ลดน้ำหนัก แต่กลับเพิ่ม แก้ไขยังไงดี?


871 ผู้ชม



"ลดน้ำหนัก แต่กลับเพิ่ม แก้ไขยังไงดี?"

    คุณอาจมีเทคนิคลดแคลอรีมากมาย แต่หารู้ไม่ว่าวิธีลดน้ำหนักบางอย่างกลับกลายเป็นตัวเร่งให้น้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้น???..

 ถ้าคุณกำลังไดเอ็ต คุณอาจมีเทคนิคลดแคลอรีมากมาย แต่หารู้ไม่ว่าวิธีลดน้ำหนักบางอย่างกลับกลายเป็นตัวเร่งให้น้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้น ลองถามตัวเองสิ ว่าคุณน้ำหนักเพิ่มในกรณีเหล่านี้รึเปล่า? เรามีคำตอบและทางแก้มาให้ด้วย
1.กินน้อยกว่าแมวดม
           Truth : การลดแคลอรีจำนวนมากเหมือนจะช่วยลดน้ำหนักได้ แต่มีโอกาสสูงที่น้ำหนักจะกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ความจริงคือคุณไม่ควรลดเหลือต่ำกว่า 1,200-1,500 แคลอรีต่อวัน และหากคุณจำกัดอาหารมาก ๆ นานกว่าสองสัปดาห์ ระบบเผาผลาญของร่างกายจะช้าลง การอดอาหารเท่าเดิมจึงมีปริมาณน้ำหนักที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ คุณอาจสูญเสียกล้ามเนื้อพร้อมกับไขมัน โดยเฉพาะถ้าคุณไม่ได้ออกกำลังกาย
           Smart Move : ถ้าคุณอยากลดน้ำหนักสัก 5 กิโลฯ (ประมาณ 10 ปอนด์) ก็ให้ใช้เวลาทั้งหมด 10 สัปดาห์ คุณจะมีโอกาสลดน้ำหนักได้อย่างถาวร โดยการลดครึ่งกิโลฯ ต่อสัปดาห์ คุณอาจจะลดแคลอรี 250 แคลอรีต่อวัน และออกกำลังกายอีก 250 แคลอรีต่อวันด้วย
2.กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะมันมีแคลอรีต่ำ
           Truth : คนเรามักจะประเมินแคลอรีจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่ถูกความจริงคือ การที่อาหารนั้นดีต่อสุขภาพไม่ได้หมายความว่าคุณจะกินมากได้ เช่น ถั่วหยิบมือหนึ่งอาจมีพลังงานสูงถึง 200 แคลอรีหรือมากกว่า และหากไม่ลดอาหารอย่างอื่น มันอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมน้ำหนักถึงไม่ลดสักที
           Smart Move : นับแคลอรีทุกเม็ด เมื่อคุณเรียนรู้ว่าซีเรียลครึ่งถ้วยอาจมีแคลอรีสูงถึง 200 แคลอรี หรือน้ำส้มแก้วละ 220 แคลอรี คุณจะระมัดระวังในการกินเอง
3.ตอนกลางวันไม่หิว เลยมากินตอนเย็น
           Truth : การอดอาหารในช่วงวันเพื่อกินในมื้อเย็นจะทำให้ฮอร์โมนแห่งความหิว "เกรห์ลิน" ปั่นป่วน คุณจะหิวมากขึ้น และกินในปริมาณเท่าเดิมหรือมากกว่าการกินอาหารปกติสามมื้อ พอเช้าวันรุ่งขึ้น คุณจะไม่หิว แต่ก็จะท้องกิ่วอีกทีในตอนเย็นกลายเป็นวงจรอุบาทว์
           Smart Move : เริ่มมื้อเช้าที่ประมาณ 450 แคลอรี ซึ่งเป็นปริมาณที่ควรจะทำให้คุณอิ่มจนถึงมื้อกลางวัน แต่อย่ากินมื้อใดมื้อหนึ่งห่างกันเกิน 5 ชั่วโมง แล้วปิดท้ายด้วยอาหารมื้อเย็นซึ่งควรจะน้อยกว่ามื้อเที่ยงครึ่งหนึ่ง


4.คุณกินเยอะเพราะอาหารนั้น "ไขมันต่ำ" และ "ปราศจากน้ำตาล"
           Truth : การศึกษามากมายชี้ว่า เมื่ออาหารนั้นมีฉลากว่าไขมันต่ำ เรามักจะกินมากขึ้น โดยการทดลองจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์พบว่า เมื่อให้อาสาสมัครกิน M&M ที่มีฉลากว่า "ไขมันต่ำ" คนจะกินมากขึ้นถึง 28% จริง ๆ แล้ว "ไม่มีไขมัน" ไม่ได้หมายความว่าแคลอรีน้อยลง แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจกันไปเองแล้วกินมากขึ้น
           Smart Move : เช็กฉลากอาหาร และดูที่หน่วยบริโภคต่อแคลอรีให้ดี ในเทคนิคเดียวกันนี้ ต่อให้คุณกินอาหารไขมันเต็ม คุณก็สามารถลดน้ำหนักได้
5.คุณตั้งเป้าหมายลดน้ำหนัก แค่ชั่วประเดี๋ยว
           Truth : มีการประเมินว่า เพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ลดน้ำหนักได้สำเร็จ และรักษาระดับนั้นไว้ได้มากกว่าหนึ่งปี นั่นเป็นเพราะเมื่อเราบรรลุเป้าหมาย นิสัยการกินเก่า ๆ จะกลับมา คนที่จะลดน้ำหนักในระยะยาวได้จริง ๆ จะกินอาหารในปริมาณเท่าเดิมกับตอนลดน้ำหนัก
           Smart Move : คิดเสียว่าการกินเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่การ "ไดเอ็ต" ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบกุญแจสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ๆ ที่คุณสามารถเปลี่ยนให้เป็นนิสัยในระยะยาว เช่น ถ้าคุณมักกินโอรีโอวันละซอง ลองเปลี่ยนเป็นวันละชิ้น แล้วค่อย ๆ เลิกเมื่อคุณสามารถทำได้แล้วก็มุ่งสู่เป้าหมายต่อไป
Size Matters
          กระเพาะอาหารมีขนาดเท่า ๆ กับกำปั้นของเราเองนะ นั่นหมายความว่ามันต้องการแค่อาหารหยิบมือเดียว เพื่อให้อิ่ม ถ้าคุณกินแล้วรู้สึกท้องอืด เหนื่อย อ่อนเพลีย คุณก็กินมากเกินไปแล้วล่ะ
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=1301

อัพเดทล่าสุด