รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่


927 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว  ระบบมะเร็งวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

รังสีรักษา ฉายรังสี (ฉายแสง) และ ใส่แร่ คืออะไร?

รังสีรักษา คือ การแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ที่นำรังสีมาใช้รักษาโรค โดยรังสีที่นำมาใช้เพื่อการนี้ ได้แก่ รังสีชนิดไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายๆกับรังสีที่ใช้ถ่ายภาพเอกซเรย์ตามปกติ แต่มีพลังงานสูงกว่ามากเมื่อใช้ในการรักษาโรค ซึ่งอาจเป็นโรคทั่วไป โรคเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง หรือ โรคมะเร็ง ชนิดต่างๆ โดยการรักษานั้น อาจใช้เพียงรังสีรักษาอย่างเดียว หรือร่วมกับรังสีชนิดอื่นๆ เช่น รังสีความร้อน (ไฮเปอร์เทอร์เมีย/Hyperthermia) แสงเลเซอร์ (Laser) หรือใช้รังสีรักษาร่วมกับการรักษาวิธีอื่นๆ เช่น การผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด หรือมักเรียกว่า คีโม (Chemotherapy) การใช้ฮอร์โมน และการใช้ ยารักษาตรงเป้า (targeted therapy) ซึ่งการเลือกใช้วิธีรักษานั้นๆ ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในผู้ป่วยแต่ละราย

โดยทั่วไปแล้ว รังสีรักษาแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

  1. การฉายรังสีระยะไกล (เทเลเทอราปี/Teletherapy) คือ การฉายรังสีที่มีต้นกำเนิดของรังสีห่างจากบริเวณที่จะทำการรักษา ซึ่งคือ การฉายรังสี (การฉายแสง) ที่รู้จักนั่นเอง เช่น เครื่องฉายรังสีโคบอลต์ (Cobalt) เครื่องเร่งอนุภาค หรือ ลิแนค (Linac หรือ ลิเนีย แอคเซเลราเตอร์ Linear accelerator)
  2. การฉายรังสีระยะใกล้ (บราคีเทอราปี/Brachytherapy) คือ การฉายรังสีที่ระยะห่างระหว่างต้นกำเนิดรังสีกับบริเวณที่จะทำการรักษามีระยะทางใกล้กัน ซึ่งระยะทางส่วนมากจะห่างกันเพียงไม่กี่เซนติเมตร โดยจะใช้รังสีที่เป็นสารรังสี(ไอโซโทป)ฝังเข้าไปในตัวก้อนมะเร็ง หรือสอดใส่ในอวัยวะที่เป็นโพรงของอวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยทั่วไปที่รู้จักกันก็คือ การฝังแร่ หรือ การใส่แร่นั่นเอง

ใช้รังสี รักษาโรคอะไรได้บ้าง?

รังสีรักษาสามารถใช้รักษาใน 2 กลุ่มโรคใหญ่ๆ คือ

  1. รังสีรักษาในโรคมะเร็ง
  2. รังสีรักษาในโรคไม่ใช่มะเร็ง

รังสีรักษาในโรคมะเร็ง การใช้รังสีรักษาเพื่อรักษาโรคมะเร็งนั้น มีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ รักษาให้หายขาด และรักษาเพื่อบรรเทาอาการ (ประคับประคอง พยุงอาการ) ไม่มีโอกาสหายขาด โดยเป้าหมายในการรักษานั้นจะต้องกำหนดก่อนเริ่มการรักษาทุกครั้ง โดยแพทย์จะดูจากองค์ประกอบหลายๆอย่างร่วมกัน ดังนี้

