ปัญหาโภชนาการในเด็ก: การขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร (Protein energy malnutrition)


1,758 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว  โภชนาการ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ผอมลง 

ทั่วไป

วัยเด็กต้องการอาหาร โปรตีน (Protein) และกำลังงานสารอาหาร (พลังงานสารอาหาร หรือ Energy) มากกว่าวัยอื่น เพราะต้องใช้โปรตีนและกำลังงานสารอาหารในการเจริญเติบโตและในการพัฒนาการ

ในอดีต การขาดอาหารในเด็ก หรือที่เรียกว่าการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร (Protein energy malnutrition) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในประเทศไทย หลังจากนั้นเมื่อการ แพทย์และการสาธารณสุขดีขึ้น ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลง กลับเป็นว่าพบปัญหาโรคอ้วนตามแบบสังคมตะวันตกมากขึ้น

ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ปัญหาการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอาจกลับ มาเป็นปัญหาของประเทศไทยอีก จากภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน การตกงาน การขาดความรู้ในการเลี้ยงดูเด็ก และการมีลูกในวัยรุ่นอาจทำให้การเลี้ยงดูเด็กไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอา หารมากขึ้นอีก

ภาวะทุพโภชนาการหมายถึงอะไร?

ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หมายถึง ภาวะที่ทารกและเด็กบริโภคอาหารและได้ รับกำลังงานสารอาหารไม่ถูกต้องทั้ง ปริมาณ ชนิด และคุณภาพ ซึ่งอาจจะได้รับมากเกินความต้องการ จนกลายเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรืออาจได้รับน้อยเกินไปจนเกิดภาวะขาดโภชนาการ (Under nutrition) ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอา หาร (Protein energy malnutrition) หรือบางคนได้อาหารเพียงพอ แต่สัดส่วนของอาหารไม่ถูกต้อง (Imbalance nutrition) หรือบางคนอาจได้อาหารและกำลังงานเพียงพอแต่ขาดสารอา หารบางตัว เช่น วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งในที่นี้จะเน้นเฉพาะเรื่องการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะทุพโภชนาการ?

สาเหตุ/ปัจจัยของภาวะทุพโภชนาการเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันตั้งแต่

  1. ปัญหาทางเศรษฐกิจ และทางสังคมของประเทศ
  2. แหล่งอาหารในชุมชน
  3. ความจำกัดของครอบครัวที่จะผลิตหรือซื้ออาหาร
  4. การขาดความรู้ที่ถูกต้องของครอบครัวในการเลี้ยงดู และในการจัดอาหารให้แก่ทา รกและเด็ก และมีความเชื่อบางอย่างที่ห้ามกินอาหารบางชนิด
  5. การเจ็บป่วยของทารกและของเด็ก ทำให้เด็กได้รับสารอาหารเข้าสู่ร่างกายได้น้อย เช่น ปัญหาการติดเชื้อ ปัญหาท้องร่วง/ท้องเสียเรื้อรัง การดูดซึมสารอาหารจากลำไส้ไม่ดี ท่อน้ำดีตีบตัน ทำให้การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันผิดปกติ เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
  6. ปัญหาพันธุกรรมบางอย่างทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ปกติ เพราะมีความผิดปกติในการย่อยสารอาหารบางอย่าง
  7. การขาดความเอาใจใส่ในการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพตามวัย

ภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารเกิดจากอะไร?

ภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร (PEM,Protein energy malnutrition) เป็นกลุ่มของความผิดปกติที่เกิดจากการได้รับโปรตีนและกำลังงานสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุของภาวะทุพโภชนาการ จึงทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า มีภาวะน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน (Under weight ) หรือเลี้ยงไม่โต (Failure to thrive) โดยมีน้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซนไตล์ (Percentile) ที่ 3 ของค่ามาตรฐานน้ำหนักเทียบกับอายุ (สามารถหาดูกราฟ/Graph การเจริญเติบโตของเด็กตามเพศ อายุ ในสมุดประจำตัวเด็กที่โรงพยาบาลแจกให้ตั้งแต่แรกเกิด ส่วนเปอร์เซนไตล์ คือ ระดับคะแนนทางสถิติ ที่ใช้เปรียบเทียบตัวแปรต่างๆดังกล่าวแล้วทางการเจริญเติบโตของเด็กในวัยต่างๆ เช่น น้ำหนัก และส่วนสูง)

