เด็กนอนหลับยาก / เด็กนอนไม่หลับ (Sleep problems in children)


1,152 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

อาการที่เกี่ยวข้อง :

นอนไม่หลับ  ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ 

ทั่วไป

ปัญหาการนอนหลับยาก หรือไม่ยอมนอน หรือนอนไม่หลับ (Sleep problems in child ren หรือ Sleep disorders in children) พบประปรายในเด็ก เนื่องจากการนอนหลับยากมีผลต่อการเรียนหรือ การมีชีวิตและกิจกรรมในเวลากลางวันของเด็ก ซึ่งบางทีเด็กอาจจะนอนมากในเวลากลางวัน หรือเรียนไม่รู้เรื่อง แต่กลางคืนไม่นอนจึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่กังวลใจ ในต่างประ เทศมีศาสตร์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนอนผิดปกติ ทั้งนอนมากเกินไปและนอนหลับยาก มีผู้เกี่ยว ข้องหลายสาขาได้แก่ กุมารแพทย์ทั่วไป แพทย์ทางระบบประสาท แพทย์ทางจิตเวชเด็ก แพทย์ทางระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

ในต่างประเทศพบปัญหาเด็กนอนหลับยากจำนวนมาก เนื่องจากในบ้านมักติดโทรทัศน์วงจรปิดเพราะลูกนอนแยกห้องกับพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่เห็นว่าเด็กหลับยาก หรือมีปัญหาต่างๆในเวลากลางคืน

ในบ้านเราปัญหานี้อาจพบไม่มากเท่า เพราะลูกนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ พ่อแม่หลับแล้วลูกยังไม่หลับจึงไม่พบว่าเป็นปัญหาไม่ได้กังวลอะไร ในที่สุดลูกก็มักจะหลับ ยกเว้นเมื่อลูกมีปัญ หาและแพทย์ให้คอยดูเรื่องการนอนจึงพบว่าเป็นปัญหา

อุบัติการณ์การนอนไม่หลับในเด็กพบได้ประมาณ 20-30%

ปัญหาการนอนหลับยากมีสาเหตุจากอะไร? ดูแลรักษาอย่างไร?

สาเหตุของการนอนหลับยาก หรือหลับได้ไม่นานในเด็ก อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นสองส่วน ส่วนแรกจากปัจจัยของเด็กเอง ส่วนที่สองเป็นปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก

  • ปัจจัยจากตัวเด็กเอง

    แบ่งเป็น 4 สาเหตุคือ
    1. มีความเจ็บป่วย หรือโรค หรือความไม่สบายของร่างกาย ทำให้เด็กมีปัญหาการนอน
    2. มีปัญหาด้านจิตใจ ปัญหาทางด้านโรคทางระบบประสาท หรือจิตเวชในเด็ก
    3. นอนหลับยากจากยาที่เด็กบริโภคอยู่
    4. เป็นนิสัยพื้นฐานของเด็กเองที่นอนหลับยาก (Behavior insomnia)
    1. ความเจ็บป่วย หรือโรคที่พบเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนหลับยาก

      เช่น
      1. หูชั้นกลางอักเสบเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากที่ทำให้เด็กนอนไม่หลับ ซึ่งพบได้ทั้งหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน และหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง

        ในหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บหู อาเจียน ทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งเกิดได้ทั้งในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ในพวกหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังมักจะมีอาการเห็นชัดตอนกลางคืน เนื่องจากเด็กรู้สึกมีปัญหาไม่สบายหู ปวดหู หรือมีไข้ไม่สบายตัวทำให้นอนไม่หลับ

        การรักษาหูชั้นกลางอักเสบจะทำให้เด็กหายจากอาการเจ็บปวดไม่สบายตัวและกลับ มานอนเป็นปกติได้

