"ลูกเรา น้ำหนักตัวน้อยหรือเปล่า"
น้ำหนักเป็นค่าโดยรวมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ใช้ในการประเมินผลการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิดทุกคนน้ำหนักตัวมีความสำคัญอย่างมากที่พ่อแม่ต้องติดตามและให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบว่า ลูกมีการเจริญเติบโตที่ปกติหรือไม่
ลูกเราน้ำหนักน้อยไปหรือเปล่า?
โดยปกติเด็กทารกช่วงแรกเกิด มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2.8-3.2 กิโลกรัม หากน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม ให้ถือว่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (low birth weigh) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทารกที่ครบกำหนดหรือทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทั้งนี้ ในช่วงขวบปีแรก คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจเช็คน้ำหนักตัวลูก จากเกณฑ์ความเหมาะสมได้ดังนี้
• อายุ 4 เดือน น้ำหนักตัวจะเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด
• อายุ 1 ปี น้ำหนักตัวจะเป็น 3 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด
• อายุ 2 ปี น้ำหนักตัวจะเป็น 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด
การติดตามการเจริญเติบโตของลูก โดยเข้ารับการตรวจสุขภาพ หรือรับวัคซีนตามที่กำหนดทุกครั้งที่แพทย์นัดพบ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับทราบปัญหาและแก้ไขปัญหาการเจริญเติบโตของลูกได้ทันท่วงที
เป็นเพราะเหตุใด
ตัวแปรที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีน้ำหนักตัวต่างกันทั้งที่อายุใกล้เคียงกัน คือ พันธุกรรม รูปร่างและขนาดของพ่อและแม่ ถ้าพ่อแม่ตัวโต สูงใหญ่ ลูกก็จะเติบโตเร็ว ถ้าพ่อแม่ไม่สูง ตัวเล็กลูกก็จะตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่นในช่วงอายุเดียวกัน นอกจากนั้น ก็เป็นไปได้ว่า เด็กอาจน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง ลดลงชั่วขณะที่เจ็บป่วยหรือเป็นโรค ซึ่งแพทย์จะทำการชักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อทำการดูแลในขั้นต่อไป
หากไม่ใช่สาเหตุที่กล่าวมา สิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่อน้ำหนักตัวเด็กที่ลดลงในระยะยาว เมื่ออายุครบ 1 ปีไปแล้วนั้น มักเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
- การเริ่มอาหารเสริมก่อนหรือหลังวัยที่เหมาะสม
- เมื่อลูกไม่ทานอาหารเสริม มักทดแทนด้วยการกินนมผสม
ดังนั้น ช่วง 4-6 เดือนแรก เด็กควรจะกินนมแม่เป็นหลัก แต่หลัง 6 เดือนไปแล้ว ควรได้รับข้าว 1 มื้อ เมื่ออายุ 8 เดือน 2 มื้อ และ 3 มื้อ เมื่ออายุ 10-12 เดือนเป็นอาหารหลัก ตามลำดับช่วงวัย และแม้ว่า ประเด็นความสนใจของพ่อแม่เกี่ยวกับกับปัญหาน้ำหนักตัวที่น้อย จะมีต้นเหตุมาจากการกินน้อย ไม่ยอมกินของลูก คงต้องบอกว่า เด็กทุกคนจะโตตามน้ำหนักตัวที่มีมาแต่แรกเกิด และเมื่ออายุหลัง 2 ปี น้ำหนักตัวจะตามเท่ากับเด็กช่วงวัยเดียวกัน (catch up growth)
แก้ไขได้อย่างไร
เด็กทารกช่วงแรกเกิด ที่มีน้ำหนักตัวเด็กน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยเข้าตู้อบ ซึ่งมีกลไกลที่ทำหน้าที่ควบคุมรักษาระดับอุณหภูมิ ความชื้น รวมถึงออกซิเจนภายในร่างกายของทารกให้มีอุณหภูมิในระดับเดียวกันกับตอนที่อยู่ในท้องของแม่ เพื่อรอจนกว่า ทารกจะสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีขึ้น และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ
เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เด็กยังสามารถกินนมแม่ได้ตามปกติ ซึ่งลูกอาจตัวเล็กแต่ก็มีความแข็งแรงกว่าเด็กที่กินนมผสม เพราะได้ภูมิคุ้มที่ดีจากน้ำนมแม่ แต่หากมีอุปสรรคในการรับนมแม่ เด็กอาจต้องได้รับนมสูตรพิเศษที่มีความเข้มข้นกว่านมผสมทั่วไป
กรณีที่น้ำหนักลดลง เพราะการเจ็บป่วย ไม่สบาย เป็นเหตุให้เด็กกินได้น้อยลง เมื่อเด็กหายป่วย ควรเพิ่มอาหารและนมให้เพียงพอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อลดความกังวลใจ ป้องกันปัญหาลูกโซ่ เรื่องน้ำหนักตัวลูกที่น้อยลงหลัง 1 ขวบปีแรกไปแล้วคือ
- ควรติดตามผลการเจริญเติบโตของลูกอย่างต่อเนื่อง
- พ่อแม่ไม่ควรเครียดเกินไปกับเรื่องกินของลูก
- ไม่ใจอ่อนกับการไม่ยอมกินของลูก (เมื่อลูกไม่กิน ไม่ควรทดแทนด้วยการกินนม)
- การให้ลักษณะอาหารเสริมที่ถูกวิธี โดยเริ่มจากเนื้อเนียนละเอียดจนบดหยาบ เพื่อฝึกทักษะการเคี้ยวกลืนที่ถูกวิธีของลูก
- คนในบ้านควรมีข้อปฏิบัติ วินัยการกินที่สม่ำเสมอเหมือนกัน เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก