ลูกแม่แต่ละสัปดาห์


698 ผู้ชม


"ลูกแม่แต่ละสัปดาห์"

    ลูกแม่แต่ละสัปดาห์...ขนาดเท่าอะไรบ้างนะ (Pregnancy & BABY)

 สัปดาห์ที่ 4 ลูกคุณจะมีขนาดเท่าเมล็ดงา
          ความยาวของตัวอ่อนในช่วงสัปดาห์ที่ 4 จะยาวเพียง ¼ นิ้วเท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย เนื้อเยื่อ 3 ชนิด โดยชนิดแรกจะเจริญต่อไปเป็น ผม เล็บ หูส่วนใน เลนส์ตา เป็นต้น ชนิดที่สองจะพัฒนาเป็นระบบประสาท จอตา ต่อมใต้สมอง กระดูก กล้ามเนื้อ เซลล์เลือด เซลล์น้ำเหลืองชนิดที่สามจะพัฒนาไปเป็นปอด หลอดลม ระบบทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
 สัปดาห์ที่ 5 ลูกมีขนาดเท่าเมล็ดแอ๊ปเปิ้ล
          ลูกน้อยสร้างหัวใจครบ 4 ห้อง และหัวใจเริ่มทำงาน เริ่มสร้างเพดานปาก ตัวอ่อนในครรภ์ เริ่มมีขนาดเหมือนลูกอ๊อด อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ไต ตับกระเพาะอาหารเริ่มทำงานได้แล้ว
 สัปดาห์ที่ 6 ลูกมีขนาดเท่าถั่วลันเตา
          สัปดาห์นี้ตัวอ่อนมีขนาดเท่ากับเล็บนิ้วก้อย ถ้าทำการอัลตร้าซาวด์ ก็จะเห็นรูปทรงของหัวกับรอยโค้งของกระดูกสันหลังได้ชัดเจน เริ่มมีหนังตา หู มือ และเท้า ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น หัวใจเต้นประมาณ 180 ครั้งต่อนาที
 สัปดาห์ที่ 7 ลูกมีขนาดเท่าบลูเบอร์รี่
          ตัวอ่อนมีความยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร ระบบประสาทพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการสร้างรูจมูก ริมฝีปาก ลิ้น และฟัน เริ่มมีการฟอร์มตัวในส่วนของมือ และแขน เริ่มสร้างตับ ปอด ไต และมีการพัฒนาลำไส้ใหญ่ ตัวอ่อนเริ่มเคลื่อนไหวได้ (ตรวจได้จากทางอัลตร้าซาวด์)
 สัปดาห์ที่ 8 ลูกมีขนาดเท่าราสเบอร์รี่
          ในสัปดาห์นี้ ลูกในท้องคุณแม่จะเปลี่ยนจากสถานะตัวอ่อน มาเป็นทารกในครรภ์ แขนขายาวขึ้น ปลายของแขนขาก็มีร่องเล็ก ๆ ที่จะกลายเป็นมือและเท้าเล็ก ๆ ต่อไป มีขนาดตัวยาว ประมาณ 2.5 เซนติเมตร (1 นิ้ว) สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เริ่มสร้างสายสะดือ หูชั้นกลาง
 สัปดาห์ที่ 9 ลูกมีขนาดเท่ามะกอก
          สัปดาห์นี้รกมีความยาว 3-4 เซนติเมตร สามารถเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เห็นปากกับจมูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหารพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว สมองมีขนาดใหญ่ขึ้น
 สัปดาห์ที่ 10 ลูกมีขนาดเท่าลูกพรุน
          ลักษณะใบหูส่วนนอกติดกับศีรษะชัดเจนขึ้น สมองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มเห็นนิ้วมือนิ้วเท้าชัดเจนขึ้น แต่ยังคงยืดติดกันอยู่ มองโดยรวมจะเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายคนมากยิ่งขึ้น ในสัปดาห์นี้ ลูกน้อยมีความยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 5 กรัม
 สัปดาห์ที่ 11 ลูกมีขาดเท่ามะนาวลูกใหญ่
