ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)


1,000 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ปวดศีรษะ  ไข้สูง 

ทั่วไป

โรคไข้เลือดออก หรือโรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยโดยเฉพาะในฤดูฝน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี โรคนี้มักเป็นโรคที่ทำให้ผู้ปกครองเป็นกังวลว่าบุตรหลานของตนเองจะเป็นโรคนี้ในกรณีที่มีไข้สูง เนื่องจากโรคนี้อาจรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ในบางราย หากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้อง

โรคไข้เลือดออกเกิดได้อย่างไร?

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายตัวเมียเป็น พาหะโรค โดยยุงลายตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ ป่วยโรคไข้เลือดออก เชื้อไวรัสเดงกีในเลือดของผู้ป่วยจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุง เชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงตลอดอายุของยุง คือประมาณ 1-2 เดือน หากยุงลายตัวนั้นกัดคนอื่น เชื้อไวรัสเดงกีในยุงจึงถูกถ่ายทอดไปให้แก่คนได้

โรคไข้เลือดออกมีอาการอย่างไร?

ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเป็นครั้งแรกมักไม่มีอาการ หรืออาจมีเพียง ไข้สูง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเบื่ออาหารเท่านั้น แต่ในคนที่ติดเชื้อนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยเฉพาะเชื้อนั้นเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงช็อกได้ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะไข้ ระยะช็อก และระยะพักฟื้น

    • ระยะไข้ หรือ ระยะที่ 1: ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หน้าแดง อาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่นๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระสีดำ เป็นต้น โดยอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน


แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้จากอาการดังกล่าวข้างต้นโดยเฉพาะอาการไข้สูง โดยไม่มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ หรือท้องเสียร่วมด้วย ร่วมกับมีประวัติโรคไข้เลือดออกของคนที่อาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน หรือมีการระบาดของโรคในขณะนั้น โดยเฉพาะหากแพทย์ตรวจพบตับโต และกดเจ็บร่วมด้วย แพทย์จะทำการทดสอบที่เรียกว่า “Tourniquet test” โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตรัดแขนทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที หากมีจุดเลือดออกบริเวณแขนมากกว่า 10 จุดต่อ 1 ตาราง นิ้ว แสดงว่าผลการทดสอบให้ผลบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้

นอกจากนี้ หากส่งตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) จะตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวค่อนข้างต่ำ และความเข้มข้นของเลือดสูง เพียงเท่านี้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางรายหากอาการ ผลการตรวจร่างกาย และผลเลือดเบื้องต้นดังกล่าว ไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้ ในปัจจุบันในบางโรงพยาบาลสามารถส่งเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อไวรัสเดงกีได้ ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยโรคนี้แม่นยำขึ้น

โรคไข้เลือดออกมีวิธีรักษาอย่างไร?

ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง หากอาการไม่รุนแรงโรคนี้จะหายได้เอง ดังนั้นการรักษาที่มี จึงเป็นเพียงการรักษาตาอาการ และการรักษาภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

ในระยะไข้ หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ยังพอรับประทานอาหารได้บ้าง รู้สติดี ไม่ซึม แพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาผงเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากไข้สูง และจากการรั่วของน้ำออกนอกหลอดเลือด และให้สังเกตอาการที่บ้าน จากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ

แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ปวดท้องมาก ปัสสาวะออกน้อย กระสับ กระส่าย ซึมลง หรือมือเท้าเย็น แพทย์จะให้เฝ้าสังเกตอาการและดูแลรักษาที่โรง พยาบาล โดยเฉพาะเพื่อการเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออก ซึ่งนอกจากการตรวจวัดชีพจร และความดันโลหิตอย่างใกล้ชิดแล้ว แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังการรั่วไหลของน้ำออกนอกหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำลง และเข้าสู่ระยะช็อกได้ โดย เฉพาะในช่วงที่ไข้เริ่มลดลง ซึ่งใช้เวลาผ่านพ้นระยะนี้เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง จาก นั้นผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะพักฟื้นซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัย

ในระยะพักฟื้นนี้ ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น ปัสสาวะออกมากขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตปกติ

โรคไข้เลือดออกรุนแรงไหม? มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง? ป้องกันภาวะ แทรกซ้อนได้อย่างไร?

