โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์ (Computer Vision Syndrome/CVS)


1,065 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ตามัว 

บทนำ

อาการผิดปกติทางกายต่างๆที่เกิดหลังการใช้คอมพิวเตอร์ หรือนัยหนึ่งว่า อาการต่างๆนั้นน่าจะเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ เรียกกันว่า “คอมพิวเตอร์ซินโดรม (Computer syndrome) ” ซึ่งได้แก่ อาการผิดปกติทางกายต่างๆ ซึ่งมีหลายอาการพร้อมกัน จึงมักเรียกว่า เป็นกลุ่มอาการ(syndrome) ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดต้นคอ เจ็บแขน รวมทั้งอาการผิดปกติทางตา หากแยกออกมาพูดถึงเฉพาะอาการทางตา จะเรียกว่า “ โรค หรือ ภาวะ คอมพิวเตอร์วิเชินซินโดรม (Computer vision syndrome)” เรียกย่อว่า โรค หรือ ภาวะ ซีวีเอส (CVS) นั่นเอง ซึ่งต่อไปในบทนี้ ขอเรียกว่า โรคซีวีเอส

โรคซีวีเอสนี้พบได้ถึงประมาณ 80% ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์ โดย เฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป อาการอาจเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่บั่นทอนการทำงาน หรือเมื่อพักการใช้คอมพิวเตอร์สักครู่ อาการต่างๆก็หายไปได้เอง หรือบางท่านอาจต้องว่างเว้นการใช้งานไปเป็นวัน อาการก็หายไปเอง แต่บางท่าน อาจต้องใช้ยาระงับอาการ หรือบางท่านก็เลิกใช้คอมพิวเตอร์ไปเลยก็มี

โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์มีอาการอย่างไร?

อาการทางตาที่สำคัญและพบบ่อยที่สุดของ โรคซีวีเอส คือ แสบตา เคืองตา ตาแห้ง เมื่อยตา สู้แสงไม่ได้ บางรายเป็นมากถึงขั้นรู้สึกตาพร่ามัว ปวดตา ปวดกระบอกตา อาการดังกล่าวอาจเป็นน้อยบ้าง มากบ้าง แตกต่างกันในระหว่างบุคคล ส่วนใหญ่จะเป็นอาการก่อความรำคาญ ไม่สบายตา บั่นทอนการทำงาน แต่ไม่ถึงกับทำให้ตามัวลงอย่างถาวร

โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์เกิดจากสาเหตุใด?

โรคซีวีเอส มีสาเหตุได้จาก

  1. โดยปกติคนเราทุกคนจะต้องกระพริบตาอยู่ตลอดเวลา เพื่อเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่ว โดยมีอัตรากระพริบตาปกติ ประมาณ 20 ครั้งต่อนาที แต่หากเราอ่านหนังสือ ตาต้องจับอยู่ที่ตัวหนังสือ อัตราการกระพริบตาจึงลดลง โดยเฉพาะการจ้องหน้าคอมพิวเตอร์จะกระพริบตาลดลงกว่า 60% ทำให้ผิวตาแห้ง แสบตา เคืองตา คันตา
  2. มีแสงจ้าและแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์กระทบตา แสงสว่างในห้องไม่พอเหมาะมีไฟส่องหน้าผู้ใช้ หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างสะท้อนเข้าตา แสงจ้าและแสงสะท้อนทำให้เมื่อยล้าตาได้ง่าย
  3. คลื่นแสงที่หน้าจอ (Refresh rate) ทำให้ภาพบนจอออกเป็นแสงกระพริบ ภาพที่เกิดหน้าจอเกิดจากจุดเล็กๆ หลายจุดที่เรียกกันว่า พิเซล (Pixel) ซึ่งมาจากคลื่นไฟฟ้าในเครื่องวิ่งไปชนกับพื้นหลังของจอที่เคลือบด้วย ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ลักษณะของพิเซล แต่ละจุดมีความสว่างไม่เท่ากัน สว่างมากตรงกลางและจางลงบริเวณขอบๆ จึงเห็นเป็นภาพกระพริบ ก่ออาการเคืองตาเมื่อต้องจ้องอยู่ตลอดเวลาได้ ถ้าปรับ Refresh rate ให้ได้ขนาด 70– 85 Hz(hertz) แสงกระพริบจะน้อยลง นอกจากนั้น ตาคนเราปรับโฟกัสให้เห็นภาพขนาดต่างๆกันได้ดีในภาพที่มีขอบเขตชัดเจน มีความแตกต่างคมชัดที่ดี แต่ภาพจากคอมพิวเตอร์ขอบเขตไม่ชัด ทำให้ตาต้องปรับโฟกัสอยู่เรื่อยๆ จึงเกิดการเมื่อยล้าตาได้ง่ายกว่าการอ่านหนังสือปกติมาก
  4. การจัดวางคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสม ใกล้ หรือ ไกลสายตามากเกินไป
  5. สายตาผิดปกติที่มีอยู่เดิมก่อนแล้ว ซึ่งโดยการทำงานตามปกติไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ถ้ามาทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์จะก่ออาการเมื่อยล้าตาได้
  6. บางรายมีโรคตาบางอย่างประจำตัวอยู่ เช่น ต้อหินเรื้อรัง ม่านตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง ตลอดจนโรคทางกาย เช่น ไซนัสอักเสบ หวัด ภูมิแพ้เรื้อรัง หรือ ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อต้องปรับสายตามากเวลาใช้คอมพิวเตอร์ จึงก่อให้เกิดอาการเมื่อยตาได้ง่าย
  7. การทำงานจ้องจอภาพนานเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากงานเร่ง หรือมีหน้าที่อยู่หน้าจออย่างเดียว ย่อมเกิดอาการทางตาได้ง่ายจากการเกร็งกล้าม เนื้อตาตลอดเวลา

