บทนำ
โรคมะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer) หมายถึงโรคมะเร็งที่เกิดในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นโรคมีอัตราเกิดน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก คิดเป็นประมาณ 1ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ และเกือบทั้งหมด เป็นมะเร็งชนิดแตกต่างจากผู้ใหญ่
ในผู้ใหญ่ มักจัดแบ่งชนิดของโรคมะเร็งตามอวัยวะ (แบ่งตามกายวิภาค) และเป็นชนิดเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิว หรือเยื่อเมือกของอวัยวะ (Epithelium หรือ Mucosa) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มโรคมะเร็งชนิด คาร์ซิโนมา (Carcinoma) เช่น โรคมะเร็งกล่องเสียง โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปอด หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และส่วนน้อยเกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissues) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มโรคมะเร็งชนิด ซาร์โคมา (Sarcoma)
โรคมะเร็งในเด็ก แบ่งชนิดของมะเร็งตามลักษณะชนิดของเซลล์มะเร็ง (แบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยา) ส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ชนิดพบเฉพาะในวัยเด็ก (Embryonal cells หรือ Germ cells ) หรือเซลล์ชนิดเกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ดังนั้น เกือบทั้งหมด จึงเป็นโรคมะเร็งในกลุ่ม ซาร์โคมา เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (ALL) โรคมะเร็งประสาทซิมพาทีติค (Sympathetic) ชนิดนิวโรบลาสโตมา(Neuroblastoma) หรือ โรคมะเร็งลูกตา ชนิด เรติโนบลาสโตมา(Retinoblastoma,มะเร็งจอตา โรคตาวาว) แต่อาจเกิดโรคมะเร็งชนิด คาร์ซิโนมาเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ได้บ้าง ประปราย
องค์กรระหว่างประเทศในการจัดแบ่งชนิดมะเร็งในเด็ก ไอซีซีซี ( ICCC, International Classification of Childhood Cancer) ได้จัดแบ่งโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมดเป็น ๑๒ ชนิด ซึ่งชนิดของโรคมะเร็งในเด็กทั่วโลกคล้ายคลึงกัน แต่อาจแตกต่างในลำดับของการเกิด สำหรับประเทศไทย จากทะเบียนผู้ป่วยมะเร็ง จัดทำโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข รายงานในปี ค.ศ. 2007 พบการเกิดโรค เรียงตาม ๑๒ ลำดับที่พบบ่อย ดังนี้
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง (Brain tumors)
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- โรคมะเร็งประสาทซิมพาทีติค ชนิด นิวโรบลาสโตมา
- โรคมะเร็งประสาทซิมพาทีติค ชนิด นิวโรบลาสโตมา
- โรคมะเร็งลูกตา ชนิดเรติโนบลาสโตมา (มะเร็งจอตา โรคตาวาว)
- โรคมะเร็งไตชนิดวิมทูเมอร์ (Wilms’tumor)
- โรคมะเร็งตับ ชนิด เฮปาโตบลาสโตมา (Hepatoblastoma)
- โรคมะเร็งกระดูกชนิด ออสติโอซาร์โคมา(Osteosarcoma) และ ชนิด อีวิง (Ewing’s saroma)
- โรคมะเร็งกล้ามเนื้อ ชนิด แรบโดไมโอซาร์โคมา (Rhabdomyosarcoma)
- โรคมะเร็งของอวัยวะ/เนื้อเยื่อต่างๆ ชนิด เจิมเซลล์ (Germ cell tumors)
- โรคมะเร็งเยื่อบุผนังอวัยวะ ชนิด คาร์ซิโนมา
- โรคมะเร็งชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมด
โรคมะเร็งในเด็กของประเทศไทยรายงานในปี ค.ศ. 2007 มีอัตราเกิดในเด็กชายต่อเด็กหญิง คิดเป็น 1.3 : 1 โดย
- 8% เกิดในอายุต่ำกว่า 1 ปี
- 36.2% อายุอยู่ระหว่าง 1-4 ปี
- 28.2% อยู่ในช่วง 5-9 ปี
- และ 27.6% อยู่ในช่วงอายุ 10-15 ปี
โดยอัตราเกิดในเด็กรวมทั้งสองเพศ ในเด็กชาย และในเด็กหญิง คือ 79.7, 86.9, และ 72.1 ราย ต่อประชากรเด็ก 1 ล้านคนตามลำดับ
ในสหรัฐอเมริกา อัตราเกิดซึ่งรวมเด็กหญิง และเด็กชาย (ปี ค.ศ. 2001-2005) คือ 162.4 รายต่อประชากรเด็ก 1 ล้านคน โดยพบเกิดในเด็กเล็ก อยู่ใน ช่วง 127.0–247.6 รายต่อประชากรเด็ก 1 ล้านคน และพบเป็นสาเหตุเสียชีวิต ในเด็กชาย คิดเป็นลำดับที่ 4 รองจาก อุบัติเหตุ ฆาตกรรม และ ฆ่าตัวตาย ส่วนในเด็กหญิง พบเป็นสาเหตุลำดับที่ 2 รองจากอุบัติเหตุ
