หนูไม่ใช่วัยอุแว้ แล้วนะ!


1,180 ผู้ชม


"หนูไม่ใช่วัยอุแว้ แล้วนะ!"

    เจ้าตัวเล็กวัยพ้นขวบปีมาใหม่หมาด ที่ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไปกว่าตอนขวบปีแรกเป็นไหน ๆโดยเฉพาะเรื่องความซน ใช่ไหมละค่ะ...


           โตแล้วจ้า1-2 ปีครั้งนี้ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาปรับตัวปรับใจ ต้อนรับขวบปีที่สองของลูกกันสักหน่อยค่ะ

ขวบปีที่ 2 หนูเปลี่ยนไป
           แค่เพียงเดือนที่ 12 หรือ 13 ของชีวิตลูก พัฒนาการและการเลี้ยงดูก็แตกต่างไปมากเชียวค่ะ ถ้าเทียบกับตอนแรกเกิดจนเกือบจะครบ 1 ขวบ และที่เห็นได้ชัดคงเป็นด้านร่างกาย รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน ซึ่งอย่างหลังดูจะขยับขยายใกล้เคียงผู้ใหญ่ไปมากแล้ว
           แต่เรื่องใหญ่ที่แสนอ่อนไหวของลูกวัยนี้ ก็ไม่พ้นเรื่องการดูแลของพ่อแม่นั่นเอง เพราะแกคงไม่ชอบใจนักถ้ายังถูกเลี้ยงเหมือนเด็กทารก (ซึ่งเป็นอดีตสำหรับแกไปแล้ว) ก็แหม! ลูกทำอะไรได้เองตั้งหลายอย่างแล้วนี่นา


วัยแห่งการก้าวเดิน
คนเป็นลูก...
           วัย 13 เดือนนี้แม้การเดินของลูกจะยังล้มลุกคลุกคลาน ไม่โลดโผนเหมือนเด็กโต แต่แกก็รู้สึกลิงโลดกับพัฒนาการชิ้นโบว์แดงนี้มาก เพราะมันช่วยยืนยันว่า หนูไม่ใช่ทารกแบเบาะอีกต่อไปแล้ว ที่สำคัญอิสระเสรี และการเรียนรู้ แสวงหาสิ่งที่สนใจ อยู่กับสองเท้าที่ก้าวเดินนี้แล้วด้วย
 คนเป็นพ่อแม่...
           ก็คงต้องยอมให้แกเดินเองได้แล้วค่ะ อย่าเที่ยวอุ้มกระเตงอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าทำใจไม่ได้กลัวลูกจะล้มถลอกปอกเปิก ก็หาผ้ายางกันลื่นมารองรับเวลาหนูหัดเดินเสียหน่อยก็ดีนะ
เดินเพื่อ...ค้นหา
คนเป็นลูก...
           เดินได้แล้วแบบนี้อยากรู้ อยากเห็น อยากสัมผัสอะไรก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องคอยชี้นิ้วจะเอานู่นเอานี่หรือร้องงอแงเหมือนเมื่อก่อน
 คนเป็นพ่อแม่...
           ดูเหมือนไม่ต้องเหนื่อยคอยหยิบคอยหาให้ แต่ขอบอกว่า ต้องเตรียมใจกับรอยขีดข่วนตามพื้นหรือฝาผนังที่แกบรรจงจรดปลายดินสอ(ปากกา) ลงไป หรือวีรกรรมอื่น ๆ ประมาณนั้น ขอเสนอว่าให้มองเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของโลกก็เข้าทีนะ และฝากไว้อีกนิดค่ะว่าการสัมผัส อยากรู้อยากเห็น สำรวจสิ่งต่าง ๆ เป็นพัฒนาการที่สำคัญของลูกถ้าไม่อันตรายหรือเสียหายเกินไป ปล่อยๆแกไปบ้างก็ดีค่ะ(หมายเหตุว่าควรอยู่ในสายตาตลอดเวลาดีที่สุด)
ของเล่น...ก็ไม่เหมือนเดิม
คนเป็นลูก...
           ตอนนี้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ อาทิ แขน ขา ข้อไม้ข้อมือกำลังเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง และลูกก็สนุกที่จะทดสอบความเปลี่ยนแปลงของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เกมหรือของเล่นอะไรที่เรียกพลังเหลือเฟือนี้ได้ ดาหน้าเข้ามาเลย หนูช้อบชอบ
           ของเล่นที่เหมาะกับหนู ๆ วัยนี้ ก็น่าจะเป็นพวกเคาะ ๆ ดึง ๆ ลาก ๆ จูง ๆ หรือจะหยอดรูปทรงไม้บล็อกก็ดีใช่เล่น แต่ถ้าประเภทยางกัด หรือโมบายล์ดนตรี เอาไว้ให้น้องเล็ก ๆ เล่นเถอะจ้ะ
 คนเป็นพ่อแม่...
           ก็มีหน้าที่สนับสนุนการเล่นของลูกน่ะซิคะ เพราะสำหรับเด็ก ๆ แล้ว การเล่นคือชีวิตจิตใจของแกเลยทีเดียว การเลือกของเล่นให้เหมาะกับวัยและเสริมพัฒนาการ จะช่วยให้วันคืนที่ผ่านไปไม่เสียเปล่า อืม!แต่ขอมีพ่อกับแม่เป็นเพื่อนเล่นด้วยนะ


