกว่า โรคตามัว (แอมไบลโอเปีย/Amblyopia) โดยคำว่า Amblyopia มาจากภาษากรีก จากคำ Amblyos รวมกับ Opia ซึ่ง Amblyos หมายถึง มืดมัว และ Opia หมายถึงสายตา รวมกันจึงหมายความว่า สายตามืดมัว ซึ่งมักเป็นกับตาข้างเดียว ส่วนน้อยเป็นกับ ตาทั้งสองข้าง

โดยที่ไม่พบโรคหรือสิ่งผิดปกติของตาหรือประสาทตาที่รับรู้การเห็นไปจนถึงสมองส่วนที่เป็นศูนย์รับรู้การเห็นบริเวณท้ายทอย หรือถ้าพบสิ่งผิดปกติแม้แก้ไขสิ่งผิดปกตินั้นแล้ว ตาข้างนั้นก็ยังมัวเหมือนเดิม นัยหนึ่งก็คือ ภาวะตามัวโดยที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นปกติดี ภาวะนี้ ภาษา อังกฤษชาวบ้านเรียกกันว่า Lazy eye หมายถึงตาดีแต่ขี้เกียจทำงานนั่นเอง ซึ่งเป็นที่มาของ คำว่า ภาวะตาขี้เกียจ

พบภาวะตาขี้เกียจนี้เฉพาะในเด็กเท่านั้น จากสถิติพบว่าเด็กที่มีอายุ 2-3 ปี พบได้ถึง 2.0–2.5% แต่การเกิดภาวะนี้จะลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่พบในเด็กอายุเกิน 7 ปี กล่าวคือ แม้จะมาตรวจพบในอายุมากกว่านี้ ก็เกิดจาก เป็นภาวะนี้มาตั้งแต่เด็กเล็กทั้งสิ้น หรือถ้าเด็กมีตาปกติตลอดจนอายุมากกว่า 7 ปี ก็จะไม่เกิดภาวะนี้

ภาวะตาขี้เกียจเกิดได้อย่างไร?

การมองเห็นเป็นการรับรู้ทางสัมผัสอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีการพัฒนาที่สมบูรณ์ทันทีที่เด็กเกิดมา แม้ว่าเด็กเกิดมาจะมีดวงตาที่ปกติเด็กแรกเกิดซึ่งยังมองเห็นไม่ชัดเจน แต่จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นทันทีที่เด็กลืมตาและมีแสงสว่างกระทบดวงตาผ่านส่วนต่างๆภายในดวงตาถึงจอตาที่มีเซลล์รับรู้แสงและเก็บส่งสัญญาณไปยังสมอง เด็กจะค่อยๆมีการเห็นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงอายุ 4–5 ปี สายตาถึงจะใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ โดยจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 3- 12 เดือน แล้วพัฒนาอย่างช้าๆ ไปถึงสูงสุดในอายุประมาณ 5 ปี หากในช่วงนี้มีสิ่งกีดขวางมิให้แสงจากวัตถุไปกระตุ้นจอตา ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม จอตาจะไม่เกิดการเรียนรู้ นานเข้าก็เลยมิอาจเรียนรู้ว่าการมองเห็นนั้นเป็นอย่างไร ทำให้การมองเห็นด้อยกว่าคนปกติหรือด้อยกว่าตาอีกข้าง อาจจะต่างกันเล็กน้อยหรือ มาก คล้ายๆ ขี้เกียจมากหรือน้อยก็ได้ แม้เมื่อโตขึ้น จะพยายามแก้ไขเหตุที่กีดขวางออก จอตาก็มิอาจเรียนรู้ได้ เรียกว่า มารักษาตอนโตมักไม่ได้ผลนั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองสภาวะนี้ให้เกิดในแมว และลิง โดยเย็บหนังตาให้ปิดในตาข้างหนึ่งทันทีที่สัตว์เกิด ปรากฏว่าตาข้างนั้นของแมวและลิงมองไม่เห็น จึงเป็นการพิสูจน์ถึงภาวะนี้ได้อย่างดี อีกตัวอย่าง คือ โรคที่พบเห็นกันบ่อยๆ คือโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุเมื่อมารับการผ่าตัดสายตาจะกลับคืนได้เพราะตาได้พัฒนามาแล้วตั้งแต่แรกเกิด แต่ถ้าต้อกระจกแต่กำเนิด ถ้ารอให้โตค่อยมารับการผ่าตัด แม้การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี แต่การมองเห็นจะไม่ดีไม่เหมือนรักษาต้อกระจกในผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพราะจอตาในเด็กที่เป็นต้อกระจกแต่กำเนิดไม่เคยเรียนรู้การมองเห็นมาก่อน ผิดกับต้อกระจกผู้ใหญ่ที่จอตาเคยเรียนรู้การมองเห็นแล้ว จึงมองเห็นได้ดีหลังผ่าตัด ภาวะตาขี้เกียจนี้ เริ่มเกิดและเกิดเฉพาะในเด็กเท่านั้น และตาข้างนั้นจะมัวอย่างนั้นตลอดไปถ้าไม่ได้รับการแก้ไขแต่เนิ่นๆ

ภาวะตาขี้เกียจมีสาเหตุจากอะไร?

