ไข้จับสั่น (Malaria)


1,079 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ไข้สูง  สั่น 

บทนำ

โรคไข้จับสั่น (Malaria) หรืออีกหลายๆ ชื่อ คือ ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก แต่นิยมเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่าโรคมาลาเรีย ในภาษาอังกฤษ คำว่า malaria มาจากภาษาอิตาลี แปลว่า อากาศไม่ดี เพราะโรคนี้มักพบในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นที่มีฝนตกชุก ทำให้มีแหล่งน้ำขังตามธรรมชาติมาก เป็นที่อยู่อาศัยของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้มาสู่คน

โรคไข้จับสั่นเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว/Protozoa (พยาธิ หรือ สัตว์เซลล์เดียว) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น บางครั้งโรคอาจรุนแรง ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้มียารักษาและมียาสำหรับป้องกัน

การระบาดของโรคมาลาเรีย พบในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น ประเทศในเขตร้อน และกึ่งเขตร้อน โดยพบในทวีปแอฟริกามากที่สุด นอกจากนี้ พบในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ อินเดีย เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย

จำนวนประชากรที่ติดเชื้อมาลาเรียทั่วโลก ขณะนี้มีประมาณ 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคนต่อปี โดย 90% เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศให้โรคมาลาเรีย เป็น 1 ใน 4โรค ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนนอกเหนือจากโรคเอดส์ โรคไข้เลือดออก และโรควัณโรค

ในประเทศไทย ปี 2553 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมดประมาณ 45,629 ราย เป็นชาวไทยประมาณ 18,371 ราย และต่างชาติประมาณ 27,257 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ ตาก ที่พบรองๆลงไป เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย กาญจนบุรี เพชรบุรี ตราด ระนอง ชุมพร พังงา ยะลา นราธิวาส สงขลา และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนจังหวัดอื่นๆ พบได้น้อย และยังไม่พบการระบาดในกรุงเทพฯ

โรคมาลาเรียมีสาเหตุจากอะไร?

โรคมาลาเรีย เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว ชื่อ พลาสโมเดียม (Plasmodium) ซึ่งเชื้อที่ก่อโรคในคนมีอยู่ 4 ชนิด (Species) คือ

  1. Plasmodium falciparum ในประเทศไทยพบเชื้อชนิดนี้บ่อยที่สุด
  2. Plasmodium vivax พบเชื้อชนิดนี้ได้รองลงมา
  3. Plasmodium ovale
  4. Plasmodium malariae

เชื้อมาลาเรียทุกชนิดมีวงจรชีวิตอยู่ 2 วงจร คือ วงจรชีวิตในยุง และวงจรชีวิตในคน โดยเริ่มต้นจากยุงที่มีเชื้อมาลาเรีย ดูดเลือดคน ยุงจะปล่อยเชื้อที่มีอยู่ในน้ำลายของยุงเข้าสู่กระแสเลือดคน เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดคนแล้วประมาณ 30 นาที เชื้อจะเข้าสู่เซลล์ตับ และแบ่งตัวจนได้เซลล์ลูกมากมาย และทำให้เซลล์ตับแตก เซลล์ลูกๆเหล่านี้ก็จะเข้าสู่กระแสเลือด (ซึ่งตอนนี้นี่เองที่เริ่มปรากฏอาการของไข้จับสั่น) โดยเซลล์ลูกๆจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดแดง และเปลี่ยนรูปร่าง พร้อมกับแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนกระทั่งเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก เชื้อที่แตกออกมา ก็จะหาเซลล์เม็ดเลือดแดงเซลล์ใหม่ เข้าไปอยู่อาศัยและแบ่งตัวต่อๆไป จนแตกอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ มีบางเซลล์ที่เปลี่ยนรูปร่างไปเป็นเซลล์ที่มีเพศผู้ หรือเพศเมียของเชื้อ จะสามารถติดต่อกลับไปสู่ยุงได้ เมื่อมียุงมาดูดเลือดของคนที่มีเชื้อ เชื้อรูปร่างแบบมีเพศนี้ ก็จะผสมพันธุ์กันในยุง และให้กำเนิดตัวอ่อน เติบโตขึ้นโดยอาศัยอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง พร้อมที่จะติดต่อสู่คนต่อไป

ยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรียนี้ คือยุงก้นปล่องเพศเมีย ซึ่งเวลากัดคน จะยกก้นขึ้นทำมุมกับผิวหนัง 45 องศา ในประเทศไทยมียุงก้นปล่อง 2 ชนิด ชนิดแรก ชนิด Anopheles dirus พบในป่าทึบ วางไข่ในแอ่งน้ำนิ่ง ชอบกินเลือดคนมากกว่าเลือดสัตว์อื่น ชนิดที่สอง ชนิด Anopheles minimus พบตามชายป่า วาง ไข่ในลำธารที่มีน้ำใส ไหลเอื่อยๆ

นอกจากคนจะติดเชื้อมาลาเรียมาจากยุงแล้ว อาจพบการติดเชื้อโดยบังเอิญ (Accidental transmission)จากการได้รับเลือดหรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้เสพยาเสพติด แต่พบจากโอกาสเหล่านี้ได้น้อยมาก

โรคมาลาเรียมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัว ของโรคมาลาเรีย คือ ตั้งแต่ถูกยุงก้นปล่องกัดจนกระทั่งเกิดอาการ โดยทั่วไปใช้เวลา 10-14 วัน แต่อาจนานถึง 4 สัปดาห์ได้ อาการที่ปรากฏเริ่มแรกจะไม่จำเพาะ อาจคล้าย โรคไข้หวัด ทั่วไป ได้แก่ รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว อ่อนเพลียปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และปวดศีรษะ ซึ่งบางคนอาการปวดศีรษะอาจรุนแรงได้

หลังจากนั้นจะเริ่มมี ไข้สูง และประมาณ 6-7 วัน ไข้จะเริ่มเกิดเป็นเวลา โดยถ้าเป็นเชื้อ Plasmodium vivax และ Plasmodium ovalePlasmodium malariaePlasmodium falciparum จะทำให้เกิดไข้ทุกๆ 2 วัน ในขณะที่เชื้อ จะทำให้เกิดไข้ทุกๆ 3 วัน ส่วนเชื้อ มักไม่ค่อยมีไข้เป็นเวลา แต่ถ้าเป็นเวลาก็จะเป็นทุกๆ 2 วัน การที่มีไข้เป็นเวลา เพราะเป็นไปตามระยะเวลาที่เชื้อแต่ละชนิดใช้ในการแบ่ง ตัวจนเต็มเซลล์เม็ดเลือดแดง จนกระทั่งแตกออก ซึ่งช่วงที่เม็ดเลือดแดงแตกออกนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการที่จำเพาะของโรคมาลาเรีย ประกอบด้วย

  • ระยะหนาวสั่น ผู้ป่วยจะปากและตัวสั่น ดูซีดเผือด
  • ระยะร้อน จะมี ไข้สูง อาจถึง 40 องศา หน้าแดง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ระยะนี้ใช้เวลา 2-6 ชั่วโมง
  • ระยะเหงื่อออก ไข้จะลดลงและมีเหงื่อออกทั่วตัว

อนึ่ง ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรียตลอดทั้งปี มีความชุกของโรคสูงมาก และเคยมีการติดเชื้อมาลาเรียบ่อยๆ ร่างกายจะสร้างภูมิ คุ้มกัน (Antibody) ที่จำเพาะต่อโรคมาลาเรีย ภูมิคุ้มกันชนิดนี้ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย แต่ช่วยป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรงเมื่อติดเชื้อซ้ำอีก ผู้ป่วยเหล่า นี้มักตรวจพบมีม้ามโต และในเด็กมักพบภาวะโลหิตจาง (ภาวะซีด) แต่บางคนตรวจพบเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือด โดยที่ไม่มีอาการปรากฏเลยก็มี

แพทย์วินิจฉัยโรคมาลาเรียได้อย่างไร?

เนื่องจากอาการของโรคมาลาเรียในวันแรกๆจะไม่จำเพาะ อาการไข้ยังไม่จับเป็นเวลา และบางครั้งก็อาจไม่จับเป็นเวลาเลยก็ได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีไข้ ร่วมกับมีประวัติว่าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย หรือได้เคยเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านั้น จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจติดเชื้อมาลาเรียมา และต้องส่งเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งได้แก่

