"คลอดโรงพยาบาลไหนดี"
หมอโรงพยาบาลเอกชนเก่งกว่าหมอโรงพยาบาลรัฐบาลไหมคะ คลอดโรงพยาบาลไหนดี ?
หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่คุณแม่สงสัย ลองมาฟังคำตอบจากคุณหมอวิทยาดู...
- คุณหมอคะ หนูอยากคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนค่ะไม่รู้ว่าจะแพงมากไหมคะ?
- อยากคลอดโรงพยาบาลรัฐบาล แต่ขอห้องพิเศษ จะทำอย่างไรคะ ?
- หมอโรงพยาบาลเอกชนเก่งกว่าหมอโรงพยาบาลรัฐบาลไหมคะ ?
คำถามต่างๆ เหล่านี้ คือคำถามที่ผมถูกคุณแม่ท้องที่มาตรวจกับผมถามอยู่เสมอ ผมคงตอบในรายละเอียดไม่ได้หมดหรอกครับ เพราะโรงพยาบาลที่รับคลอดมีมากมายหลายประเภท หลายขนาด และหลายระดับจนอธิบายไม่ไหว
อย่างไรก็ตามผมขอเล่าให้ฟังคร่าวๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกโรงพยาบาลที่จะคลอดของคุณแม่ได้ดีขึ้น
โรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชนดี?
ถ้าจะถามว่าโรงพยาบาลรัฐบาลกับโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลไหนมีมาตรฐานการรักษาคนไข้ดีกว่ากัน ผมสรุปตรงนี้ได้เลยว่าไม่น่าจะต่างกัน ที่ต่างกันส่วนมากจะเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น ความสะดวก การบริการที่ทันใจหรือความสะอาดเสียมากกว่า ซึ่งผมอยากเปรียบเทียบให้ดู
คุณภาพบริการ
ในโรงพยาบาลขนาดใกล้เคียงกัน โรงพยาบาลของรัฐมักจะมีคนไข้มาตรวจมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนมาก มากเสียจนบริการแทบไม่ไหว ทั้งนี้ก็เพราะค่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายเท่าตัว ยิ่งสมัยนี้คนไข้มีสิทธิในการรักษามากมาย เช่น มีบัตรทอง บัตรประกันสังคม ยิ่งทำให้คนไข้เทมาที่โรงพยาบาลรัฐมากขึ้นไปอีก
ผลของการที่โรงพยาบาลรัฐมีคนไข้มาก ทำให้คนไข้ต้องรอคิวนานถึงนานมาก บางทีต้องแย่งคิวกันหรือใช้เส้นในการเข้าหาหมอ ทำให้ทะเลาะกัน หมอที่ตรวจคนไข้ก็มักต้องทำงานกันหนักมากจนไม่มีเวลาดูคนไข้แต่ละคนได้ละเอียดพอ หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวในทำนองที่ว่ามารอเพื่อพบหมอตั้งหลายชั่วโมงแต่ได้เจอหมอไม่กี่นาที เวลาจะนัดตรวจครั้งต่อไปก็อาจจะนานมากเพราะคิวเต็มหมดแล้ว เวลาจะรับคนไข้ไว้ในโรงพยาบาลก็อาจมีปัญหาเตียงเต็มหรือถ้าอยากได้ห้องพิเศษก็มักไม่ได้อย่างที่ต้องการ เช่น อยากได้ห้องเดี่ยวก็อาจได้แค่ห้องรวม เพราะห้องเดี่ยวยังไม่ว่าง เป็นยังไงครับ แค่อ่านยังไม่ไม่ได้ไปตรวจด้วยตัวเองก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมครับ
ปัญหาดังกล่าวในโรงพยาบาลเอกชนแทบไม่มีหรือมีน้อยมาก เพราะคนไข้มาใช้บริการน้อยกว่ามาก บางโรงพยาบาลบางวันแทบไม่มีคนไข้เลย จะมียกเว้นก็เฉพาะโรงพยาบาลดังๆ บางแห่งเท่านั้น
บรรยากาศในโรงพยาบาล
