ปัญหา กระ ฝ้า กระ ฝ้า ปัญหาอมตะของผู้หญิง


1,030 ผู้ชม


ปัญหา กระ ฝ้า

กระ ฝ้า ปัญหาอมตะของผู้หญิง

จากปัญหาสุขภาพของผู้หญิงทั้งที่เป็นอาการปกติทั่วไปหรือร้ายแรง ทำให้ผู้หญิงสมัยใหม่ตื่นตัวและหันมาสนใจดูแลร่างกายตนเองมากขึ้น ด้วยการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และในบรรดาเรื่องสุขภาพสุดฮิตที่ผู้หญิงให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม โดยเฉพาะเรื่องผิวพรรณบนใบหน้า ยิ่งมีกระแสและค่านิยมผิวหน้าขาวใสปราศจากจุดด่างดำมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มความกังวลใจแก่สาวๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ปัญหา กระ และ ฝ้า ซึ่งขึ้นชื่อว่ารักษายากและมีปัญหาจากการรักษาที่ไม่ได้ผลมากมายตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทางที่ดีเราจึงควรทำความรู้จักกับปัญหาทั้งสองอย่างให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจทำการรักษา 
สาเหตุและลักษณะของการเกิด ฝ้า และ กระ

กระ และ ฝ้าเกิดจากการที่มีเม็ดสีเมลานิน (melanin pigment) สะสมในผิวหนังมากผิดปกติ ทำให้เกิดผื่นสีน้ำตาลเป็นรอยคล้ำ อย่างไรก็ตามผื่นทั้งสองจะมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้ 
กระ มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลขนาดมักเล็กกว่า 0.5 ซม. พบกระจายอยู่บริเวณใบหน้าและผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ เชื่อว่าอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรมร่วมด้วย เริ่มพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก จากนั้นจะค่อยๆ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและสีเข้มขึ้น 
สำหรับ ฝ้า พบบ่อยในสุภาพสตรีวัยกลางคน มีลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาล พบบริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก เหนือริมฝีปากด้านบนและคาง ผื่นมักมีสีคล้ำขึ้นเมื่อถูกแสงแดด เราสามารถแบ่งชนิดของ ฝ้าได้เป็นสามชนิด 
• ฝ้า ที่เกิดในบริเวณหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาลเข้ม บริเวณขอบเขตของผื่นจะเห็นชัดฝ้า ชนิดนี้ค่อนข้างตอบสนองดีต่อการรักษาเนื่องจากเม็ดสีเมลานินอยู่ไม่ลึกในผิวหนังจึงง่ายต่อการกำจัด 
• ฝ้า ที่อยู่ในชั้นหนังแท้ ผื่น ฝ้าจะเป็นสีน้ำตาลผสมสีเทาเข้ม ขอบเขตจะเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากเม็ดสีเมลานินอยู่ในระดับที่ลึกมากขึ้น มีผลทำให้รักษาค่อนข้างยาก ตอบสนองไม่ดีต่อการรักษา 
• ฝ้า ชนิดผสม มีเม็ดสีเมลานินสะสมมากผิดปกติทั้งในชั้นหนังแท้และหนังกำพร้า การแยกชนิดของ ฝ้า นั้นจะมีประโยชน์ต่อการรักษา ทำให้สามารถประเมินได้ว่าจะรักษาได้ผลดีมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยสายตาอาจมีข้อจำกัด บางครั้งอาจต้องใช้กล้องแสงอัลตราไวโอเลต (UV Camera) ช่วยในการจำแนกชนิดของ ฝ้า 
สาเหตุของการเกิด ฝ้า นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกันได้แก่ แสงแดด ฮอร์โมน ยา การแพ้เครื่องสำอาง ตลอดจนพันธุกรรม
 
สำหรับแสงแดดมีส่วนประกอบของรังสีอัลตร้าไวโอเลตชนิด A (UVA) และชนิด B (UVB) รังสีทั้งสองชนิดเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ ฝ้า เป็นมากขึ้น
 
ในส่วนของฮอร์โมนเชื่อว่าฮอร์โมนเพศชนิดเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีผลทำให้เกิด ฝ้า โดยสังเกตพบว่า ฝ้า จะเป็นมากขึ้นในสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือสตรีที่ตั้งครรภ์ และ ฝ้า มักจะจางลงภายหลังหยุดยาคุมกำเนิดหรือหลังคลอดบุตร
 
