กลไกการเกิด สิว
รู้สาเหตุ ช่วยป้องกัน สิว
ตำแหน่งต้นตอที่เกิด สิว คือ ต่อมไขมัน ค่ะ ต่อมไขมัน มีหน้าที่ผลิตไขมัน และ มีท่อเปิดออกสู่รูขุมขน เพื่อให้ไขมันออกมาหล่อลื่นผิวหนังภายนอก ต่อมไขมันที่แต่ละตำแหน่งของร่างกาย มีขนาดและความหนาแน่นไม่เท่ากัน บริเวณใบหน้าจะมีต่อมไขมันขนาดใหญ่ และหนาแน่นกว่าบริเวณอื่น เราจึงพบ สิว บริเวณใบหน้าได้บ่อย ตำแหน่งอื่นอีก ที่พบ สิว ได้บ่อย ได้แก่ บริเวณหลัง หน้าอกและไหล่
กลไกในการเกิด สิว มีหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
1. มีความผิดปกติของการแบ่งตัว ของเซลล์ผิวหนังบริเวณรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตัน
2. ต่อมไขมันมีการสร้างไขมันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตัวการสำคัญ ในการกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันก็คือ ฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นในช่วงวัยรุ่น ดังนั้น เราจึงเริ่มพบ สิว ในช่วงวัยรุ่น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนในร่างกาย
3. เชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ซึ่งมีอยู่บริเวณรูขุมขน จะย่อยสลายไขมันเป็นกรดไขมันอิสระ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
ลักษณะ สิว ที่เราเห็น จึงมีหลายแบบ อาจแบ่งง่ายๆ เป็น
1. สิวที่ไม่มีการอักเสบ ได้แก่ สิวอุดตันหัวปิด (closed comedone , white head) และ สิวอุดตันหัวเปิด (open comedone , black head)
2. สิวที่มีการอักเสบ อาจเห็นเป็นตุ่มแดง ตุ่มหนอง หรือเป็นก้อนคล้าย cyst ที่มักเรียกกันว่า สิวหัวช้าง
โดยทั่วไป มักพบ สิว หลายๆ ลักษณะ ปะปนกัน ทั้ง สิวอุดตัน สิวอักเสบ ซึ่งแล้วแต่ความรุนแรงในแต่ละคน ในช่วงก่อนเข้าวัยรุ่น มักพบเป็น สิวอุดตัน บริเวณหน้าผาก ในวัยรุ่นผู้ชาย จะพบ สิว ที่อักเสบรุนแรงได้บ่อยกว่าในผู้หญิง เป็นต้น การแบ่งชนิดและความรุนแรงของสิว ก็เพื่อประโยชน์ ในการเลือกใช้วิธีการรักษาต่อไป
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมี สิว
มีข้อแนะนำสำหรับคนที่มี สิว ดังนี้ค่ะ
1. การล้างหน้า ควรใช้สบู่อ่อน ล้างวันละ 1-2 ครั้ง อย่างเบาๆ มือ ไม่เช็ดถูหรือล้างหน้าอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ สิวอักเสบได้
2. อย่าแกะ สิว กด สิว หรือ บีบเค้นบริเวณ สิว จะยิ่งทำให้อักเสบ
3. การแต่งหน้า ใช้เครื่องสำอางเท่าที่จำเป็น เลือกใช้ชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (non-comedogenic) ล้างหน้าเช็ดเครื่องสำอางออก ให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนเข้านอน
4. ถ้ามีผมมัน ควรทำสะอาดผมทุกวัน หลีกเลี่ยงทรงผมที่ลงมาปกปิดใบหน้า หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันแต่งผม หรือเจลใส่ผม
5. เท่าที่ผ่านมา ยังไม่พบข้อมูลทางการแพทย์ว่า อาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิด สิว ไม่ว่าจะเป็น ช็อคโกเลต ไอศกรีม ขนมหวาน อาหารมัน
6. ดูแลสุขภาพโดยทั่วไป รับประทานอาหารให้ครบหมู่ รวมผักผลไม้ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก อดหลับอดนอน หรือเครียด จะทำให้ สิว กำเริบได้
7. ถ้า สิว ไม่อักเสบ ไม่รุนแรง อาจลองใช้ยาทารักษา สิว เองได้ แต่ถ้าลองทายาเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
8. ไม่ควรซื้อยารับประทานรักษา สิว เอง เพราะมีผลข้างเคียงได้ ถ้า สิว อักเสบรุนแรง หรือจำเป็นต้องรับประทานยา ควรปรึกษาแพทย์
9. สิว เป็นเรื่องธรรมชาติ ใครๆ ก็เป็น สิว กันได้ การมี สิว ไม่ใช่เรื่องน่าละอาย ไม่ได้เกิดจากความสกปรก สิว มีผลเฉพาะแต่ผิวหนัง ไม่ได้รบกวนถึงสุขภาพภายในร่างกายส่วนอื่น ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย ควรดูแลรักษา สิว แต่ระยะแรกเริ่ม ถ้าปล่อยให้ สิว มีการอักเสบลุกลาม อาจเกิดแผลเป็นขึ้นได้
การรักษาสิว
การรักษา สิว ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปกว่าเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เรามียาทา ยารับประทาน ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งมีการรักษาอื่น เช่น การใช้แสงในความยาวคลื่นต่างๆ มาช่วยในการรักษา สิว ทั้งระยะอักเสบ และสามารถรักษาแผลเป็นจาก สิว ให้ดีขึ้น