คุณแม่ที่เคยไปตรวจทั้งที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนมาแล้วจะเห็นบรรยากาศที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โรงพยาบาลรัฐส่วนมากมักมีบรรยากาศที่อึดอัด สกปรก ร้อน เพราะคนไปใช้บริการเยอะ ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีบรรยากาศที่ดีกว่ามาก
ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐมักจะทำงานแบบหน่วยราชการ คือ ไปเรื่อยๆ ตามระเบียบ ซึ่งส่วนมากทำให้การให้บริการล่าช้า ปัญหาเหล่านี้โรงพยาบาลต่างๆ รู้ดีกันทั้งนั้น อยากจะแก้กันทุกที่ แต่ก็แก้ไม่ได้ง่ายหรือไม่ทันใจ เพราะระบบราชการขาดความยืดหยุ่นในการปรับการทำงานหรือการเพิ่มบุคลากร ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เจ้าหน้าที่ถูกอบรมมาให้ดูแลคนไข้อย่างดี เวลาเข้าไปในโรงพยาบาลบางแห่งแทบจะอุ้มคุณแม่เข้าไปหาหมอก็มี
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งก็มีการปรับปรุงไปมากเมื่อเทียบกับในอดีต จนบางแห่งบริการดีกว่าโรงพยาบาลเอกชนก็มี
ค่าใช้จ่าย
เป็นเรื่องแน่นอนที่ว่า ถ้าต้องการบริการที่ดี คุณก็ต้องจ่ายมากกว่า โรงพยาบาลของรัฐตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ของการดูแลรักษาประชาชนในลักษณะสวัสดิการ จะขาดทุนก็ไม่เป็นไรเพราะรัฐจะจ่ายทดแทนให้ แต่โรงพยาบาลเอกชนมีจุดประสงค์เพื่อผลกำไรเป็นหลัก จะไม่เอากำไรก็เฉพาะโรงพยาบาลของมูลนิธิบางแห่ง ดังนั้นถ้าคุณอยากได้บริการที่ดี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผลการดูแลรักษาจะดีกว่า ก็ต้องเตรียมจ่ายแพงกว่า บางโรงพยาบาลก็แพงกว่าไม่มาก แต่บางโรงพยาบาลก็แพงกว่ามากจนขนาดผมเป็นหมอเองแท้ๆ ยังไม่เข้าใจเลยว่าคิดราคาอย่างนั้นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นก่อนจะเข้าโรงพยาบาลเอกชน คุณควรจะสอบถามราคาค่าใช้จ่ายให้แน่ชัดเสียก่อนจะได้ไม่มาเสียใจทีหลังว่าทำไมมันโคตรแพงเลย โรงพยาบาลไหนที่เมื่อคุณสอบถามราคาค่าใช้จ่ายแล้วไม่ยอมให้ข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่ชัดเจนให้สงสัยไว้ก่อนและควรหลีกเลี่ยงที่จะไปตรวจ
หมอในโรงพยาบาล
ในโรงพยาบาลของรัฐ มักมีหมอที่เชี่ยวชาญในแผนกต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โรงพยาบาล บางโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็กอาจมีแต่หมอที่ตรวจได้แค่โรคทั่วๆ ไป ส่วนโรคที่ยุ่งยากและซับซ้อนต้องส่งไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถสูงกว่า บางโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลที่เป็นคณะแพทยศาสตร์มีการสอนนักศึกษาแพทย์ และฝึกอบรมแพทย์เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลแบบนี้ อาจมีหมอหลายประเภทและหลายระดับ เช่น อาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัด ซึ่งหมอแต่ละประเภทจะมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยไม่เท่าเทียมกัน เช่น แพทย์ฝึกหัดอาจจะไม่สามารถตัดสินใจรับคนไข้ไว้ในโรงพยาบาลได้ทันทีต้องรอปรึกษาอาจารย์แพทย์ก่อน เป็นต้น