ภาวะตาขี้เกียจเกิดจากสาเหตุหลัก 3 อย่าง ได้แก่

  1. ตาเหล่ ตาเหล่ข้างเดียว ชนิดเหล่เข้าใน (อีโสโทรเปีย/Esotropia) ตาข้างที่เหล่เป็นประจำจะเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น เพราะตาดีจะเห็นภาพภาพหนึ่ง แต่ ตาเหล่เข้าในกลับไปมองเห็นคนละภาพในเวลาเดียวกัน สมองจึงเกิดการสับสนเพราะเห็นของ 2 สิ่งซ้อนกันอยู่ จึงต้องมีการกดภาพภาพหนึ่งไว้ สมองก็มักจะเลือกกดภาพจากตาข้างเหล่ เมื่อตาข้างเหล่ถูกกดไว้นานๆ ก็จะไม่รับรู้การเห็นอีกต่อไป ตาข้างเหล่จึงเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น

    ในกรณีของคนที่ตาผลัดกันเหล่ ตาขวาเหล่บ้าง บางครั้งตาซ้ายเหล่ ตาทั้ง 2 ข้างจึงผลัดกันใช้งาน จึงมักไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจ แต่ก็มีข้อเสียในกรณีผลัดกันเหล่ เพราะตาทั้ง 2 ข้าง จะไม่เคยทำงานร่วมกัน กล่าวคือ ถ้าตาขวาตรงจะมองเห็น ตาซ้ายก็จะไม่รับรู้การเห็น ถ้าตาซ้ายเห็น ตาขวาก็จะไม่เห็น ธรรมชาติสร้างให้ตาคนเรามี 2 ข้างและให้ใช้ร่วมกันเพื่อการมองเห็นที่สมบูรณ์ที่สุด คือ การเห็นภาพ 3 มิติ หากมีวัตถุเล็กๆที่มี 3 มิติ มีกว้างยาวและหนา ถ้าตา 2 ข้างไม่ทำงานร่วมกัน คนนั้นจะไม่เห็นวัตถุ 3 มิติได้ เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพบางอย่างที่ต้องการการมองเห็นที่ดีที่สุด เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น ช่างฝีมือต่างๆ เป็นต้น

    โดยเฉพาะในเด็กที่เป็น
  2. สายตาผิดปกติ อาจจะเป็นสายตาทั้ง 2 ข้าง ที่แตกต่างกัน ซึ่งตาข้างที่ผิดปกติมากกว่ามักจะเกิดภาวะตาขี้เกียจหรือสายตาผิดปกติมากทั้ง 2 ข้าง ภาวะนี้มักเกิดตาขี้เกียจทั้ง 2 ตา ในกรณีสายตา 2 ข้างต่างกันมาก พบว่า

    ทั้งนี้คนสายตาสั้นแม้ภาพไกลมองไม่ชัด แต่ภาพใกล้ยังเห็นชัด จึงมีการฝึกใช้สายตาอยู่บ้าง ขณะที่สายตายาวหรือสายตาเอียง ภาพทั้งไกลและใกล้ก็ไม่ชัดทั้งนั้น คนสายตายาวหรือสายตาเอียงจึงมีโอกาสเกิดภาวะตาขี้เกียจได้มากกว่าคนสายตาสั้น

    สำหรับกรณีสายตา 2 ข้าง ไม่ต่างกัน แต่ผิดปกติมากทั้ง 2 ข้าง มักเกิดภาวะสายตาขี้เกียจทั้ง 2 ข้าง โดยมักเกิดในภาวะสายตายาวทั้งสองข้าง 5 ไดออปเตอร์ ขึ้นไป หรือสายตาสั้นทั้งสองข้างถึง 10 ไดออปเตอร์ ขึ้นไป

  3. เด็กที่เกิดมาพร้อมโรคตาบางอย่างบดบังมิให้แสงเข้าสู่จอตา เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด หนังตาตกปิดตาดำข้างหนึ่ง หรือ มีปานแดงบริเวณหนังตาจนปิดตาข้างหนึ่ง เป็นต้น

มีวิธีแก้ไขภาวะตาขี้เกียจอย่างไร?

