ซน.. หรือสมาธิสั้นกันแน่?


1,031 ผู้ชม


"ซน.. หรือสมาธิสั้นกันแน่?"

    อ่านรายละเอียดแล้วแยกแยะให้ชัดเจนนะคะ เพราะเด็กซน ๆ บางคนก็แค่ดูคล้ายเท่านั้นซนไม่ธรรมดา ..เพราะว่าสมาธิสั้น

ความกังวลของพ่อแม่ยุคใหม่ ไม่พ้นลูกเป็นสมาธิสั้น
             สมาธิสั้นเป็นโรคใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันในประเทศไทยเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้เองค่ะ และมีแนวโน้มจะเกิดจากการที่สมองสูญเสียสมรรถนะบางส่วน เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง พ.ญ.เบญจพร ปัญญายง ทำการศึกษาพบว่า 3-5% ของเด็กไทยเป็นโรคสมาธิสั้น อาการที่แสดงออกเด่นชัดมีอยู่ 3 อย่างค่ะ ดูเผิน ๆ อาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ! นี่ลูกฉันหรือเปล่าเนี่ย? แต่ต้องอ่านรายละเอียดแล้วแยกแยะให้ชัดเจนนะคะ เพราะเด็กซน ๆ บางคนก็แค่ดูคล้ายเท่านั้นซนไม่ธรรมดา ..เพราะว่าสมาธิสั้น
             1. สมาธิสั้น ซึ่งสมาธิในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการจดจ่อเพื่อรับสิ่งเร้าใดสิ่งเร้าหนึ่งให้นาน พอที่จะเรียนรู้ได้ เมื่อไรก็ตามที่เราจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สมองมีความสามารถพิเศษที่จะตัดสิ่งเร้าไม่พึงประสงค์ออกไป สุดท้ายจะรับเฉพาะเรื่องที่สนใจเพียงเรื่องเดียว ถ้าใจลอยไปคิดเรื่องอื่นสักแว่บหนึ่ง ก็ยังพอดึงกลับมาต่อกับเรื่องเดิมได้ โดยทั่วไป ผู้ใหญ่จะมีสมาธิประมาณ 45 นาที ส่วนเด็ก ๆ สมาธิยังไม่ยาวขนาดนั้น แต่เขาจะค่อยๆ พัฒนาไปเป็นลำดับเมื่อสมองเติบโตเต็มที่
             แต่เด็กสมาธิสั้นจะพัฒนาได้ช้ากว่า เช่น ตอนอนุบาลมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่ครูเล่าได้ 15-30 นาที พอขึ้น ป.1 เพื่อน ๆ พัฒนาไปได้ 40 นาที แต่เด็กสมาธิสั้นยังคงอยู่เท่าเดิม ไม่ไปไหน ถูกเบี่ยงเบนก็ง่าย แถมเวลาใจลอยไปแล้วก็ไปเลย ดึงกลับมาไม่ได้
             2.ซน เด็กสมาธิสั้นจะซนกว่าเด็กปกติอย่างเห็นได้ชัด คือถ้าสมาธิดี เด็กจะซนอยู่กับเรื่องเดิมได้นาน แต่เด็กสมาธิสั้นจะซนเรื่องเดิมได้ไม่นาน แล้วก็มีความเร็วสูง (hyperactive) จึงมักจะมีของแถมเป็นบาดแผลติดตัวอยู่บ่อยๆ เด็กทั่วไปถึงซนยังไงก็รู้จักระวังตัว วิ่งเฉียดขอบโต๊ะเก้าอี้ก็เบี่ยงตัวหลบทัน แต่เด็กสมาธิสั้นหลบไม่ทันค่ะ และสิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถควบคุมเด็กสมาธิสั้นได้ เพราะสมองบังคับตัวเขาไม่ค่อยจะได้ ดังนั้น แม้จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือเจอผู้ใหญ่ที่ไม่คุ้นหน้า เขาก็ยังซนเหมือนเดิม ในขณะที่เด็กทั่วไปจะระวังตัวหรือเกร็งๆ อยู่บ้าง
             3.หุน หัน (impulsive) ทันทีที่มีอะไรเกิดขึ้นในใจ เขาจะโต้ตอบฉับพลัน เช่น ครูถามว่า"ใครรู้คำตอบบ้างยกมือขึ้น" เด็กปกติจะยกมือ แต่ถ้าเด็กสมาธิสั้นรู้ เขาจะลัดคิวตอบเลย ลองนึกภาพกรณีอื่นๆ เช่น ไม่รู้จักรอคอย หรือโมโหเพื่อนเมื่อไรก็ใช้กำลังตอบโต้ทันที
             อาการ 3 ข้อนี้ เด็กปกติก็มีค่ะ แต่มีในลักษณะที่ควบคุมได้ ส่วนเด็กสมาธิสั้นจะมีเยอะกว่า ควบคุมได้ยากกว่า และพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่า สมาธิสั้น เสี่ยงต่อสารพันปัญหา
             
             สมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษา จะกลายเป็นปัญหาในตอนโตค่ะ มันจะไปสัมพันธ์กับพฤติกรรมเกเร และซึมเศร้า มีการศึกษาพบว่า 20-25% ของคนในคุกและสถานกักกันเยาวชนหลายๆ ประเทศ ตอนที่ยังเด็ก พวกเขามีอาการเหมือนสมาธิสั้น ส่วนเด็กในสถานพินิจของไทยก็มีอาการซึมเศร้าร่วมอยู่ประมาณ 20-30% (อาการซึมเศร้ามีทั้งแบบที่หันใส่ตัว คือทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย กับซึมเศร้าแล้วหันไปเล่นงานคนอื่น
             แล้วที่สำคัญ สมาธิสั้นยังไปสัมพันธ์กับเรื่องยาเสพย์ติดอีกด้วย ในอเมริกา เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานเลยว่า ถ้าพบผู้ติดยาแล้วมีอาการสมาธิสั้น ให้รักษาโรคสมาธิสั้นก่อน แล้วประเมินอีกทีว่าเลิกติดไหม ถ้าเลิกก็จบ โดยไม่ต้องใช้การบำบัดเลย ทำไมเป็นเช่นนั้น? ดูที่อาการกันอีกทีค่ะ
             เวลาเรียนหนังสือ เด็กอื่น ๆ เรียนได้หนึ่งชั่วโมง เด็กสมาธิสั้นเรียนได้ 20 นาที พอเรียนไม่รู้เรื่อง ผลการเรียนก็ย่อมไม่ดี ผู้ใหญ่ไม่คิดว่าเขาป่วยหรอกค่ะ ส่วนใหญ่จะว่าเขาโง่ ไม่รับผิดชอบมากกว่า เวลาซนก็โดนดุโดนตี และเมื่อหุนหัน เล่นกับเพื่อนก็แย่งตลอด เพราะไม่เคยรอคิวของตัวเองได้ หรือเพื่อนแหย่นิดเดียวก็ชกทันที บ่อยเข้า เพื่อนก็ไม่อยากคบ ไม่อยากเล่นด้วย
             ถ้าโดนอย่างนี้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ 7-8 ขวบ โตขึ้นหัวใจดวงน้อย ๆ จะเหลืออะไร ...ฉันเป็นคนดีหรือไม่ ชักไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจอยู่บ้างว่าในปัจจุบัน ทันทีที่ครูพบเด็กเรียนไม่ดี ครูจะคิดถึงหมอก่อนไม้เรียว ไม่ดุไม่ตี จะเชิญผู้ปกครองให้พาไปหาหมอ เพราะสมาธิสั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ของการเรียนไม่ดีด้วยเหมือนกันช่วยลูกสมาธิสั้นได้อย่างไร
