วินัยสร้างได้แต่แบเบาะ


757 ผู้ชม


"วินัยสร้างได้แต่แบเบาะ"

    เด็กดีต้องมีวินัย เป็นคำพูดที่เราคุ้นหูมาตั้งแต่เด็ก เกิดจากความต้องการ ของผู้ใหญ่ที่อยากจะเห็นเด็กๆ ว่านอนสอนง่าย เชื่อฟัง อยู่ในกฎระเบียบ

บางคนที่เติบโตมากับผู้ใหญ่เคร่งวินัยเข็ดขยาดกับวิธีฝึกวินัยของผู้ใหญ่สมัยตัวเองเป็นเด็ก เพราะฝึกกันด้วยไม้เรียว การลงโทษ ถึงกับหลั่งน้ำตามาตั้งแต่เล็กจนโต จนกลายเป็นอริกับคำว่า "วินัย" ไป จนตาย และเมื่อได้ยินคำว่า"วินัย"ทีไร อดนึกถึงภาพเด็กนักเรียนนั่งตัวตรงเงียบกริบโดยมีคุณครูหน้าเข้มถือไม้เรียวคุมอยู่ไม่ได้ หรือไม่ก็การฝึกแถวทหารเป็นระเบียบพร้อมเพรียง 
ภาพของการรับรู้เรื่องวินัยแบบนี้ล่ะค่ะ ที่ทำให้เราเข้าใจไขว้เขว คิดว่าเรื่อง ของการฝึกวินัยต้องใช้การบังคับควบคุมอย่างเข้มงวด การลงโทษเป็นเครื่องมือฝึก และ เข้าใจอีกว่าไม่จำเป็นต้องรีบฝึกกันแต่เล็ก เพราะเด็กยังไม่รู้ประสา ยังฝึกกันไม่ได้ รอให้เข้าโรงเรียนแล้วที่โรงเรียนจะฝึกให้เองแหละ 
ความคิดอย่างนี้ล่ะค่ะ ครูจึงต้องถือไม้เรียวกำกับควบคุมเด็กอยู่ตลอดเวลา ครูคล้อยหลังเมื่อไรเด็กเจี๊ยวจ๊าวกันทันที ทีนี้พอหักไม้เรียวครูเสียแล้ว ครูเลยกังวลว่าเด็กจะไม่มีวินัยอย่างที่เป็นข่าวไงล่ะค่ะ 
เรามองข้ามความมีวินัยในตนเอง แบบที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องบอกต้องว่า เด็กก็รู้ว่า เวลาไหนควรทำอะไร อยู่ที่ไหนควรทำตัวอย่างไร เคยเห็นใช่ไหมคะเวลาเราไปร้านอาหาร เด็กเล็กบางคน(โดยเฉพาะเด็กฝรั่ง)นั่งกินอาหารร่วมโต๊ะกับพ่อแม่ได้อย่างเรียบร้อย แต่เด็กไทยส่วนใหญ่พ่อแม่จะปล่อยให้วิ่งเล่นเจี๊ยวจ๊าว มีผู้ใหญ่คอยเดินตามป้อนเหมือนอยู่บ้าน ซ้ำบางทียังไม่สนใจจด้วยว่าลูกจะไปรบกวนใครหรือเปล่า 
หรือยกตัวอย่างเด็กเล็กในวัยไม่เต็มขวบดี บางคนน่ารักจังเลย เลี้ยงง่ายเลี้ยงดาย รู้อยู่อยู่นอน กินนอนเป็นเวลา ไม่อ้อนไม่กวน ถ้าร้องไห้ปลอบโยนพักเดียวก็เอิ๊กอ๊าก หิวนมก็รอได้ แบบนี้หลายคนอาจจะเถียงว่า "ก็เขาเกิดมาเป็นเด็กเลี้ยงง่ายน่ะสิ ชั้นโชค ร้ายมีลูกเลี้ยงยากเลี้ยงเย็น" แต่ถ้าสืบสาวรายละเอียดในการเลี้ยงดูแล้วจะพบว่า เด็ก เลี้ยงง่ายส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกวินัยมาพอสมควร และหากได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่อง เด็กก็จะเติบโตเป็นคนมีวินัยในตนเองอย่างแน่นอน 
การฝึกวินัยที่ได้ผลดีจึงไม่ควรรอให้ถึงอนุบาล อาจสายเกินไปหรือยากลำบากที่ จะฝึกลูกในเรื่องอื่นๆ ต่อไป เรามาเริ่มปูพื้นฐานเสียตั้งแต่แบเบาะเลยเป็นไงคะ 

