คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)


1,206 ผู้ชม


การคลอดก่อนกำหนดคืออะไร?

ในทางการแพทย์ เมื่อสตรีไปฝากครรภ์ แพทย์ผู้ดูแลจะคาดคะเนวันคลอดหรือวันกำหนดคลอดให้ ซึ่งอายุครรภ์ครบกำหนดในคนคือ ตั้งครรภ์ครบ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน โดยคำนวณจากประวัติการเป็นประจำเดือนครั้งสุดท้าย หากทารกคลอดในช่วงระหว่างอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ถึงก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ หรือ 259 วัน เรียกว่า การคลอดก่อนกำหนด (Pre term labor หรือ Premature labor) และเรียกทารกที่เกิดว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด (Pre term infant หรือ Premature infant หรือ Preemie หรือ Premie) แต่ถ้าทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ซึ่งทารกมักเสียชีวิต เรียกว่า การแท้ง (Abortion)

สูตรการคำนวณวันครบกำหนดคลอด = วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย + 7 วัน – 3 เดือน

ยกตัวอย่าง: สตรีคนหนึ่งมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายวันที่ 15 เมษายน 2555 ดังนั้น วันครบกำหนดคลอด = 22 มกราคม 2556 หากสตรีผู้นี้คลอดก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ถือว่า คลอดก่อนกำหนด

ผลกระทบของการคลอดก่อนกำหนดต่อทารกมีอะไรบ้าง?

ธรรมชาติได้พยายามทำให้อวัยวะต่างๆของทารกมีการพัฒนาสมบูรณ์ที่สุดตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือในมดลูกของแม่ ก่อนที่ต้องออกมาสู่โลกภายนอก ดังนั้นหากมีการคลอดก่อนกำหนด อวัยวะและระบบการทำงานต่างๆของร่างกายยังไม่พัฒนาเต็มที่ จึงมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของทารกอย่างมาก

การคลอดก่อนกำหนดเป็นความผิดปกติทางสูติกรรมอย่างหนึ่ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกเสียชีวิตและมีความพิการสูง ปัญหาของทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีมากมาย เช่น น้ำหนักตัวน้อย การขยายตัวของปอดไม่สมบูรณ์ทำให้มีปัญหาในการหายใจ มีปัญหาเลือดออกในสมอง มีการติดเชื้อ มีการพัฒนาการทางด้านร่างกายไม่ดี สมองอาจมีความพิการได้ง่าย

นอกจากนั้น การที่ทารกกลุ่มนี้มีน้ำหนักตัวน้อย จึงต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงมาก และพบว่าแม้จะผ่านช่วงที่มีปัญหาระยะเฉียบพลัน คือระยะแรกคลอดไปแล้ว ผลหรือภาวะแทรกซ้อนต่อระบบการทำงานต่างๆในร่างกายทารกในระยะยาว ยังพบได้มากอีกด้วย เช่น ปัญหาด้านสติปัญญา ด้านสายตา และทารกมักมีสุขภาพไม่แข็งแรง ทั้งนี้ความรุนแรงของปัญหาจะขึ้นกับอายุครรภ์ที่เด็กเกิด ซึ่งจะเป็นภาระของทั้งครอบครัวและประเทศชาติ

ปัญหาการคลอดก่อนกำหนด ยังเป็นปัญหาทางสูติกรรมทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2548 องค์การอนามัยโลก ประมาณว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด 12.9 ล้านคน หรือ 9.6% ของการคลอดทั้งหมด ส่วนในประเทศไทย มีรายงานจากโรงพยาบาลศิริราชพบว่า มีอัตราการคลอดก่อนกำหนด 12.9%

อายุครรภ์เท่าไรเด็กจึงมีโอกาสรอด?