โดยทั่วไป แพทย์จะดูว่า สิว ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากธรรมชาติ หรือมีปัจจัยอื่นที่เลี่ยงได้ เช่นการแพ้เครื่องสำอาง หรือมีความผิดปกติอื่น เช่นภาวะถุงน้ำในรังไข่ ซึ่งจะทำให้มีการผลิตฮอร์โมนเพศชายเพิ่มมากขึ้น คนไข้นอกจากจะมี สิว มากแล้ว ยังมักมีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีขนขึ้นมาก หรือเป็นสิว ที่เกิดจากยา ที่คนไข้จำเป็นต้องใช้รักษาโรคอื่นอยู่ เช่น ยาวัณโรค ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
สำหรับการเลือกใช้ยารักษา จะขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของ สิว ถ้าเป็นไม่มาก จะใช้ยาทารักษาสิว ซึ่งยาทามีหลายชนิด ออกฤทธิ์ต่างๆ กัน บางชนิดลดเชื้อแบคทีเรีย บางชนิดลดการอุดตัน บางชนิดลดการอักเสบ เป็นต้น แนวทางการรักษาในปัจจุบัน จะใช้ยาทาหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต่างกัน ร่วมกันรักษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ สิว หายเร็วขึ้น และช่วยลดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียP.acnes แพทย์อาจให้ทายาบางชนิดตอนเช้า บางชนิดก่อนนอน บางชนิดก่อนล้างหน้า บางชนิดหลังล้างหน้า เป็นต้น ไม่ควรทายามากเกินไป หรือบ่อยเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ เพราะยาทารักษาสิว หลายตัว ทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวหน้าลอกแดงได้
ถ้า สิว รุนแรงหรืออักเสบมากขึ้น อาจต้องใช้ยารับประทาน ร่วมกับยาทา ยารับประทานในการรักษาสิว มีสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มกรดวิตะมินเอ และยาในกลุ่มฮอร์โมน ยารับประทานทั้งสามกลุ่ม ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ กว่าจะได้ผลเต็มที่ และมักต้องให้ยาต่ออีกระยะ หลังได้ผลในการรักษาแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ในความควบคุมดูแลของแพทย์ เพราะการรับประทานยาเหล่านี้ในระยะเวลานานๆ มีความจำเป็นต้องตรวจเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา เช่น ตรวจดูการทำงานของตับไต ไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น นอกจากนั้น แพทย์จะช่วยประเมินให้ได้ว่า มีความเสี่ยงในการใช้ยาในกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ เช่น คนที่มีประวัติมะเร็งเต้านม หรือเส้นเลือดอุดตันในครอบครัว คนที่สูบบุหรี่ ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น
นอกจากรักษาโดยใช้ยาแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำแสงเลเซอร์ และแสงความเข้มสูง (pulsed light) มาใช้ในการรักษา สิว ซึ่งการศึกษาในระยะแรก บ่งว่าน่าจะได้ผล แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาในจำนวนผู้ป่วยยังไม่มาก และยังไม่ทราบผลระยะยาว แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในกรณีไม่สามารถใช้การรักษาโดยวิธีมาตรฐานได้
ข้อแนะนำในการรักษาสิว
1. ควรเข้าใจว่า สิว ไม่ใช่โรคที่สามารถรักษาหายขาด โดยไม่กลับมาเป็นอีก เนื่องจากการเกิด สิวมีปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้น ในช่วงวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว การมี สิว จึงเป็นเรื่องปกติ
2. ควรเข้าใจว่า การรักษา สิว ต้องใช้เวลา ไม่มียาวิเศษใด ที่ทำให้ สิว หายได้รวดเร็วในวันสองวัน โดยทั่วไป ยาจะได้ประสิทธิภาพเต็มที่ ใน 6-8 สัปดาห์ หลังจากรักษา สิว จนดีขึ้นแล้ว ควรทายาต่อไปอีก เพื่อป้องกันการเกิด สิว ขึ้นใหม่
3. หากเป็น สิว ไม่รุนแรง ไม่อักเสบ มักใช้ยาทารักษา สิว แต่หากไม่ได้ผล หรือ สิว รุนแรงขึ้น หรือจำเป็นต้องใช้ยารับประทาน ควรปรึกษาแพทย์
4. หากกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะยารักษา สิว ทั้งยาทาและยารับประทาน มีบางชนิดที่ไม่ควรใช้ในขณะตั้งครรภ์ บางชนิดเป็นยาต้องห้ามในหญิงตั้งครรภ์
5. การรักษา สิว ควรรักษาแต่ระยะเริ่มแรก จะได้ผลดี และหายได้เร็วกว่ารักษาเมื่อ สิว รุนแรงแล้ว ถ้าปล่อยให้มีการอักเสบมาก อาจเป็นสาเหตุของแผลเป็น สิว ทิ้งร่องรอยไว้ภายหลังได้
ที่มา https://www.doctorcosmetics.com/read_content.php?id=1843&pagetype=articles