เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)


1,176 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ตับอ่อน  ระบบต่อมไร้ท่อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

อ้วน 

เบาหวานคืออะไร

เบาหวาน หรือ โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus หรือเรียกตัวย่อว่า ดีเอม,DM) คือ ภา วะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ความเข้มข้นของเลือดสูงตามไปด้วย จนเกินความสามารถของไตที่จะเก็บน้ำตาลไว้ได้ ทำให้มีปัสสาวะแต่ละครั้งมีปริมาณน้ำปัสสาวะมาก และมีน้ำตาลมาก (คนปกติจะไม่มีน้ำตาลในปัสสาวะ ) คนไทยจึงเรียกชื่อโรคว่า เบาหวาน

เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  1. เบาหวานชนิดที่ 1 พบในวัยเด็กทุกอายุ แต่พบบ่อยในวัยรุ่น
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดเดียวกันกับเบาหวานในผู้ใหญ่ พบในเด็กอ้วน ส่วนใหญ่เป็นเด็กโต ทำให้เกิดการดื้อต่อยาอินซูลิน (ฮอร์โมนซึ่งสร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระ ดับน้ำตาลในเลือด) จึงเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรคได้เร็วและบ่อยกว่าชนิดที่ 1

เบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการขาดอินซูลิน ซึ่งสาเหตุเกิดจากอะไรยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมผิดปกติ และ/หรือ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกายผิดปกติ โดยอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การขาดอินซูลินอาจตามหลังการติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น โรคคางทูม โรคหัดเยอร มัน และอื่นๆ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายต่อเซลล์ตับอ่อน

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากมีการดื้อต่ออินซูลิน จึงส่งผลให้มีอินซูลินแต่ไม่เพียงพอ ซึ่งสาเหตุยังไม่ชัดเจนเช่นกัน แต่ปัจจัยเสี่ยง คือ อายุที่มากขึ้น โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และขาดการออกกำลังกาย และอาจมีพันธุกรรมที่ผิดปกตินำมาก่อนได้

อาการของเบาหวานมีอะไรบ้าง?

อาการของโรคเบาหวาน ที่พบได้บ่อยในเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะมากและบ่อย กินจุ แต่ผอมลงน้ำหนักลด อ่อนเพลีย เด็กเล็กบางคนที่เคยหยุดปัสสาวะรดที่นอนแล้ว อาจกลับมาเป็นใหม่ได้ เด็กหญิงวัยรุ่นบางคนจะมีอาการคันช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อราได้ บางคนที่ได้รับการรักษาช้า จะมีอาการของภาวะแทรกซ้อนจากการที่เลือดเป็นกรด เช่น มีคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ซึมลง ร่วมกับมีอาการหอบ หายใจลึกเร็ว ซึ่งถ้าไม่ ได้รับการรักษาทันท่วงที จะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้

ส่วนเด็กอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มักไม่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน แต่มักพบภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว (เมื่อโตขึ้นหรือเป็นผู้ใหญ่) ของหลอดเลือด ทั้งหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น ดวงตา และไต และหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น ของหัวใจ

จะสังเกตได้อย่างไรว่าบุตรหลานเป็นเบาหวาน?

จะสังเกตได้ว่า บุตรหลานอาจเป็นเบาหวานจากอาการดังกล่าว โดยเด็กปกติทั่วๆไป จะมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ แต่เด็กที่น้ำหนักไม่ขึ้นหรือลดลง ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เด็กอ้วนทุกคนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (ตรวจน้ำตาลในเลือด และ/หรือ ตรวจปัสสาวะ เป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของแพทย์) โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบา หวาน

เมื่อไหร่ควรนำเด็กมาพบแพทย์?

