หยุด..โรคเอ๋อ !!


754 ผู้ชม


"หยุด..โรคเอ๋อ !!"

    ขึ้นชื่อว่าโรคแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคไหน หนักหรือเบาอย่างไร คนเป็นพ่อแม่คงไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับลูกทั้งนั้น โดยเฉพาะถ้าโรคถ้านั้นมีผลสติปัญญาของลูก

รู้จักโรคเอ๋อ!

โรคเอ๋อหรือภาวะปัญญาอ่อน เกิดจากการที่ร่างกายขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นสารสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ หรือที่เรียกว่าไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งไทรอยด์ฮอร์โมนนี้จะเข้าสู่กระแสเลือดทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ดำเนินไปตามปกติ และกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและพัฒนาการ โดยเฉพาะระบบสมองและประสาท

ทั้งยังมีผลต่อการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อ การเปลี่ยนแปลงและเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมัน เพราะฉะนั้นหากร่างกายของเราได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ จะมีผลทำให้การสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกายเกิดปัญหา เกิดการเสียสมดุลในการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ มีผลต่อ IQ สติติปัญญาของเด็กค่ะ

 

โรคเอ๋อ...เกิดจากอะไร?

สาเหตุใหญ่และพบมากในประเทศไทย คือ การที่ร่างกายของแม่มีภาวะขาดสารไอโอดีนระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่คลอดออกมาจะมีภาวะไทรอยด์ต่ำตั้งแต่แรกเกิด ยิ่งแม่มีอาการขาดไอโอดีนขั้นรุนแรงอาจทำให้ลูกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือพิการแต่กำเนิดได้

แม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดสารอาหารไอโอดีนทั้งในอาหารและน้ำดื่ม เช่น อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารหรือบางจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือ จะพบว่ามีปัญหาโรคนี้กันมากค่ะ

 

การสร้างไทรอยด์ออร์โมนผิดปกติในตัวเด็กเอง โดยทารกเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน เช่นเกิดมาโดยไม่มีต่อมไทรอยด์มาด้วย หรือถ้ามีก็อยู่ผิดที่และไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ แต่ทารกที่คลอดออกมานั้น ในระยะแรกจะไม่สามารถดูออกว่ามีปัญหานี้ เนื่องจากตอนที่ทารกอยู่ในครรภ์ จะได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากแม่มาช่วยในการเจริญเติบโต แต่หลังคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนก็จะปรากฏขึ้น

 

ทารกจะมีอาการ เซื่องซึม เอาแต่นอน ไม่ค่อยกิน ท้องผูก ท้องอืด สะดือจุ่น มีภาวะตัวเหลืองหลังคลอดนานกว่าปกติ ไม่ค่อยร้องกวน ทำให้พ่อแม่คิดว่า ลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย นอกจากนี้เด็กจะร้องเสียงแหบ ดูลิ้นใหญ่จุกปาก ผิวแห้งเย็น เติบโตช้า มีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์อายุในทุกๆ ด้าน เช่น เด็กอายุ 3 เดือน ควรจะชันคอได้ดีแล้ว แต่เด็กที่มีปัญหาโรคเอ๋อคอจะไม่แข็ง ไม่สามารถยกศีรษะให้ตั้งอยู่ได้นาน

 

เกิดจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนภายหลัง เช่น มีการติดเชื้อของต่อมไทรอยด์ หรือการที่เด็กได้รับยาบางชนิดที่รบกวนต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยลง จนทำให้เกิดโรคเอ๋อได้

 

โดยช่วงแรกเกิดเด็กจะดูปกติ มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนก็จะมีอัตราการเจริญเติบโตค่อยๆ ช้าลง และเริ่มมีอาการของโรคเอ๋อให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยตัวเตี้ย มีอาการเฉื่อยชาและการเติบโตของกระดูกช้าผิดปกติ

 

ทำอย่างไรให้ไกลโรคเอ๋อ

เนื่องจากสาเหตุหลักของการเกิดโรคเอ๋อในเด็กทารก เกิดจากการขาดสารไอโอดีนของแม่ วิธีป้องกันคือการบริโภคอาหารที่มีสารไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรืออาหารที่ปรุงด้วยเกลือที่มีสารไอโอดีนครบ

การคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะป้องกันโรคเอ๋อได้ ซึ่งการคัดกรองนี้จะทำเมื่อเด็กมีอายุครบ 3-5 วัน โดยเจาะเลือดที่ส้นเท้าของเด็กและหยดลงในกระดาษซับ ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นส่งผลเลือดไปตรวจ วิธีนี้พ่อแม่สามารถรู้ผลได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยดูจากค่า TSH (Thyroid Stimulating Hormones) หากค่า TSH เกิน 25 แสดงว่าเด็กมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคเอ๋อ

ด้วยเหตุนนี้ กรมอนามัยจึงมี โครงการการคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กทารกเป็นโรคเอ๋อ ด้วยการตรวจเด็กเกิดใหม่ทุกคน

โดยเด็กจะต้องได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเกิด - 1 เดือน ถึงจะรักษาระดับไอคิวได้ดี 100 % แต่ถ้ารักษาในช่วง 1 -3 เดือน แม้เด็กจะสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ไอคิวไม่สามารถรักษาหรือเรียกคืนในส่วนที่เสียไปได้ และถ้าหลังจาก 3 เดือนไปแล้วโอกาสที่เด็กเป็นปัญญาอ่อนหรือมีความพิการทางประสาทจะสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ค่ะ

เพราะในวัย 0-3 ขวบ จะเป็นช่วงที่สมองของเด็กเจริญเติบโตเร็วที่สุด ถ้าขาดธัยรอยด์ฮอร์โมนในวัยนี้ ไอคิวของเด็กก็จะเสียไปในทุกวินาที

 

วิธีการรักษา

แพทย์จะให้ยาแอลไทร็อกซิน ซึ่งจะเข้าไปทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมนที่ร่างกายเด็กสร้างเองไม่ได้ จากนั้นจะตรวจพัฒนาการ และเจาะเลือดเพื่อวัดค่า TSH เป็นระยะ เมื่อเด็กอายุ 2 ขวบครึ่ง แพทย์จะทดสอบโดยหยุดให้ยาเป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อดูว่าร่างกายสามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้เองหรือไม่ ถ้าได้ก็ค่อยๆ ลดและหยุดยาในที่สุด แต่ถ้าไม่ได้หรือไม่มีต่อมไทรอยด์ก็จำเป็นต้องกินยาทุกวันไปตลอดชีวิต แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ เพราะถึงแม้ว่าต้องกินยาตลอดชีวิตแต่ในเรื่องของการเจริญเติบโตทางร่างกาย ความคิดและสติปัญญานั้นจะเป็นปกติค่ะ

 

แม้ปัจจุบันภาวะการเกิดโรคเอ๋อจะลดลงเพราะได้มีการรณรงค์และป้องกันกันอย่างเต็มที่ ทั้งวิธีการรักษาและยาที่ใช้ก็มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ควรละเลยในการการดูแลหรือป้องกันลูกให้ห่างไกลจากโรคเอ๋อ ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่การเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์เลยค่ะ

 

ไอโอดีนแค่ไหนถึงจะดี

- คนปกติต้องการสารไอโอดีนประมาณวันละ 150 - 200 ไมโครกรัม

- แม่ท้องหรือแม่ที่ต้องให้นมลูกต้องการสารไอโอดีนประมาณวันละ 175 - 200 ไมโครกรัม

- เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนต้องการสารไอโอดีนประมาณวันละ 40 - 90 ไมโครกรัม

 
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=418

อัพเดทล่าสุด