      2. การเป็นหวัดจากการแพ้ (Allergic rhinitis) ซึ่งทำให้แน่นจมูก หายใจไม่ออก คันจมูก คันตา มีน้ำมูกจาม ในปัจจุบันพบเด็กเป็นหวัดจากโรคภูมิแพ้มากขึ้น ในสหรัฐอเมริกา พบสูงถึงประมาณ 40% เพราะมีสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้มากขึ้น การรักษาในปัจจุบัน มียาสำหรับพ่นจมูกให้หายใจโล่งขึ้น โดยมีอาการข้างเคียงน้อย มีให้ใช้หลายชนิด

        ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine) อาจช่วยเรื่องแพ้ เรื่องคัน หรือแก้หวัดได้ แต่เด็กบางคนอาจนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยา

        เช่นเดียวกับเด็กที่มีอาการไอจากภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบ (หลอดลมอักเสบในเด็ก) หรือพวกที่เป็นโรคหืด (โรคหืดในเด็ก) การได้ยาขยายหลอดลมชนิดรับประทานอาจมีผลให้ ใจสั่น มือสั่น นอนไม่หลับ

      3. ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้/โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กนอนไม่หลับที่พบบ่อยมาก พบว่าเด็ก 5-20% เป็นผิวหนังอักเสบจากภูมิ แพ้และทำให้เกิดปัญหาในการนอนถึง 60%

        การนอนไม่หลับเกิดเนื่องจากอาการคันมาก หรือเป็นผลข้างเคียงจากการรักษา เช่นการให้ยาแอนติฮีสตามีนเพื่อลดอาการคัน ซึ่งการรักษาผิวหนังอักเสบทำให้เด็กลดอาการคันแล้วนอนหลับได้

      4. ความเจ็บป่วยเรื้อรังหลายอย่างทำให้เด็กนอนหลับยาก ได้แก่ โรคที่ทำให้ปวดข้อหรือกระดูก ไมเกรนทำให้ ปวดศีรษะ โรคหืด โรคเบาหวานในเด็ก โรคกรดไหลย้อน การนอนไม่หลับอาจเกิดจากตัวโรคเองที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด หรือความไม่สุขสบาย หรือจากยาที่ใช้รักษา และผลข้างเคียงของยาทำให้เด็กนอนไม่หลับ หรือเกิดจากความวิตกกังวลของเด็ก
    2. ปัญหาด้านจิตใจ

      1. เด็กที่มีปัญหาชัก หรือเด็กที่มีความผิดปกติในระบบประสาท อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ จนมีปัญหาการนอนไม่หลับ เมื่อรักษาอาการทางระบบประสาทได้ อาการนอนหลับจะดีขึ้น

        การรักษาอาการนอนไม่หลับในเด็กที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทจะซับซ้อนมาก กว่าการรักษาในเด็กที่ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เพราะการนอนไม่หลับอาจเกิดจากโรคหรือเกิดจากยาที่ใช้รักษา จึงต้องมีการหาสาเหตุให้แน่ชัด และจัดการรักษาตามสาเหตุ

      2. เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการนอนมากกว่าเด็กปกติ ส่วนใหญ่จะนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท หรือบางครั้งมีอาการหยุดหายใจเป็นระยะจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive sleep apnea) ซึ่งพบในเด็กกลุ่มนี้ได้มากกว่าเด็กปกติ

        แต่ผู้เขียนพบเด็กอายุ 8 ขวบ คุณแม่มาปรึกษาว่าลูกนอนไม่หลับ พอซักได้ความว่าลูกไม่ยอมนอนเพราะอ่านหนังสือแฮรี่ พ็อตเตอร์ ลูกชอบอ่านมาก ไปวัดไอคิวเด็กได้ 130 และเด็กฉลาดอยากเรียนรู้ ชอบอ่านหนังสือจนไม่อยากนอน ซึ่งคงไม่ต่างจากผู้ใหญ่ หากอ่านหนังสือสนุกก็วางไม่ลง คงต้องมีการตกลงกันให้อ่านเมื่อไรและต้องนอนเมื่อไร หากวันที่โรงเรียนเปิด ควรกำหนดเวลานอน กลางวันไปโรงเรียนจะได้ไม่ง่วง และหากอยากอ่านหนังสือดึกอนุญาตแต่ช่วงวันหยุด