โรคมะเร็งในเด็กมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งในเด็กยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าน่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยพบมีปัจจัยเสี่ยง คือ
- พันธุกรรม ทั้งชนิดถ่ายทอดได้ และชนิดไม่ถ่ายทอด จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสูงสุดของการเกิดโรคมะเร็งในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เช่น การเกิดความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดของจีน/ยีน (Genes) ชนิดทูเมอร์ ซับเพรสเซอร์ (Tumor suppressor genes, จีนสำคัญ มีหน้าที่ ควบคุมการเจริญเติบโต และการตายตามธรรมชาติของเซลล์ปกติ) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในเด็กเกือบทุกชนิด หรือโรคกลุ่มอาการดาวน์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล
- การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัส ชนิด อีบีวี (EBV, Epstein –Barr virus) หรือ ชนิดเอชไอวี (HIV) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
- สิ่งแวดล้อม การได้รับสารเคมีบางชนิดในปริมาณสูงต่อเนื่อง เช่น จากยาฆ่าแมลง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ การเกิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การดื่มน้ำที่มีสารก่อมะเร็งไนเตรท (Nitrates) ปนเปื้อนปริมาณสูงต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- รังสีเอกซ์ (x-rays) การได้รับรังสีเอกซ์ (รังสีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค) ปริมาณสูงขณะอยู่ในครรภ์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- จากมารดาได้รับสารบางชนิดปริมาณสูงต่อเนื่องในขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาฆ่าแมลง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของลูก หรือจากมารดาบริโภคสารก่อมะเร็ง กลุ่มไนโตรโซ (Nitroso compound, nitrosamine) ปริมาณสูง จากเนื้อสัตว์แปรรูป (เช่น ไส้กรอก และปลาร้า) อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเนื้องอก/มะเร็งสมองของลูก การติดสุราของมารดาอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของลูก หรือการบริโภคสารกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคลา ยาชูกำลัง) ปริมาณสูงต่อเนื่องของมารดาอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองของลูก
ป้องกันโรคมะเร็งในเด็กได้อย่างไร?
การป้องกันโรคมะเร็งในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ จากพันธุกรรม แต่อาจเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นได้ โดยเฉพาะการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆของมารดาขณะตั้งครรภ์ดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุุ
มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในเด็กไหม? ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อไร?
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการแนะนำเรื่องการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ยังไม่พบวิธีการที่มีประสิทธิภาพ หรือ การตรวจคัดกรองอาจก่อปัญหาทางสังคม ทั้งกับตัวเด็กเอง และกับครอบครัว เช่น ก่อความกังวลจนถึงขั้นมีผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งของครอบครัวและของเด็กเอง
ดังนั้น คำแนะนำโดยทั่วไป คือ ผู้ปกครองควรต้องสังเกตความผิดปกติของเด็ก แล้วรีบนำเด็กพบแพทย์ เช่น คลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ เด็กผอมลงโดยไม่มีสาเหตุอันควร เด็กมีไข้สูงบ่อย หรือ มีจุด/จ้ำห้อเลือดเกิดตามตัวง่าย/บ่อย
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งในเด็กอย่างไร?
