7 สัญญาณผ่าคลอด


766 ผู้ชม


"7 สัญญาณผ่าคลอด"

    ถ้ามีสัญญาณเตือนจากโรคหรืออาการต่อไปนี้ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่อาจต้องผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยทั้งคุณแม่และคุณลูกค่ะ

สัญญาณที่ 1 = โรคหัวใจ

โรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคหัวใจรั่ว เป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณแม่ต้องผ่าคลอดค่ะ เพราะเวลาที่เบ่งคลอดจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน คือการทำงานของหัวใจแย่ลง มีอาการเหนื่อย ระบบการหายใจทำงานถี่ หายใจไม่ทัน หมดสติ เป็นอันตรายต่อทารกได้ การผ่าตัดคลอดจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับแม่และทารกมากกว่า

 

สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจ ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ามีอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยประเมินได้คร่าวๆ จากการทำกิจวัตรประวัน ถ้าคุณแม่เดินขึ้นลงบันได หรือทำงานเบาๆ เช่น กวาดบ้าน ล้างจาน ทำอาหาร แต่อาการเหนื่อยมากขึ้นก็เป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งว่าการทำงานของหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถรองรับกับกิจกรรมเบาๆ เหล่านี้ได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการคลอดแบบธรรมชาติได้ด้วย จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินว่าการคลอดควรผ่าตัดคลอดหรือไม่

 

แม้คุณแม่จะเป็นโรคหัวใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะคลอดเองไม่ได้นะคะ ถ้าช่วงระหว่างตั้งครรภ์ดูแลสุขภาพอย่างดี อยู่ในความดูแลของคุณหมอ และไม่มีอาการแทรกซ้อนที่น่าเป็นห่วง ก็สามารถคลอดเองได้

 

สัญญาณที่ 2 = กระดูกอุ้งเชิงกรานผิดปกติ

ความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกอุ้งเชิงกราน เกิดจากคุณแม่เคยมีภาวะกระดูกอุ้งเชิงกรานหัก ทำให้กระดูกผิดรูป ส่งผลให้ช่องทางการคลอดเปลี่ยนแปลง หรือแคบลงไปด้วย ซึ่งจะเป็นข้อบ่งชี้ตัวหนึ่งว่าคุณแม่ต้องผ่าคลอดก็ตาม

 

การคลอด คุณแม่จะต้องมีโครงสร้างกระดูกอุ้งเชิงกรานค่อนข้างสมบูรณ์ เพื่อให้การคลอดอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะถ้าโครงสร้างกระดูกอุ้งเชิงกรานมีความผิดปกติ ผิดรูป หรือแคบลง การที่ทารกจะผ่านออกมาก็เป็นไปได้ยาก ออกไม่ได้ และทำให้ทารกที่คลอดออกมามีความผิดปกติได้

 

ดังนั้น ช่องทางคลอดต้องกว้างพอให้ทารกออกมาได้ แต่ถ้ามีการประเมินแล้วว่าช่องทางคลอดไม่น่าจะปลอดภัย และไม่เหมาะสมกับตัวของทารก ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงจากการคลอดตามธรรมชาติ ไปเป็นแบบผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ

 

สัญญาณที่ 3 = ภาวะติดเชื้อในช่องคลอด

เริม คุณแม่ที่มีการติดเชื้อเริมระยะรุนแรง หากคลอดเองตามธรรมชาติ จะทำให้ทารกในครรภ์มีการติดเชื้อผ่านทางช่องคลอด

หูดหงอนไก่ ถ้ามีขนาดใหญ่มากๆ ก็จะไปอุดตัน หรือบดบังช่องคลอด ขวางทางคลอด ส่งผลให้คลอดยาก คลอดไม่ได้ และถ้าทารกคลอดผ่านช่องคลอดที่มีหูดหงอนไก่ ก็มีโอกาสติดเชื้อทางด้านหลอดเสียง ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจของทารกในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาส่งผลให้การหายใจมีปัญหาได้

 

ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือติดเชื้อเอดส์ กลุ่มนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และเพียงพอ หรือพบปริมาณไวรัสในร่างกายค่อนข้างสูง การผ่าตัดคลอดก็จะช่วยลดภาวะของการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ค่อนข้างมาก