ในอดีต หากทารกคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการแท้ง เพราะโอ กาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันวิทยาการการดูแลทารกก่อนกำหนดมีการพัฒนาไปอย่างมาก สามารถเลี้ยงทารกอายุครรภ์ที่น้อยๆได้

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าการคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ขึ้นไป หรือน้ำ หนักทารกมากกว่าหรือเท่ากับ 500 กรัม (สามารถเลี้ยงทารกได้รอด) จนถึงอายุครรภ์ก่อนครบ 37 สัปดาห์ ถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด

สำหรับโรงพยาบาลในประเทศไทย ที่มีขีดความสามารถ สามารถดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดให้รอดตั้งแต่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ หรือมีน้ำหนัก 600 กรัมขึ้นไปได้

อย่างไรก็ตามยิ่งทารกอายุครรภ์น้อยเท่าไหร่โอกาสทารกรอดชีวิตจะน้อยกว่าทารกที่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้น ดังนี้

  • อายุครรภ์ 22-23 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 17 %
  • อายุครรภ์ 24-25 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 40-50 %
  • อายุครรภ์ 26-28 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 80-90 %
  • อายุครรภ์ 29-31 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 90-95%
  • อายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 95 %
  • อายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตเหมือนทารกคลอดครบกำหนด คือประมาณ 95-98%

ปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดคืออะไร?

สาเหตุที่แท้จริงของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดและเกิดการคลอดก่อนกำหนดตามมา ยังไม่ทราบชัดเจน ประมาณ 50% หาสาเหตุไม่ได้ แต่พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่สัมพันธ์กับการชักนำให้กล้ามเนื้อมดลูกของสตรีตั้งครรภ์มีการหดรัดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนทำให้เกิดอาการเจ็บครรภ์คลอด และคลอดทารกก่อนเวลาอันควร ได้แก่

  1. มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน พบว่าสิ่งนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อครรภ์แรก คลอดก่อนกำหนดครรภ์ต่อมามักจะมีการคลอดก่อนกำหนดด้วย
  2. มารดาอายุมากเกินไป มากกว่า 35 ปี หรือ น้อยเกินไป น้อยกว่า 17 ปี
  3. มีการอักเสบในช่องคลอดของมารดา เช่น จากภาวะ Bacterial vaginosis
  4. มารดามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Group B streptococcus
  5. มารดามีฟันผุ และ/หรือ มีการอักเสบของเหงือก
  6. มารดามีการติดเชื้ออย่างรุนแรงในร่างกาย
  7. มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โพรงมดลูกมีเนื้อเยื่อผิดปกติ กั้นให้เกิดมีโพรงมดลูก 2 โพรง (Uterine septate) และ รูปทรงมดลูกผิดปกติเป็นทรงคล้ายรูปหัวใจ (Bicornuate uterus) เป็นต้น
  8. มีการขยายตัวของมดลูกมากเกินไป เช่น การตั้งครรภ์แฝด ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือ มีเนื้องอกมดลูกร่วมด้วย
  9. มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์จริง
  10. โรคประจำตัวของมารดาที่มีผลต่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  11. การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และ ใช้สารเสพติด ในสตรีตั้งครรภ์

แพทย์วินิจฉัยการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้อย่างไร?

ก่อนที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นการเตือนล่วงหน้า ได้แก่

  1. อาการ

    เมื่อจะมีการคลอดเกิดขึ้น ต้องมีการเจ็บครรภ์มาก่อน อาการเจ็บครรภ์เกิดเนื่องจากมีการหดรัดตัวของมดลูกเป็นระยะๆ และสม่ำเสมอ (1-2 ครั้ง ใน 10 นาที เกิดนานครั้งละมาก กว่า 30 วินาที) ยิ่งใกล้คลอดเท่าใด การหดรัดตัวของมดลูกจะถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สตรีตั้งครรภ์เกิดอาการเจ็บครรภ์ ถี่มากขึ้นเรื่อยๆ สตรีตั้งครรภ์อาจสังเกตตนเองเห็นมีเลือดปนมูกออกทางช่องคลอด หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปโรงพยาบาล

  2. อาการที่แพทย์ตรวจพบ
    1. มีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก เมื่อมดลูกมีการหดรัดตัวจะทำให้เกิดแรงดันภายในโพรงมดลูก ไปดันปากมดลูกและทำให้ปากมดลูกเปิดขยาย ดังนั้นเมื่อตรวจภายใน ปากมดลูกจะมีการบางตัว มีการเปิดขยายจาก 0 เซนติเมตร (ซม.) คือ ปากมดลูกปิด ไปเป็น 10 ซม. ซึ่งถือว่าปากมดลูกเปิดขยายหมด
    2. ถุงน้ำคร่ำแตก โดยทั่วไปถุงน้ำคร่ำจะแตกตอนใกล้คลอด หากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดคลอดแต่เกิดมีน้ำใสๆไหลโชกออกทางช่องคลอด กลั้นไม่ได้ เป็นสัญญาณว่า น่าจะมีการคลอดตามมาในไม่ช้า ต้องรีบไปโรงพยาบาล
  3. การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์)