ถ้าภาวะนี้รุนแรงขึ้นและเรื้อรังมากขึ้นจะทำให้เด็กตัวเตี้ยหรือแคระแกรน ถ้ามีปัจจัยที่ทำให้เสียเมตาบอลิสึม (Metabolism,ปฏิกิริยาเคมีต่างๆที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย) เช่น การติดเชื้อ จะก่อให้เกิดการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร ที่ส่งผลให้มีอาการปรากฎชัด เจน เช่น ภาวะบวมทั่วตัวจากขาดโปรตีนอย่างรุนแรงเรียกว่า Kwashiorkor หรือภาวะผอมแห้งจากขาดกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรงเรียกว่า Marasmus ซึ่งคือ การมีกล้ามเนื้ออ่อนเหลว และมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย

เด็กที่ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารจะมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบโดยทั่วไปของเด็กที่ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร คือ มีการเจริญเติบ โตไม่สมวัย น้ำหนัก และส่วนสูง ต่ำกว่าเกณฑ์ ในกรณีที่มีการขาดกำลังงานสารอาหารเรื้อรัง เด็กจะมีอารมณ์หงุดหงิด ไม่มีความสุข นอกจากจะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารแล้ว ยังมักจะขาดสารอื่นๆร่วมด้วย เช่น ขาดธาตุเหล็ก ขาดธาตุสังกะสี และขาดวิตามินต่างๆ เป็นต้น

ในกรณีที่ขาดกำลังงานสารอาหารรุนแรง จะพบอาการได้ 3 ลักษณะคือ

  1. ลักษณะบวมทั่วตัว เรียกว่า Kwashiorkor
  2. ไม่บวม เรียกว่า Marasmus แต่จะพบมีแก้มเหี่ยว ตัวเหี่ยว ไม่มีกล้ามเนื้อ และไม่มีไขมัน
  3. มีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน เรียกว่า Marasmic kwashiorkor

อนึ่ง เด็กที่ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารรุนแรง พบในประเทศยากจน ขาดแคลนอาหารและมีโรคระบาด หรือในภาวะสงคราม หรือในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูไม่ถูกต้อง เช่น ในเด็กที่แพ้นมวัวและเลี้ยงด้วยน้ำข้าว ซึ่งทำให้ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารรุนแรง

ในประเทศไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เรายังพบเห็นภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอา หารชนิดรุนแรงทั้ง Kwashiorkor และ Marasmus แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยพบแล้ว ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าในบริเวณที่อยู่ไกลจากตัวเมืองมากๆ ยังพบมีผู้ป่วยขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารจนเนื้อที่ข้างแก้มเปื่อยจนขาดหายไปเป็นรู เรียกว่า Noma คิดว่าในประเทศไทยในถิ่นที่ทุรกันดารมากๆอาจยังพบได้

สรุปอาการของการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรงตามอวัยวะต่างๆ

มีดังนี้  

เด็กวัยใดพบภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารมากที่สุด?

เด็กที่พบภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารมากที่สุด คือ เด็กวัยก่อนเรียน เนื่องจาก

  1. วัยนี้มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ความต้องการโปรตีนและกำลังงานสารอาหารต่อน้ำหนักตัวสูงกว่าวัยอื่นๆ
  2. ยังไม่สามารถกินอาหารด้วยตนเองได้เต็มที่
  3. วัยนี้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าวัยอื่นๆ
  4. พฤติกรรมการเลี้ยงดู ความเชื่อของผู้เลี้ยงดูเด็ก ทำให้เด็กได้รับอาหารโปรตีนและกำลังงานสารอาหารไม่เพียงพอ

แพทย์รักษาภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรงอย่างไร?

แพทย์จะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรง โดยผู้ที่มีอาการรุนแรงนี้แพทย์จะให้นอนรักษาในโรงพยาบาล และแบ่งการรักษาออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 การรักษาระยะเฉียบพลัน

ระยะที่ 2 ระยะที่เด็กเริ่มดีขึ้น

ระยะที่ 3 เป็นระยะฟื้นฟู

การรักษาในระยะที่ 1 ใน 24 ชั่วโมงแรก แพทย์จะรักษาภาวะร่วมต่างๆ เช่น ภาวะไม่สม ดุลของสารเกลือแร่ ภาวะซีด/โลหิตจางภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะติดเชื้อ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา (การทำงานของอวัยวะต่างๆ) กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว ซึ่งในระยะนี้แพทย์จะต้องเจาะเลือดตรวจระดับสารเกลือแร่และสารเคมีต่างๆในเลือด ทำการเอกซเรย์อวัยวะต่างๆถ้าจำเป็น ส่งสารคัดหลั่งต่างๆเพาะเชื้อ และตรวจดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพราะในผู้ ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ในระยะนี้

