"เข้าใจพัฒนาการลูก ช่วยฝึกเรื่องขับถ่าย"
เรื่องการขับถ่ายของลูกน้อย ไม่ว่าจะอึ จะฉี่ อาจจะดูเป็นเรื่องพื้น ๆ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจถึงพัฒนาการ การขับถ่ายของลูก เพื่อการส่งเสริมพฤติกรรมการขับถ่ายของลูกให้ถูกต้องต่อไปค่ะ
1-3 ปี ได้เวลาหนูฝึกนั่งกระโถนแล้วนะ
ช่วงวัยนี้ลูกเริ่มเปิดรับโลกรอบตัว และพร้อมที่จะออกไปผจญโลกกว้าง ความสามารถการควบคุมการขับถ่ายได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญในการเปิดประสบการณ์ใหม่นี้ ให้แก่ลูกค่ะ
เมื่อเข้าสู่วัยประมาณ 1 ขวบครึ่ง - 2 ขวบ พัฒนาการระบบกล้ามเนื้อหูรูด ที่ควบคุมการขับถ่ายของลูกเริ่มทำงานได้ดีขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้จาก
เริ่มมีความเข้าใจในเรื่องขับถ่าย มีความสนใจเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ไปเข้าห้องน้ำ มีคำถามว่าเข้าไปทำไม เข้าไปทำอะไร
รู้ตัวว่าปล่อยอะไรลงไปในผ้าอ้อม และรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว อาจจะบอกให้พ่อแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ได้
บอกได้ถึงความต้องการว่า หนูปวดอึ ปวดฉี่ หรือบางทีบอกไม่ทัน แต่บอกได้ว่าอึหรือฉี่แล้ว
ตื่นขึ้นมาโดยไม่ฉี่รดที่นอนในตอนเช้า หรือหลังจากนอนตอนกลางวัน หรือว่าไม่ฉี่ได้นานขึ้นในขณะที่ยังตื่น แสดงถึงว่าเริ่มควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้แล้วค่ะ
ถ้าตื่นมาผ้าอ้อมแห้งสัก 3-4 วัน ก็อาจลองฝึกไม่ใส่ผ้าอ้อมให้ลูกตอนกลางคืน แต่ให้ใช้ผ้ายางปูกันไว้ก่อน เตรียมกระโถนไว้ จะได้สะดวกเมื่อลูกจะฉี่ แต่เด็กต่ำกว่า 4 ขวบ ส่วนใหญ่ยังคงควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดไม่ได้เต็มร้อย เพราะฉะนั้นอย่ากังวลไปนะคะ ถ้าทุกเช้าที่นอนชุ่มไปหมด
การควบคุมการขับถ่ายของลูกยังอยู่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ถือเป็นวัยทองในการฝึกลูกเรื่องการขับถ่าย แต่อย่าเพิ่งใจร้อนเร่งรัดลูกจนเกินไปนะคะ เพราะเราไม่สามารถเร่งกล้ามเนื้อส่วนที่ควบคุมระบบขับถ่ายของลูกได้ แถมลูกชายและลูกสาวยังมีความแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมีเทคนิคการฝึกควบคุมระบบขับถ่ายแบบเฉพาะเพศด้วย
3-6 ปี หนูไปห้องน้ำเองได้
ถึงวัยที่เจ้าตัวเล็กจะออกจากบ้านไปโรงเรียนแล้วค่ะ การควบคุมการขับถ่ายของเขาก็จะดีขึ้น สามารถกลั้นอึกลั้นฉี่ได้นาน พอที่จะรอให้หาห้องน้ำได้ บอกความต้องการที่จะไปห้องน้ำ และสามารถเข้าห้องน้ำเองได้ ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่มีการเตรียมพร้อมฝึกเรื่องการขับถ่ายมาแล้ว ก็ไม่น่าเป็นห่วงค่ะ
แต่ก็อย่าลืมทำใจเผื่อไว้ด้วยนะคะ เพราะการฝึกขับถ่ายของเด็กแต่ละคน อาจได้ผลไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเด็ก ว่าพร้อมมากน้อยแค่ไหนด้วย แต่ถ้าลูกจะเกิดอุบัติเหตุกลั้นฉี่และอึไม่ได้บ้างเป็นบางครั้ง คุณแม่ไม่ควรหงุดหงิด หรือฉุนเฉียวกับลูกนะคะ
โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กมักจะไม่ฉี่รดที่นอนหลังอายุ 4 ขวบ แต่ก็ยังมี 10% ที่ฉี่รดที่นอนอยู่บ้าง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ปัญหาทางจิตใจ หลับลึก พันธุกรรม หรือระบบควบคุมการขับถ่ายทำงานล่าช้ากว่าปกติ โดยตัวกระตุ้น ก็น่าจะเป็นจากหลายสาเหตุรวมกันมากกว่าแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างเช่น ถ้าลูกไม่ทำเปียกมาได้พักใหญ่ ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน แล้วมาเริ่มทำอีกนั้น ก็อาจเกี่ยวพันกับปัญหาทางอารมณ์ของลูก เช่น คุณแม่กำลังจะมีน้องใหม่ หรือย้ายบ้านใหม่ เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรจะต้องสังเกตพฤติกรรม และอารมณ์ของเจ้าหนูด้วย
แต่หากลูกอายุ 4-6 ขวบขึ้นไป ยังฉี่รดที่นอนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันมานาน 3 เดือน ก็ควรพาไปหาคุณหมอ เพื่อตรวจทางเดินปัสสาวะให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีโรคอื่นแฝงอยู่
จากนั้นเริ่มบันทึกว่าลูกไม่ฉี่รดที่นอนบ่อยแค่ไหน โดยจดบันทึกหรือติดสติ๊กเกอร์ชมเชยในปฏิทิน แล้วมีรางวัลให้เจ้าตัวเล็กสักนิดหน่อย พอให้ลูกมีกำลังใจ ควบคู่ไปกับการฝึกควบคุมระบบขับถ่ายค่ะ
คุณแม่อาจใช้เวลาเป็นเดือน ๆ กว่าลูกจะคุมให้แห้งสนิทจริง ๆ ถ้าลูกยังควบคุมไม่ได้ คงต้องกลับไปพบคุณหมออีกครั้ง เพื่อรักษาด้วยยาแล้วล่ะค่ะ
ทีนี้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจพฤติกรรมการขับถ่ายของลูกน้อยแล้ว จะได้ปรับพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยให้คุ้นเคยกับการใช้กระโถน และการเข้าห้องน้ำต่อไปได้อย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ
Mom’s Experience ฝึกลูกนั่งกระโถนอย่างไรดี
จับลูกฝึกนั่งตอนประมาณ 1 ขวบ พาไปเลือกกระโถนเองเลย ทุกครั้งที่ตื่นนอน ก็จับให้นั่งกระโถน แล้วช่วยเบ่ง จะเบ่งอึหรือเบ่งฉี่ก็ทำได้เลย แต่ถ้าวันไหนไม่ออกตอนเช้า พอตอนสายก็อาจลองให้นั่งกระโถนอีกที ก็จะถ่ายเองค่ะ
ที่มา https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=325