    มีการใช้การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง มาช่วยทำนายโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางช่องคลอด เพื่อวัดความยาว และดูรูปร่างของปากมดลูก หากความยาวปากมดลูกสั้นกว่าหรือเท่ากับ 2. 5 ซม. ที่อายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ และ/หรือ ปากมดลูกเป็นรูปกรวย เป็นสัญญาณเตือนว่ามีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด

  4. การตรวจสารคัดหลั่ง

    การตรวจหาสาร Fetal fibronectin จากสารคัดหลั่งในช่องคลอด ซึ่งตามปกติจะตรวจไม่พบ ซึ่งสาร Fetal fibronectin นี้สร้างจากเซลล์ของลูก พบอยู่ระหว่างถุงการตั้งครรภ์ (Gestational sac ถุงน้ำที่เป็นที่อยู่ของทารกในครรภ์ ) กับ เยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูก จะทำให้สารเหล่านี้ ออกมาอยู่ในช่องคลอด ถ้าการตรวจพบว่า เป็นผลบวก แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะคลอดในระยะเวลาอันสั้น ถ้าการตรวจพบว่าเป็นผลลบ แสดงว่ามีโอกาสจะคลอดก่อนกำหนดลดลง

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดและการดูแลตนเองของสตรีตั้งครรภ์ทำได้อย่างไร?

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และการดูแลตนเองของสตรีตั้งครรภ์ คือ

  1. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ลดการทำงานหนัก
  3. งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา
  4. การใช้ยาลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อมดลูกตามสูติแพทย์แนะนำ เช่น Proluton depot ทุกสัปดาห์ในช่วงการตั้งครรภ์ได้ 20-34 สัปดาห์ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูก หรือมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
  5. การรักษาการติดเชื้อต่างๆ เช่น ฟันผุ การติดเชื้อในช่องคลอด
  6. หลีกเลี่ยง หรืองดมีเพศสัมพันธ์ ในสตรีที่มีประวัตการคลอดก่อนกำหนด

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

เมื่อสตรีรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อแพทย์จะได้ช่วยดูแล แก้ไขปัญหาหรือหาทางป้องกันในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์นั้น มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

โดยทั่วไปช่วงตั้งครรภ์ก่อนที่จะครบกำหนดคลอด มดลูกจะมีการหดรัดตัวเป็นระยะๆ ไม่สม่ำเสมอ ไม่รุนแรง วันละ 2-3 ครั้ง ไม่ทำให้เกิดอาการปวด อาการเช่นนี้ไม่เป็นอันตราย เพราะไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการคลอดตามมา แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบไปพบสูติแพทย์/ไปโรงพยาบาล ได้แก่

  1. กล้ามเนื้อมดลูกมีการหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยหดรัดตัวแรง และถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทุก 10 นาที (6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง)
  2. มีอาการปวดบริเวณท้อง ร้าวไปเอว ไปขา นอนพักแล้วไม่หายปวด
  3. มีน้ำไหลโจ๊กออกทางช่องคลอด คล้ายกับปัสสาวะราด และกลั้นไม่ได้
  4. มีมูก เลือด ออกทางช่องคลอด
  5. ปวดหน่วงในช่องเชิงกรานมาก รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) แล้วไม่ดีขึ้น

การรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมีอะไรบ้าง?