การวินิจฉัยโรคมะเร็งในเด็กมีขั้นตอนและวิธีการ เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ โดยมีสองขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นตอนแรก เป็นการตรวจเพื่อให้ได้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง และขั้นตอนที่ 2 คือ การตรวจเพื่อจัดระยะโรคมะเร็ง และเพื่อประเมินสุขภาพเด็ก
- การตรวจเพื่อการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง เริ่มจากประวัติอาการต่างๆของเด็ก และการตรวจร่างกาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเบื้องต้น และนำสู่การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูการทำงานและชนิดของเซลล์ไขกระดูกว่าใช่เซลล์มะเร็งหรือไม่ การตรวจเลือด เพื่อหาสารเคมีบางชนิดซึ่งสัมพันธ์กับเซลล์มะเร็ง เช่น สารมะเร็ง(ทูเมอร์มากเกอร์,Tumor markers) การตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไต และเซลล์ในน้ำปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์ในตำแหน่งซึ่งเกิดอาการ เช่น การตรวจภาพปอด กรณีย์มีไข้ร่วมกับอาการไอ โดยอาจเป็นการตรวจด้วย เอกซเรย์ธรรมดา หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed axial tomography, CT or CAT scan) และอื่นๆทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์
เมื่อพบความผิดปกติที่สงสัย การตรวจขั้นต่อไปที่สำคัญ คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งเมื่อผลการตรวจระบุ ว่าเป็นโรคมะเร็ง ขั้นตอนต่อไป คือการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรคมะเร็งและสุขภาพของเด็ก
- การตรวจเพื่อจัดระยะโรคมะเร็งและประเมินสุขภาพเด็ก คือ การตรวจเพื่อค้นหาการลุกลามแพร่กระจายของโรคมะเร็ง ทั้งการลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ แพร่กระจายตามกระแสโลหิต (เลือด) เข้าสู่อวัยวะต่างๆซึ่งอยู่ไกล ห่างจากอวัยวะต้นกำเนิดโรคมะเร็ง เช่น ปอด ตับ ไขกระดูก กระดูก และ สมอง
การจัดระยะของโรคมะเร็งมีความสำคัญมาก ใช้เป็นข้อบ่งชี้วิธีรักษา ใช้เป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค และใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษาด้วยวิธี การต่างๆเพื่อศึกษาหาวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ
การตรวจเพื่อจัดระยะโรคมะเร็งมักตรวจไปพร้อมๆกับการตรวจเพื่อประเมินสุขภาพของเด็กว่า ควรเป็นการรักษาด้วยวัตถุประสงค์ใด ระหว่างการรักษาหวังผลหายขาด (Cure หรือ Definitive หรือ Radical treatment) หรือ รักษาเพียงประ คับประคองตามอาการ (Symptomatic and supportive หรือ Palliative treat ment) ทั้งนี้เพราะทั้งสองวัตถุประสงค์ มีวิธีรักษาต่างกัน
การตรวจสำคัญเพื่อการจัดระยะโรค และประเมินสุขภาพเด็ก เช่น
- การตรวจเลือด ดูการทำงาน ของไขกระดูก ตับ และไต
- การตรวจปัสสาวะ ดูการทำงานของไต และกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด ดูการทำงานของปอด หัวใจ และการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด
- การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือคลื่นแม่เหล็ก เอมอาร์ไอ (MRI) เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ตับ โดยจะเลือกวิธีการใด ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์
- การตรวจภาพอวัยวะต้นกำเนิดโรคมะเร็ง เพื่อดูการลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง ด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ ซึ่งจะเลือกวิธี การใด ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และดุลพินิจของแพทย์
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อค้นหาการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเข้ากระแสโลหิต (การฉีดน้ำยารังสีเข้าหลอดเลือดดำ หลังการฉีดยา จะจับภาพอวัยวะที่ต้องการตรวจ หรือ ภาพอวัยวะทั้งตัวด้วยเครื่องตรวจจับภาพ ชนิด สเปก SPECT, Single photon emission computed tomography หรือ ชนิดเพทสะแกน PET scan, Positron emission tomography) ซึ่งการเลือกใช้วิธีการต่างๆเหล่านี้ ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์เช่นกัน
การเลือกใช้วิธีการต่างๆเหล่านี้ ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์เช่นกัน
อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการตรวจเฉพาะ ขึ้นกับแต่ละชนิดของโรคมะเร็ง เช่น การตรวจไขกระดูก หรือการตรวจน้ำไขสันหลังในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
โรคมะเร็งในเด็กมีระยะโรคอย่างไร?