    1. การตรวจเม็ดเลือดแดง ที่เรียกว่าการทำ Thin smear และ T smear จะพบเชื้อมาลาเรียอยู่ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเชื้อแต่ละชนิดจะมีรูปร่างหน้าตา และองค์ประกอบอื่นๆแตกต่างกันไป ทำให้สามารถแยกเชื้อแต่ละชนิดได้ ซึ่งจะมีผลต่อการให้ชนิดยารักษาต่อไป
    2. การตรวจหาสารประกอบของเชื้อมาลาเรีย มีชุดตรวจสำเร็จรูปทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ราคาอาจแพงกว่าการตรวจดูเม็ดเลือดแดง และใช้แยกชนิดเชื้อไม่ได้

อนึ่ง วิธีการตรวจทั้ง 2 วิธีข้างต้นนี้ มีความไวของการตรวจไม่มาก จึงเกิด ผลลบลวง (ตรวจไม่พบโรค ทั้งๆที่ติดโรค) ได้บ่อย ดังนั้นถ้าการตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ อาจต้องตรวจซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง

    1. การตรวจหาจีน หรือ บางคนเรียกว่า ยีน (gene คือ ลักษณะทางพันธุกรรม) ของเชื้อมาลาเรีย เป็นวิธีการตรวจที่ไวและผลลบลวงต่ำ แต่ราคาแพงมาก ไม่เหมาะกับประเทศกำลังพัฒนา

อนึ่ง ซีบีซี (CBC) จะพบมีความผิดปกติได้ เช่นปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง และเกล็ดเลือดต่ำ (LDH เอ็นไซม์ที่แสดงว่ามีเม็ดเลือดแดง หรือเซลล์ต่างๆถูกทำลาย) ในเลือดสูงขึ้น เป็นต้น นอกจากการตรวจดังกล่าวแล้ว การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ จะไม่จำเพาะเฉพาะโรคมาลาเรีย เพราะโรคทั่วไปต่างๆก็ให้ผลตรวจเช่นเดียวกันได้ เช่น การตรวจเลือด

รักษาโรคมาลาเรียอย่างไร?

การรักษาหลักสำหรับโรคมาลาเรีย คือการให้ยาปฏิชีวนะ โดยมียาปฏิชีวนะอยู่หลายชนิดให้เลือกใช้ ที่รู้จักกันดี คือ ควินีน (Quinine) และ คลอโรควีน (Chloroquine)

สำหรับการติดเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium vivax, Plasmodium ovale, และ Plasmodium malariae, รวมทั้ง Plasmodium falciparum ชนิดที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน การรักษาจะให้เป็นยาชนิดรับประทาน และรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยถ้าเป็นเชื้อ Plasmodium falciparum จะใช้ชนิดยาที่แตกต่างกับเชื้อชนิดอื่น แต่ถ้าการติดเชื้อ Plasmodium falciparum เป็นแบบที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน ยาที่ใช้จะเป็นแบบฉีด และรักษาแบบผู้ป่วยใน อย่าง ไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยมาลาเรียจากทุกเชื้อ แบบผู้ป่วยใน หรือ แบบผู้ป่วยนอก แพทย์จะดูจากสุขภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นหลัก

การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาประคับประคองตาอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ การให้ยาแก้ปวด และในผู้ป่วยที่มี ผลข้างเคียงแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เกิดภาวะไตวายฉับพลัน ก็ให้การรักษาโดยการฟอกเลือด หรือเมื่อเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ก็ใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

โรคมาลาเรียมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนอย่างไร? โรคมาลาเรียรุนแรงไหม?

โรคมาลาเรีย เป็นโรครุนแรง เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิด ผลข้างเคียงแทรกซ้อนขึ้น ซึ่งที่พบได้ คือ