สำหรับโรงพยาบาลเอกชน จะมีหมอที่ให้บริการหลายประเภท ที่พอสรุปได้มี 3 ประเภท คือ
- หมอประจำ หมอพวกนี้ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนนั้นเพียงแห่งเดียวโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากการรักษาคนไข้ตามแต่จะตกลงกับทางโรงพยาบาล หมอกลุ่มนี้อาจจะเป็นหมอทั่วไป หรือหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคก็ได้
- หมอทำงานบางเวลา หมอกลุ่มนี้ส่วนมากจะมีงานหลักคือรับราชการ อาจเป็นอาจารย์แพทย์ในคณะแพทยศาสตร์ หรือหมอในโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ซึ่งมาทำงานในโรงพยาบาลเอกชนคล้ายกับการเปิดคลินิก จึงมักมาตรวจในเวลาเย็นหรือเสาร์-อาทิตย์ เป็นหลัก
หมออีกประเภทหนึ่งที่เริ่มมีมากขึ้น หมอแบบนี้จะเรียกว่า หมอ Freelance หรือหมออิสระ คล้ายพวกทำธุรกิจขายตรงหรือขายประกันก็ได้ หมอพวกนี้จะทำงานหลายโรงพยาบาล วันจันทร์อาจไปอยู่ที่โรงพยาบาลหนึ่ง ในขณะที่วันอังคารอาจจะไปอยู่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ไม่ได้ประจำที่ไหนแน่นอน หมอพวกนี้จะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป
- หมอเวร เป็นหมอที่มาอยู่เวรในเวลากลางคืนเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน หมอกลุ่มนี้มักเป็นหมอที่ยังอ่อนอาวุโส หรืออยู่ระหว่างการฝึกอบรมจะเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้วมาหารายได้พิเศษ หมอพวกนี้จะทำหน้าที่รักษาเฉพาะคนไข้ที่มีปัญหารีบด่วนหรือฉุกเฉินเสียเป็นส่วนมาก ถ้าปัญหาไหนที่รอได้ก็จะนัดคนไข้มาตรวจในเวลาปกติหรือพบกับหมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรค
เวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐ ส่วนมากคุณมักจะเลือกหมอไม่ได้ ไปเจอหมอคนไหนที่ออกตรวจวันนั้นก็ต้องตรวจกันไป อาจจะได้ตรวจกับอาจารย์แพทย์ แพทย์อาวุโส หรือแพทย์ฝึกหัดก็ได้ ยกเว้นแต่ว่าคุณจะรู้จักกับหมอคนไหนเป็นการส่วนตัวก็อาจจะนัดไปตรวจในวันที่หมอคนนั้นออกตรวจก็ได้
ส่วนโรงพยาบาลเอกชน คุณมีสิทธิที่จะเลือกตรวจกับหมอคนไหนก็ได้ที่คุณอยากตรวจด้วย เพียงแค่คุณบอกไป ทางโรงพยาบาลก็จะนัดหมายให้ตามที่คุณต้องการและสะดวกครับ
หมอทั้งในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐส่วนมากไม่ได้มีความสามารถต่างกันนักหรอกครับ และบางทีก็ระบุยากว่าหมอคนไหนเป็นหมอโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลรัฐเพราะหมอบางคนทำงานทั้งสองที่แต่ต่างเวลากัน
ห้องพิเศษ
ผมเอาเรื่องนี้มาตั้งเป็นหัวข้อต่างหากก็เพราะถูกคนไข้ถามมากจริงๆ ว่าหลังคลอดอยากอยู่ห้องพิเศษจะทำอย่างไร