ระยะของโรคมะเร็งในเด็กแต่ละชนิด มีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่ในภาพรวมคล้ายคลึงกัน และคล้ายกับในผู้ใหญ่ กล่าวคือ แบ่งเป็น ๔ ระยะหลักตามลักษณะการลุกลาม และการแพร่กระจายของโรค โดยในภาพรวม ระยะทั้ง 4 ได้แก่
- ระยะที่ 1 แผล หรือก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ หรือในอวัยวะที่เกิดโรค ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะข้างเคียง
- ระยะที่ 2 แผล/ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น และ/หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงเล็กน้อย
- ระยะที่ 3 แผล/ก้อนมะเร็งโตมาก และ/หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงมาก และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้อวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง เช่น ถ้าเป็นโรคมะเร็งไต ต่อมน้ำเหลืองใกล้จะอยู่ติดกับขั้วไต (ต่อมน้ำเหลืองไกลของไต คือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า)
- ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองซึ่งอยู่ไกลจากอวัยวะที่เกิดโรค เช่น ถ้าเป็นโรคมะเร็งไต และมีโรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองไกล (ต่อมน้ำเหลืองอยู่เหนือกระดูกไหปลาร้า ) และ/หรือ แพร่กระจายตามกระแสโลหิต เข้าสู่อวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป ที่พบบ่อยเมื่อมีการแพร่กระจาย คือ ปอด ตับ ไขกระดูก กระดูก และสมอง
นอกจากนั้น ในโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา (ระบบโรคเลือด, Hematology) เมื่อเป็นโรคของตัวเม็ดเลือดเอง เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อเกิดโรค โรคจะแพร่กระจายในไขกระดูกทั้งตัวแล้ว ดังนั้นการจัดระยะโรคจึงมักจัดเป็น โรคในกลุ่มมีความรุนแรงทั่วไป และโรคในกลุ่มมีความรุนแรงสูง
โรคมะเร็งในเด็กมีธรรมชาติของโรคเป็นอย่างไร?
ลักษณะการลุกลามและแพร่กระจายตามธรรมชาติ (Natural history) ของโรคมะเร็งในเด็ก หมายถึง ลักษณะการลุกลาม/แพร่กระจาย ของโรค เมื่อไม่ได้รับการรักษา หรือเมื่อรักษาแล้วไม่ตอบสนอง/ดื้อต่อการรักษา
โรคมะเร็งในเด็กมีธรรมชาติของโรค เป็นชนิดมีความรุนแรงโรคสูง มีการลุกลาม/แพร่กระจายเข้า อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลือง และ กระแส โลหิต โดยเฉพาะไขกระดูก ได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จึงมักมีระยะโรคสูงตั้งแต่แรกตรวจพบ อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งในเด็ก มักตอบสนองดีต่อ ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา มากกว่าในผู้ใหญ่ แต่ในทางกลับกัน การรักษาทั้งสองวิธี ให้ผลข้างเคียงแทรกซ้อนต่อเด็ก มากกว่าต่อผู้ใหญ่
โรคมะเร็งในเด็กมีอาการอย่างไร?
เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก มักไม่สามารถระบุอาการต่างๆของตนเองได้ชัดเจนเหมือนเด็กโต หรือผู้ใหญ่ จึงต้องอาศัยความเอาใจใส่ และการสังเกตจากผู้ปกครอง เพื่อรีบปรึกษาแพทย์
อาการของโรคมะเร็งในเด็กไม่ใช่อาการจำเพาะของโรค เป็นอาการได้เหมือนโรคอื่นๆทั่วไป ดังนั้น ผู้ปกครองจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ทั้งนี้อาการพบบ่อยของโรคมะเร็งในเด็ก คือ
- มี หรือ คลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ
- มีไข้บ่อย
- ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้
- ซีด หรือมีจุด/จ้ำ/ห้อเลือดง่าย
- อ่อนเพลียง่าย ไม่ซุกซนเหมือนเคย หรือโยเยผิดปกติ
โรคมะเร็งในเด็กรุนแรงไหม?
ความรุนแรงของโรคมะเร็งในเด็ก ขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่
- ระยะของโรค
- ชนิดของโรคมะเร็ง (เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวรุนแรงกว่าโรคมะเร็งต่อมน้ำ เหลือง)
- การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง (โรคมะเร็งของอวัยวะเดียวกัน หรือ โรคมะเร็งประ เภทเดียวกัน มีเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวได้ได้หลายชนิด คือ แบ่งตัวต่ำ แบ่งตัวปานกลาง และแบ่งตัวสูง/โรครุนแรงกว่า)
- สุขภาพของเด็ก ถ้าสุขภาพไม่ดี ความรุนแรงโรคสูงขึ้น
- การขึ้นสูงของค่าสารเคมีบางชนิด เช่น สารทูเมอร์มากเกอร์ เพราะเป็นตัวบ่งชี้ ปริมาตรของเซลล์มะเร็ง
- การไม่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้หมดจะเพิ่มความรุนแรงโรคให้สูงขึ้น
- การดื้อต่อยาเคมีบำบัด
- การดื้อต่อรังสีรักษา
แพทย์รักษาโรคมะเร็งในเด็กอย่างไร?
แนวทาง และวิธีรักษาโรคมะเร็งในเด็ก เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ กล่าวคือ มี ๓ วิธีหลัก ได้แก่ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา
วิธีรักษาสำคัญ คือ การผ่าตัด และยาเคมีบำบัด เนื่องจากรังสีรักษา ให้ผลข้างเคียงต่อเด็กค่อนข้างสูง จึงมักใช้เป็นวิธีรักษาต่อเมื่อมีความจำเป็นจากการรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือ ใช้รักษาเพียงเพื่อบรรเทาอาการ จากโรคในโรคระยะลุกลาม หรือรุนแรง
โดยทั่วไป การรักษา เริ่มจากการผ่าตัดก่อน แล้วจึงตามด้วยยาเคมีบำบัด แต่ถ้าไม่สามารถผ่าตัดได้ตั้งแต่แรก การรักษาจะนำก่อนด้วยยาเคมีบำบัด หลังจากนั้นจะประเมินอีกครั้งในเรื่องการผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการสำคัญ และมีผลต่อความรุนแรงของโรค ถ้าผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้ทั้งหมด โอกาสรักษาโรคหายมีสูง อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งในกลุ่มโรคระบบโลหิตวิทยา ซึ่งมีธรรมชาติของโรคแพร่กระจายเข้าไขกระดูกสูง และรวดเร็ว เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดมีประโยชน์น้อย เพราะเมื่อวินิจฉัยได้ โรคมักแพร่กระจายเข้าไขกระดูกแล้ว ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งกลุ่มนี้ จึงใช้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก อาจร่วมกับรังสีรักษาในบางระยะของโรค ไม่ใช้การผ่าตัด
การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือเรียกย่อว่า บีเอ็มที (Bone marrow transplantation, BMT) และการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem cell) เป็นอีกวิธีรักษาสำคัญในโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยาในเด็ก ซึ่งให้ผลการรักษาสูงกว่าในผู้ใหญ่ แต่การรักษายังมีค่าใช้จ่ายสูง และยังให้การรักษาได้จำกัดอยู่เฉพาะในบางโรงพยาบาลใหญ่ เช่น ในโรงเรียนแพทย์ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้สำหรับโรคมะเร็งเด็กชนิดอื่นๆ รวมทั้งการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่โรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เช่น การปลูกถ่ายตับในโรคมะเร็งตับ เป็นต้น ยังอยู่ในการศึกษา
แพทย์ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งหลังครบการรักษาอย่างไร?