โตช้า(กว่า)และกินได้น้อยลง
คนเป็นลูก...
ถ้าเทียบกับเมื่อวัยอุแว้ เด็กในวัยนี้แทบทุกคนจะโตช้าลง น้ำหนักน้อยกว่า เช่น จากที่เคยขึ้นพรวดพราดในปีแรกถึงประมาณ 3 เท่าของแรกเกิดพอขยับมาปีที่2 ชักจะอืดๆไป จากที่เคยเป็นเด็กอ้วนท้วนจ้ำม่ำ จะกลายเป็นผอมเพรียวก็งานนี้แหล่ะ เหตุเพราะความเติบโตเรียนรู้และเข้าใจโลกมากขึ้นนี้ ทำให้เจ้าตัวเล็กของคุณเริ่มเลือกของกินมากขึ้น ดับเบิ้ลเป็นเท่าตัวด้วยเหตุเพราะ สิ่งรอบตัวมันเร้าใจใฝ่รู้ไปหมดทำให้ลืมหิวไปเลย และอีกประการที่สำคัญจำนวนซี่ฟันที่ขึ้นมาเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้แกเจ็บ ๆ คัน ๆ พาลให้เบื่ออาหารได้เหมือนกัน
 คนเป็นพ่อแม่...
           อย่าเพิ่งตกอกตกใจ ถ้าลูกรักเป็นอย่างที่ว่านี้ สิ่งสำคัญคืออย่าบังคับให้ลูกกินตามความต้องการของเรา แต่ถ้าเป็นห่วงลูก อาจเพิ่มมื้อนมให้แกมากขึ้นอีกนิด และพลิกแพลงเมนูอาหารให้น่าสนใจอีกหน่อย คอยสังเกตและปรึกษากุมารแพทย์เป็นระยะ เพื่อเช็คดูว่าสุขภาพลูกโดยทั่วไปสมบูรณ์ดีอยู่หรือไม่ เท่านี้ก็หายห่วงค่ะ
เข้าใจภาษามากขึ้น
คนเป็นลูก...
           แม้จะพูดยังไม่ได้เป็นคำเป็นประโยค แต่ลูกก็เข้าใจภาษาที่ใคร ๆ คุยกับแกได้รู้เรื่องมากขึ้น ทั้งยังรู้จักที่จะแสดงความต้องการของตัวเอง ได้มากกว่าแค่การร้องไห้ หรือหัวเราะเหมือนเมื่อก่อน รวมทั้งตอบสนองสิ่งที่คุยกับแกได้รู้เรื่องมากขึ้นด้วย
 คนเป็นพ่อแม่...
           นอกจากจะถือโอกาสนี้สอนให้ลูกรู้จักคำศัพท์มากขึ้น ด้วยการเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รู้ได้เห็นในแต่ละวันแล้ว พ่อแม่ก็ต้องตระหนักด้วยว่า ลูกเป็นคนคนหนึ่งที่รู้เรื่อง จดจำ และเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังสื่อสารพูดคุยกับแกอยู่ การรู้จักสร้างเงื่อนไข ใช้เหตุผล ให้ลูกได้โต้ตอบ ตัดสินใจ(ตามวุฒิภาวะ)ย่อมดีกว่าที่จะสั่งหรือทำตามความต้องการของพ่อแม่อย่างแน่นอน
           ทั้งหมดนี้อยากบอกคุณพ่อคุณแม่เพียงว่า การช่างสงสัย ดื้อรั้นและปฏิเสธหัวสั่นหัวคลอน รวมทั้งซนจนจับไม่อยู่ของลูกวัยนี้ ต้องการการเลี้ยงดูในสไตล์ที่กระฉับกระเฉง ฉับไว ไม่นุ่มนวลเนิบนิ่มเหมือนอย่างก่อนเก่า...ก็เท่านั้นเอง
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=1155

อัพเดทล่าสุด