เล็กอย่างนี้ฝึกได้แน่หรือ 
การฝึกวินัยเด็กวัยแบเบาะอาจจะยังไม่ใช่เรื่องของการฝึกให้ลูกเชื่อฟัง แต่แน่นอนว่าลูกวัยนี้สามารถเรียนรู้ได้แล้ว เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเด็กวัยขวบแรก - 2 ขวบเรียนรู้เรื่องอะไรอย่างไร 
1. เด็กเรียนรู้เรื่องเหตุและผลจากการเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาจากสิ่งที่ทำ อย่างเช่น เด็กเอาของเล่นในมือกระทบกันเกิดเสียงดัง หรือโยนของเล่นเพื่อดูว่ามันจะเป็นยังไง เขย่าของเล่นแล้วมีเสียง 
2.เด็กเรียนรู้ที่จะเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งแวดล้อม จากการเลี้ยงดู การตอบสนองของพ่อแม่ เช่น หิวก็มีคนมาให้นมให้อาหาร ง่วงแม่ก็พาเข้านอนไม่ปล่อยให้ลูกง่วงจนงอแง ไม่สบายกายสบายใจก็มีคนคอยปลอบโยน 
3. เด็กเรียนรู้กฎเกณฑ์ต่างๆ อะไรที่คนเขาพอใจ ไม่พอใจ ทำอะไรได้แค่ไหน อย่างไร จากปฎิกิริยาของพ่อแม่ คนรอบข้าง 
การฝึกวินัยเด็กวัยแบเบาะมีพื้นฐานมาจากการเรียนรู้ของเด็กในข้อที่ 3 นี่เองค่ะ โดยเมื่อไรก็ตามที่ลูกเกิดการเรียนรู้ข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว คือเริ่มเรียนรู้เรื่องเหตุและผล เกิดความเชื่อมั่นในสิ่งแวดล้อมแล้ว แสดงว่าลูกพร้อมที่จะฝึกวินัยแล้วค่ะ 
โดยพื้นฐานแล้ว เด็กเกิดมาต้องการการกระตุ้น การป้อนข้อมูลให้ ต้องการระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิต ต้องการรู้ว่าอะไรที่พ่อแม่ยอมรับได้ ยอมรับไม่ได้ พูด ง่ายๆ ว่าวินัยของลูกต้องเริ่มที่วินัยของพ่อแม่ก่อนค่ะ พ่อแม่ที่มีระบียบวินัย มีวิถีชีวิตที่มีแบบ แผน ลูกก็จะได้รับสิ่งนี้ด้วยตั้งแต่แบเบาะ อย่างเช่น กิน นอน อาบน้ำ มีกิจวัตรประจำวัน เป็นเวลาแน่นอนทุกวัน นอกจากทำให้ลูกวัยนี้มั่นใจในสิ่งแวดล้อมแล้ว วินัยจากการมีชีวิตที่ เป็นแบบแผนก็จะเกิดตามมา รวมทั้งการเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆ 
การตั้งกฏเกณฑ์สำหรับลูกน้อยนั้น ดร.บราเซลตัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการ เด็กบอกว่า ถ้าพ่อแม่สังเกตให้ดีก็จะเห็นว่านับตั้งแต่ลูกเริ่มคลาน แกจะคลานออกไปสำรวจ สิ่งต่างๆ ในขณะเดียวกันก็จะคอยดูด้วยว่าคุณคอยดูแกอยู่ เป็นเวลาที่แกเริ่มสามารถเรียนรู้ ว่าอะไรทำได้อะไรไม่ได้ ถ้าคุณเห็นว่าสิ่งที่ลูกกำลังทำจะนำไปสู่อันตราย คุณก็ควรห้าม ลูกจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ทำไม่ได้ หลักการตั้งกฏเกณฑ์ที่พ่อแม่ควรคำนึงถึงก็เพื่อความปลอดภัยของตัวลูกและเพื่อวางแบบแผนชีวิตให้ลูก โดยสุขภาพและความปลอดภัยน่าจะเป็นจุดมุ่งหมายแรก อย่างเช่นลูกควรได้รับการฝึกให้นอนเป็นเวลา เพื่อจะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ 
ฝึกหนูกินนอนให้เป็นเวลา 
อย่างที่บอกแล้วว่าการวางแผนชีวิตประจำวันให้ลูกจะช่วยให้ลูกมีชีวิตที่มีแบบแผนจนเกิดวินัยในตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องจัดตารางเวลาให้นมลูกทุกๆ 4 ชั่วโมงเป๊ะตามตำรา ในช่วง 3 เดือนแรก ลูกยังมีเวลากินนอนไม่เป็นเวลาแน่นอน พ่อแม่ควรใช้เวลาช่วงนี้สังเกตเรียนรู้ ทำความรู้จักลูก เมื่อไหร่ลูกจะหิวจะง่วง แล้วค่อยพยายามปรับให้ลูกกินนอนเป็นเวลา โดยปฏิบัติตามตารางชีวิตประจำวันของลูก เช่นพอลูกตื่น อาจจะให้นมหรือน้ำส้ม แล้วอาบน้ำให้ลูก เสร็จแล้วจึงให้อาหารเสริม หลังจากนั้นสักพัก อาจจะนอน ฯลฯ ถ้าพ่อแม่ปฏิบัติเลี้ยงดูลูกตามตารางอย่างนี้ทุกวัน ในที่สุดลูกก็จะสามารถมี ชีวิตที่เป็นแบบแผนสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะลงตัวเมื่อลูกเข้าสู่วัย 6 เดือน 
ต่อจากนั้นคุณควรค่อยๆปรับเวลาตื่นและเวลาเข้านอนของลูกให้เป็นไปตามที่คุณต้องการ เช่นตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า เข้านอน 2 ทุ่ม โดยปลุกลูกตอน 6 โมงเช้า และพอสองทุ่มก็เอาลูกเข้านอน ใหม่ๆลูกอาจไม่ยอมหลับ แต่ถ้าคุณพยายามพาลูกไปนอนบนที่นอนในเวลานี้ทุกวัน ก็จะฝึกลูกให้นอนได้เองในที่สุด 
ส่วนในเรื่องการกิน นอกจากจะฝึกให้ลูกกินเป็นเวลาแล้ว ในวัยนี้ยังสามารถฝึก ให้ลูกกินแบบเด็กโตหรือผู้ใหญ่ด้วย ในวัยตั้งแต่ 8 เดือนคุณสามารถให้ลูกนั่งร่วมโต๊ะอาหาร กับผู้ใหญ่ โดยอาจจะหาเก้าอี้นั่งกินข้าวสำหรับเด็กมาให้ลูกนั่ง เริ่มให้ลูกฝึกกินด้วยตัวเอง ฝึกดื่มน้ำและนมจากแก้ว 
การวางแบบแผนชีวิตประจำวันอย่างนี้ล่ะค่ะเป็นการฝึกให้ลูกมีวินัยในการกิน การนอน ซึ่งถ้าไม่วางพื้นฐานที่ดีเสียแต่วัยนี้ อีกหน่อยคุณต้องรบกับเจ้าตัวเล็กในเรื่องกิน เรื่องนอนแน่ๆค่ะ
ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=133

อัพเดทล่าสุด