ไข้ชัก (Febrile seizure)


1,273 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

สมอง  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ไข้  ชัก 

ทั่วไป

โรคไข้ชัก (Febrile seizure หรือ Febrile convulsion) หมายถึง การชักที่พบร่วมกับไข้สูงมาก สูงกว่า 38.4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีการติดเชื้อในระบบประสาท หรือความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และไม่เคยมีประวัติชักโดยไม่มีไข้ร่วมด้วยมาก่อน พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีแล้ว พบได้น้อยมาก

โรคไข้ชักเกิดจากอะไร ?

สาเหตุที่แท้จริงของการชักในเด็กที่มีไข้สูงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เพราะมักมีประวัติโรคไข้ชักตอนเป็นเด็กของคนในครอบ ครัวร่วมด้วย และสาเหตุของไข้มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน คือ โพรงจมูกและลำคอ (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคหัดกุหลาบ (Roseola, โรคไข้ขึ้นผื่นชนิดหนึ่งในเด็กเล็ก โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พี/Herpes) และจากหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ

โรคไข้ชักมีอาการอย่างไร ?

ส่วนใหญ่ของโรคไข้ชัก มักมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีไข้สูง ส่วนน้อยที่มีอาการชักเกิดก่อนการมีไข้ หรือหลังจากมีไข้แล้ว 24 ชั่วโมง การชักแต่ละครั้งมักเป็นอยู่ไม่กี่วินาที และชักเพียงครั้งเดียวในการเป็นไข้ครั้งนั้น นอกจากนั้น หลังชักจะไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงตามมา

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคไข้ชัก ?

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้ชักได้จาก การสอบถามประวัติอาการเพื่อให้ทราบถึงลักษณะอาการชักและสาเหตุของไข้ การตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะระบบประสาทเพื่อแยกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไข้สมองอักเสบ (โรคสมองอักเสบจากติดเชื้อ) และโรคทางสมองอื่นๆ ในบางรายอาจต้องตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อ และตรวจระดับเกลือแร่ในเลือด

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพิจารณาเจาะหลังเพื่อนำน้ำไขสันหลังออกมาตรวจ ซึ่งจะตรวจเมื่อแพทย์สงสัย หรือตรวจพบการติดเชื้อในสมองและระบบประสาทร่วมด้วย แต่ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี แม้ตรวจไม่พบอาการของการติดเชื้อในสมองและในระบบประสาท แพทย์ก็มักพิจารณาตรวจน้ำไขสันหลังทุกราย เนื่อง จากอาจตรวจด้วยวิธีอื่นๆไม่พบเชื้อ แม้มีโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือโรคไข้สมองอักเสบในเด็กกลุ่มอายุดังกล่าว

นอกจากนี้ ในเด็กที่มีเป็นโรคไข้ชักชนิดซับซ้อน เช่น มีการชักเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มีแขนหรือขาอ่อนแรง หรือง่วงซึมเป็นเวลานานหลังชัก ชักนานกว่า 15 นาที หรือชักหลายครั้งในการป่วยเป็นไข้ครั้งหนึ่ง ก็ควรได้รับการตรวจน้ำไขสันหลังเช่นกัน

การดูแลรักษาโรคไข้ชักในเด็กทำได้อย่างไร?

ในขณะเด็กชัก ควรระวังเรื่อง การหายใจ การสำลัก และอุบัติเหตุที่อาจเกิด ขึ้น เช่น การตกเตียง โดยควรจับเด็กให้นอนตะแคง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ป้อง กันการสำลัก และระวังไม่ให้ตกเตียง ไม่ต้องพยายามจับ หรือกอดรัดเด็กให้หยุดชักหากเด็กกัดฟัน ไม่ควรพยายามงัดปากเด็กเพื่อเอาสิ่งของใส่ในปาก เนื่องจากทำให้เยื่อบุช่องปากเด็กฉีดขาด หรือฟันหัก และหลุดเข้าอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโอกาสที่เด็กจะกัดลิ้นตัวเองมีน้อย ในระหว่างนี้ควรเช็ดตัวลดไข้เด็กด้วยน้ำอุ่น หากเด็กรู้ตัว ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะเด็กอาจแพ้ยาได้ (การแพ้ยาแอสไพริน) จากนั้นเมื่อเด็กหยุดชัก รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล

ที่โรงพยาบาล แพทย์จะดูแลเรื่องการหายใจ ความดันโลหิต และหากเด็กยังชักอยู่ แพทย์จะให้ยาเพื่อหยุดอาการชักทางหลอดเลือดดำ หรือทางทวารหนัก และลดไข้โดยการเช็ดตัวเด็ก และให้ยาลดไข้

ผลแทรกซ้อนของโรคไข้ชักมีอะไรบ้าง?

โรคไข้ชักมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ควรระวังจะเป็นเรื่องการหายใจ การสำลัก และอุบัติเหตุ เช่น การตกเตียง ไม่พบการเสียชีวิตจากโรคไข้ชัก และไม่พบความพิการเกิดขึ้นจากโรคไข้ชักในเด็กที่ไม่มีความพิการมาก่อน รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อผลการเรียน และสติปัญญาในอนาคต

มีโอกาสชักซ้ำเมื่อมีไข้ครั้งต่อไปหรือไม่? ป้องกันการชักซ้ำได้อย่างไร?

โอกาสชักซ้ำในการมีไข้สูงครั้งต่อไปพบได้ประมาณ 31% ไม่มีประโยชน์ในการรับประทานยากันชักต่อเนื่องทุกวันเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้ชักซ้ำ แต่การรับประทานยาไดอะซีแพม (Diazepam, ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรเป็นการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น) ในขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งให้รับประทานทุก 8 ชั่วโมงขณะที่มีไข้สูง โดยรับประทานนานประมาณ 2-3 วัน สามารถลดโอกาสเกิดชักซ้ำได้เหลือประมาณ 22% แต่ยานี้อาจทำให้เด็กง่วงซึม เดินเซได้ ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาการให้ยานี้ร่วมกันกับผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีความชัดเจนของประโยชน์ของยากันชักในการป้อง กันโรคไข้ชักซ้ำ แต่การลดไข้เด็กด้วยการรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) และเช็ดตัวลดไข้เด็กด้วยน้ำอุ่น จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคไข้ชักได้

มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมูต่อไปหรือไม่?

เด็กที่เป็นโรคไข้ชัก มีโอกาสเป็นโรคลมชัก หรือโรคลมบ้าหมูสูงกว่าเด็กปกติประมาณ 2 เท่า โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคลมชักตามมา คือ เด็กที่มีพัฒนาการช้า หรือพบความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย มีประวัติโรคลมชักของคนในครอบครัว และการเป็นโรคไข้ชักชนิดซับซ้อน

ป้องกันการเกิดโรคไข้ชักได้ไหม?

โรคไข้ชักนี้ เกิดเมื่อเด็กมีไข้สูงเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดในเด็กที่มีไข้สูงทุกคน และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการชักจากภาวะไข้สูงที่ชัดเจน แต่การดูแลสุขอนามัยที่ดี (การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และการรีบรับประทานยาลดไข้ ร่วมกับเช็ดตัวลดไข้เมื่อเด็กมีไข้สูง น่าจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้ชักได้
ที่มา  https://haamor.com/th/ไข้ชัก/

อัพเดทล่าสุด