เมื่อรักษาภาวะเฉียบพลันผ่านพ้นไปแล้ว จะเข้าระยะที่เริ่มดีขึ้น แพทย์จะเริ่มต้นรักษาด้านโภชนาการอย่างช้าๆ ให้อาหารทีละน้อย โดยค่อยๆเพิ่มกำลังงานสารอาหารจาก 25-50 กิโลแคลอรี/น้ำหนักผู้ป่วย 1 กิโลกรัม (กก.) /วัน จนสูงถึง 150 กิโลแคลอรี/กก./วัน การให้นมในระยะนี้ ต้องให้นมที่มีน้ำตาลแลกโตส (Lactose) น้อย หรือไม่มีน้ำตาลแลกโตสเลย เพราะในระยะนี้ ในเด็กที่ขาดกำลังงานสารอาหารรุนแรง ลำไส้มักสร้างน้ำย่อยน้ำตาลแลกโตสได้น้อย ถ้ากินแลกโตสมากอาจเกิดท้องเสียท้องอืด และปวดท้องได้ และการให้สารเกลือแร่ต่างๆก็ต้องเริ่มแต่น้อยๆก่อนเช่นเดียวกัน

เมื่อผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารได้ดีขึ้น จึงเข้าสู่การรักษาในระยะฟื้นฟู โดยให้ปริมาณกำลังงานสารอาหารสูงขึ้นเป็นวันละ 150-200 กิโลแคลอรี/กก./วัน ในระยะนี้เริ่มเสริมธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กไม่ควรเริ่มเร็วในระยะที่ 1 หรือ 2 เพราะในระยะดังกล่าว สารในร่างกายที่จะจับธาตุเหล็กไปใช้มีน้อย การเสริมธาตุเหล็กในระยะนั้นๆจึงยังไม่ได้ประโยชน์

ป้องกันภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารที่รุนแรงอย่างไร?

ป้องกันภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารที่รุนแรงได้โดย

  1. มีนโยบายระดับชาติในการส่งเสริมภาวะโภชนาการ มีการกระจายแหล่งอาหาร และการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเพื่อการรักษาทันทีที่พบกรณีปัญหา
  2. มีการให้สุขศึกษารายบุคคล และการเพิ่มสื่อมวลชนในการกระจายองค์ความรู้ เช่น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้อาหารเสริมระยะหย่านม การรักษาอุจจาระร่วง/ท้องเสียตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และการบริโภคประเภทอาหารให้ถูกต้อง และให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของเด็ก
  3. การผลิตอาหารและมีอาหารให้เพียงพอทั้งในระดับชุมชนและในระดับครอบครัว
  4. การลดอัตราการเพิ่มของประชากร
  5. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และการป้องกันภาวะติดเชื้อ
  6. การส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาในศูนย์โภชนาการตามเกณฑ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสม

เด็กเลี้ยงไม่โตหมายความว่าอย่างไร?

ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กเล็ก หรือภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารที่พบบ่อย คือ เด็กเลี้ยงไม่โต (Failure to thrive) ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการเจริญเติบโต ซึ่งคือ เด็กที่น้ำหนักตัวไม่ขึ้น น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับเด็กที่มี อายุ เพศ และเชื้อชาติเดียว กัน หากเกิดในระยะยาวนานและรุนแรง อาจมีปัญหาเรื่องส่วนสูงและรอบศีรษะไม่เติบโตตาม ปกติร่วมด้วย

เด็กเลี้ยงไม่โต อาจเป็นผลจากปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (เช่น จากถูกทอดทิ้ง หรือจากมีความรุนแรงในบ้าน) ด้วย แต่ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้มักเกิดจากการได้รับอาหารไม่เพียง พอ

เด็กเลี้ยงไม่โตก่อปัญหาอะไรบ้าง?

ภาวะเด็กเลี้ยงไม่โต ทำให้เกิดปัญหาดังนี้

  1. ตัวเตี้ย (Short stature)
  2. มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายลดลง ทำให้เจ็บป่วยง่าย

ดังนั้น การพบปัญหาเด็กเลี้ยงไม่โตได้เร็วและรีบให้การรักษา จะป้องกันไม่ให้เด็กสูญเสียการพัฒนาตามวัยในระยะยาว

อะไรเป็นสาเหตุของเด็กเลี้ยงไม่โต?