  1. สภาพร่างกายผู้ป่วย เพื่อประเมินว่าร่างกายของผู้ป่วยมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด จะสามารถทนต่อผลข้างเคียงแทรกซ้อน จากการรักษาได้หรือไม่
  2. ระยะของโรคมะเร็ง โรคในระยะที่ 1 ถึง 3 การรักษามักหวังผลให้หายขาด แต่ในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นโรคในระยะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆทางกระแสเลือดหรือทางต่อมน้ำเหลืองไกลจากอวัยวะที่เกิดโรค การรักษามักเป็นเพียงเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
  3. โรคร่วมอื่นๆที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง โรคร่วมอื่นๆที่มีผลต่อสภาพร่างกายของผู้ป่วย และยังไม่สามารถควบคุมโรคนั้นๆได้ เช่น เป็น เบาหวาน เป็นโรคหัวใจ การรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงมักทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เพราะผู้ป่วยมักจะทนการรักษาแบบหายขาดไม่ได้ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก ผลข้างเคียง จากการรักษามะเร็ง
  4. อายุ ถ้าผู้ป่วยมีอายุน้อยเกินไป เช่นต่ำกว่า 1 ปี หรืออายุมากเกินไป เช่น อายุเกิน 75 ปี การรักษามะเร็งเพื่อหวังผลหายขาด มักเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้ป่วยได้ ดังนั้นการรักษามักเป็นเพียงเพื่อบรรเทาอาการและประคับประคองเท่านั้น

อย่างไรก็ตามแม้ผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งในระยะที่ 4 แล้ว แต่เมื่อสภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงมาก แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจจะเลือกการรักษาแบบหายขาดเพื่อยืดระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่ให้นานขึ้น ทั้งๆที่แพทย์ทราบว่าไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้แล้วก็ตา

ในการรักษาผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการหรือการรักษาแบบประคับประคองนั้น หวังเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และลดอาการไม่สุขสบายของผู้ป่วย เช่น

รังสีรักษาในโรคไม่ใช่มะเร็ง ในการใช้รังสีรักษาในโรคที่ไม่ใช่มะเร็งนั้นจะให้การรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ ดังต่อไปนี้

  1. เมื่อไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆได้ หรือใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วล้มเหลว เช่น การผ่าตัด การใช้ยา การใช้ฮอร์โมน
  2. ถ้าไม่ทำการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้ หรือวิธีการรักษาโรคนั้นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแต่สภาพร่างกายของผู้ป่วยไม่สมบูรณ์ แข็งแรงพอที่จะทำการผ่าตัดได้เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

การใช้รังสีรักษาในโรคไม่ใช่โรคมะเร็งนั้นมักเลือกรักษาในผู้ป่วยสูงอายุ เพราะปริมาณรังสีที่ใช้ในการรักษานั้นค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจส่งผลเป็นตัวก่อมะเร็งเมื่อผู้ป่วยมีอายุยืนยาวเกิน 10 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นในผู้ป่วยเด็กจึงจะใช้รังสีรักษาในกรณีที่ถ้าไม่ให้การรักษาอาจทำให้เด็กเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้ เช่น การเป็นปานที่หนังตา หรือ ที่ตับ เป็นต้น

ในที่นี้จะกล่าวโดยสังเขป สำหรับโรคที่ไม่ใช่มะเร็งที่มีการใช้รังสีรักษาอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

  1. โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง สามารถใช้รังสีรักษาร่วมกับการใช้ฮอร์โมน หรือการผ่าตัด หากก้อนโตมากจนกดเนื้อสมองโดยเฉพาะบริเวณประสาทตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้
  2. โรคเส้นเลือดโป่งพอง ทั้งในระบบสมองและไขสันหลังซึ่งไม่สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดได้
  3. โรคปานชนิดเกิดจากเส้นเลือดฝอย ซึ่งเกิดตาอวัยวะต่างๆ หรือชนิดเกิดที่ตับ ที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้
  4. แผลเป็นนูน ที่เรียกว่า คีลอยด์ (Keloid) โดยมักจะให้รังสีรักษาในการป้องกันการเกิดแผลจากการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลเป็นได้ง่าย และรุนแรง ซึ่งมักจะทำการฉายรังสีภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด หรือ ภายใน 7-10 วัน
  5. .ภาวะตาโปน ในผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรว์ฟ
  6. ต้อเนื้อ โดยมักจะให้รังสีรักษาหลังผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับคืนมาของโรค
  7. ภาวะมีกระดูกจับในเนื้อเยื่ออ่อน ที่มักเกิดตามหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก การฉายรังสีจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะนี้ได้
  8. ภาวะผิดปกติอื่นๆของเนื้อเยื่อที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผล เช่น ภาวะอวัยวะเพศชายแข็งตัวมากเกินปกติ

เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉายรังสี?