          เมื่อเข้าสู่สัปดาห์นี้ ตับเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ไตก็เริ่มทำงานเช่นกัน มองเห็นเค้าโครงใบหน้าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขนาดของศีรษะยังใหญ่กว่าส่วนอื่นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของสมอง หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ลูกในท้องมีความยาว 5.5 เซนติเมตร หนัก 10 กรัม
 สัปดาห์ที่ 12 ลูกมีขนาดเท่าลูกพลัม
          ลูกในท้องมีอวัยวะครบหมดทุกส่วนแล้ว หัวใจลูกน้อยจะเต้นประมาณ 110-160 ครั้งต่อนาที และหน้าอกเริ่มขยับขึ้นลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการรองรับระบบการหายใจต่อไป และกำลังสร้างอวัยวะเพศภายใน ทารกยาว 6.5 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 กรัม
 สัปดาห์ที่ 13 ลูกมีขนาดเท่าลูกพีช
          กระดูกค่อย ๆ เจริญเติบโต ขากรรไกรมีเหง้าฟันครบ 32 เหง้าเริ่มดูดปาก กลืนน้ำคร่ำ และปล่อยเป็นปัสสาวะออกมา เล็บและผมยาวขึ้น รกเป็นแหล่งอาหารและออกซิเจนของทารก ทารกยาว 7.5 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 30 กรัม
 สัปดาห์ที่ 14 ลูกมีขนาดเท่าเลม่อน
          รูปร่างหน้าตาเหมือนคนมากขึ้น มีคางหน้าผาก และจมูกชัดเจนขึ้น สามารถหันศีรษะและทำหน้าผากย่นได้ รับรู้ต่อสิ่งเร้าอย่างเสียงและแสง ตอบสนองต่อการสัมผัสได้ แขนขาเห็นเป็นรูปร่างชัดเจน ไตเริ่มทำงาน มีการขับถ่ายปัสสาวะออกมา เนื่องจากการกลืนน้ำคร่ำของทารก ยาว 9 เซนติเมตร น้ำหนัก 60 กรัม
 สัปดาห์ที่ 15 ลูกมีขนาดเท่าส้มลูกใหญ่
          โครงกระดูกพัฒนาเร็วขึ้น แต่ยังคงเป็นกระดูกอ่อนอยู่ และจะพัฒนาเป็นกระดูกแข็งต่อไป ส่วนขายาวกว่าส่วนแขน ผมหนาขึ้น เริ่มมีขนตาและคิ้ว สามารถได้ยินเสียงในท้อง เช่น เสียงท้องร้อง เสียงหัวใจแม่ ทารกยาว 12 เซนติเมตร น้ำหนัก 100 กรัม
 สัปดาห์ที่ 16 ลูกมีขนาดเท่าอะโวคาโด้
          ทารกเริ่มเคลื่อนไหวไปรอบ ๆ ท้องน้อยมากขึ้น จนบางครั้งคุณอาจจะรู้สึกได้ ทารกมีขนอ่อนขึ้นตามร่างกาย ระบบประสาทกำลังสร้างปลอกหุ้มรอบเส้นใยประสาท ซึ่งช่วยให้ระบบประสาททำงานเชื่อมต่อกันเร็วขึ้น ทารกยาว 16 เซนติเมตร น้ำหนัก 135 กรัม
 สัปดาห์ที่ 17 ลูกมีขนาดเท่าหอมใหญ่
          ทารกเริ่มขมวดคิ้วได้ แขนขาสมบูรณ์มากขึ้น เริ่มมีผิวหนังและกล้ามเนื้อ ทารกกำลังพัฒนาระบบรับรส สามารถแยกรสชาติน้ำคร่ำได้ ทารกยาว 18 เซนติเมตร น้ำหนัก 185 กรัม
 สัปดาห์ที่ 18 ลูกมีขนาดเท่ามันเทศ
          ลูกดูดหัวแม่มือได้แล้ว ลูกน้อยกำลังฝึกหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอด และหายใจออก โดยการปล่อยน้ำคร่ำออกมา ผิวหนังยังย่น ๆ อยู่ เพราะยังไม่มีการสร้างไขมันใต้ผิวหนัง ทารกยาว 21 เซนติเมตร น้ำหนัก 235 กรัม
 สัปดาห์ที่ 19 ลูกมีขนาดเท่ามะม่วง
          ในสัปดาห์นี้ทารกทำน้ำหนักเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว เซลล์สมองยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ประสาทไขสันหลังเริ่มหนาตัวขึ้น ทารกยาว 23 เซนติเมตร น้ำหนัก 285 กรัม
 สัปดาห์ 20 ลูกมีขนาดเท่าแคนตาลูป
          ช่วงนี้ลูกในครรภ์จะเจริญเติบโตช้าลง แต่ไปเร่งให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายพัฒนาอย่างเต็มที่แทน เริ่มสร้างไขมันเพื่อปกป้องผิวจากน้ำคร่ำ ทารกยาว 25.5 เซนติเมตร น้ำหนัก 340 กรัม
 สัปดาห์ที่ 21 ลูกยาวเท่ากล้วยหอม
          ช่วงนี้ลูกน้อยดิ้นมากขึ้น รู้สึกได้ว่าลูกน้อยเตะหน้าท้องเบา ๆ อยู่บ่อย ๆ ทารกเริ่มมีการสร้างปุ่มรับรส รับรู้รสของน้ำคร่ำว่าหวานหรือขมได้แล้ว ทารกจะดื่มน้ำคร่ำในปริมาณเพิ่มขึ้น และปัสสาวะมากขึ้น ทารกยาว 28 เซนติเมตร น้ำหนัก 390 กรัม
 สัปดาห์ที่ 22-24 ลูกมีขนาดเท่ามะละกอ
          การฟังเสียงดีขึ้น ทารกเริ่มแยกแยกเสียงได้ สามารถลืมตาได้ ผิวหนังหนาขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงโปร่งใส มองเห็นเส้นเลือดได้อยู่ คุณหมอสามารถฟัง และวัดอัตราการเต้นหัวใจของลูกน้อยในครรภ์ได้ ถุงลมในปอดพัฒนาสมบูรณ์แล้ว แต่การทำงานเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจยังไม่สมบูรณ์ การพูดคุย ร้องเพลง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ลูกน้อยในท้องจะรับรู้และได้ยินเสียงของแม่ได้ตลอด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเด็กแรกเกิดที่ร้องไห้โยเย พอได้ยินเสียงแม่หรือเสียงเพลงที่คุ้นเคย มักจะหยุดร้องเพื่อฟังเสียงนั้น ๆ เป็นไปได้ว่าลูกน้อยมักจะจำเสียงได้ และรู้สึกอบอุ่นใจกับเสียงที่ตัวเองคุ้นเคย ทารกยาว 33 เซนติเมตร น้ำหนัก 500 กรัม
 สัปดาห์ที่ 25-28 ลูกมีขนาดเท่ามะเขือม่วง
          อวัยวะต่าง ๆ พองตัวขึ้นครบสมบูรณ์แล้ว ระบบภายในต่าง ๆ ก็เริ่มทำงาน แต่ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 150 ครั้งต่อนาที ทารกยาว 37 เซนติเมตร น้ำหนัก 900 กรัม
 สัปดาห์ที่ 29-32 ลูกมีขนาดเท่าฟักทองน้ำเต้า
          คุณแม่อาจจะรู้สึกลูกเคลื่อนไหวช้าลงหรือน้อยลงไปมาก เพราะลูกในครรภ์ตัวโตขึ้น ขณะที่พื้นที่ในท้องมีจำกัด แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะจริง ๆ แล้วลูกน้อยของคุณกำลังอยู่อย่างอุ่นสบาย และมีความสุขในท้องคุณแม่เหมือนเดิม ยิ่งบางครั้งถ้าลูกน้อยขยับแขนขา หรือพลิกตัวแรง ๆ คุณแม่ยังสามารถจับความรู้สึกได้ว่า เป็นอวัยวะส่วนใดของลูกที่ดันหน้าท้องคุณแม่ออกมาด้วย จริงไหมค่ะ ทารกยาว 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 1,400 กรัม
 สัปดาห์ที่ 33-36 ลูกมีขนาดเท่า Honeydew
          มีไขมันสะสมใต้ผิวหนังมากขึ้น ลำไส้กำลังผลิตขี้เทา (เป็นสิ่งที่เกิดจากเซลล์ที่ตายแล้ว และสารคัดหลั่งจากลำไส้และตับ) ระบบประสาทพร้อมจะสั่งการหลังจากคลอด ทั้งเรื่องการดูดกลืน การหาว ทารกยาว 46 เซนติเมตร น้ำหนัก 2,500 กรัม
 สัปดาห์ที่ 37-40 ลูกมีขนาดเท่าแตงโม
          ทารกกำลังฝึกหายใจ เพื่อจะได้ออกมาหายใจภายนอก แต่เป็นการหายใจที่อยู่ในน้ำคร่ำอยู่ ส่วนใหญ่ทารกจะกลับหัวลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกรานแล้ว ในช่วงนี้ ผิวหนังของลูกเป็นสีชมพูดีแล้ว ผมยาวประมาณ 5 เซนติเมตร เล็บงอกยาวขึ้น ไขมันที่หุ้มตัวเริ่มลอกออกไปบ้าง ทารกอาจจะคลอดออกมาในช่วงนี้ก็ได้ ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดทารกยาว 50 เซนติเมตร น้ำหนัก 3,000 กรัม
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=506

อัพเดทล่าสุด