สาเหตุของเด็กเลี้ยงไม่โต คือ

  1. ได้รับอาหารและกำลังงานสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น จากเทคนิคการให้อาหาร เศรษฐกิจ สังคมไม่ดี และจากปัญหาเลี้ยงดู
  2. มีการดูดซึมอาหารจากลำไส้ผิดปกติ เช่น ท้องร่วง/ท้องเสียเรื้อรัง หรือแพ้น้ำตาลแลกโตสในนม
  3. มีการใช้กำลังงานสารอาหารมาก หรือมีความต้องการกำลังงานสารอาหารมากในกรณีมีโรคบางอย่าง เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็ง หรือมีการอักเสบของลำไส้เรื้อรัง โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง (ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ เมื่อผู้ป่วยหอบเหนื่อยมาก ก็จะใช้กำลังงานมากขึ้น)

แพทย์วินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตได้จาก การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดรอบศีรษะในเด็กเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ในเด็กเล็กจะวัดความยาว (นอนวัดความยาว วัดจากเส้นตั้งฉากกับส่วนเหนือสุดของศีรษะจนถึงส้นเท้าเด็ก) เมื่อวัดแล้วในแต่ละตัวแปร (Parameter) คือ น้ำหนัก ส่วนสูง เส้นรอบศีรษะ ควรนำมาเปรียบเทียบกับค่ากราฟมาตรฐานการเจริญเติบโต (Growth chart) ที่ใช้เทียบตาม เพศ อายุ และเชื้อชาติ ซึ่งในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ในประเทศไทยก็มีกราฟการเจริญเติบโต น้ำหนัก ส่วนสูง เทียบตามเพศและอายุของเด็กไทย ซึ่งกราฟทั่วไปมักจะมี น้ำหนักเทียบกับอายุ (Weight-for-age) ส่วนสูงเทียบกับอายุ (Length-for-age หรือ Height-for age ) รอบศีรษะเทียบกับอายุ (Head circum ference-for-age) และน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง (Weight-for-height)

เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปของการวินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตที่แน่ชัด ดังนั้น ข้อแนะนำที่จะวินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตมีดังนี้

  1. น้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซนไตล์ที่ 3 แต่บางสถาบันใช้เปอร์เซนไตล์ที่ 2
  2. น้ำหนักตัวน้อยกว่า 80% ของน้ำหนักที่ควรเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับอายุโดยกราฟเปรียบเทียบการเจริญเติบโตมาตรฐาน
  3. น้ำหนักเปรียบเทียบกับส่วนสูงลดลง (ได้แก่ Weight-for-age น้อยกว่า Length-for-age, Weight for length น้อยกว่า เปอร์เซนไตล์ที่ 10)
  4. อัตราการเพิ่มน้ำหนักน้อยกว่าที่คาดหมายตามอายุ ได้แก่

    26 ถึง 31 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 0 ถึง 3 เดือน

    17 ถึง 18 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 3 ถึง 6 เดือน

    12 ถึง 13 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 9 ถึง 12 เดือน

    7 ถึง 9 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 1 ถึง 3 ปี

เด็กเลี้ยงไม่โตมีระดับความรุนแรงอย่างไร?

มีผู้แบ่งระดับความรุนแรงของเด็กเลี้ยงไม่โตหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แบ่งเป็น มีอาการน้อย (อาการ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการจากการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร) มีอาการปานกลาง และมีอาการมาก ซึ่งการแบ่งความรุนแรงดังกล่าวอาจสำคัญน้อยกว่าการหาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

แพทย์ให้การรักษาเด็กเลี้ยงไม่โตอย่างไร?

เป้าหมายสำคัญสำหรับการรักษาเด็กเลี้ยงไม่โต คือ การให้อาหารให้เพียงพอจนเด็กสา มารถเติบโตได้ทันเพื่อน ซึ่งการจัดการจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงประเภทและปริมาณอา หาร เวลาการให้อาหาร สิ่งแวดล้อม และขจัดปัญหาทางจิตใจที่มีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาเลี้ยงไม่โต และที่สำคัญเน้นการเลี้ยงดูของมารดา บิดา และผู้เลี้ยงดูเด็ก โดยประเด็นนี้จะเน้นเรื่องการให้ความรู้ในการให้อาหารให้เหมาะสม เนื่องจากการรักษาเด็กเลี้ยงไม่โตนี้ ผู้เลี้ยงดูเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

การจัดการปัญหาเด็กเลี้ยงไม่โตจะขึ้นกับความต้องการของเด็กแต่ละคน แต่ละครอบครัว ซึ่งต้องการการประเมิน และทราบรายละเอียด เพื่อวางแผนทั้งในเรื่องการรักษาโรคต่างๆที่เป็น อยู่ สภาวะโภชนาการ การพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย พฤติกรรม และจิตสังคม ตลอดจนการสนับสนุนทางด้านความรู้และกำลังใจแก่ผู้เลี้ยงดู

ในพวกที่มีอาการไม่มาก แพทย์มักจะให้คำแนะนำปรึกษาเป็นผู้ป่วยนอก แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์ต้องให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุของภาวะเลี้ยงไม่โตและเพื่อรักษาอาการ ตลอดจนสร้างทีมงานในสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ นักโภชนา การ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อเป็นทีมช่วยเหลือเด็กและครอบครัวตามความจำเป็นในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง

ความต้องการกำลังงานสารอาหารของเด็กเป็นอย่างไร?