ภายหลังครบการรักษา แพทย์ยังนัดดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อ ตรวจการตอบสนองของโรคต่อการรักษา ตรวจการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรค ตรวจการแพร่กระจายของโรค และการตรวจ/รักษาเพื่อป้องกันและรักษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษา
ความถี่ของการนัดตรวจขึ้นกับ สุขภาพของเด็ก ชนิดของโรคมะเร็ง ระยะของโรค โอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ และโอกาสเกิดผลข้างเคียง แต่ โดยทั่วไป ในปีแรกหลังครบการรักษา แพทย์มักนัดตรวจทุก 3-4 สัปดาห์ ปีที่ 2-3 ทุก 1-3 เดือน ใน ปีที่ 4-5 ทุก 3-6 เดือน และ ภายหลัง 5 ปีไปแล้ว ทุก 6-12 เดือน
ปัญหาการรักษาโรคมะเร็งในเด็กต่างจากในผู้ใหญ่อย่างไร?
ปัญหาการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ เด็กยังเล็ก บอกอาการตนเองไม่ได้ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาการดูแลจากผู้ปกครอง และจากครอบครัวทั้งหมด จึงเป็นภาระต่อครอบครัว มากกว่าในโรคมะเร็งผู้ใหญ่ หรือในเด็กโตมาก มีผลกระทบต่อการงานของผู้ปกครอง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง การขาดงานของผู้ปกครอง อาจเพิ่มปัญหาทั้งการงาน และการเงินของครอบครัว นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบต่อการดูแล และการศึกษาของลูกคนอื่นๆ (พี่/น้องของเด็กป่วย) มีผลกระทบต่อการเรียนของตัวเด็กป่วยเอง ต้องได้รับความดูแลเอาใจใส่จากคุณครูเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนในโรงเรียน นอกจากนี้ ตัววิธีการรักษาเอง อาจก่อผลข้างเคียงกระทบต่อสติปัญญา และสุขภาพของเด็ก ดังนั้น ในครอบครัวซึ่งมีปัญหาเศรษฐกิจ เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องหยุดการเรียน และมีโอกาสน้อยมากต่อการกลับเข้าเรียนใหม่ภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้ว และถ้าโตเป็นผู้ใหญ่ มักยังต้องอยู่ในความดูแลของครอบครัวตลอดไป มีโอกาสต่ำกว่าคนทั่วไป ต่อการทำงานหารายได้ด้วยตนเอง หรือการแต่งงานมีครอบครัวเป็นของตนเอง
สรุป
โรคมะเร็งในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นโรคมะเร็งชนิดแตกต่างจากในผู้ใหญ่ อัตราการเกิดโรคต่ำกว่าในผู้ใหญ่มาก ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค คือ ความผิดปกติทางพันธุ์กรรม ส่วนวิธีรักษาที่สำคัญ คือ การผ่าตัด และยาเคมีบำบัด โดยมีปัจจัยต่อความรุนแรงของโรคที่สำคัญขึ้นกับ ระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง โอกาสผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมด และ การตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด
ที่มา https://haamor.com/th/มะเร็งในเด็ก/