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวางแผนว่าจะต้องได้รับการฉายรังสี หรือ การรักษาทางรังสีรักษา นั้น ผู้ป่วยจะต้องเตรียมเอกสารต่างๆก่อนจะมาพบแพทย์รังสีรักษา ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนอื่นๆทางรังสีรักษา เมื่อพบแพทย์รังสีรักษาผู้ป่วยจะได้ รับการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดอีกครั้ง อาจต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติม หากผลการตรวจเดิมที่ผู้ป่วยมีอยู่นั้นยังไม่ครบถ้วนพอสำหรับการรักษาทางรังสีรักษา เช่น ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางเอกซเรย์ การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละโรค

ในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอที่จะต้องได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องปากบางรายอาจต้องได้รับการดูแลพิเศษเพิ่มเติมโดยการส่งตรวจทางทันตกรรมก่อนทำการฉายรังสี เพื่อลด ผลข้างเคียง จากการรักษาทั้งในระหว่างการฉายรังสีและหลังจากฉายรังสีครบแล้ว

ก่อนที่จะทำการรักษาด้วยการฉายรังสี แพทย์จะทำการอธิบายขั้นตอนของการฉายรังสี และ ผลข้างเคียง จากรังสีรักษาให้ผู้ป่วยทราบก่อน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรนำญาติสายตรง หรือผู้ที่จะให้การดูแลผู้ป่วยมารับฟังด้วย เพื่อซักถามข้อสงสัยต่างๆให้เข้าใจก่อนจะเริ่มทำการรักษาจริง

การรักษาทางรังสีโดยเฉพาะเพื่อการหายขาดนั้นจะใช้ระยะเวลาในการรักษานานติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ และมักเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องเตรียมตัวในเรื่องการทำงาน ลางาน การเดินทางมาและกลับเนื่องจากต้องฉายรังสีทุกๆวัน(ห้าวันติดต่อกันในหนึ่งสัปดาห์) รวมไปถึงที่พักอาศั ยและอาหารการกิน

ในกรณีที่ไม่สะดวกเดินทางไปกลับ บ้านที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล ซึ่งถ้ามีปัญหาเหล่านี้ผู้ป่วยและญาติ ต้องแจ้งแพทย์/พยาบาลเพื่อจะประสานกับนักสังคมสงเคราะห์ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่จะร่วมมือกันหาทางช่วยเหลือเพื่อให้การรักษาดำเนินไปได้อย่างครบถ้วนตามแผนการรักษาที่กำหนดไว้

ดูแลตนเองอย่างไรระหว่างการฉายรังสี?

โดยทั่วไปการฉายรังสี/รังสีรักษาจะใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์จะฉาย 5 วันติดต่อกัน หยุดพัก 2 วัน (เป็นเทคนิคการรักษาที่ได้จากการศึกษาวิจัย ซึ่งเหมือนกันทั่วโลก ไม่ใช่แพทย์กำหนดเอง) ยกเว้นในบางกรณีอาจฉายติดต่อกัน 6-7 วัน ได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้แพทย์จะแจ้งให้ทราบเป็นรายๆไป ดังนั้นเพื่อความสะดวก การฉายรังสีในโรงพยาบาลของรัฐบาลจึงมักทำการฉายเฉพาะวันและเวลาราชการ

เมื่อผู้ป่วยมารับการฉายรังสีในแต่ละวันนั้น ไม่จำเป็นที่แพทย์จะต้องทำการตรวจในทุกๆวัน แต่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจจากแพทย์รังสีรักษาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตามวันและเวลาที่แพทย์กำหนด อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่รังสีรักษา(เจ้าหน้าที่ห้องฉายแสง) หรือพยาบาลทราบ เพื่อขอรับการตรวจก่อนวันนัดตามปกติ

สำหรับเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ใช้ในระหว่างการมารับการฉายรังสีนั้น ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการถอดและสวมใส่ เพราะในการฉายรังสีแต่ละครั้ง บริเวณที่ได้รับการฉายรังสีจะต้องไม่มีเสื้อผ้าปกคลุมอยู่ และเสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องสะอาดและอ่อนนุ่ม ไม่รัดแน่นจนเกินไป ไม่ควรใส่เครื่องประดับ สร้อยพระ และเครื่องรางต่างๆโดยเฉพาะบริเวณที่ฉายรังสี เพื่อลดการเสียดสีผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสี เพราะผิวหนังในส่วนนั้นจะเป็นแผลถลอกและลุกลามคล้ายแผลถูกไฟไหม้ได้ง่าย ซึ่งแผลที่เกิดในบริเวณที่ได้รับรังสีนั้นมักจะหายช้ากว่าแผลทั่วๆไป