  1. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับอวัยวะระบบใดระบบหนึ่ง หรือพร้อมกันหลายๆระบบได้ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อมาลาเรียในปริมาณที่มาก คือมีจำนวนเม็ดเลือดแดงทั่วร่างกายมากกว่า 3% ที่มีเชื้อมาลาเรีย ซึ่งมักเกิดในผู้ที่ได้รับยารักษาไม่เพียงพอ กรณีนี้ ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูง และเชื้อชนิดอื่นๆ ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนเหล่านี้ ซึ่งได้แก่
  2. เชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium vivax และ Plasmodium ovale เมื่อเข้าสู่ร่างกาย และไปอยู่ในเซลล์ตับแล้ว เชื้อบางตัวจะไม่แบ่งตัวเพื่อเข้าสู่กระแสเลือด แต่จะอาศัยอยู่ในเซลล์ตับเป็นเวลาหลายเดือน หรือเป็นปี แล้วจึงแบ่งตัว และเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีอาการของโรคมาลาเรียเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากติดเชื้อครั้งแรก เมื่อผ่านไปหลายเดือน หรือ เป็นปี แล้ว
  3. ในพื้นที่ที่มีการระบาดตลอดเวลา การติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกบ่อยๆ จะทำให้ม้ามมีขนาดใหญ่มาก ตับโต มีภาวะซีด มีสารภูมิคุ้มกันในเลือดขึ้นสูง เม็ดเลือดขาวบางชนิดมีปริมาณมากขึ้น และอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ (โอกาสเกิดน้อยมาก) ซึ่งพบมีรายงานในประเทศแอฟริกา
  4. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium malariae ในพื้นที่ที่มีการระบาดถี่ซ้ำบ่อยๆ อาจทำให้เป็นโรคไตชนิดที่เรียกว่า Nephroic syndrome ได้ ซึ่งยากต่อการรักษาและเกิด โรคไตเรื้อรัง ตามมาในที่สุด

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคมาลาเรียได้อย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคมาลาเรีย คือ

  1. หลีกเลี่ยงการเข้าป่า หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคมาลาเรียสูง ซึ่งรวมถึงพื้นที่ตามแนวชายแดน และในเขตชนบทของประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ พื้นที่ที่ปลอดภัยส่วนใหญ่จะเป็นในเมือง ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ก็ต้องป้อง กันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีดำหรือสีคล้ำ เพราะยุงชอบแสงสลัวๆ ใช้ยาทาป้องกันยุงกัด ที่มีประสิทธิภาพ คือ DEET (N, N-Diethyl-meta-toluamide, ยาทากันยุงชนิดหนึ่ง ใช้ทาได้ทั้ง ผิวหนัง และเสื้อ ผ้า) โดยให้ทาทุก 4-6 ชั่วโมง ยุงก้นปล่องมักออกหากินในเวลาพลบค่ำและกลาง คืน จึงควรหลีกเลี่ยงการออกจากที่อยู่อาศัยในช่วงเวลานี้ และควรนอนในห้องที่มีมุ้งลวด หรือ นอนกางมุ้ง
  2. กรณีที่จำเป็นต้องเข้าไปในป่า ปัจจุบันนี้ ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรีย เนื่องจาก เชื้อดื้อยา มากขึ้น และทำให้เข้าใจผิดว่า กินยาแล้วจะไม่เป็นมาลาเรีย นอกจากนั้น ถ้าเป็นมาลาเรียขึ้นมาจริง ๆ ยาอาจเป็นสาเหตุให้ตรวจเลือดไม่พบเชื้อ ทำให้เมื่อตรวจพบอีกที ก็มีอาการมากแล้ว แต่ในกรณีที่จะต้องเดินทางเข้าป่า หรือเข้าป่าหลายวัน ห่างไกลจากสถานพยาบาล เช่น ทหารที่ต้องเข้าไปลาดตระเวนในป่า ควรพกยาที่ใช้รักษามาลาเรียไปให้พร้อม เตรียมไว้ใช้ในกรณีจำเป็นที่สงสัยจะป่วยเป็นมาลาเรียในป่า ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ก่อนนำยาไปใช้ทุกครั้ง
  3. ยาที่ใช้สำหรับป้องกันโรค จะพิจารณาให้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องเข้าป่าหรือเข้าไปในพื้นที่ที่กำลังมีการระบาดของโรคมาลาเรีย ในกรณีตั้งครรภ์ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ความชุกของโรคสูงอยู่แล้ว ก็ต้องเฝ้าระวังคอยสังเกตอาการ และรับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อย หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้ เด็กทารกที่คลอดในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ก็ควรได้รับยาป้อง กันด้วยเช่นกัน (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยาในเด็กเสมอ เพราะเด็กมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้สูงกว่าผู้ใหญ่)
  4. แรงงานหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับการตรวจหาเชื้อมาลาเรียก่อนรับไว้ และถ้าพบต้องรีบให้การรักษา

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความชุกของโรคมาลาเรียสูง หรือเดินทางเข้าป่ามาในช่วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนมีอาการ จะ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจเป็นโรคมาลาเรีย และควรต้องรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 วันหลังมีไข้
ที่มา   https://haamor.com/th/ไข้จับสั่น/

อัพเดทล่าสุด