             กุมารแพทย์ทุกคนสามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้ ถ้าพบว่าเป็นจึงจะส่งต่อไปรักษา มีรายงานว่า 1 ใน 3 สามารถหายเป็นปกติ 1 ใน 3 พอโตแล้วก็ยังมีอาการอยู่ ส่วนอีก 1 ใน 3 ยังคงมีอาการอยู่ แต่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ การรักษาเป็นหน้าที่ของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ แต่พ่อแม่ก็เป็นแรงสำคัญในการปรับพฤติกรรมของลูก ไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา หมายความว่าเวลาลูกซน พ่อแม่ต้องดุน้อยลง ตีน้อยลง หรือเลิกตีไปเลย ถ้าจะให้ลูกทำงานบ้าน ก็อย่าสั่งทีเดียวหลายรายการติดกัน เช่น
             "เดี๋ยวเอาผ้าไปเช็ดโต๊ะกินข้าว แล้วเอาขยะไปเท พอเทขยะเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมล็อกประตูด้วยนะ"
             โถ...สมาธิ หนูก็สั้นจะตายอยู่แล้ว แม่ยังสั่งทีเดียวตั้ง 3 อย่าง ถ้าลูกสมาธิสั้น บอกเขาทีละอย่างค่ะ เทคนิคเวลาจะบอก ให้เรียกชื่อเขาก่อน เช่น "แอนท์" แล้วจับให้เขาหันมา ลดตัวลงไปให้สายตาอยู่ระดับเดียวกัน มองตาลูกให้รู้ว่าเขาตั้งใจฟังเราอยู่ แล้วค่อย ๆ พูด
             "แอนท์ เอาผ้าไปเช็ดโต๊ะนะลูก" แค่นี้พอ อย่างเวลาลูกกลับจากโรงเรียนเนื้อตัวสกปรกเลอะเทอะ พ่อแม่จะพูดเหมือนกันทุกบ้าน (ราวกับเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ)
             "แอนท์ เอ๊ย...เวลาไปโรงเรียน แม่ส่งไปเรียนนะ ไม่ได้ส่งไปเล่น ทำไมเนื้อตัวสกปรกเลอะเทอะไปหมดอย่างนี้ แม่ซักผ้าเหนื่อยรู้ไหม ตัวเม้น...เหม็น ไปอาบน้ำ"
             3 ประโยคแรกลูกก็ไปแล้วค่ะ สิ่งที่ต้องการจะบอกคือไปอาบน้ำ ก็เอาไว้ข้างหน้า เริ่มต้นประโยคด้วย "ไปอาบน้ำ" แล้วจะสาธยายอะไรก็ว่าไป (แต่ยังไงลูกก็ไม่ได้ยินหรอกค่ะ เพราะเขาสมาธิไม่ดี แล้วแม่ก็เป็นสิ่งเร้าที่ไม่น่าสนใจเท่าไรซะด้วย)

