ค่าขนมลูก...เท่าไหร่ถึงจะพอ


1,279 ผู้ชม


"ค่าขนมลูก...เท่าไหร่ถึงจะพอ"

    เมื่อถึงเวลาที่ลูกๆ ต้องไปโรงเรียน ดิฉันเชื่อว่าเป็นวันที่คุณแม่ส่วนใหญ่ตื่นเต้นที่สุด เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่ลูกเดินเข้ารั้วโรงเรียนไป

ค่าขนมลูก... เท่าไหร่ถึงจะพอ

ความหวังของผู้ที่เป็นพ่อและแม่นั้นคือ ต้องการให้เด็กๆ ได้รรับความรู้และมีพัฒนาการใหม่ๆ เช่น การเริ่มต้นอ่านเขียน มีสังคมใหม่ เรียนรู้การใช้ชีวิตที่ปราศจากการดูแลของพ่อและแม่...

 

ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่แต่ละคนจะรู้สึกอย่างไรก็ตามที่ลูกๆ อยู่ในวัยที่ต้องไปโรงเรียน และสิ่งที่ทุกคนต้องทำเหมือนกันหมดก็คือ การให้ค่าขนมลูกไปโรงเรียนในแต่ละวัน ให้เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอหรือให้เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม?

 

ก่อนอื่นต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่าเด็กๆ สมัยนี้เรียนรู้การใช้เงินกันตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว จะเห็นได้จากเด็กๆ มักจะรู้และเข้าใจว่าเงินไม่ว่าจะเป็นเหรียญบาท ห้าบาท สิบบาท หรือแบงก์ที่มีค่าเท่าไรก็ตามนั้น สามารถแลกกับขนม ไอศกรีม ของเล่น หรือสิ่งต่างๆ ที่เขาต้องการได้ แรกๆ คุณพ่อคุณแม่ก็พากันชื่นชมและภาคภูมิใจกับความฉลาดของลูกๆ แต่หลังจากนั้นดิฉันไม่แน่ใจว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร?

 

เงินในชีวิตประจำวัน (ของหนู)

 

แต่ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือทุกๆ เช้าก่อนที่จะส่งลูกให้กับคุณครูที่โรงเรียน สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำก็คือต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าขนม ทั้งๆ ที่โรงเรียนก็มีอาหารและของว่างสำหรับเด็กอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านาน (สมัยดิฉันเป็นเด็กๆ ก็ได้ค่าขนมเช่นกัน) จึงต้องจ่ายกันทุกวัน วันละเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่แต่ละคน

 

แต่ความเหมาะสมนั้นจะอยู่ที่เท่าไร? ดิฉันคงตอบเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ค่ะ เพราะบางท่านจ่ายให้กับเด็กๆ เพียง 5 บาทหรือ 10 บาทเท่านั้น เนื่องจากทราบดีว่าเด็กนั้นยังใช้เงินไม่เป็น และส่วนใหญ่ก็ไม่กังวลว่าลูกจะหิว เพราะเด็กวัยอนุบาลนั้นคุณครูมักจะใส่ใจเรื่องอาหารกลางวัน ของว่าง และเวลาพักผ่อนเป็นพิเศษอยู่แล้ว

 

คุณแม่บางคนอาจไม่ให้ค่าขนมเลยก็มี เพราะเด็กไม่เคยเรียกร้องว่าต้องการค่าขนม บางท่านก็มักจะถามคุณครูว่าเด็กๆ นำเอาค่าขนมไปซื้ออะไรบ้าง คำตอบที่ได้ก็คือ ขนมที่ไม่เป็นประโยชน์ซึ่งวางขายอยู่หน้าโรงเรียน หรือของเล่นที่ล่อตาล่อใจ บางประเภทถูกผลิตด้วยวัสดุคุณภาพต่ำและเป็นภัยต่อเด็กเล็ก

 

เจาะข้อมูลลูกน้อยใช้เงิน

 

ดังนั้นการให้เงินค่าขนมลูกไปโรงเรียนทุกเช้านั้น คุณควรจะต้องมีการเก็บข้อมูลเรื่องการใช้เงินของเด็กๆ ด้วย อย่าคิดว่ามีเงินจ่ายก็จ่าย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ร่ำรวยบางท่านก็อาจจ่ายเงินลูกจำนวนมากทั้งๆ ที่เด็กอยู่ในวัยที่ใช้เงินยังไม่เป็นเลย ดิฉันคิดว่านั่นจะเป็นการฝึกให้ลูกเป็นคนฟุ่มเฟือยตั้งแต่เยาว์วัย

 

อีกอย่างหนึ่งที่อยากฝากให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายได้คิดกันสักนิดก็คือ โรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่นั้นไม่มีร้านขายขนมภายในโรงเรียน เพราะทางโรงเรียนได้จัดเตรียมอาหารไว้ให้เด็กๆ แล้ว แต่สถานที่ๆ ที่เด็กจะใช้เงินก็มักจะเป็นร้านละแวกโรงเรียน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมเรื่องคุณภาพจากทางโรงเรียนจึงอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามการจ่ายค่าขนมให้กับลูกนั้น ดิฉันขอฝากให้คุณช่วยลูกคิดเรื่องการใช้เงินด้วย อย่าปล่อยให้เขาใช้จ่ายแบบตามใจตนเอง เพราะการใช้เงินของเด็กในวัยอนุบาลนั้น เป็นการฝึกให้ลูกรู้ว่าเงินนั้นสามารถแลกกับอะไรได้บ้าง ไม่ได้เป็นการฝึกให้ลูกเป็นนักช็อปฯ มืออาชีพ และที่สำคัญควรฝึกให้ลูกรู้ได้ด้วยถ้าไม่มีเงินลูกๆ จะเป็นอย่างไร

 

ฝึกลูกใช้เงินอย่างไรดี?