นอกจากนั้นการรับประทานยาบางชนิดอาจมีส่วนทำให้ ฝ้า มีสีคล้ำขึ้นเช่น ยากันชักชนิดdiphenylhydantoin เป็นต้น สำหรับการแพ้เครื่องสำอางอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิด ฝ้า ได้ โดยเฉพาะการแพ้น้ำหอมหรือสีที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางนั้นๆ 
วิธีการรักษา กระ และ ฝ้า

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า กระ และ ฝ้า ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้เพราะเราไม่ทราบสาเหตุต้นกำเนิดที่แท้จริง การรักษามุ่งเน้นหลักสำคัญสองประการ คือ
 
หลีกเลี่ยงหรือป้องกันปัจจัยที่จะมากระตุ้นให้ กระ หรือ ฝ้า เป็นมากขึ้น ร่วมกับ การพยายามรักษาให้รอยคล้ำนั้นจางลง ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด หรือยาอื่นๆ ที่อาจทำให้รอยคล้ำนั้นเป็นมากขึ้น การหลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องใช้ ครีมกันแดดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ 
การเลือก ครีมกันแดด จะต้องเลือกใช้ชนิดที่เหมาะสมกับปัญหาของตัวเรา ในกรณีที่มีปัญหา กระหรือ ฝ้า ควรเลือก ครีมกันแดด ที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB สำหรับค่า SPF (Sun Protection Factor) ควรมีค่าประมาณ 15 ถึง 30 หรือสูงกว่าขึ้นไป
 

อย่างไรก็ตาม ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF สูงๆ บางชนิดอาจมีลักษณะข้นเหนียว ทำให้รู้สึกเหนอะหนะไม่น่าใช้ รวมทั้งอาจทำให้เกิด สิวง่ายขึ้น ควรทา ครีมกันแดด ทุกวัน และถ้าจำเป็นต้องตากแดด ควรทา ครีมกันแดด วันละสองครั้งหรือมากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ครีมกันแดด บนผิวหน้ายังมีปริมาณที่เพียงพอต่อการป้องกันแสงแดด มิได้จางหายไปกับเหงื่อที่มักจะถูกซับด้วยกระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าอยู่เสมอ ในกรณีที่มีสภาพผิวหน้าแบบผิวมันเป็น สิว ง่าย ควรเลือกใช้ ครีมกันแดด ที่เป็นสูตร Non-comedogenic หรือ สูตร water-based และ ควรอยู่ในรูปของเจลหรือโลชั่นจะเหมาะสมกว่าในรูปของครีม 
ส่วนการรักษาให้รอยคล้ำจาก กระ และฝ้า จางลงมีได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป วิธีที่ง่ายและสะดวกคือ
 
การรักษาด้วยการทายา
 
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือ ยาทา ที่ใช้ในการรักษานั้น แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่

• กลุ่มที่เร่งการขจัดเซลล์หนังกำพร้า 
มีผลทำให้เม็ดสีเมลานินถูกกำจัดออกไปได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ หรือ Alphahydroxy acid (AHA) และกรดวิตามินเอ เป็นต้น 
• กลุ่มยาหรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีผลลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน เช่น ยาไฮโดรคิวโนน (Hydroquinone) กรดโคจิค (Kojic acid) หรือเจลวิตามินซี ผลการรักษาจะต้องใช้ระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์จึงเห็นการเปลี่ยนแปลง และมักได้ผลในกรณีที่ ฝ้า เกิดในชั้นหนังกำพร้า ส่วน กระ อาจจะจางลงได้บ้าง
 
ข้อควรระวัง คือใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการหน้าลอกเป็นขุย แสบแดง ระคายเคือง ทำให้คล้ำมากกว่าเดิมหรือาจเกิดเป็นด่างขาวได้
 
ดังนั้นยาทาบางชนิดควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น กรดวิตามินเอ หรือยาทาไฮโดรคิวโนน ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้น มักจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ในขณะเดียวกันผลลัพธ์ที่ได้ก็มักจะน้อยกว่าด้วยเช่นกัน
 
