"หัวใจ(รัก)...ของแม่ท้อง"
หัวใจ...เป็นอวัยวะสำคัญ นอกจากจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ยังเป็นสื่อสัญลักษณ์แทนความรักและความผูกพันของคุณแม่กับลูกน้อยด้วยค่ะ
เพราะหัวใจของแม่ท้องจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงชีวิตน้อยๆ ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นทุกวันในท้อง ดังนั้น ช่วงเวลาแห่งการรอคอยของแม่นี้ จึงจำเป็นต้องดูแลหัวใจกันเป็นพิเศษค่ะ
ช่วงท้อง...หัวใจเปลี่ยนไป
ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ธรรมชาติของร่างกายจะเตรียมพร้อมสำหรับการมีเด็กเพิ่มขึ้น 1 หรือ 2 คนอยู่ในท้องของแม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหัวใจ ดังนี้...
อัตราการเต้นของหัวใจ โดยปกติแล้ว หัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ที่ประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อตั้งครรภ์หัวใจของแม่ท้องจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 10-20นาทีเช่น จากเดิม 75 อาจจะเพิ่มเป็น 85-90 ครั้งต่อนาที เป็นต้น
ระบบไหลเวียนโลหิต การตั้งครรภ์จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งมีผลต่อหัวใจตั้งแต่ 5-8สัปดาห์ของการตั้งครรภ์และจะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในปลายไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ต่อเนื่องไปจนกระทั่งคลอด
ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่ม ขณะตั้งครรภ์ปริมาณเลือดในร่างกายของแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ลิตร จากการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วงเดือนที่ 3-6 ปริมาณเลือดจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด
ความดันโลหิตลดลง ความดันโลหิตของแม่ท้องจะลดลงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะความต้านทานของหลอดเลือดลดลงนั่นเอง
ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านหัวใจเพิ่มขึ้น ยังพบว่าปริมาณเลือดที่ไหลผ่านหัวใจ จะมีการเพิ่มปริมาณขึ้น 30-50%เมื่อเทียบกับภาวะปกติ บางครั้งอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ถึง 80%สาเหตุเพราะ ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นภาวะความต้านทานของเส้นเลือดทั่วร่างกายลดลงและหัวใจที่เต้นเร็วขึ้น
หัวใจ...ในระยะคลอด
ในช่วงเจ็บท้องและใกล้คลอดเป็นอีกเวลาหนึ่งที่หัวใจของแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยปกติแล้วการคลอดจะทำให้เสียเลือดประมาณ 400 ซีซี ถ้าเป็นการผ่าตัดคลอดก็จะอยู่ที่ประมาณ 800 ซีซี ภายหลังจากคลอดแล้วร่างกายจึงจะสร้างเลือดทดแทนส่วนที่เสียไปตามธรรมชาติ
ระยะเจ็บครรภ์และคลอด หัวใจของแม่จะเต้นเร็วขึ้นและมีการเพิ่มของปริมาณเลือดที่ไหลผ่านหัวใจมากยิ่งขึ้น เพราะมดลูกมีการหดตัวทำให้เลือดในผนังมดลูกไหลกลับเข้าหัวใจมากขึ้นรวมถึงความดันโลหิตและชีพจรที่เพิ่มขึ้นจากภาวะตื่นเต้น กังวลและความเจ็บปวดในขณะเจ็บครรภ์ ภายหลังการคลอดใหม่ๆ มดลูกจึงจะมีขนาดเล็กลงและทำให้เส้นเลือดดำไม่ถูกกดจากมดลูกจึงทำให้มีเลือดไหลกลับเข้าหัวใจมากขึ้นด้วย
หัวใจ...ต้องใส่ใจ
เหตุเพราะแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงทางหัวใจมากมาย จึงทำให้แม่ที่เป็นโรคหัวใจมีความเสี่ยงอันตรายมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามแม่ท้องที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดีอยู่แล้ว ในช่วงเวลาสำคัญแบบนี้ ก็อย่าละเลยที่จะดูแลหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอค่ะ ในกรณีของแม่บางท่านที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเกิดความผิดปกติบางอย่างกับหัวใจ อาจมีวิธีสังเกตความผิดปกติด้วยตนเอง ดังนี้...
- รู้สึกว่าตั้งครรภ์แล้วเหนื่อยง่ายกว่าปกติ อาจมีความผิดปกติของความดันและหลอดเลือดได้
- มีอาการใจสั่นบ่อยๆซึ่งอาจเป็นอาการบ่งบอกถึงโรคหัวใจ
- เท้าบวมมากขึ้นกว่าปกติ โดยไม่ใช่การบวมนิดๆ หน่อยๆ เป็นไปได้ที่แม่ท้องอาจมีอาการความดันสูง
หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเบื้องต้น และควรหมั่นไปตรวจเช็คร่างกายตามนัดอย่างสม่ำเสมอ...เพื่อสุขภาพร่างกายและหัวใจรักอันยิ่งใหญ่ของคุณแม่ค่ะ