      ทางระบบประสาท และจิตเวช ได้แก่
    3. นอนหลับยากจากยาที่เด็กบริโภคอยู่

      ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มที่จะทำให้เด็กหลับ ทั้งที่ใช้รักษาอาการความเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือรักษาภาวะชัก หรือรักษาปัญหาด้านจิตใจ เมื่อใช้ไปนานๆยานั้นกลับทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับเสียเอง เช่น คลอรอลไฮเดรต (Chloral hydrate) ฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) ยากลุ่มขยายหลอดลมชนิดรับประทาน เช่น ธีโอฟิลลีน (Theophylline) ซึ่งทำให้นอนไม่หลับเพราะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง การพ่นยาขยายหลอดลมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการนอนเพราะการออกฤทธิ์อยู่ในระยะเวลาสั้นกว่าชนิดรับ ประทาน

      หากพบว่าเป็นปัญหาจากยา การหยุดยาจะทำให้นอนหลับดีขึ้น แต่หากหยุดไม่ได้ควรปรับเวลาการให้ยา ไม่ให้ใกล้กับเวลานอน หรือให้ยาที่มีฤทธิ์รักษาคล้ายกัน แต่ไม่ทำให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับ

      อนึ่ง ในเด็กโต การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และดื่มกาแฟ หรือการพยายามจะหยุดหรือลดสิ่งเหล่านี้เมื่อเคยบริโภคต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดปัญหาในการนอนได้เช่นกัน

    4. นิสัยพื้นฐานของเด็กเองที่นอนหลับยาก

      • แก้นิสัยนอนหลับยากของเด็กได้อย่างไร?

        ในเด็กที่มีนิสัยนอนหลับยากที่ต้องอุ้ม ต้องเขย่า หรือต้องกินนมก่อนนอน มีวิธีแก้ได้เหมือนกับการแก้นิสัยที่ไม่ต้องการ คือ

        1. นอนให้เป็นเวลา ก่อนนอนอาบน้ำให้สบายตัว ใส่เสื้อผ้าที่สบาย อ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอน
        2. เลิกทำสิ่งต่างๆที่เด็กติด เช่น ไม่อุ้ม ไม่เขย่า หรือให้กินนม ซึ่งอาจจะยากอยู่บ้าง บางครั้งเด็กจะร้องตะโกน ก็ต้องทำใจแข็ง การเพิกเฉยนี้เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าจะต้องมีการปรับนิสัย การให้อยู่ตามลำพังสักพัก (ส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็น 2-3 นาทีถึง 5 นาทีตามอายุเช่น 2 ปีใช้ 2 นาที 3 ปี 3 นาทีประมาณนั้น) เด็กก็จะค่อยๆ ปรับตัวได้ดีขึ้น วิธีนี้ได้ผลดีในการปรับนิสัยที่ไม่พึงต้องการในเด็ก แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ใจไม่แข็งพอ
        3. พยายามถอยห่าง ให้เด็กได้มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองบ้าง ไม่ติดกับพ่อแม่มากเกินไปจนแกะจากกันไม่ออก โดยค่อยๆถอยห่างทีละน้อย เช่น แม่อาจนั่งอยู่ด้วยกันในห้อง ต่อ ไปแม่อาจนั่งที่หน้าห้องยังได้ยินเสียงกันอยู่ ต่อไปก็ห่างออกไป เด็กก็จะหัดอยู่คนเดียวได้ แต่อย่าทิ้งไปเลย พึงระวังสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กหรืออุบัติเหตุจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่นปลั๊กไฟ สิ่งแปลกปลอมที่เด็กอาจเก็บใส่ปากหรือจมูกแล้วสำลัก
        4. ให้กำลังใจ ให้คำชม หรือให้รางวัล เมื่อเด็กสามารถทำได้ตามที่ตั้งความสำเร็จไว้ และสามารถปฏิบัติได้ต่อไป การให้รางวัลก็ให้สมควรแก่อายุและสมควรแก่เหตุ เช่น ให้ดาว การให้รางวัลเล็กๆ แต่บ่อยๆ จะได้ผลดีกว่าการให้รางวัลใหญ่แต่น้อยครั้ง
        5. บิดามารดาควรมีความรู้พื้นฐานในเรื่องการนอนของเด็ก เพื่อให้เข้าใจว่าการนอนปกติเป็นอย่างไร เช่น ให้เด็กเข้านอนและตื่นเป็นเวลารวมทั้งในวันหยุดต่างๆ การจัดสภาพแวด ล้อมในห้องนอน/การเตรียมบริเวณที่นอนให้ถูกสุขลักษณะ การไม่ให้เด็กมีกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดหรือยุ่งยากเมื่อใกล้เวลานอน และการสร้างนิสัยที่ควรแก่เด็ก