วิธีแก้ไข หรือ รักษาภาวะตาขี้เกียจ คือ ต้องรักษาตั้งแต่เด็กๆ หรือทันทีที่ตรวจพบ โดยการรักษามีหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่

  1. ขจัดสาเหตุที่บดบังการมองเห็น (ถ้ามี) เช่น ผ่าตัดต้อกระจก หรือแก้ไขภาวะหนังตาตก เป็นต้น
  2. แก้ไขสายตาผิดปกติที่มีอยู่
  3. กระตุ้นตาที่ไม่ทำงานให้กลับมาทำงาน วิธีง่ายๆ คือ ปิดตาดีไว้ ให้ตาขี้เกียจได้ทำงานบ้าง ในบางรายอาจใช้ยาหยอดให้ตาดี พร่ามัว เพื่อให้ตาขี้เกียจได้ทำงานบ้างเมื่อเด็กไม่ยอมให้ปิดตา

ดูเหมือนว่า การรักษาจะทำได้ไม่ยากนัก แต่ก็ยังมีภาวะนี้เกิดขึ้นจนเด็กโต ทั้งนี้เพราะการตรวจพบ และรับการรักษาภาวะนี้ถูกละเลยมากกว่า เพราะเด็กเล็กๆบอกไม่ได้ว่าตนเองตามองไม่เห็นหรือตามัว และภาวะนี้ไม่มีอาการเจ็บปวดหรือเคืองตาทั้งสิ้นเด็กไม่ทราบว่ามีตามัวอยู่ข้างหนึ่ง เพราะใช้แต่ตาข้างดี ซ้ำร้ายผู้ปกครองมักจะคิดว่ารอเด็กโตค่อยรักษา อันจะทำให้เวลาที่รักษาได้ผล ผ่านไป

ป้องกันภาวะตาขี้เกียจได้อย่างไร? ควรนำเด็กพบจักษุแพทย์เมื่อไร?

ข้อเสนอแนะให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดภาวะตาขี้เกียจของเด็ก คือ

  1. เด็กควรได้รับการสังเกตดวงตาตั้งแต่แรกคลอด โดยดูลักษณะ ขนาดของดวงตาทั่วๆ ไปว่า ปกติดีหรือไม่ มีอะไรที่มาปิดตาดำของเด็กหรือไม่ ซึ่งผู้ปกครองสามารถสังเกตเองได้
  2. เมื่อเด็กอายุ 2–3 เดือน แม่หรือพี่เลี้ยงต้องคอยสังเกตว่าเด็กน้อยจ้องหน้าแม่หรือพี่เลี้ยงเวลาให้นมได้หรือไม่ เมื่อเด็กยังทำไม่ได้ ควรต้องปรึกษาแพทย์
  3. เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน เด็กควรจ้องมองตามวัตถุได้ โดยตาเด็กปกติจะจ้องนิ่งได้ หลักการ คือ เมื่อเด็กมองวัตถุ ตาต้องอยู่ตรงกลาง ตานิ่งจับวัตถุ เรียกกันทางแพทย์ว่ามี ซีจีเอ็ม (CGM คือ Central/ตาดำที่มองวัตถุต้องอยู่ตรงกลาง Good/ตาต้องมองจ้องภาพวัตถุตรงหน้า Maintain/ตาจับนิ่งกับวัตถุ) เมื่อเด็กทำไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์
  4. เมื่ออายุ 3 ปี เป็นวัยที่เด็กพอจะให้ความร่วมมือในการวัดสายตาโดยใช้แผ่นภาพ เป็นรูปภาพ หรือรูปสัตว์ที่เด็กคุ้นเคย ขนาดต่างๆกัน สามารถวัดระดับการมองเห็นของเด็กได้ ในวัยนี้สายตาควรจะใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ อีกทั้งเด็กวัยนี้มักจะให้ความร่วมมือในการตรวจดูว่ามี ตาเหล่หรือไม่ได้ดี จึงควรนำเด็กพบหมอตา (จักษุแพทย์) เสมอ ถึงแม้ผู้ปกครองไม่พบว่าเด็กเห็นผิดปกติ กล่าวคือ เป็นการตรวจสุขภาพตาเด็กนั่นเอง

อนึ่งความผิดปกติของตา จะได้พบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นมาก แต่ถ้าพบความผิดปกติทางสายตา หรือ ของดวงตา เช่น ตาเหล่ ควรรีบนำเด็กพบจักษุแพทย์เสมอ สมาคมจักษุแพทย์และกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำให้เด็กควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่แรกคลอด อายุ 6 เดือน อายุ 3 ปี และหลังจากนั้นควรตรวจทุกปี หรือ ตามจักษุแพทย์แนะนำ หรืออย่างน้อยปีเว้นปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพตาเด็ก เพื่อป้องกันโรคตาที่ป้องกันได้ และเมื่อเกิด

อัพเดทล่าสุด