จุดประสงค์หลักของการรักษาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด คือ พยายามยืดเวลาการตั้งครรภ์ออกไปให้ถึง 37 สัปดาห์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระบบต่างๆของร่างกายทารกสมบูรณ์เพียงพอที่จะออกมาสู่โลกภายนอก

เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของการคลอดก่อนกำหนดยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจุบันจึงยังไม่มียาที่ดีที่สุดที่ใช้รักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาแบบประคับประครองเพื่อซื้อเวลาอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมง เพื่อที่จะรอเวลาเมื่อฉีดยากลุ่ม Cortico steroid ไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของปอดทารกอยู่ในครรภ์ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 34 สัปดาห์ หรือเพื่อซื้อเวลาในช่วงที่ส่งต่อมารดาและทารกที่อยู่ในครรภ์ไปยังสถานที่ดู แลรักษาทารกคลอดก่อนกำหนดได้ ยาที่ใช้ลดการหดรัดตัวของมดลูกในปัจจุบันมี 5 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. ยากลุ่ม ß-adrenergic- receptor agonist ปกติยากลุ่มนี้ใช้รักษาโรคหอบหืด ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมขยายตัว แต่จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัวด้วย จึงมีการนำยานี้มาใช้เป็นยารักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เป็นยาที่ใช้กันมานานมาก ยาที่ได้ผ่านการยอมรับขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาคือ Ritodrine ส่วนยาที่มีใช้ในไทยได้แก่ Terbutaline และ Salbutamol กลไกการออกฤทธิ์ คือ ที่กล้ามเนื้อมดลูกจะมี ß2 receptor เมื่อถูกกระตุ้นด้วยยากลุ่มนี้จะทำให้มดลูกคลายตัว แต่ในขณะเดียวกันยาจะไปกระตุ้นที่หัวใจที่มี β1 receptor ด้วยทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็ว ใจสั่นได้ด้วย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยา รูปแบบของการบริหารยามีทั้งแบบรับประทาน การฉีดยาเข้าที่ชั้นผิว หนัง การฉีดยาเข้าหลอดเลือด ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อยจากการใช้ยากลุ่มนี้คือ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงที่มีรายงานคือทำให้เกิด ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ทำให้มารดาเสียชีวิตได้
  2. ยา Magnesium sulfate มีการนำมาใช้รักษาการคลอดก่อนกำหนด กลไกการออกฤทธิ์ที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าทำให้เซลล์กล้ามเนื้อมดลูกไม่หดรัดตัว จึงทำให้มด ลูกคลายตัว แต่ยานี้ค่อนข้างอันตรายเนื่องจากระดับยาที่ใช้ลดการหดรัดตัวของมดลูก จะเป็นระดับยาที่สูงและเป็นอันตรายต่อมารดาได้
  3. ยาในกลุ่ม Prostaglandin synthesis inhibitor ปกติเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่กลุ่มยาสเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวด แต่การที่ยามีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร Prostaglandins ซึ่งเป็นสารกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว จึงมีการนำยากลุ่มนี้มาใช้พบว่า มดลูกไม่มีการหดรัดตัว ยาที่มีการนำมาใช้ คือ Indomethacin แต่จะมีผลข้างเคียงต่อทารกมาก
  4. ยาในกลุ่ม Oxytocin receptor antagonist ซึ่งเป็นยาสามารถยับยั้งการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้ ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ยาที่นำมาใช้ คือ Atosiban ซึ่งได้รับการยอมรับจากองค์กรในยุโรป European drug agencies เพราะผลข้างเคียงต่อมารดามีน้อย แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการนำยานี้เข้ามาใช้
  5. ยากลุ่ม Calcium channel blocker ตามปกติยากลุ่มนี้ใช้รักษา โรคความดันโลหิตสูง กลไกการออกฤทธิ์ของยา จะทำให้หลอดเลือดคลายตัว ความดันโลหิตลดลงได้ และมีผลลดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกด้วย ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมนำมาใช้รักษาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด มี 2 ตัวคือ Nifedipine และ Nicardipine ข้อดีของยานี้เมื่อเทียบกับยายับ ยั้งการหดรัดตัวของมดลูกกลุ่มอื่นๆ คือ บริหารยาได้ง่าย สามารถให้แบบรับประทานได้ ราคายาถูก ผลข้างเคียงของยาต่ำกว่ายากลุ่มอื่น ซึ่งความนิยมในการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน และมีข้อมูลงานวิจัยออกมามากมายว่าผลการรักษาดีกว่า และผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่า

อนึ่ง หากการยับยั้งด้วยยาสำเร็จ ก็สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ส่วนการให้รับประทานยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกต่อไปอีกจนกระทั่งคลอด ยังมีข้อมูลสนับ สนุนไม่เพียงพอ เพราะต้องคำนึงถึงอาการข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นที่อาจตามมาได้