      ทั้งนี้การแก้ปัญหาด้วยยามักจะทำเมื่อการปรับนิสัยการนอนแล้วไม่ได้ผล และต้องคำ นึงถึงผลข้างเคียงจากยาดังได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อ 3 ด้วย

      พบบ่อยที่สุดในเด็กอายุตั้งแต่ขวบปีแรกจนถึง 5 ปี แต่อาจจะติดเป็นนิสัยไปจนโต เด็กกลุ่มนี้บางครั้งหลับยากจนกว่าจะมีสิ่งที่ตนเองชอบ ทำให้ก่อนหลับ เช่น ต้องให้พ่อแม่อุ้มแล้วเขย่าตัวจนหลับ หรือต้องดูดนมก่อนจึงจะหลับได้ เมื่อหลับไปแล้วตื่นใหม่ก็ต้องให้พ่อแม่ทำอย่างเดิมอีกจึงจะหลับได้ และเด็กก็จะต้องมีสิ่งที่ต้องการเหล่านี้ก่อนหลับ หากไม่มีใครทำให้ จะนอนไม่หลับ เด็กโตหน่อยอาจจะมีการกรีดร้อง หรือต่อต้านการนอนโดยเฉพาะหากพ่อแม่ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้
  • ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกที่อาจมีผลให้เด็กหลับยาก

    สภาพแวดล้อมจากห้องนอนซึ่งมีคนหลายคนนอนรวมกัน และ/หรือมีเรื่องที่ทำให้ห้องมีเสียงดังอึกทึกหรือไม่สงบสุขสำหรับการนอน หรือพ่อแม่เองก็นอนดึก ทำให้เด็กมีปัญหานอนหลับยาก

    วิธีแก้ไขไม่ยาก คือจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เหมาะสมทำให้เด็กนอนหลับได้ และให้มีเวลาการนอนที่แน่นอนเป็นนิสัย

    การจัดเวลานอนให้เป็นเวลา ต่อไปเมื่อถึงเวลา เด็กก็จะง่วงนอนได้เองตามปกติ

เมื่อไรคืออาการนอนหลับยากที่ต้องไปพบแพทย์?

เมื่อเด็กนอนหลับยาก ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อ อาการนอนไม่หลับที่ไม่ยอมหายเป็นเวลานาน แม้ความเจ็บป่วยต่างๆจะดีขึ้นแล้ว และ/หรือ การนอนไม่หลับหรือหลับยากมีปัญหาต่อกิจวัตรประจำวันของเด็ก เช่น ต่อการเรียน ต่อการทำกิจกรรมต่างๆ

แพทย์มีขั้นตอนอย่างไรหากพบเด็กมีปัญหานอนหลับยาก?

  • แพทย์จะซักประวัติที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุต่างๆ ที่เป็นเหตุให้นอนหลับยาก
  • แพทย์จะตรวจร่างกายดูว่ามีความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องทางร่างกายหรือไม่

หากซักประวัติหรือตรวจดูว่าอาจมีอาการเจ็บป่วย อาการชัก หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับทางจิตเวช หรือจากนิสัยหลับยาก หรือเกี่ยวข้องกับยา แพทย์จะดำเนินการเพื่อการวินิจฉัยและรักษาตามเหตุที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา   https://haamor.com/th/เด็กนอนไม่หลับ/

อัพเดทล่าสุด