"วัยอุแว้ กับเทคนิครักการอ่าน"
แม้เจ้าตัวเล็กจะยังไม่เข้าใจความหมายของตัวหนังสือในหน้ากระดาษ แต่การให้ลูกได้คุ้นเคยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีหนังสือ ได้เห็นพ่อแม่อ่านหนังสือ ได้หยิบจับคุ้นมือทุกวันทุกวันที่ผ่านไปจนวันหนึ่งที่โตขึ้น สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมซับและเกิดผลดีต่อตัวลูกอย่างแน่นอนค่ะ
มาดูกันดีกว่าว่า หนังสือจะมีบทบาทเพิ่มพัฒนาการลูกวัยเบบี๋ได้อย่างไร
เบบี๋....เรียนรู้อะไรผ่านหนังสือ
กล้ามเนื้อ : เมื่อเจ้าหนูหยิบ ๆ ยก ๆ หรือเปิดปิดหนังสือ ก็เป็นการฝึกทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กกล้ามเนื้อมัดใหญ่เลยน่ะ
สายตา : เมื่อลูกได้มองหยิบจับหนังสือ มองเห็นภาพน่ารัก ๆ สีสดใสและสว่าง ดึงดูดความสนใจ แยกแยะสีสันของภาพได้ ซึ่งก็จะเป็นการฝึกให้เขาสังเกตตัวสัตว์หรือตัวการ์ตูนต่าง ๆ ที่อยู่ใน หนังสือนิทาน และรู้จักกวาดสายตาเพื่อจับจุดเด่นของมัน
ผิวสัมผัส : เด็กจะได้รับรู้ความรู้สึกเรื่องผิวสัมผัสมากขึ้น เพราะหนังสือมีองศ์ประกอบต่างจากสิ่งของชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือกระดาษหนา หนังสือผ้า ขอบหนังสือแบบแข็งแบบห่วง ก็มีสิ่งให้เจ้าหนูได้เรียนรู้จากการหยิบสัมผัสทั้งนั้น
สมอง : วัยทารกเป็นวัยที่กำลังเก็บข้อมูลเลยค่ะ เพราะเมื่อเขาได้เจอหนังสือนิทานที่มีภาพหลากหลาย สมองก็จะเริ่มจดจำภาพและข้อมูลต่างๆและรู้สึกคุ้นเคยกับหนังสือ เรียกได้ว่าได้มาเมื่อไรหนูก็จะต้องเปิดสังเกตข้างในเสียหน่อย ว่ามันมีอะไรมาให้หนูดูอีกบ้าง
ภาษา : เด็กจะได้เรียนรู้ภาษาและการใช้เสียง จากการเล่าเรื่องผ่านภาพของคุณพ่อคุณแม่ รู้จักศัพท์มากขึ้น รู้จักบทสนทนาและการพูดจาระหว่างกันค่ะ
หนังสือแบบไหนเหมาะวัยอุแว้
ขั้นแรกเราต้องเลือกให้เหมาะสมกับเด็กวัยนี้เสียก่อน เพื่อเขาจะได้รู้จักหนังสือในแบบฉบับของเขา และเหมาะแก่การเรียนรู้พร้อมทั้งเสริมพัฒนาการไปในตัวด้วย
วัสดุหนังสือ : สำหรับเจ้าตัวเล็กวัยนี้แล้ว หนังสือที่ทำจากกระดาษดูจะไม่ค่อยเหมาะกับหนูสักเท่าไหร่ ผ้า พลาสติก หรือในหนึ่งเล่มอาจจะมีหลายวัสดุประกอบกันอยู่ หรือมีลักษณะเป็น 3 มิติ (Pop-up) เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กน่าจะเหมาะกว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกซื้อหาได้ตามความเหมาะสม แต่ที่สำคัญควรทำความสะอาดง่ายด้วยค่ะ
ขนาดหนังสือ : เลือกให้เล่มขนาดกลางที่เจ้าหนูสามารถถืออ่านเองได้ หรือถ้าเป็นเล่มโตก็ขอให้บางเสียหน่อย ไม่ควรหนักเสียจนเจ้าหนูไม่อยากจับหรือถือล่ะ
ภายในหนังสือ : ควรเป็นหนังสือที่มีลักษณะภาพนำเรื่อง คือมีตัวอักษรน้อยมาก โดยจะเน้นไปที่ภาพและความสดใสขององศ์ประกอบต่าง ๆ จุดประสงค์โดยตรงก็คือเด็กสามารถตีความหมายของเรื่องจากภาพได้รู้เรื่องแม้ ว่าจะยังอ่านหนังสือไม่ออกค่ะ แต่ถ้ามีตัวอักษรก็ควรมีขนาดใหญ่แต่จำนวนน้อย เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับอักษรได้ง่ายขึ้น
ชนิดของหนังสือ : นอกจากนิทาน(สำหรับอ่านให้ลูกฟังแล้ว) หนังสือภาพ หรือภาพโปสเตอร์ก็เป็นสื่อความรักการอ่านที่น่าสนใจค่ะ
พ่อแม่อิทธิพลสำคัญ...รักการอ่าน
การเริ่มต้นปลูกฝังความรู้สึกดี ๆ ต่อการอ่านหนังสือเริ่มกันได้ตั้งแต่ขวบแรกนี้ เลยค่ะ มาดูกันว่าคุณพ่อคุณแม่จะชี้ชวนน้องหนูได้อย่างไรบ้าง
ขั้นแรก : นั่งใกล้ ๆ ลูกหรือจับนั่งตัก และชี้ชวนให้ดูหนังสือที่อยู่ในมือหรือให้เขาถือเล่มที่เหมาะมือไว้ เชิญชวนให้ลูกเปิดดูสิว่าข้างในนี้มันมีอะไร (และสำหรับวัยช่างกัดช่างแทะนี้น มีวิธีแก้ค่ะคือหาอย่างอื่นมาให้เขากัดแทน)
ขั้นสอง : เมื่อลูกสนใจดูภาพแต่ละหน้าเราก็พูดพร้อมกับชี้ไปด้วยว่า ตัวนี้ชื่ออะไร เขาทำอะไรกัน หรือคุณพ่อคุณแม่ทำเสียงตามตัวละครอย่างสิงโต แม่มดด้วยก็ได้ เล่าให้ลูกฟังด้วยถ้อยคำที่ง่ายสั้น เชื่องเถอะเจ้าหนูต้องอือออตามแน่
ขั้นสุดท้าย : ไม่ใช่อ่านวันเดียวจบนะ การปลูกฝังให้เจ้าหนูรักการอ่านต้องมีความต่อเนื่อง ลองทำทุกวันก่อนนอนให้เป็นกิจวัตร หรือนึกสนุกใช้หนังสือเป็นสื่อกลางคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูกก็ได้ แค่นี้ลูกก็จะรู้สึกว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้วค่ะ
บ้าน...บรรยากาศรักการอ่าน
หามุมสบาย ๆ เล็ก ๆ ในบ้าน มีเบาะนุ่มหรือหมอนสักสองสามใบ วางของเล่นปนกับหนังสือที่เหมาะกับลูกไว้ด้วยกัน สร้างบรรยากาศการอ่านด้วยวิธีง่าย ๆ ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือ ก็มาเอกเขนกที่นี่พร้อมกับเจ้าตัวเล็ก ทำแบบนี้บ่อย ๆ อ่านเองบ้าง อ่านให้ลูกฟังบ้าง ลูกก็จะคุ้นเคยและรู้สึกว่าหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาโดยไม่รู้ตัวค่ะ
ที่มา https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=419