โรคไข้เลือดออก เป็นโรครุนแรง แต่โอกาสรักษาหายสูงเมื่อวินิจฉัยและได้ รับการรักษาตั้งแต่แรก ซึ่งเมื่อไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50% จากการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง)

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ เลือดออกตาอวัยวะต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น เลือดออกที่ผิวหนังเลือดกำเดาไหล จนถึงเลือด ออกรุนแรงตาอวัยวะภายในต่างๆ เช่น สมอง กระเพาะอาหาร ลำไส้ และปอด เป็นต้นภาวะเลือดออกง่ายนี้เกิดจากเกล็ดเลือดต่ำจากตัวโรคไข้เลือดออกเอง โดยเกล็ดเลือดจะมีปริมาณกลับสู่ปกติในระยะฟักฟื้นได้เอง แต่ในช่วงที่เกล็ดเลือดต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก การทำหัตถการ หรือการผ่าตัด และยาบางชนิดที่ทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ หรือระบบแข็งตัวของเลือดปกติ เช่น ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด และแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen และ Indomethacin เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาวะน้ำเกินในร่างกายจนเกิดมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือในช่องท้องมากเกินไป จนทำให้หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญเช่นเดียวกัน ภาวะนี้เกิดจากการรั่วไหลของน้ำออกนอกหลอดเลือดในช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อก หากแพทย์ตรวจพบและให้การรักษาที่ทันท่วงที และเลือกใช้ชนิดและกำหนดปริมาณสารน้ำที่เหมาะสมให้ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วย ผู้ป่วยจะสามารถผ่านพ้นระยะนี้ได้อย่างปลอดภัย

โรคไข้เลือดออกป้องกันได้ไหม?

เนื่องจากยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ดังนั้นการลดปริมาณยุงและการป้องกันยุงกัดจึงเป็นหัวใจของการป้องกันโรคนี้ โดยนิสัยของยุงลายชอบแพร่พันธุ์ในน้ำนิ่งใส และชอบกัดในเวลากลางวัน ดังนั้นควรนอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน หรือกำจัดยุงในห้องนอน และควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน และรอบๆบ้าน เช่น กำจัดภาชนะที่อาจเป็นแหล่งขังของน้ำได้ เช่น ยางรถเก่า กระถางต้นไม้ เศษภาชนะแตกหัก และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่น้ำขัง เช่น แจกัน จานน้ำรองขาตู้ ทุกๆ 7 วัน ปิดฝาโอ่ง หรือภาชนะที่บรรจุน้ำให้มิดชิด เลี้ยงปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงในอ่างบัว หรือในแอ่งน้ำ ใส่เกลือ หรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้ หรือใส่ทรายอะเบท (Abate คือ ทรายที่เคลือบด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่า ทีมีฟอส/Temephos หรือ Temefos ชื่อทางการค้า คือ Abate มีคุณสมบัติกำจัดลูกน้ำยุง รวมทั้งลูกน้ำของยุงลายได้) เพื่อกำจัดลูกน้ำในโอ่ง หรือภาชนะที่เก็บน้ำไว้ใช้อย่างน้อยทุก 3 เดือน

ปัจจุบันกำลังมีการวิจัยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกอยู่ คาดว่าจะสามารถนำ มาใช้ได้จริงในคน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

เมื่อไรจะสงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก? ดูแลตนเองอย่างไร?

หากมีอาการไข้สูงโดยไม่มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย และถ้ามีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ร่วมกับเลือดออกผิดปกติ เช่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนมีเลือดปนร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา และตรวจหาโรคไข้ เลือดออก โดยเฉพาะหากพบในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้ เลือดออกอยู่
ที่มา   https://haamor.com/th/ไข้เลือดออก/

อัพเดทล่าสุด