แต่หากให้ยายับยั้งการคลอดไม่สำเร็จ เนื่องจากมีอาการข้างเคียงรุนแรง หรือให้ยาในขนาดสูงแล้วมดลูกยังมีการหดรัดตัวถี่ขึ้นๆเรื่อยๆ ก็ต้องหยุดยาเพื่อรักษาชีวิตคนไข้/มารดาไว้ ต้องยอมปล่อยให้มีการคลอดก่อนกำหนด และปรึกษากุมารแพทย์เพื่อดูแลทารกที่คลอดก่อนกำ หนดต่อไป

ตามหลักฐานข้อมูลวิจัยที่ยืนยันว่า สิ่งที่มีประสิทธิภาพ หรือประโยชน์ในการดูแลทา รกคลอดก่อนกำหนด มี 3 อย่าง คือ

  1. การฉีดยา Corticosteroid เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของปอดทารก
  2. การใช้ยาปฏิชีวนะป้องการการติดเชื้อแบคทีเรีย Group B streptococcus
  3. การส่งต่อมารดาและทารกที่อยู่ในครรภ์ไปยังโรงพยาบาลที่สามารถให้การดูแลทารกอายุครรภ์อ่อนๆได้

*****หมายเหตุ การใช้ยาต่างๆดังกล่าวแล้วทั้งต่อมารดาและต่อทารกเมื่อคลอดก่อนกำ หนด ต้องอยู่ในการดูแล และสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อยาใช้เอง เพราะจัดเป็นยาอัน ตราย ที่อาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงทั้งต่อมารดา และต่อทารกในครรภ์ได้

การคลอดก่อนกำหนดมีผลกระทบต่อมารดาหลังคลอดไหม? มีผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปไหม?

โดยทั่วไปการคลอดก่อนกำหนด มักไม่มีผลกระทบต่อร่างกายของมารดามากนัก เนื่อง จากทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีน้ำหนักตัวน้อย ทำให้คลอดง่าย ความชอกช้ำของช่องทางคลอดมีน้อย แผลหายไว แต่จะมีปัญหาด้านจิตใจมากกว่า แล้วมีผลกระทบทางอ้อมมาสู่สุข ภาพมารดาอีกที มารดาจะมีความเครียดสูง กลัวทารกเลี้ยงไม่รอด กลัวทารกไม่แข็งแรง ไม่สม บูรณ์ ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล หากเครียดมากอาจเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รับประทานอาหารได้น้อย ไม่ดูแลเอาใจใส่ตนเอง นอกจากนั้นหากทารกอายุครรภ์อ่อนมากๆ มารดาไม่สามารถให้นมบุตรได้เอง ส่งผลให้การสร้างน้ำนมลดลง

ส่วนผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป คือ มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้นกว่าคนทั่วไปที่มีประวัติการคลอดปกติเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรได้รับการดูแลหรือคำแนะนำที่ถูก ต้องจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

มารดาควรดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอด?

การดูแลตนเองของมารดาที่คลอดก่อนกำหนดที่สำคัญ คือ ต้องเอาใจใส่ดูแลทั้งสุข ภาพกายและสุขภาพจิตให้ดี รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบถ้วนทุกวัน เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และสามารถสร้างน้ำนมไว้เลี้ยงทารก เพราะทารกที่อายุใกล้ 37 สัปดาห์ ก็เกือบเหมือนทารกคลอดตามกำหนดปกติ หากทารกไม่สามารถดูดนมได้ด้วยตนเอง สามารถบีบหรือปั๊มน้ำนมเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อให้ลูกดื่มได้

มารดาต้องพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ควรละเลยเรื่องคุมกำเนิด ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์ออกไป การคลอดที่อายุครรภ์ยิ่งน้อยเท่าไหร่ และประ กอบกับการไม่ได้ให้นมบุตร โอกาสตกไข่จะกลับมาเร็ว มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ง่าย

มารดาหลังคลอดควรทำจิตใจให้สบาย เบิกบาน ไม่เครียด จะทำให้มารดามีความสุข และมีกำลังใจในการเลี้ยงดูทารกต่อไป
ที่มา   https://haamor.com/th/คลอดก่อนกำหนด/

อัพเดทล่าสุด