ผู้ปกครองที่สงสัยว่าบุตรหลานจะเป็นเบาหวาน ถ้าพบอาการดังกล่าวข้างต้น รวมถึงเด็กอ้วนที่มีอายุมากกว่า 10 ปีทุกคน ควรได้รับการตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลกลูโคสขณะอดอาหาร ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัย

การวินิจฉัยเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่แน่นอนควรทำอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่แน่นอน คือ ควรเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลกลู โคสขณะอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า ถ้ามากกว่า 126 มิลลิ กรัมต่อเดซิลิตร (มก./ดล.) ร่วมกับมีอาการ ถือว่าเป็นเบาหวานระดับน้ำตาลถ้าไม่ได้อดอาหาร แต่มากกว่า 200 มก./ดล. ก็วินิจฉัยโรคเบาหวานได้ การตรวจปัสสาวะก็อาจจะช่วยคัดกรองได้ แต่ยังไม่ใช่การวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องตรวจเลือดยืนยันการวินิจฉัยเสมอ ทั้งนี้เพราะเด็กที่รับประ ทานน้ำตาลจำนวนมาก จนเกินความสามารถของไตที่จะเก็บน้ำตาลไว้ อาจจะตรวจพบมีน้ำตาลในปัสสาวะชั่วคราวหลังกินอาหารนั้นๆได้โดยยังไม่ได้เป็นเบาหวาน

การตรวจคัดกรองในเด็กอ้วน โดยการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดขณะอดอาหารก็ใช้เกณฑ์เดียวกัน ในกรณีที่ระดับน้ำตาลกลูโคสอยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล. อาจจะต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลที่ 60 และ 120 นาที หลังให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส (Oral glucose tolerance test หรือ เรียกย่อว่า OGTT)

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจอื่นๆ เช่น วัดระดับ ซีเพพไทด์ (C-peptide) ช่วยบอกความสา มารถของตับอ่อนในการสร้างอินซูลิน ระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1c หรือเรียกย่อว่า HbA1c) ช่วยบอกค่าน้ำตาลในเลือดระยะยาวย้อนหลัง 3 เดือน การตรวจยีน (บางคนเรียกว่า จีน หรือ Gene) ที่เรียกว่า เอชแอลเอ (HLA) บางชนิด และ/หรือตรวจสารภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเซลล์ตับอ่อน ซึ่งพบได้ในเบาหวานชนิดที่ 1

ซึ่งการจะเลือกตรวจด้วยวิธีใด ขึ้นอยู่กับอาการของเด็ก และดุลพินิจของแพทย์

การรักษาเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?

หลักการดูแลรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์ที่ดูแลจะให้คำแนะนำกับผู้ปกครอง และ/หรือ ตัวผู้ป่วยเอง เมื่ออยู่ในวัยที่รับรู้ได้ ดังนี้

  1. แนะนำให้รู้จักโรคเบาหวาน
  2. การฉีดยาอินซูลิน
  3. วิธีตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและการแปลผล ด้วยตนเอง
  4. วิธีคำนวณและจัดอาหารให้เหมาะสมกับขนาดของอินซูลิน และกิจวัตรประจำวันรวมถึงการออกกำลังกาย
  5. การปฏิบัติตนขณะเจ็บป่วย
  6. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน

ยาที่ใช้รักษาเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีอะไรบ้าง?

เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการขาดอินซูลิน จึงต้องรักษาด้วยการฉีดยาอินซูลินใต้ผิว หนัง อาจจะฉีดวันละ 2-4 ครั้ง ขึ้นกับชนิดของยาอินซูลินที่ใช้ ซึ่งมีการออกฤทธิ์ต่างกันทั้งออกฤทธิ์สั้น ออกฤทธิ์ปานกลาง และออกฤทธิ์ยาว ควบคู่ไปกับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถปรับขนาดของยาอินซูลินได้อย่างเหมาะสม

เด็กอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในระยะแรก ถ้ามีอาการรุนแรง ควรควบคุมระดับน้ำตาลโดยการฉีดยาอินซูลิน เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้แล้ว อาจใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลรับประทานควบคู่ไปกับการควบคุมปริมาณและชนิดของอาหาร และการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2