นอกจากนั้นในการฉายรังสีแต่ละวันนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องนำทั้งเอกสารสิทธิ์ ทั้งบัตรของโรงพยาบาลและบัตรของหน่วยรังสีรักษามาด้วยทุกครั้ง เพื่อสะดวกในการขอรับบริการ เพราะอาจมีความจำเป็นต้องใช้บัตรเพื่อรับการตรวจรักษาอื่นๆนอกเหนือจากการฉายรังสี

สำหรับอาหารที่ผู้ป่วยควรรับประทานในระหว่างที่ฉายรังสีนั้น ต้องเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ( อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ) สะอาด ได้ปริมาณแคลอรี่ที่เพียงพอ และควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด และที่สำคัญคือ ไม่มีอาหารชนิดใดที่แสลงต่อการฉายรังสี

ผู้ป่วยควรต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ เมี่ยงหมาก และจำกัดการดื่มชา กาแฟลงเหลือไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยก็จำเป็นจะต้องจำกัดอาหารตามวิธีการรักษาของโรคนั้นๆด้วย

ถ้าผู้ป่วยกินอาหารได้น้อยหรือเบื่ออาหาร อาจต้องให้อาหารเสริม เช่น นมสด นมถั่วเหลือง หรือ ซุป โดยให้ผู้ป่วยทานบ่อยๆในระหว่างมื้ออาหารหลัก แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถ กินอาหารทางปากได้เอง ก็อาจจำเป็นจะต้องพิจารณาให้อาหารทางอื่นๆ เช่นให้ทางเส้นเลือด (ทางน้ำเกลือ) ใส่สายยางให้อาหารทางจมูก หรือ ใส่สายยางให้อาหารทางหน้าท้อง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป

โดยทั่วๆไปการฉายรังสีรักษาสามารถรักษาร่วมกับการรักษาโรคอื่นๆไปพร้อมๆกันได้โดยไม่มีข้อเสีย ข้อจำกัด หรือข้อห้ามแต่อย่างใด ดังนั้น ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับจากแพทย์เพื่อรักษาโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคหัวใจ ผู้ป่วยต้องรับประทานยานั้นต่อไปตามปริมาณ และคำแนะนำของแพทย์ และต้องได้รับการตรวจรักษาต่อกับแพทย์ท่านนั้นตามนัดอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องแจ้งให้แพทย์รังสีรักษาทราบถึงแผนการรักษา วันนัดและยาที่ใช้อยู่ด้วย

ผู้ป่วยสามารถคลุกคลีอยู่กับทุกๆคนรวมถึงเด็กทารกหรือสตรีมีครรภ์ได้เหมือนคนปกติทั่วๆไป เนื่องจากมะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อและการฉายแสงนั้นจะมีรังสีอยู่เฉพาะขณะเปิดเครื่องฉายรังสีเท่านั้น จึงไม่มีรังสีตกค้างอยู่กับผู้ป่วย ส่วนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด ยกเว้นเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการฉายรังสีบริเวณ อวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งแพทย์จะแนะนำเป็นรายๆไป

ที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยหญิงไม่ควรตั้งครรภ์ในระหว่างที่ทำการรักษาอยู่ เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทุกๆวิธีการ ทั้งผ่าตัด การฉายรังสี การให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน และยารักษาตรงเป้า และยังมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องวางแผนครอบครัวก่อนทุกราย

นอกจากนั้นในมะเร็งบางชนิด การตั้งครรภ์ อาจมีผลต่อการลุกลาม แพร่กระจายของโรค เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งในกรณีเช่นนี้ แม้จะรักษาจนครบแล้ว แพทย์ก็มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยคุมกำเนิดต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี โดยเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆที่ไม่ใช่ฮอร์โมนทั้งแบบกิน ฉีด แปะ หรือฝัง

ภายหลังฉายรังสีครบแล้วจะทำอย่างไร?

