ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
ต่อมน้ำลายหน้าหู ระบบโรคติดเชื้ออาการที่เกี่ยวข้อง :
ไข้ เจ็บต่อมน้ำลายหน้าหูทั่วไป
โรคคางทูม (Mumps หรือ มัมส์) เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันของทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัส มัมไวรัส (Mumps virus หรือ พารามิกโซไวรัส/Paramyxovirus) เป็นการอักเสบของต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ซึ่งอยู่บริเวณแก้ม หน้าหู เหนือขากรรไกร เรียกว่า ต่อม พาโรติด (Parotid glands) ซึ่งเป็นต่อมคู่ มีทั้งข้างซ้าย และ ข้างขวา ซึ่งโรคอาจเกิดกับต่อมน้ำลายเพียงข้างเดียว หรือทั้ง สองข้างได้ นอกจากนั้นอาจเกิดกับต่อมน้ำลายอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร และ/หรือ ต่อมน้ำลายใต้คาง ซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก และเมื่อเกิดกับต่อมน้ำลายอื่นๆ มักเกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมพาโรติดด้วยเสมอ คางทูม เป็นโรคพบเกิดบ่อยในฤดูหนาว และต้นฤดูร้อน มักเกิดในเด็กปฐมวัย อายุ 2-5 ปี
โรคคางทูมมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคคางทูม เกิดหลังสัมผัสโรค (ระยะฟักตัวประมาณ 14-18 วัน แต่อาจเร็วได้ถึง 7 วัน หรือนานได้ถึง 25 วัน โดยจากไวรัสก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมพาโรติด เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตัว เบื่ออาหาร หลังจากนั้น 1-2 วัน จะเจ็บบริเวณ หน้าหู และขากรรไกร ต่อมา ต่อมน้ำลาย พาโรติด จะค่อยๆโตขึ้น อาจโตมากถึงระดับลูกตา และ เจ็บมาก อาจมีอาการเจ็บแก้ม และเจ็บหู ด้านเดียวกับต่อมน้ำลายที่เกิดโรค อย่างไรก็ตาม ประมาณ 30% ไม่มีอาการอื่น ยกเว้นมีเพียงต่อมพาโรติดโตเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไป อาการและต่อมน้ำลายที่โตจะค่อยๆยุบหายไปในระยะเวลา ประมาณ 7-10 วัน
โรคคางทูมติดต่อไหม? ติดต่ออย่างไร?
คางทูม เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ จากการหายใจ และ สัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย ระยะที่ติดต่อได้ง่าย คือ 1-7 วัน ก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ไปจนถึง 5-10 วัน หลังจากมีการบวมของต่อมน้ำลาย
โรคคางทูมรุนแรงไหม?
โดยทั่วไป คางทูมเป็นโรคไม่รุนแรง มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดย เฉพาะในเด็กปฐมวัย แต่เมื่อเกิดในวัยรุ่น หรือ ในผู้ใหญ่ ความรุนแรงโรคอาจสูงกว่าในเด็กปฐมวัยมาก จากมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนสูงขึ้น
ผลข้างเคียงจากโรคคางทูมมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากโรคคางทูม พบได้สูงขึ้นเมื่อเกิดโรคในเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือ ในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผลข้างเคียงแทรกซ้อน ที่อาจพบได้ เช่น
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่อาการมักไม่รุนแรง
- โรคสมองอักเสบ พบได้แต่น้อยเช่นกัน แต่ ถ้ารุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
- การอักเสบของลูกอัณฑะ พบโอกาสเกิดสูงขึ้น ถ้าเป็นโรคในชายวัยรุ่น หรือ วัยผู้ใหญ่ และ ทำให้เป็นหมันได้ ส่วนในผู้หญิง มีการอักเสบของรังไข่ได้ แต่มักไม่มีผลให้เป็นหมัน
- อื่นๆ ที่อาจพบได้บ้าง แต่น้อย คือ โรค ข้ออักเสบ การอักเสบของตับอ่อน และ หูอักเสบ
แพทย์วินิจฉัยโรคคางทูมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคคางทูมได้จาก ประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย แต่ที่แน่นอน คือ จากการตรวจหาไวรัส จาก น้ำลาย จากสารคัดหลั่งในช่องปาก จากน้ำปัสสาวะ และ/หรือ จากน้ำไขสันหลัง และ/หรือ ตรวจเลือดหาระดับสารภูมิคุ้ม กันต้านทานจากโรคนี้ (Antibody/แอนติบอดี)
มีวิธีดูแลรักษาโรคคางทูมอย่างไร? และควรพบแพทย์เมื่อไร?
ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะในโรคคางทูม ไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่ ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ ฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย) การรักษา เพียงประคับประคอง ตามอาการ ที่สำคัญ คือ
- การให้ยาแก้ปวด /แก้ไข้ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากยาแอสไพรินได้ (การแพ้ยาแอสไพริน)
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ
- รับประทานอาหารอ่อน
- ควรรีบพบแพทย์เมื่อ
- ไข้สูง ตั้งแต่ 38° เซลเซียส ขึ้นไป และไข้ไม่ลงภายใน 2-3 วันหลังดูแลตนเองในเบื้องต้น แต่เมื่อเป็นคนมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือ ในเด็กเล็ก ควรรีบพบแพทย์เสมอ เมื่อไข้ไม่ลงภายใน 1-2 วัน
- ปวดต่อมน้ำลายมาก และอาการปวดไม่ดีขึ้นหลังกินยาบรรเทาอาการ
- กินอาหาร และ/หรือ ดื่มน้ำได้น้อย
- เมื่อกังวลในอาการ
- ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อ
- ไข้สูงร่วมกับปวดศีรษะมาก คอแข็ง หรือ ปวดท้องมาก เพราะเป็นอาการเกิดจากผลข้างเคียงแทรกซ้อนดังกล่าว
มีวิธีป้องกันโรคคางทูมไหม?
วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบัน เด็ก ไทยในโรงเรียนต่างๆได้รับการฉีดวัคซีนนี้อยู่แล้วในรูปแบบวัคซีนรวม เอ็ม เอ็ม อาร์ (MMR, M=mumps/มัมส์/โรคคางทูม Measles/มีเซิลส์/โรคหัด R= rubella/โรคหัดเยอรมัน) นอกจากนั้น ได้แก่
- แยกผู้ป่วย ประมาณ 9- 10 วัน หลังเริ่มมีต่อมน้ำลายโต เพราะเป็นระยะแพร่เชื้อสำคัญ
- ควรหยุดโรงเรียน หรือ หยุดงาน ช่วงระยะแพร่เชื้อ เพื่อป้องกัน การแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- หลีกเลี่ยง การเล่น การสัมผัสกับคนเป็นโรคนี้
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็ง แรง และเพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งเชื้อไวรัสคางทูม
ที่มา https://haamor.com/th/คางทูม/