"รับมือ...ลูกวัยขี้หวง "
คงไม่มีช่วงวัยไหนแล้วที่เจ้าตัวเล็กของคุณจะขี้หวง และติดแม่ได้เท่าช่วงวัยขวบครึ่งถึงสามขวบ เพราะนี่เป็นวัยที่เด็กเรียนรู้ที่จะสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา ก่อนหน้านี้เค้าเคยคิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของคุณแม่ แต่เมื่อเค้าเติบโตขึ้น กลับพบว่าตัวเค้าเป็นอีกคนหนึ่ง ที่เป็นตัวของเค้าเอง และวิธีที่จะแสดงออกหรืออวดตัวตนของเค้าก็คือ การประกาศเป็นเจ้าของ
ไม่มีวัยไหนแล้วที่เจ้าตัวเล็กจะขี้หวงได้เท่านี้ เพราะนี่เป็นวัยที่เด็กกำลังเรียนรู้ที่จะสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ภาพที่คนในบ้านเคยคุ้นกันดี คือภาพที่เจ้าหนูเดินเตาะแตะ เอาขนมไล่ป้อนใครต่อใครไปทั่ว อวดของเล่นชวนใคร ๆ เล่นอย่างไม่รู้เบื่อ แต่ตอนนี้ เค้ากลับเอาแต่พูดว่า "นี่ของหนู" "นั่นของหนู" "ของหนู ๆๆๆ" และหากใครมาแตะ "ของ" ที่เค้าบอกว่าเป็นของเค้าแล้วล่ะก็ เป็นเรื่องทีเดียว เพราะเค้าจะอาละวาดสุดฤทธิ์ ช่วงชิง "ของ" ของเค้ากลับมาให้ได้ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงตุ๊กตา หรือขนมชิ้นเล็ก ๆ
แต่เรื่องคงไม่จบแค่การยอมให้สิ่งของที่ลูกร่ำร้องเป็นเจ้าของ เพราะความขี้หวงของลูก กลายเป็นปัญหาคาใจคุณแม่ซะแล้ว...ทำไมลูกขี้หวงแบบนี้? ทำไมไม่รู้จักแบ่งปัน? โตขึ้นลูกจะเข้ากับเพื่อนได้มั้ยเนี่ย? หยุดความกังวลใจไว้ก่อนค่ะ เพราะนี่ถือเป็นการพัฒนาการอีกขั้นของลูก หน้าที่ของคุณแม่ในตอนนี้คือ ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมของลูกให้เข้าที่เข้าทางค่ะ
ขั้นแรกต้องเริ่มที่ตัวคุณเอง ก่อนที่จะฝึกลูกได้คุณต้องหมั่นเตือนตนเอง รวมทั้งบอกผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ในบ้านให้ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกันว่า ไม่ควรดุเมื่อลูกแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เพราะนอกจากเด็กจะไม่เข้าใจแล้ว ยังจะทำให้เค้าเสียขวัญเปล่า ๆ และอย่าบังคับให้เด็กแบ่งของให้ใคร เพราะไม่มีวันซะล่ะที่เค้าจะเต็มใจแบ่งให้ แล้วทีนี้ก็มาถึงวิธีการบอกให้ลูกรู้ถึงขอบเขต ความเป็นเจ้าของของเค้า
ถ้าคุณแม่จะเอาตุ๊กตาตัวโปรดของเขาไปซักล่ะก็ อย่าลืมบอกลูกให้เข้าใจก่อนล่ะ ไม่อย่างนั้นเป็นเรื่องแน่ ๆ
ทำสัญลักษณ์บนของของลูก
นี่เป็นวิธีที่ง่าย ๆ ที่จะแสดงให้ลูกเห็น และแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนที่เป็นของเค้าจริง ๆ ที่เค้าจะแสดงอาการหวงได้ และสิ่งไหนไม่ใช่ ลองหาสติ๊กเกอร์สวย ๆ มาให้ลูกเลือก ว่าเค้าจะใช้รูปอะไรแทนตัวเค้าดี ถ้าลูกเลือกรูปไหน ก็ควรใช้เฉพาะรูปนั้นและพยายามเลือกที่เป็นแบบเดียวกัน เพื่อปัองกันความสับสนในภายหลัง แปะลงบนของเล่น ของใช้ส่วนตัวของเค้า เท่านี้ลูกก็จะเข้าใจได้ทันทีว่าสิ่งไหนเป็นของใคร