ก่อนจะพูดเกี่ยวกับการจองห้องพิเศษหรืออยู่ห้องพิเศษ ผมอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับห้องพิเศษเล็กน้อยก่อนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง คำว่าห้องพิเศษหมายถึงห้องพักหลังคลอดหรือห้องที่รับคนไข้ไว้ดูแลรักษาในลักษณะที่ดูแลแยกจากคนอื่น
ประโยชน์ของการอยู่ห้องพิเศษที่เห็นชัดเจนก็คือทำให้คนไข้มีความสะดวกในการเอาญาติมาเฝ้า จะได้ช่วยเหลือบางอย่างหรือไม่ว้าเหว่ แต่ก็มีบางคนที่อยากอยู่ห้องพิเศษเพียงเพื่อแสดงว่าตัวเองมีฐานะก็มี ส่วนในแง่ของการดูรักษาของแพทย์ ผมอยากจะบอกว่าการอยู่ห้องพิเศษไม่ได้หมายความคุณจะได้รับการดูแลรักษาพิเศษแตกต่างจากคนอื่นเลย ยิ่งในโรงพยาบาลของรัฐห้องพิเศษมักจัดอยู่แยกจากห้องคนไข้ทั่วไป ทำให้หมอและพยาบาลไม่ค่อยได้มาดูบ่อยๆ อาจจะมาแค่วันละครั้งเดียวและเดี๋ยวเดียวก็ไปแล้ว ถ้าเกิดคุณมีปัญหาที่ต้องการการดูแลต่อเนื่อง เช่น มีความดันโลหิตสูงที่ยังคุมได้ไม่ดี โรคเบาหวานที่ต้องปรับระดับน้ำตาลต่อเนื่อง หรือคนไข้ที่เสียเลือดมากจนอาจช็อกได้ การเลือกอยู่ห้องพิเศษยิ่งอาจทำให้ได้รับการดูแลไม่ดีพอตามไปด้วย การจะเอาหมอหรือพยาบาลไปคอยดูคนไข้พิเศษที่มีปัญหาในห้องพิเศษเพียงรายเดียวคงไม่ไหว เพราะยังมีคนไข้อื่นที่ต้องดูแลในเวลาเดียวกันด้วย บางคนอาจจะจ้างพยาบาลพิเศษมาดูแล แต่ก็อยากจะเรียนว่าถึงมีพยาบาลพิเศษก็ทำงานแทนพยาบาลประจำไม่ค่อยได้มาก ส่วนการจะจ้างหมอที่จะมาคอยดูแลคุณเป็นพิเศษและเฝ้าตลอดเวลาต้องบอกว่ายากส์ครับ เพราะคงยากที่จะหาหมอที่มีเวลาว่างขนาดมาดูแลคุณคนเดียวได้ ยกเว้นแต่ว่าคุณจะเป็นคนพิเศษจริงๆ
ดังนั้นก่อนจะขออยู่ห้องพิเศษขอให้นึกถึงประเด็นนี้ไว้ด้วย อย่าลืมว่าเรามาโรงพยาบาลเพื่อรับการดูแลรักษาเป็นหลัก ไม่ใช้มาพักผ่อนตากอากาศนะครับ
ทีนี้ถ้าโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้รุนแรงหรือคลอดปกติดี ไม่จำเป็นต้องรับการดูแลรักษาอะไรมากมาย ถ้าอย่างนี้จะเลือกอยู่ห้องพิเศษ ผมก็เห็นด้วยครับ สำหรับโรงพยาบาลเอกชนการจะอยู่ห้องพิเศษคงไม่มีปัญหาอะไร ตอบตรงไปตรงมาก็คืออยากได้ห้องอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความสามารถจ่ายเงินได้เท่าไรก็เท่านั้นเอง
ที่มีปัญหาที่จะต้องคุยกันก็คือ ห้องพิเศษในโรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งมักจะเต็มอยู่ตลอดเวลา ชนิดที่เรียกว่าคนหนึ่งออกอีกคนก็เข้าแทนทันที ขืนมัวยึกยักอดแหงเลย ดังนั้นถ้าอยากอยู่ห้องพิเศษก็คงต้องจองไว้ล่วงหน้านานพอควร หรือยอมอยู่ห้องรวมไปก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นห้องพิเศษทีหลัง ซึ่งบางที่ก็เปลี่ยนยาก อย่างไรก็ตามผมอยากเรียนว่าภายหลังที่คุณแม่คลอด ส่วนมากอยู่โรงพยาบาลไม่กี่วันก็กลับบ้านได้แล้ว ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไปก็ทนเอาหน่อยเถอะครับ
ขอให้คุณแม่ทุกคนคลอดลูกปลอดภัยทั้งแม่และลูกในโรงพยาบาลที่ต้องการนะครับ
ที่มา https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=147