ย่างก้าวแรกที่รอคอย


854 ผู้ชม


"ย่างก้าวแรกที่รอคอย"

     หลังจากที่ปล่อยให้ลูกน้อยเรียนรู้โลกกว้างผ่านการนั่ง คืบ คลาน คราวนี้ก็ได้เวลาของการเดินที่คุณพ่อคุณแม่ใจจดจ่อรอคอยมาอย่างยาวนานกันสักที ลองดูกันค่ะ ว่าหนูน้อยของเราจะเก่งขึ้นสักเพียงไหน

สเต็ป..พื้นฐานในการหัดเดิน
           1.หนูน้อยนอนคว่ำตัว เริ่มแรกของพัฒนาการทางด้านเคลื่อนไหว
           2.เริ่มชันคอขึ้นได้เอง แต่ยังไม่มั่นคงสักเท่าไหร่
           3.ชันคอขึ้น และใช้แขนดันตัวยกหน้าอกขึ้นได้
           4.ใช้แขนดันยันตัวถอยหลัง หรือไปด้านข้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาค่ะ อย่าเพิ่งตกใจ โดยอีกไม่นานเค้าก็เรียนรู้ที่จะคลานไปข้างหน้าได้เองค่ะ
           5.ลูกน้อยจะเคลื่อนไหวโดยการขยับแขนและขาข้างตรงข้ามพร้อม ๆ กัน ถ้าจินตนาการไม่ออก ลองนึกท่าของจระเข้เวลาคลานค่ะ
           6.เริ่มทรงตัวด้วยมือและเข่า เก่งอย่าบอกใครเชียว
           7.คลานด้วยสองมือและสองเข่า ปลายเท้าชี้ออกด้านนอก
           8.หลังจากคลานมาแล้ว ด้วยระยะทางคงหลายกิโลเมตร ลูกน้อยจะคลานด้วยมือและเข่าได้คล่องแคล่วมากขึ้น โดยปลายเท้าชี้เท้าด้านใน
           9.เริ่มหัดก้าวเดินโดยเกาะสิ่งของ หรือถ้ามีคุณพ่อคุณแม่ช่วยพยุง เค้าก็จะดีใจมาก ๆ เลยล่ะ
           10.ขั้นตอนสุดท้าย ลูกน้อยของคุณแม่จะเริ่มก้าวเดิน โดยใช้แขนทั้งสองข้างช่วยในการทรงตัว


กระตุ้นลูกหัดเดินอย่างไร?
          ขณะที่ลูกน้อยกำลังเรียนรู้การเดินจากการคลานด้วยสองมือและสองเข่า เช่น เดียวกับเมื่อตอนลูกหัดคลานโดยใช้ท้องสัมผัสพื้นแบบจระเข้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวแขนและขาด้านตรงข้ามพร้อม ๆ กัน และฝึกการทำงานประสานกันของสมองทั้งสองซีก เรียกได้ว่า ยิ่งคลานมากเท่าใด แนวทางการเรียนรู้ก็ยิ่งมั่นคงขึ้นเท่านั้นค่ะ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรจะมีความสุขกับการเฝ้ามองและเอาใจช่วยเจ้าตัวเล็กอย่างค่อยเป็นค่อยไปดีกว่าค่ะ
ช่วยลูกหัดเดินโดยไม่ต้องเกาะ
          เด็กในวัยที่กำลังพัฒนาหาวิธีทรงตัวสำหรับการเดินนั้น จะเรียนรู้เรื่องนี้โดยสัญชาตญาณ โดยการเหวี่ยงตัวหมุนไปจนรู้สึกเวียนหัว ซึ่งจะทำให้เค้าทรงตัวได้เก่งขึ้น ดังนั้น การช่วยหมุนตัวลูกก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เค้าทรงตัวได้เก่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงแค่กอดลูกไว้แนบตัว แล้วเต้นรำไปตามจังหวะเพลงสุดโปรด อย่าลืมประคองศีรษะของลูกด้วยนะคะ ทีนี้ล่ะ สมองส่วนการควบคุมการทรงตัวของลูกจะถูกกระตุ้น ยิ่งเด็กฝึกเดินและทรงตัวได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการยืนเกาะสิ่งของเพื่อใช้พยุงตัวก็จะลดน้อยลงค่ะ
ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=1575

อัพเดทล่าสุด