อยู่ไฟ..อีกทางเลือกดูแลหลังคลอด


880 ผู้ชม


"อยู่ไฟ..อีกทางเลือกดูแลหลังคลอด"

    ตั้งแต่ผู้หญิงเราคลอดลูกในโรงพยาบาลกัน เรื่องจะให้มา อยู่ไฟ หรือทำอะไรกันอย่างโบร่ำโบราณก็แทบจะไม่มี

ยิ่งเป็นแม่ใหม่ในเมืองยิ่งหายากใหญ่ แต่นั่นมันเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ถ้าจะให้อินเทรนด์กันสุดๆแล้ว หลังคลอดต้องอยู่ไฟจ้ะ 
 

ก็ยุคสมัยนี้เทรนด์การดูแลสุขภาพหันกลับมาที่ภูมิปัญญาแบบไทยๆ เรื่องการ "อยู่ไฟ" และการดูแลหลังคลอดจึงกลับมาเป็นที่สนใจกันอีกครั้ง ทำเอาแม่ใหม่ที่สนใจสุขภาพต้องหาข้อมูลเรื่องนี้กันยกใหญ่ว่า อยู่ไฟมันดี ไม่ดียังไง แล้วถ้าไม่ได้อยู่ไฟจะมีอาการหนาวสั่นสะท้านอย่างที่ใครเขาว่ากันหรือเปล่า เรื่องนี้ คุณสันติสุข โสภณศิริ แพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมไทย ประจำคลินิกการแพทย์แผนไทยสุขภาพไทย (ศูนย์สุขภาพไทย) อธิบายว่า 
"ผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ไฟแล้วมีอาการหนาวสั่นจะเป็นเฉพาะบางราย เพราะการหนาวสั่นเกิดจากการที่คลอดลูกแล้วเสียเลือด และเมื่อมีการตกเลือดมากความดันก็จะลง ปกติแม้แต่แผนปัจจุบันเองเมื่อมีการเสียเลือดมาก ความดันลงก็จะมีการหนาวสะท้านอยู่แล้ว หรือบางคนคลอดลูกแล้วอาจมีน้ำคาวปลา เศษรก คั่งค้างอยู่ภายในก็จะมีการติดเชื้อและหนาวสั่นได้ ถ้าเป็นสมัยนี้เขาก็ต้องรักษาด้วยการให้เลือดหรือฉีดยาฆ่าเชื้อ ซึ่งสมัยก่อนไม่มี เขาก็ให้อยู่ไฟเพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่น สำหรับสตรีหลังคลอดมีการเสียเลือดทุกคน โบราณเขาจึงนิยมให้อยู่ไฟกัน 
ฉะนั้นมันไม่ได้เกี่ยวว่าถ้าไม่อยู่ไฟจะทำให้หนาวสั่นครับ ถ้าคุณแม่คนนั้นดูแลตัวเองอย่างดีตามที่หมอเขาแนะนำมา มีการพักฟื้นหลังคลอด รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงดี อย่างนี้เรื่องการอยู่ไฟอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็น มันเป็นเรื่องของความใส่ใจในสุขภาพของตัวแม่แต่ละคนเองมากกว่า" 
ประโยชน์ของการอยู่ไฟและการดูแลหลังคลอด 
* แม้กลไกธรรมชาติในร่างกายผู้หญิงเราจะสามารถขับน้ำคาวปลาและของเสียออกมาได้เองอยู่แล้ว แต่การอยู่ไฟและดูแลหลังคลอดจะช่วยให้ร่างกายขับออกมาได้ดีขึ้น 
* การไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น 
* สุขภาพโดยรวมของร่างกายแข็งแรงขึ้น ฟื้นตัวเข้าสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น 
* ช่วยให้บรรเทาอาการปวด เมื่อย ตึงที่เกิดจากการตั้งครรภ์และการคลอด 
* ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วและหดรัดตัวดีขึ้น 
* ช่วยให้มีน้ำนมที่สะอาดและเพียงพอต่อการเลี้ยงลูก 
อยู่ไฟยุค 2000 
ถ้าจะอยู่ไฟกันอย่างเมื่อก่อนอาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากไปนิดสำหรับคนยุคนี้ การอยู่ไฟที่ทำกันปัจจุบัน จึงมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับชีวิตของคนยุคนี้มากขึ้น มีทั้งที่เป็นสถานเปิดให้ไปใช้บริการ หรือแบบที่มาให้บริการกันถึงบ้านแบบที่เรียกกันว่า Delivery และวิธีที่ทำกันก็มีด้วยกันหลายแบบ เช่น การนาบหม้อเกลือ ประคบสมุนไพร การนั่งถ่าน การอบและการอาบน้ำสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมของตัวเอง คุณสันติสุขแนะนำว่าแค่การประคบ นาบหม้อเกลือก็สามารถแทนการ>อยู่ไฟทั้งกระบวนการได้แล้ว สำคัญว่าคุณแม่ต้องมีเวลาให้ร่างกายได้พักฟื้นอย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรต่ำกว่า 1 เดือนค่ะ 