นี่ของแม่นะ
ลูกอาจยังทึกทักเอาของของคนอื่นไปเป็นของตนอีก อย่างนี้ต้องลองเอาคำพูดของลูกนี่ล่ะมาปรามลูก เช่น หากคุณแเม่กำลังอ่านหนังสืออยู่ แล้วจู่ ๆ ลูกก็ตรงเข้ามาแย่งหนังสือนั้นไปพร้อมบอกว่า "เอามา ๆ ของหนู ๆ" คุณต้องบอกลูกอย่างชัดเจนว่า "นี่ของแม่ไม่ใช่ของหนูนะ ของหนูเล่มโน้นต่างหาก เล่มที่มีสติ๊กเกอร์ติดอยู่ไงจ๊ะ แต่ถ้าหนูอยากดูเล่มนี้ ก็ต้องดูด้วยกันกับแม่นะ"
เมื่อลูกได้มีส่วนร่วมในการสัมผัสของของคนอื่น เค้าก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ได้ว่า ของบางสิ่งน่ะเราแบ่งกันได้ การแบ่งไม่ได้ทำให้ของนั้นเสียหายสักหน่อย ติดกันหนึบแบบนี้คุณแม่อาจจะเหนื่อยสักหน่อย แต่ถือเป็นโอกาสดี ๆ ที่ลูกจะได้เรียนรู้ ก็นับว่าคุ้ม อ้อ...อย่าลืมดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วยนะคะ
บอกหนูก่อนนะแม่
ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องหยิบเอาสิ่งของสุดหวงของลูกไป ไม่ว่าจะนำไปเก็บหรือทำความสะอาด จะต้องบอกลูกก่อนทุกครั้ง เพราะการหยิบเอาไปเฉย ๆ โดยไม่บอกล่วงหน้าอาจทำไห้เค้าเข้าใจว่า คุณแย่งของรักของเค้าไป หรือว่าเค้าต้องสูญเสียมันไปซะแล้ว แต่ถ้าลูกยังไม่ยอมให้ ก็ควรขอดี ๆ อีกสักรอบ พร้อมให้เหตุผลไปด้วย เช่น "พี่ตุ๊กตาของหนูมอมแมมแล้ว แม่พาพี่ตุ๊กตาไปอาบน้ำก่อนนะคะ"
การทำเช่นนี้นอกจากช่วยป้องกันศึกชิงของได้แล้ว ยังช่วยให้ลูกค้นพบว่า เวลาที่เค้าต้องการของของคนอื่นบ้าง ควรจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้สิ่งนั้นมา โดยไม่ต้องเสียแรงร้องให้เหนื่อย ชิงช้า กระดานลื่น ในสวนหรือสนามเด็กเล่น ต้องแบ่งกันเล่น และถ้ามีคนอื่นเล่นอยู่ก่อน ต้องรู้จักที่จะรอคอยบ้างนะ
ของบางอย่างต้องแบ่งกัน
นอกจากนี้ลูกต้องเรียนรู้ด้วยว่า มีของบางอย่างที่ต้องใช้ร่วมกัน หรือของในที่สาธารณะ เช่น ชิงช้า กระดานลื่น ในสนามเด็กเล่น ต้องแบ่งกันใช้และเค้าต้องรู้จักที่จะรอคอยบ้าง ระหว่างที่รอเค้าอาจไม่ยอมอยู่เฉย ๆ ดังนั้น คุณควรหากิจกรรมอื่นให้เค้าได้ทำระหว่างรอ อาจชวนพูดคุย เล่นเกม ไปพลาง ๆ ถ้าลูกไม่ยอมรอ ร้องดิ้นอาละวาด คงต้องบอกให้เค้าเลือกว่าจะรอ เพื่อที่จะได้เล่น หรือว่าจะอาละวาดต่อก็ได้ แต่นั่นจะทำให้ลูกอดเล่นนะ
การทำเช่นนี้ลูกจะได้เรียนรู้การแบ่งปัน รู้จักการรอคอย และรู้ว่าบางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นของของเค้าคนเดียว
ที่มา https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=472