แก้ไข และป้องกันโรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร?

การแก้ไขกันและป้องกัน โรคซีวีเอส คือ

  1. ฝึกกระพริบตาขณะทำงานหน้าจอทุก 1-2 ชั่วโมง หรือ บ่อยกว่านี้ และหากแสบตามาก อาจใช้น้ำตาเทียมช่วย (ปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ)
  2. ปรับห้องและบริเวณทำงาน อย่าให้มีแสงสะท้อนจากหน้าต่าง จากหลอดไฟบริเวณเพดานห้อง อย่าให้แสงสะท้อนเข้าตา อย่าให้จอภาพหันเข้าหน้าต่าง การใช้แผ่นกรองแสงวางหน้าจอ หรือใส่แว่นกรองแสง (ปรึกษาหมอตาก่อน) อาจลดแสงสะท้อนเข้าตาได้บ้าง
  3. จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ในระยะทำงานพอเหมาะที่ตามองได้สบายๆ โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร จอภาพควรตั้งสูง 0.72-0.75 เมตร เหนือพื้นห้อง ปรับเก้าอี้นั่งให้พอเหมาะ ให้ตาอยู่สูงจากพื้นโดยเฉลี่ย 1.0–1.15 เมตร ตาควรอยู่สูงกว่าขอบบนของจอภาพเล็กน้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใช้แว่นตา 2 ชั้น จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตาเพื่อจะได้ตรงกับเลนส์แว่นตาส่วนที่ใช้มองใกล้ นอกจากนั้น การตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าตาจะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องแหงนหน้ามอง ซึ่งการแหงนหน้านานๆ ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอและหัวไหล่ได้ง่าย

    อนึ่งผู้สูงอายุ ถ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆต่อเนื่อง ควรปรึกษาจักษุแพทย์พิจารณา ใช้แว่นตาเฉพาะดูได้ทั้งระยะอ่านหนังสือ ระยะจอภาพ และระยะไกล เป็นกรณีพิเศษ

  4. หากมีสายตาผิดปกติหรือโรคตาบางอย่างอยู่ ควรแก้ไขและรักษาโรคตาที่เป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย
  5. หากงานในหน้าที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทุก 1–2 ชม. ควรมีการพักสายตา โดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ หากเป็นไปได้ ควรทำงานหน้าจอ ภาพวันละ 4 ชม. เวลาที่เหลือไปทำงานอื่นบ้าง

ควรพบจักษุแพทย์เมื่อไร?

อาการของโรคซีวีเอส แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง แต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญ ประสิทธิภาพของงานลดลง หากได้รับการแก้ไขจะทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานอย่างเป็นสุขขึ้นและวิธีการแก้ไขส่วนใหญ่ทำได้ไม่ยาก ดังนั้น เมื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ แล้วมีอาการทางตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์เสมอเพื่อหาสาเหตุ ก่อนสรุปว่า เป็นอาการเกิดจากใช้งานคอมพิวเตอร์ เพราะดังกล่าวแล้วว่า อาจมีโรคทางตาอื่นๆร่วมอยู่ด้วยได้
ที่มา  https://haamor.com/th/โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์/

อัพเดทล่าสุด