อยู่ไฟแบบต่างๆ 
การประคบสมุนไพร 
คือการนำสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยมาห่อในผ้าทำเป็นลูกประคบ แล้วนำไปนึ่งให้ร้อนก่อนจะมาประคบกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องผ่อนคลาย เส้นเอ็นที่ยึดมดลูกยืดหยุ่นและกลับเข้าสู่สภาพปกติ 
* ต้องคอยระวังอย่าให้ลูกประคบร้อนเกินไป เมื่อลูกประคบเย็นให้นำไปนึ่งใหม่ ถ้าลูกประคบแห้งให้ใช้น้ำหรือเหล้าโรงพรมก่อนประคบ 
* ลูกประคบที่ทำครั้งหนึ่งใช้ได้ประมาณ 3-5 วัน วิธีเก็บคือต้องผึ่งตัวยาไว้อย่าให้อับ การเก็บในตู้เย็นจะทำให้เก็บได้นานขึ้น ถ้าลูกประคบไม่มีสีเหลืองของไพลออกมา แสดงว่ายาเริ่มจืดแล้ว ควรเปลี่ยนลูกประคบใหม่ 
* วางและประคบเบาๆ ช่วงแรกค่อยๆ วางแล้วยกขึ้นเร็วๆ เพราะยังมีความร้อนจัดอยู่ จนเมื่อลูกประคบเย็นลงมากพอที่จะทาบลงกับผิวได้ ก็ค่อยๆ ทาบแล้วคลึงหมุนตามเข็มนาฬิกา ตรงหน้าท้องบริเวณช่องท้องน้อยตรงกลางและด้านข้าง และบริเวณอื่นที่ต้องการ 
ข้อควรระวัง 
* แม่ผ่าตัดคลอดต้องรอให้ครบ 1 เดือนก่อนจึงจะทำได้ 
* ห้ามใช้การประคบสมุนไพรในกรณีที่มีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพราะจะทำให้บวมมากขึ้นและเลือดออกมากขึ้น 
* หลังการประคบไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะร่างกายยังปรับตัวไม่ทันและน้ำจะไปชะล้างสมุนไพรที่ผิวหนังออก 
การอบสมุนไพร 
คือการใช้ไอความร้อนจากน้ำสมุนไพรที่ต้ม ช่วยขับของเสียออกมาทางผิวหนัง จึงช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยให้ผิวพรรณดี สะอาด โดยขณะอบคุณแม่ควรอยู่ในที่จำกัดพื้นที่ เช่น กระโจมผ้า เพื่อให้ไอสมุนไพรจับมาที่ผิวได้มากขึ้น ใช้เวลาอบประมาณ 20-30 นาที ไม่ควรอบในที่ๆ มิดชิดเกินไปนัก เพราะอาจขาดอากาศได้ 
ข้อควรระวัง 
* แม่ตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ แม่ที่มีความดันสูง มีไข้ อ่อนเพลียห้ามอบสมุนไพร 
* แม่ที่ผ่าตัดคลอดจะต้องรอให้ครบ 1 เดือนจึงจะอบได้ 
* อบแล้วควรดื่มน้ำอุณหภูมิปกติ 1 ถ้วยและควรนั่งพักให้อุณหภูมิในร่างกายปรับสู่ระดับปกติก่อนค่อยอาบน้ำ 
ข้อแนะนำสำหรับการอยู่ไฟ 
* ไม่ควรอยู่ไฟไม่ว่าวิธีใดขณะที่คุณแม่มีอาการไข้ ตัวร้อน ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลียมากเพราะการอยู่ไฟคือการใช้ความร้อนให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย จึงอาจเป็นอันตรายได้หากทำในช่วงที่ร่างกายมีความร้อนในตัวสูง 
* ถ้าคุณแม่ที่ผ่าท้องคลอดต้องให้รอครบ 1 เดือนก่อน จึงจะสามารถประคบสมุนไพร นาบหม้อเกลือ และอบสมุนไพรได้ 
* การนั่งถ่านอาจไม่จำเป็นสำหรับคุณแม่ที่ผ่าท้องคลอด เพราะการนั่งถ่านจะช่วยในเรื่องการสมานแผลฝีเย็บ ช่องคลอดที่ฉีกขาดขณะลูกคลอด คุณแม่อาจเลือกวิธีอื่น เช่น ประคบ หรืออบสมุนไพรแทน 
* ควรให้ข้อมูลสุขภาพของตัวเองขณะนั้น และข้อมูลการคลอดผู้ที่จะมาทำการอยู่ไฟให้ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการอยูไฟและการดูแลหลังคลอดที่เหมาะกับร่างกายของคุณแม่เอง 
* ถ้าจะซื้ออุปกรณ์ไปอยู่ไฟเองที่บ้าน จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำวิธีการทำอย่างละเอียดจากผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เพราะแม้การอยูไฟจะไม่เป็นอันตรายอะไร แต่แต่ละวิธีก็มีข้อควรระวัง ข้อห้ามและบางขั้นตอนก็ต้องการความชำนาญเฉพาะ จึงต้องศึกษาให้ดีก่อนนำกลับมาทำเองค่ะ 
ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=63

อัพเดทล่าสุด