ฟุดฟิดฟอไฟ...กว่าหนูจะรู้ภาษา


698 ผู้ชม


"ฟุดฟิดฟอไฟ...กว่าหนูจะรู้ภาษา"

    แรกเกิด : การรับรู้ของหนูตอนนี้ คือการจ้องมองสิ่งของในระยะใกล้ ๆ มองตามการเคลื่อนไหว เช่น ใบหน้าของแม่ที่เอียงไปมาช้าๆ และหยุดการเคลื่อนไหวของแขนขา สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงคนใกล้ตัว พ่อและแม่นั่นเอง

          1 เดือน : หนูจ้องหน้า มองตามอะไร ๆ ได้บ่อยและนานขึ้น เลยรู้จักเลียนแบบหน้าตา ขยับปากตามแม่ หรือไม่ก็ขยับตัวตามจังหวะด้วยนะ อ้อ...ลืมบอกว่า โดยเฉพาะเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ของแม่คือเสียงที่หนูสนใจเป็นพิเศษ ชวนให้อยากฟังบ่อย ๆ
          2 เดือน : พอหนูได้เห็น ได้ฟังบ่อยๆ ก็เริ่มอยากจะพูดคุยกับแม่บ้าง แต่ก็ทำได้แค่ส่งเสียงอ้อ ๆ แอ้ ๆ ให้แม่รู้ว่าหนูเริ่มเข้าใจสิ่งที่แม่สื่อสาร ให้แม่รับรู้ได้แล้ว
          3 เดือน : เวลาที่แม่พูดคุยผ่านกิจวัตรประจำวันของหนู เช่น "แม่ถอดเสื้อให้นะ เดี๋ยวจะได้ไปอาบน้ำ" เป็นการสื่อสาร ที่ช่วยให้หนูเข้าใจสิ่งที่แม่บอกได้ง่ายขึ้น รู้ว่าถึงเวลาเรื่องสนุกกับการเล่นน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย เรื่องสนุก ๆ ที่หนูชอบ
          4 เดือน : เสียงเรียกของแม่ เป็นเสียงที่หนูสามารถรับรู้ หันหาแหล่งเสียงได้ถูกต้อง แล้วก็โต้ตอบกับแม่ด้วยท่าทาง เช่น ส่งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะชอบใจ ตอนที่แม่พูดคุยกับหนู
          5 เดือน : หนูเริ่มเข้าใจท่าทางและสำเนียงของแม่ด้วยแหละ เช่น ถ้าเรื่องสนุกของหนูไม่ปลอดภัย แม่จะส่งเสียงดัง ทำให้ต้องหยุด เพราะรู้ว่านี่คือการส่งสัญญาณการห้ามไงล่ะจ๊ะ
          6 เดือน : ไม่ใช่เฉพาะเสียงของแม่เท่านั้น ที่ทำให้หนูมีความสุข อารมณ์ดี เสียงอื่นๆ เช่น เสียงเพลงที่แม่ร้องหรือที่แม่เปิดให้ มีจังหวะนุ่มนวล ไม่ตื่นเต้นโลดโผน ก็เป็นเสียงที่ส่งความสุข ช่วยให้หนูเพลิดเพลินกับการฟังและรับรู้เรื่องภาษา
          7 เดือน :  เพราะฟังเสียงที่แม่พูดคุยบ่อยครั้ง สมองของหนูจึงจดจำเป็นเสียงของคำที่มีความหมาย ทำให้สิ่งต่างๆ กลายเป็นคำศัพท์ และเก็บสะสมไว้ แล้วหนูก็เริ่มออกเสียง เอ่ยคำว่า”แม๊ะ” ได้ก่อนใคร 
          8 เดือน : เกมเรียนรู้จักอวัยวะต่าง ๆ ผ่านการจับ แตะ สัมผัสร่างกายของตัวเอง โดยที่แม่คอยบอกชื่อเรียกอวัยวะนั้น ๆ เป็นเกมที่แสนสนุก ช่วยให้หนูรู้คำศัพท์ง่าย  ๆ เป็นเรื่องดี ๆ ที่ทำให้หนูเข้าใจเรื่องภาษาได้ต่อไปในอนาคต
          9 เดือน : เสริมความรู้ ทักษะเรื่องภาษา ผ่านนิทานสิจ๊ะแม่ หนูจะได้ฟังเสียง ฟังเรื่องราวสนุก และเห็นตัวละครในรูปภาพ ก็ช่วยเพิ่มคำศัพท์ ความสนุก ให้หนูมีความสุขก่อนเข้านอน
          10 เดือน : นอกจากแม่จะพูดคุย เรียกชื่อหนูบ่อย ๆ เช่น “น้องออมของแม่” หรือยิบยกสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาพูดคุย หนูก็ชอบนะ เพราะทำให้หนูได้เรียนรู้ชื่อเรียกของสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น 
          11 เดือน : หนูอยากเรียนรู้เพิ่มเติม อยากเข้าใจความหมายของภาษาที่พูดคุยมากขึ้น ช่วยให้หนูรู้ว่า นั่นคือคำที่มีคำขยายเพิ่ม เช่น หมาเห่า แมวร้องเมี้ยว ช่วยให้หนูได้รับรู้เรื่องภาษาได้หลากหลายมากขึ้นนะจ๊ะ
          12 เดือน : หลายสิ่งหลายอย่างที่หนูรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ผ่านมานั้น สมองของหนูจึงจดจำเป็นเสียงของคำที่มีความหมาย ทำให้สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นคำศัพท์ และเก็บสะสมไว้ ทำให้หนูเข้าใจเรื่องภาษาได้มากขึ้น พร้อมกับการเปล่งเสียง พูดเป็นคำได้ในอีกไม่ช้าแน่ ๆ จ้า
ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=519

อัพเดทล่าสุด