เปลี่ยนพฤติกรรม...เมื่อหนูเลือกกิน


885 ผู้ชม


"เปลี่ยนพฤติกรรม...เมื่อหนูเลือกกิน"

    เมนูแต่ละอย่างที่คุณแม่ตั้งใจปรุงขึ้น ก็มีอันเป็นหมันไป เพราะเจ้าหนูเรื่องเยอะเสียเหลือเกิน พอทำอีกอย่างก็จะเอาอีกอย่าง บ่อยครั้งพ่อแม่ก็คงรู้สึกว่า เริ่มไม่ไหว ลองมาฟังเคล็ดลับแก้อาการคันเหล่านี้ให้ตรงจุดกัน..

 เด็กน้อยในวัยนี้ เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องหม่ำข้าวด้วยแล้ว จะมีพฤติกรรมเริ่มหม่ำยากขึ้นทุก ๆ ที เมนูแต่ละอย่างที่คุณแม่ตั้งใจปรุงขึ้น ก็มีอันเป็นหมันไป เพราะเจ้าหนูเรื่องเยอะเสียเหลือเกิน พอทำอีกอย่างก็จะเอาอีกอย่าง บ่อยครั้งพ่อแม่ก็คงรู้สึกว่า เริ่มไม่ไหวเหมือนกันแล้ว ถ้าไม่ใช่ลูก มีองค์ลงแน่ ๆ ใช่มั้ยคะ ลองมาฟังเคล็ดลับแก้อาการคันเหล่านี้ให้ตรงจุดกัน


          1. เตรียมอาหารที่ลูกติดอกติดใจเป็นครั้งคราว โดยในหนึ่งมื้อควรมีอาหารที่เด็กชอบเป็นพิเศษอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ห้ามยอมต่อคำขอร้องของเขา แล้วทั้งโต๊ะเต็มไปด้วยอาหารที่เขาชอบทั้งหมด เพราะนั่นเท่ากับนำไปสู่พฤติกรรมเลือกกินอาหารบางหมู่ไปเลย ถ้าเกิดลูกพูดว่า "หนูไม่ชอบกินผัก" ให้คุณแม่ตอบกลับด้วยความมั่นใจเลยว่า "วันนี้เราจะกินผักกัน" จากนั้นค่อยเปลี่ยนบทสนทนาไปเรื่องอื่น
          2. พาลูกไปตลาด หรือจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในขั้นตอนการเตรียมอาหารอย่างง่าย ๆ การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เมนูอาหาร จะส่งผลให้เด็กยอมรับอาหารใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้นค่ะ
          3. สร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหาร หลีกเลี่ยงบทสนทนาเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของเด็ก อย่าให้ความสนใจ เวลาลูกปฏิเสธที่จะกินอาหาร ไม่ว่าจะร้องไห้ งอแง อ้อนวอน ทุกอย่าง
          4. พูดชื่นชมลูก เมื่อพยายามขยายขอบเขตในการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้นทุก ๆ ครั้ง แค่การแสดงท่าทางตื่นเต้นดีใจ เมื่อเขาเลือกตักอาหารใหม่ ๆ คำเล็ก ๆ ใส่ปาก แค่นี้ก็โอเคแล้วค่ะ อย่าพยายามรบเร้าให้กลืนในปริมาณที่มาก ๆ ขึ้นเด็ดขาด
          5. จัดเวลารับประทานอาหารและของว่างให้ตรงเวลาทุก ๆ วัน ในสถานที่เดิม ๆ พร้อมกันทั้งครอบครัว หากไม่มีเวลาก็พยายามแบ่งสรรเวลาให้ได้มากที่สุด อย่ายอมให้ลูกหม่ำอะไรก่อนมื้ออาหารนั้น ๆ เพื่อลูกจะได้หิวและกินของที่มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น อาหารแต่ละมื้อควรทิ้งช่วงห่างประมาณ 2 ชั่วโมง และควรให้ดื่มน้ำเปล่าก่อนมื้ออาหารหนึ่งชั่วโมง
          6. ในแต่ละมื้ออาจมอบตัวเลือกที่เด็กโปรดปราน ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อหลักหรืออาหารว่าง เช่น "วันนี้หนูจะหม่ำของว่างเป็นฝรั่งหรือชมพู่ดีล่ะลูก" เป็นต้น
          7. แน่นอนว่า การคะยั้นคะยอ จู้จี้ ไปจนถึงข่มขู่ต่าง ๆ นานา แม้กระทั่งใช้รางวัลที่เด็กชื่นชอบ เป็นของหลอกล่อ เช่น ของเล่น ไอศกรีม การ์ตูนเรื่องใหม่ ฯลฯ ย่อมไม่เป็นผลดีในระยะยาวแน่นอนค่ะ
          8. สุดท้ายแต่ละมื้อควรจบลงด้วยทัศนคติแง่บวก แม้ลูกจะหม่ำได้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ดั่งใจที่พ่อแม่ต้องการก็ตามค่ะ ให้อดทนรอมื้อต่อไป โดยหลังจากลุกจากโต๊ะอย่าพยายามให้กินจุกกินจิกโดยเด็ดขาด
ห้ามปรุงอาหารแยกจากผู้ใหญ่
          คุณแม่หลายคนปรุงอาหารของลูก ๆ แยกจากผู้ใหญ่ โดยทึกทักเองว่า เด็กคงไม่อยากหม่ำอาหารแบบเดียวกับคนอื่น การกระทำเช่นนี้ สุดท้าย จะนำมาสู่พฤติกรรมเลือกกินของเด็ก ควรเปิดโอกาสให้เขาได้กินอาหารใหม่ ๆ แบบเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ จะส่งเสริมพฤติกรรมการกินได้เหมาะสมที่สุด
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=770

อัพเดทล่าสุด