   เด็กสมาธิสั้นจะถูกดึงจากสิ่งเร้ารอบตัวได้ง่าย เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้ ที่ทางสำหรับทำการบ้าน อ่านหนังสือ ก็จัดให้เป็นสัดส่วน ลดสิ่งรบกวนให้น้อย เวลาเด็กทำการบ้าน พ่อแม่อาจจะต้องปิดทีวี หรือมานั่งอ่านหนังสืออยู่ข้าง ๆ สร้างบรรยากาศ(รังสีอำมหิต) ให้ลูก เมื่อซนแล้วเกิดอุบัติเหตุบ่อย ก็ต้องปรับสิ่งแวดล้อมให้เด็กอยู่ได้อย่างปลอดภัย ลดสิ่งกีดขวางในบ้านให้น้อยลง
             แล้วก็หาที่ทางให้ลูกได้ระบายความซนด้วย อาจจะพาไปตามสวนสาธารณะ ให้เขาได้ออกกำลังเพื่อปลดปล่อยพลังงานที่มันเหลือเฟือ พอเหนื่อยมาก ๆ พลังงานลด แบตฯเริ่มอ่อน อาการจะดีขึ้น แถมยังได้ผลดีเรื่องสุขภาพด้วย
             ความหุนหันก็พอช่วยได้ เช่น พาไปในสถานที่ที่มีกติกาบังคับให้เขาต้องคอย เช่น ไปฝึกเข้าคิวซื้อของ เล่นเกมที่มีการรอคอย เช่น หมากกระดาน งูไต่บันได สมมติลูกเราเคยคอยได้สัก 10 วินาที พอถึงตาของพ่อแม่ก็แกล้งยืดเยื้อไปสักหน่อย รอให้เวลาผ่านไปสัก 11-12 วินาที พอลูกชักจะทนไม่ไหว กระสับกระส่าย ค่อยทอยลูกเต๋า แว้บนั้นลูกก็คอยเพิ่มได้อีก 2 วินาที ทำอย่างนี้บ่อย ๆ จะพบว่ายืดเวลาการรอคอยของเขาได้ วิธีนี้นักบำบัดเคยทดลองใช้ได้ผลมาแล้วนะคะ แกล้งลูกดูบ้างก็น่าสนุกดีเหมือนกัน
           เวลาหุนหัน สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือความโกรธ โกรธเฉย ๆ ไม่เป็นไร เวลาไม่สบอารมณ์หรือถูกขัดใจ ใคร ๆ ก็ต้องโกรธ แต่ถ้าโกรธแล้วขว้างปาข้าวของ ทำร้ายคนอื่น แบบนั้นไม่ดีค่ะ เวลาลูกโกรธ สอนให้เขารู้จักระบายออกอย่างเหมาะสม เช่น
             "อย่าตีแม่ลูก ถ้าโมโหให้บอกเลยว่าโมโหนะ"
             ถ้าทำทั้งหมดแล้ว อาการของลูกยังไม่ดีขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าสมองเขามีปัญหาจริง ๆ อาจจะต้องพึ่งยา บางกรณีฤทธิ์ของยาช่วยเด็กได้มาก ถึงขนาดที่ว่าเด็กบางคนก่อนมาหาหมอฟังครูได้ครึ่งเดียว พอกินยา ฟังได้จนจบเลย จากที่เคยสอบได้ท้ายห้องก็ขึ้นมาถึงลำดับต้น ๆ กลายเป็นเด็กที่มีความสุข เพราะเพิ่งค้นพบว่าตัวเองเก่ง ที่ผ่านมาแค่ไม่สบายเท่านั้น
             ยากลุ่มนี้ก็จะมีวิธีใช้ที่ ปลอดภัย ไม่ต้องวิตกค่ะ แล้วหมอก็จะหยุดให้ยาในช่วงปิดเทอม เพราะไม่จำเป็นต้องควบคุมพฤติกรรมมากนัก ถ้าไม่รบกวนที่บ้าน ช่วงหยุดยาเป็นโอกาสดีที่จะดูว่าเด็กดีขึ้นไหม บางกลุ่มหยุดยาแล้วดีเลย แต่บางกลุ่มต้องกินยาจนเป็นวัยรุ่นก็มี ในกลุ่มที่หายขาด สมาธิสั้นอาจจะเป็นเรื่องวุฒิภาวะของสมอง เมื่อสมองโตเต็มที่ อาการจะดีขึ้น
             สมาธิสั้นไม่ใช่โรคร้ายแรงที่แก้ไขไม่ได้ ขอเพียงเข้าใจเท่านั้น สำคัญที่พ่อแม่ต้องขวนขวายหาความรู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือตั้งแต่ยังเล็ก ใจของเด็กยังไม่เสียไปมาก แต่ก็อย่าถึงขั้นตื่นตระหนกจนเกินไป พ่อแม่หลายคนพาลูกไปหาหมอตั้งแต่อนุบาล ตอนนั้นยังแยกไม่ออกหรอกค่ะ เพราะอาการสมาธิสั้นจะมาเด่นชัดในชั้นประถม เพราะเริ่มมีการเรียนที่เป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น จึงพอแยกแยะได้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็น แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินลูก
ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=706

อัพเดทล่าสุด