 

สัญญาณที่ 4 = ภาวะรกเกาะต่ำ

เป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดอย่างแน่นอน เพราะถ้ามีรกมาขวางช่องคลอด ทารกก็ไม่สามารถออกมาได้ ซึ่งคุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ จะมีอาการเลือดออกตั้งแต่ระยะไตรมาสที่ 2 ซึ่งพบได้ 30-40% ในแม่ท้อง ซึ่งคุณหมอวินิจฉัยได้ตั้งแต่ก่อนคลอด ด้วยการตรวจอัลตร้าซาวนด์ ถ้าปล่อยให้คุณแม่เจ็บท้อง คลอดเองก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การตกเลือด

 

สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงรกเกาะต่ำ คือเคยมีประวัติเป็นมาก่อน เคยผ่าตัดมดลูก หรือผ่าตัดคลอดก็อาจทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ มีการอักเสบบริเวณปากช่องคลอด ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการที่รกมาฝังตัวในตำแหน่งที่ไม่ปกติ เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้เช่นกัน

 

ฉะนั้นถ้าคุณแม่มีปัญหาเรื่องเลือดออก ควรให้คุณหมอตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นสาเหตุจากรกเกาะต่ำหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นจริงๆ ก็เป็นข้อบ่งชี้ในการที่จะต้องผ่าตัดคลอดเหมือนกันค่ะ

 

สัญญาณที่ 5 = มะเร็งปากมดลูก

หากเป็นมะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ก็มีโอกาสทำให้การคลอดมีปัญหาได้ แต่โดยทั่วไปถ้าคุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่อาจส่งผลในเรื่องการรับประทานอาหารไม่ดี เบื่ออาหาร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ไม่ดีจากการที่คุณแม่รับประทานอาหารได้น้อย

 

สัญญาณที่ 6 = เนื้องอกในมดลูก

คุณแม่ที่เคยตรวจพบว่ามีเนื้องอกในมดลูก ถึงแม้จะยังไม่ได้ผ่าตัดเนื้องอกออกไป แต่ก็เป็นตัวบ่งชี้ของการผ่าคลอด เพราะถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่ และมาขวางช่องทางการคลอด จะส่งผลให้ทารกไม่กลับศีรษะลง และเกิดการอุดตันปิดขวางช่องทางการคลอด ทำให้ทารกไม่สามารถคลอดออกมาได้

 

สัญญาณที่ 7 = เบาหวาน

คุณแม่ท้องที่รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ พบว่ามีภาวะเบาหวานแทรกซ้อนในระยะตั้งครรภ์มากขึ้น ถ้าคุณแม่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี หรือบางคนไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเป็นเบาหวาน เพราะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยคัดกรอง จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากกว่าปกติ มีผลทำให้คลอดยาก หากคุณหมอประเมินแล้วว่าทารกในครรภ์น้ำหนักเกิน 4.2- 4.5 กิโลกรัม ก็เป็นข้อบ่งชี้ตัวหนึ่งว่าควรจะผ่าตัดคลอด เพราะถ้าปล่อยให้คลอดเองจะทำให้ช่องคลอดเกิดการฉีกขาด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการเบ่งคลอดได้

 

ถ้าคุณแม่มีประวัติเป็นเบาหวาน หรือประวัติคนในครอบครัว คนใกล้ชิดเป็นเบาหวาน หรือเคยตรวจเจอน้ำตาลในปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติที่สงสัยว่าน่าจะเป็นภาวะเบาหวานแทรกซ้อน เช่น น้ำหนักขึ้นเร็ว ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือทารกตัวใหญ่มากๆ ควรทำการตรวจคัดกรองโรค ถ้าพบว่ามีภาวะโรคเบาหวานต้องทำการควบคุมกันต่อไป เพื่อให้ท้องนี้คุณแม่สุขภาพดี และลูกน้อยแข็งแรงค่ะ

 

สัญญาณร้ายจะกลายเป็นดี ถ้าคุณแม่ฝากครรภ์และดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอค่ะ

อัพเดทล่าสุด