ปริมาณกำลังงานจากสารอาหารชนิดต่างๆ ได้จากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย มีหน่วยเป็นกิโลแคลอรี (Kilocalorie) หรือเป็นแคลอรี (Calorie)

กลุ่มสารอาหารที่ให้กำลังงานแก่ร่างกายเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก (Macronutrients) ได้แก่คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ที่ให้กำลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม แต่ไข มันต่างๆให้กำลังงานแตกต่างกันตั้งแต่ 3.3 ถึง 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม (แล้วแต่ว่าเป็นไขมันชนิดที่มีโมเลกุลสั้น หรือยาวต่างกัน)

ทารกและเด็กในแต่ละช่วงอายุต้องการกำลังงานแตกต่างกัน โดย อาหารที่ทารกและเด็กรับประทานควรมีสัดส่วนกำลังงานที่สมดุล กล่าวคือ ในแต่ละวัน ควรได้กำลังงานจากคาร์โบไฮ เดรต 40-60% จากโปรตีน 7-15% และจากไขมัน 30-35%

ความต้องการกำลังงานที่ได้จากสารอาหารจะค่อยๆลดลงเมื่ออายุของเด็กมากขึ้น โดยทารกในขวบปีแรก ต้องการกำลังงานต่อวันประมาณ 80-120 กิโลแคลอรี/กก./วัน และความต้องการจะค่อยๆลดลงประมาณ 10 กิโลแคลอรี/กก./วัน ทุกช่วง 3 ปีของอายุที่เพิ่มขึ้น

กำลังงานนี้นำไปใช้ในการทำงานต่างๆของร่างกาย ในการเคลื่อนไหว ในการออกกำลังกาย และในการเจริญเติบโต

มารดา บิดา ผู้ปกครองควรทราบว่าอาหารชนิดใดให้ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เพื่อจัดเตรียมอาหารให้เด็กได้อย่างเหมาะสม

ในเด็กทารก นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดจนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัย และให้นมแม่ควบคู่ไปด้วย (ดูคำแนะนำจากสมุดประจำตัวเด็กที่ทุกโรงพยาบาลจะแจกหลังเด็กคลอด)

ควรดูแลเด็กเลี้ยงไม่โตอย่างไร?

ควรดูแลเด็กเลี้ยงไม่โต ดังนี้

  1. จัดการให้เด็กได้รับกำลังงานสารอาหารอย่างเพียงพอ
  2. สร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวโดยเฉพาะ พ่อ แม่ กับลูกให้ดีขึ้น และเน้นในส่วนของการให้อาหารแก่เด็ก
  3. รักษาโรคหรือภาวะทางกาย หากเด็กมีปัญหานั้นๆ
  4. ในเด็กบางคนต้องการการกระตุ้นการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ ซึ่งบิดา มารดา และคนดูแลเด็ก จะได้รับคำแนะนำในการดูแลเด็กจาก แพทย์ และพยาบาล
  5. ช่วยเหลือในด้านจิตสังคมแก่ครอบครัว
  6. ให้กำลังใจแก่บิดา มารดา และผู้ดูแล

ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อใด?

บิดา มารดาและผู้ดูแล ควรติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กจากสมุดคู่มือที่ได้รับจากโรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อแรกเกิด ซึ่งจะมีข้อมูลทั้งเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการ การให้นม การให้อาหารเสริม และการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในสมุดนั้นจะมีกราฟการเจริญเติบ โต ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบศีรษะ บิดา มารดา คนดูแล ควรดูกราฟนั้นให้เป็น (ขอความ รู้จากพยาบาล หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออาสาสมัครด้านดูแลสุขภาพ) และใช้ติดตามการเจริญเติบโตของบุตรหลาน หากการเจริญเติบโตเบี่ยงเบนไปจากปกติ อาจมากไป หรือน้อยไป ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้หาสาเหตุของความผิดปกติ ซึ่งอาจมีปัญหาจากโรค หรือจากภาวะผิดปกติอื่นๆ ตลอดจนปัญหาด้านโภชนาการ เพื่อที่จะได้แก้ไขรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที
ที่มา   https://haamor.com/th/ปัญหาโภชนาการในเด็ก/

อัพเดทล่าสุด