ภายหลังครบรังสีรักษาแล้ว ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจติดตามผลการรักษากับแพทย์รังสีรักษาโดยสม่ำเสมอตลอดไปตามแพทย์นัด และไปพบแพทย์สาขาอื่นๆทั้งแพทย์ที่ดูแลรักษาโรคประจำตัว แพทย์ศัลยกรรม หรือ แพทย์อายุรกรรมเคมีบำบัดตามที่แพทย์นั้นๆนัดตรวจด้วย เพื่อให้การดูแลอย่างต่อเนื่องร่วมกัน เพราะการแพทย์เฉพาะทางในแต่ละสาขา จะมีการดูแลผู้ป่วยแตกต่างกัน ทั้งนี้การนัดตรวจของแพทย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • ป้องกันและรักษาไม่ให้โรคกลับคืนมาอีก
  • ป้องกันและรักษาผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการรักษาที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ตรวจหาการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ
  • ตรวจหาว่ามีมะเร็งชนิดอื่นๆเกิดขึ้นที่อวัยวะใดอีกหรือไม่ เพราะผู้ป่วยเมื่อเป็นโรคมะเร็งแล้ว มักมีโอกาสเป็นมะเร็งของอวัยวะอื่นๆด้วย
  • เป็นการรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

สำหรับอาหารนั้นผู้ป่วยยังควรปฏิบัติเช่นเดียวกับในระหว่างการรักษา ส่วนเรื่องการออกกำลังกายนั้นผู้ป่วยยังคงสามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ พอควรเท่าที่ร่างกายทนไหว หรือแม้แต่การเดินทางไปท่องเที่ยว หรือเดินทางไปต่างประเทศก็ยังสามารถไปได้ไม่มีข้อจำกัดหากสภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงพอ (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน)

ในผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดจำเป็นต้องทำกายภาพฟื้นฟูโดยสม่ำเสมอ และตลอดไป เพื่อลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียง เช่น ในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ฉายแสงผ่านช่องปาก มีโอกาสเกิดช่องปากแคบได้ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลรังสีรักษาสม่ำเสมอ ตลอดชีวิต

ใส่แร่รักษาโรคอะไรบ้าง? ดูแลตนเองอย่างไร?

ใส่แร่ เป็นการรักษาทางรังสีที่ใช้น้อยกว่าการฉายรังสีมาก เพราะ รักษาได้เฉพาะเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก มักไม่เกิน 3 ซม. และยังเป็นเทคนิคที่ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า ทั้งนี้โรคมะเร็งที่นิยมรักษาด้วยการใส่แร่ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก

โดยทั่วไป การใส่แร่มักเป็นแบบผู้ป่วยนอก แต่บางครั้ง อาจเป็นผู้ป่วยใน ทั้งนี้ ขึ้นกับอวัยวะที่ใส่แร่ และสุขภาพผู้ป่วย ซึ่งเมื่อใส่แร่แล้ว แพทย์จะนำแร่ออกจากตัวผู้ป่วยเสมอ ดังนั้นจึงไม่มีแร่หลงเหลือในตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงสัมผัส ใกล้ชิดกับทุกคนได้รวมทั้งเด็กและสตรีมีครรภ์ (เมื่อกลับบ้านแล้ว) ยกเว้น การใส่แร่ในมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่แร่จะอยู่ในตัวผู้ป่วยเสมอ แต่เป็นแร่ชนิดมีพลังงานรังสีต่ำ และมีระยะครึ่งชีวิตสั้น ไม่สามารถแผ่รังสีจากตัวผู้ป่วยให้คนใกล้ชิดได้ จึงไม่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง แต่แพทย์มักแนะนำไม่ใกล้ชิดเด็กและสตรีมีครรภ์ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ขึ้นกับว่าใส่แร่ชนิดใด

เนื่องจากแร่เป็นรังสีชนิดเดียวกับในการฉายรังสี การพบแพทย์ การปฏิบัติตน และการดูแลตนเอง ตลอดจนผลข้างเคียง จะเช่นเดียวกับในการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะแนะนำเสมอ ทั้งก่อนและหลังการรักษา ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วย และครอบครัวมีข้อสงสัย ควรสอบถามแพทย์/พยาบาลเสมอ เพื่อความเข้าใจ และความสบายใจ
ที่มา   https://haamor.com/th/รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่/

อัพเดทล่าสุด