เมื่อเป็นเบาหวานแล้วมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง? ป้องกันได้อย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น แบ่งเป็น

  1. ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น หรือระยะเฉียบพลัน ได้แก่
  2. ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ซึ่งเกิดกับหลอดเลือดต่างๆ ดังนี้
  • หลอดเลือดขนาดเล็กที่ ตา ไต และปลายประสาท ทำให้ตาบอด และไตวาย อาการที่เกิดขึ้นกับปลายประสาท ได้ แก่อาการชา ปวดแสบปวดร้อนบริเวณเท้า แผลเรื้อรัง เท้าขาดเลือดไปเลี้ยงซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางคนต้องถูกตัดขา เป็นต้น
  • หลอดเลือดขนาดใหญ่ และหัวใจ หลอดเลือดแข็งตัว ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ทำให้เสีย ชีวิตแบบเฉียบพลันได้

อนึ่ง การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่สำคัญที่สุด คือ การควบคุมระดับน้ำ ตาลกลูโคสในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสม่ำเสมอ โดยทั่วไปขณะอดอาหารให้อยู่ระหว่าง 80-130 มก./ดล. ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรพบแพทย์สม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือตามแพทย์นัด เพื่อประเมินการควบคุมเบาหวาน การเจริญเติบโตของเด็ก วัดความดันโลหิต วัดระดับไขมันในเลือด วัดการทำงานของไต ตรวจตา และค้นหาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น แผลที่เท้า

เด็กเบาหวานที่ปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อนแล้วไม่ต้องฉีดฮอร์โมนอินซูลินใช่หรือไม่?

ในปัจจุบัน การฉีดอินซูลินเพื่อรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 และที่ 2 ที่ควบคุมด้วยยารับประ ทานแล้วไม่ได้ผล ยังเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ในต่างประเทศมีการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน (Islet cell transplantation) ซึ่งผลของการรักษาวิธีนี้ ยังไม่ประสบผลสำเร็จในผู้ป่วยทุกคน ปัญหาที่พบคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากๆ และเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้าน ทาน ซึ่งในระยะยาว อาจเกิดโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆตามมาได้ เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นรุนแรงหรือไม่?

ความรุนแรงของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในระยะเริ่มต้นที่มีภาวะเลือดเป็นกรด ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้

ความรุนแรงอีกระยะหนึ่งคือ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดในหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นผลตามมาจากการควบคุมเบาหวาน หรือระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีความดันโลหิตสูง ตาบอด ไตวาย หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตตามมาได้

ดูแลเด็กและวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานอย่างไร?

การดูแลเด็กและวัยรุ่นที่เป็นเบาหวาน คือ ทั้งผู้ปกครอง และผู้ป่วย ต้องเข้าใจเรื่องโรค และภาวะแทรกซ้อนจากโรค และต้องปฏิบัติตนตามแพทย์และพยาบาลแนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัด ต้องไม่ขาดยา ต้องพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อเด็กมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อเด็กมีอาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อผู้ปกครองกังวลในอาการของเด็ก

การป้องกันเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นทำอย่างไร?

การป้องกันเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 จะโดยการควบคุมน้ำ หนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งทำได้โดยการรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมทุกมื้ออาหาร ไม่รับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล และไขมันมากเกินไป ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานและน้ำอัดลม ที่สำคัญคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั่งๆนอนๆ (Sedentary lifestyle) เช่น เล่นคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ต่างๆ

การป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลชัดเจน แต่เด็กที่มีบิดา มารดา หรือพี่น้องเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ควรได้รับการตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต้าน ทานต่อเซลล์ของตับอ่อน และควรให้รับประทานนมแม่แทนนมผสม เพื่อลด หรือชะลอการเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเซลล์ของตับอ่อน
ที่มา   https://haamor.com/th/เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น/

อัพเดทล่าสุด