นอกจากนั้นยังมีการนำยารับประทานชนิด Tranxemic acid ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ทำให้บริเวณที่กำลังมีเลือดไหลออกมานั้นหยุดได้เร็วขึ้น มาประยุกต์ใช้รักษา ฝ้า เนื่องจากยาชนิดนี้สามารถลดการสร้างเม็ดสีในผิวหนัง มีผลทำให้ ฝ้า จางลงบ้างในบางราย อย่างไรก็ตามยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยเป็นที่ยืนยันอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังต้องรับประทานยาระยะยาวจึงจะเห็นผล จึงควรต้องระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดดำเกิดการอุดตัน ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต 
การรักษา กระ และ ฝ้า ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีอื่นๆ

นอกจากนี้การใช้ยาทาหรือยารับประทาน ปัจจุบันยังมีการรักษา กระ และ ฝ้า โดยอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษามากขึ้น เช่น

• วิธีกรอผิวชนิด Microdermabrasion (เครื่องกรอผิวด้วยเกร็ดอัญมณี) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีผู้นำมาใช้ในการรักษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการขจัดเซลล์ชั้นหนังกำพร้าให้ลอกหลุดเร็วขึ้น ได้ผลสำหรับ ฝ้า และ กระ ที่อยู่ในชั้นตื้นๆ
 
ข้อควรระวัง คือ อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากำหนดระดับความแรงในการทำงานของเครื่องมือสูงมากเกินไป อาจทำให้เกิดบาดแผลถลอก และมีเลือดออกได้
 
• การรักษาด้วยเครื่องไอออนโตฟอรีซิส อาศัยหลักการให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าในระดับอ่อนๆ และมีผลช่วยผลักยาหรือวิตามินที่เราทาไว้ก่อนบนผิวหน้าให้ซึมผ่านผิวหนังเข้าไปได้เพิ่มมากขึ้นหรือออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น
 
การรักษาด้วยวิธีนี้ มีผลข้างเคียงน้อย อาจมีอาการระคายเคืองได้บ้างแต่มักไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามผลการรักษายังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าได้ผลดีอย่างชัดเจน 
• สำหรับเทคโนโลยีของเลเซอร์และเครื่องให้กำเนิดแสงความเข้มสูง( Intense Pulsed Light หรือ IPL) เป็นการรักษาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ถึงแม้ เลเซอร์และIPL จะมีคุณสมบัติทางเทคนิคที่แตกต่างกัน แต่กลไกในการทำงานใช้หลักการเดียวกัน กล่าวคือ เครื่องมือทั้งสองชนิดให้กำเนิดพลังงานแสงไปยังบริเวณผิวหนังที่มีรอยคล้ำจาก กระหรือ ฝ้า ผิวหนังในส่วนที่มีเม็ดสีเมลานินปริมาณมากกว่าปกติจะดูดซับพลังงานแสงแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน มีผลทำให้เม็ดสีเมลานินในบริเวณนั้นถูกทำลายและมีจำนวนลดลง มีผลทำให้ กระ หรือ ฝ้า นั้นจางลงหรือหายไป เห็นผลการรักษาได้ค่อนข้างรวดเร็ว
 
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และ เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำการรักษาโดยผู้ที่ขาดความรู้ความชำนาญ และที่สำคัญ กระ และ ฝ้า ยังจะกลับมาเป็นใหม่ได้อีกเมื่อหยุดการรักษา ทั้งนี้เพราะ เลเซอร์ และ  IPL สามารถกำจัดเม็ดสีส่วนเกินในผิวหนังได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดเม็ดสีที่สะสมขึ้นมาใหม่ ดังนั้นภายหลังการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือ IPL ยังคงต้องทายาเพื่อลดจำนวนเม็ดสีร่วมกับการใช้ ครีมกันแดด เป็นประจำ 
จากที่ได้รวบรวมมาทั้งหมดจะพบว่า การรักษา ฝ้า และ กระ ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุของปัญหาอย่างชัดเจน การแก้ปัญหาส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากนั้นการรักษาแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้นการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาจึงควรทำด้วยความระมัดระวัง
 
...ทางที่ดีควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ต้องร่วมป้องกันปัจจัยที่จะกระตุ้นการเกิด กระ และ ฝ้า การรักษาจึงจะได้ผลดี

อัพเดทล่าสุด