"ฟันซี่เล็ก ๆ...ปัญหาไม่เล็กของหนู ๆ"
ฟันของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆเลยนะคะ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด เพราะว่ายิ่งสุขภาพฟันของลูกดีเท่าไหร่ ก็หมายความว่าสุขภาพกายและพัฒนาการของลูก ก็จะดีตามไปด้วยเท่านั้น
ฟ.ฟัน สำคัญตั้งแต่ซี่แรก
โดยเฉลี่ยฟันน้ำนมซี่แรกของเด็กส่วนใหญ่จะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ในเด็กบางคนที่มีฟันขึ้นหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ไม่ถือว่าเป็นปัญหาค่ะ ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน
เมื่อไหร่ก็ตามที่ฟันซี่แรกของลูกขึ้น คุณแม่ไม่ควรให้ลูกดูดนมก่อนนอนตอนกลางคืน แม้จะเป็นนมแม่ก็ตาม เพราะถ้าลูกได้รับนมตอนกลางคืน โอกาสที่ฟันหน้าจะผุย่อมมีสูงมาก โดยเฉพาะลูกที่ยังดูดนมจากขวดหรือจากเต้าอยู่
สารพันปัญหาสุขภาพฟัน
เด็กแต่ละคนจะมีปัญหาฟันที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอาหารการกิน การเลี้ยงดูเอาใจใส่ และการดูแลรักษา ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ
ลูกชอบกัดฟัน เพราะเด็ก ๆ จะรู้สึกเจ็บบริเวณที่พันกำลังจะขึ้น ดังนั้น เขาจึงต้องหาวิธีระบายออกด้วยการกัดฟัน หรือกัดสิ่งของ เช่น ผ้าขนหนู หรือของเล่น ซึ่งมักเกิดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะเป็นไปตามพัฒนาการตามช่วงวัยของลูก แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจวิตกกังวลไปเอง
ฟันซ้อนเก โดยทั่วไปลักษณะของฟันน้ำนมนั้น ควรจะเป็นซี่เล็ก ๆ และห่างกัน เพื่อลดโอกาสการเกิดการซ้อนเกของฟันแท้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ขนาดของซี่ฟันกับขนาดของขากรรไกรไม่สมดุลกัน เช่น ขากรรไกรขนาดพอดี แต่ซี่ฟันมีขนาดใหญ่ หรือซี่พันขนาดพอดี แต่ขากรรไกรเล็ก ไม่ลงล็อกกัน ก็จะเกิดอาการของฟันเกได้ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กหลาย ๆ คน ฟันผุด้วย
ฟันผุ เป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการแปรงฟันที่ไม่สะอาดโดยเฉพาะเด็กที่มีฟันซ้อนเก ก็จะทำให้การดูแลรักษาฟันมีความยากขึ้น การให้ลูกกินขนมหวานหรือกินอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลก็มีโอกาสเสี่ยงต่อฟันผุได้เช่นกัน
ฟันมีปัญหาต้องรักษาเร่งด่วน
ฟันผุเป็นปัญหาหลักที่พบบ่อยและต้องรักษาอย่างเร่งด่วนในเด็กเล็ก เนื่องจากหากปล่อยไว้ ให้ลุกลามจะเป็นผลเสียต่อทั้งฟันน้ำนมและหน่อฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ ซึ่งอาจจะทำให้ฟันแท้มีโครงสร้างฟันที่ผิดปกติ หรือว่าฟันขึ้นช้านั่นเอง โดยเฉพาะการเอกซเรย์ดูว่ามีหน่อฟันน้ำนมหรือไม่ เพราะเด็กบางคนมีหน่อฟันน้ำนม แต่ไม่มีหน่อฟันแท้ หรือบางคนที่ฟันน้ำนมไม่ขึ้น ก็เป็นเพราะว่าไม่มีหน่อฟันน้ำนม ซึ่งเป็นโรคทางระบบฟัน เช่น กลุ่มของโรคสังข์ทอง คือมีหน่อฟัน แต่มีฟันไม่ครบ เป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่งที่ต้องรักษาค่ะ
ในเด็กเล็ก ๆ ไม่สามารถใช้ขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อนได้ เพราะข้อจำกัดในเรื่องของวัย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องปรับเรื่องอาหารการกินแทน โดยให้ลูกกินอาหารอ่อน ๆ หรือในบางกรณีเด็กเล็กบางคนไม่ได้มีหน่อฟันน้ำนม แต่ว่ามีหน่อฟันแท้ ก็ต้องให้คุณหมอฟันตรวจให้ละเอียด
ฟันผุกระทบพัฒนาการลูก
ผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือเรื่องของการกินอาหาร เพราะเด็กที่ฟันผุจะไม่สามารถกินอาหาร บางอย่างได้ เช่น ผักผลไม้บางชนิด หรืออาหารหยาบ ๆ บางอย่างที่ช่วยพัฒนาการด้านการการรับรู้หรือการกระตุ้นขากรรไกร
ในด้านโภชนาการ เด็กจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอรวมถึงเด็กบางคนที่ปวดฟันเรื้อรัง ก็มักจะนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ กลายเป็นเด็กโตช้า ถ้าฟันหน้าผุ ลูกก็จะมีปัญหาเรื่องการพูด ซึ่งมักจะพูดไม่ชัดในบางตัวอักษร
เคล็ดลับดูแลฟัน
หลีกเลี่ยงขนมหวาน สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเคร่งครัด คือขนมหวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาล หากไม่สามารถงดได้ ก็ต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพราะน้ำตาลเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกฟันผุ ดังนั้น ของว่างของลูกควรเป็นผลไม้แทนจะดีกว่า
ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย เด็กเล็กที่เพิ่งมีฟันซี่แรกสามารถทำความสะอาดโดยการแปรงฟัน แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการใช้ไหมขัดฟันด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนควบคุมหรือช่วยฝึกหัดลูกในขณะแปรงฟัน แต่ก็ควรแปรงฟันให้ลูกซ้ำอีกครั้ง เพราะเด็กเล็กยังใช้ทักษะมือได้ไม่ดีพอ
พบหมอฟันอย่างสม่ำเสมอ เด็ก ๆ ควรได้รับการตรวจรักษาตั้งแต่ที่ฟันซี่แรกขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคย และยังสามารถรับคำแนะนำในเรื่องการป้องกันฟันผุจากทันตแพทย์ เช่นทันตกรรมป้องกันฟันผุ การเคลือบหลุมร่องฟัน การเคลือบฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ เป็นต้น
เพราะฟันของเด็กเล็กมักจะผุเร็ว เนื่องจากซี่ฟันมีขนาดเล็กแต่มีโพรงประสาทขนาดใหญ่ หากปล่อยให้ลูกฟันผุอยู่นาน การรักษาที่ซับซ้อนก็จะทำให้ทัศนคติในการทำฟันของเด็กเล็กแย่ลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถพาลูกไปพบหมอฟันในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนที่ฟันน้ำนมของลูกจะขึ้นครบทุกซี่ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพฟันสัก 1 ครั้ง เพื่อให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อการทำฟัน และถ้าพบว่ามีฟันผุ ก็สามารถที่จะรักษาได้แต่เนิ่น ๆ ค่ะ
ที่มา https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=1518