 

การฝึกให้ลูกรู้จักใช้เงินตั้งแต่วัยนี้จะช่วยให้เด็กๆ รู้จักคุณค่าของเงินทางอ้อม อย่างน้อยเขาจะได้รู้ว่าค่าขนมของเขานั้นมีค่ามากน้อยแค่ไหน เช่น คุณอาจสอนให้ลูกรู้ว่าถ้าวันนี้ได้เงินค่าขนม 10 บาท ลูกจะซื้ออะไรได้บ้าง หรือถ้าพรุ่งนี้ได้ 5 บาทเด็กๆ จะซื้ออะไรได้บ้าง หรือถ้าเด็กๆ ไม่ได้ใช้เงินค่าขนมเลย เขาก็จะมีเงินหยอดกระปุกไว้

 

ดิฉันคิดว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ควรจะหาเวลาหรือหาเรื่องคุยกันอ้อมๆ ถึงเรื่องการใช้เงินของลูกบ้าง เช่น อาจแอบถามว่าวันนี้ใช้เงินไปกี่บาท เหลือเท่าไร เอาไปซื้ออะไรบ้าง ไปซื้อที่ไหน หรือทำไมไม่ซื้อมาฝากคุณพ่อคุณแม่บ้าง ฯลฯ คำถามเหล่านี้ดูจะไร้สาระไปหน่อยถ้ามาถามผู้ใหญ่อย่างเราๆ แต่การพูดคุยเรื่องเงินทองกับลูกนั้น จะทำให้เรารู้ว่าพฤติกรรมการใช้เงินของลูกเรานั้นเป็นอย่างไรค่ะ

 

ไม่ว่าคุณจะให้เงินค่าขนมลูกวันละเท่าไรก็ตาม ดิฉันขอแนะนำว่าอย่าฝึกให้ลูกรู้สึกว่า การมีเงินไปโรงเรียนในจำนวนมากกว่าเพื่อนจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะจะเป็นการฝึกให้เด็กเห็นคุณค่าของวัตถุนิยมตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเขาโตขึ้นอาจแก้ไขลำบาก อย่าคิดว่าการเป็นคุณหนูที่บ้านจะต้องเป็นคนพิเศษกว่าเด็กคนอื่น เพราะการที่เด็กมีโอกาสออกไปใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียนนั้น ถือว่าเป็นการฝึกพื้นฐานการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

 

พ่อแม่รังแกหนู

 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่เห็นว่าการให้เงินค่าขนมจำนวนมากๆ นั้นเป็นการแสดงความรักกับลูกๆ ดิฉันคิดว่าคุณควรคิดกันใหม่ได้แล้วนะคะ เพราะที่ผ่านมามีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ใช้วิธีผิดๆ กับลูก เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลูกร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน ก็มักจะใช้เงินค่าขนมจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อหลอกล่อให้ลูกไปโรงเรียน

 

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย ดิฉันคิดว่าการให้ค่าขนมนั้นน่าจะขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวและความจำเป็นในการใช้จ่ายแต่ละวันของเด็กเป็นหลัก เช่น คุณอาจสอบถามที่โรงเรียนว่าค่าอาหารแต่ละมื้อนั้นต้องจ่ายเท่าไร ในที่สุดก็จะทราบเองว่าค่าขนมแต่ละวันนั้นต้องจ่ายมากน้อยแค่ไหน

 

ส่วนตัวดิฉันเองจะเพิ่มค่าขนมให้ลูกปีละ 10 บาท เช่น ตอนอยู่ ม.1 ได้ค่าขนมวันละ 60 บาท ตอนอยู่ ม.2 ลูกก็จะได้เพิ่มเป็น 70 บาท แต่ก็ต้องฝึกฝนให้เขารู้จักการใช้เงินและการออมเงินด้วย หรือในบางกรณีเราก็ต้องให้รางวัลเป็นโบนัสพิเศษเพื่อเป็นกำลังใจกับลูกๆ บ้าง เช่น วันที่เขาสอบได้คะแนนดีๆ หรือแม้แต่เทศกาลที่ลูกต้องใช้เงิน ฯลฯ

 

ไม่ว่าคุณจะมีเงินน้อยหรือเงินมาก การให้ค่าขนมลูกๆ นั้นก็มีความสำคัญตลอดไปอยู่ดี ดังนั้นทั้งคุณพ่อและคุณแม่ควรหาเวลามานั่งคุยกันว่า ทุกวันนี้การจ่ายค่าขนมลูกคุณเหมาะสมหรือไม่ค่ะ
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=212

อัพเดทล่าสุด