ปวดประจำเดือน ใครว่าเรื่องจิ๊บ ๆ


929 ผู้ชม


"ปวดประจำเดือน ใครว่าเรื่องจิ๊บ ๆ"

    หลายคนคงเคยมีอาการปวดประจำเดือน แต่ความปวดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติเสมอไป หากปวดมากขึ้น ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติบางอย่าง

เรื่องธรรมดาแต่อาจไม่ปกติสำหรับสาว ๆ หลายคน ถ้าคุณปวดประจำเดือนจนต้องหยุดงาน หรืออยู่ดี ๆ ประจำเดือนก็เปลี่ยนแปลงไปอาจได้เวลาไปพบคุณหมอแล้วนะคะ ก่อนจะสายเกินแก้
           เกิดเป็นผู้หญิง หลายคนคงเคยมีอาการปวดประจำเดือน แต่ความปวดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติเสมอไป หากปวดมากขึ้น ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติบางอย่าง เราจึงไปคุยกับ นพ.วิบูลย์ กมลพรวิจิตร ศูนย์สุขภาพสตรี ร.พ.บีเอ็นเอช

 ปวดประจำเดือน อะไรคือ "ผิดปกติ?"
           ในอดีตเราบอกว่า "การปวดประจำเดือน" เป็นภาวะปกติใช่มั้ยครับ? แต่ว่าปวดแค่ไหนล่ะที่จะปกติ ก็สังเกตได้จากการปวดประจำเดือนรบกวนต่อคุณภาพชีวิตมั้ย เช่น นักเรียนไปโรงเรียนได้รึเปล่า คนทำงานต้องหยุดงานมั้ย ถ้ามีอาการแบบนี้นั่นคือการรบกวนคุณภาพชีวิตแน่นอนไม่ปกติ จำเป็นที่จะต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม อาการปวดทางการแพทย์เราแบ่งเป็นสองชนิด คือ ปวดปฐมภูมิกับทุติยภูมิ
           ปฐมภูมิ คือ ไม่มีรอยโรคหรือพยาธิสภาพ อาจจะเกิดจากการบีบรัดตัวของมดลูกที่มากกว่าปกติ อาจจะมีความถี่มากขึ้น แรงมากขึ้นเพื่อไล่เลือดออกไป กลุ่มนี้เป็นเพราะในร่างกายมีสารบางอย่างสูงกว่าปกติ ก็คือ "โปรสตาแกลนดิน" ซึ่งถ้าเกิดการหลั่งมากกว่าปกติ จะทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ กลุ่มนี้จะพบมากในช่วงแรกของประจำเดือน หลังจากนั้นหากมีบุตรแล้วก็จะหายไป (แต่ต้องคลอดเองนะครับ มีน้อยมากที่จะหลงเหลือถึงอายุสัก 40)
           
           ทุติยภูมิ คือ มีรอยโรคซ่อนอยู่ ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือน เช่น ช็อกโกแลตชีสต์ หรือว่าเป็นโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีเนื้องอกมดลูกก็จะทำให้มีอาการปวดได้ ในกลุ่มนี้พบได้บ่อย ยิ่งในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อายุ 20 ปลาย ๆ ขึ้นไป
           เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นปฐมภูมิ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น ผู้มีสัญญาณอันตรายควรมาพบแพทย์ก่อน เพื่อตรวจวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ทุติยภูมิ ไม่ใช่เนื้องอก ไม่ใช่ซีสต์ ไม่ใช่ภาวะอย่างอื่น แต่ถ้าตรวจวินิจฉัยแล้วพบโรคอื่นแทรกซ้อน ก็ต้องรักษาตามสิ่งที่เป็นสาเหตุ
 สัญญาณอันตราย : ปวดมากขึ้น
           ถ้าเกิดเราต้องใช้ยามากขึ้น กินยาถี่ขึ้น หรือใช้ยาที่รุนแรงมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะบอกเราได้ว่าอาการปวดมันเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นสัญญาณอันตรายที่คนไข้จะรับรู้ได้ว่า ควรจะต้องไปปรึกษาแพทย์แล้ว
           มีอาการอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น เวลามีประจำเดือนถ่ายอุจจาระเจ็บปวด ปัสสาวะมีเลือดออกมาด้วย หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วเจ็บปวดมาก ก็ถือเป็นเรื่องผิดปกติเช่นกัน
           ในประจำเดือนปกติ รอบหนึ่งจะมีปริมาณไม่เกิน 70-80 ซี.ซี. แต่จะมีใครที่รู้ว่าประจำเดือนมากี่ซี.ซี. เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ตัวเองต้องมีการจดบันทึกว่า มีประจำเดือนกี่วันและมีลักษณะเป็นอย่างไร
 การรักษาอาการปวดประจำเดือนผิดปกติ
           เราใช้วิธีรักษาด้วยยา เช่น อาจใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มที่ต่อต้านโปรสตาแกลนดิน ลดระดับของโปรสตาแกลนดินลง หรือให้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาระดับไม่ให้มีการหลั่งโปรสตาแกลนดินสูงในบางช่วง แต่โดยทั่วไป ถ้าคนยังไม่มีครอบครัวเนี่ย การกินยาคุมกำเนิดก็อาจดูไม่ค่อยเหมาะสม ก็อาจจะต้องกินยาแก้ปวดไป ซึ่งมีเทคนิคอีกก็คือ เรารู้ว่า จะปวดประจำเดือน เมื่อไหร่ก็กินยาก่อนนิดหน่อยเพื่อที่จะออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ส่วนยาคุมกำเนิดที่ออกฤทธิ์ลดระดับโปรสตาแกลนดินอาจจะดีจริง ๆ แต่ว่าเราต้องกินต่อเนื่อง ข้อดีก็คือกลุ่มที่ยังไม่อยากมีบุตรอาจใช้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดไปด้วยร่วมกับยาลดอาการปวดประจำเดือน แต่ถ้ารักษาแล้วเกิดไม่ดีขึ้น เราก็ต้องกลับไปดูว่ามีสาเหตุอื่นรึเปล่า
 หากมีเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือน
           อันนี้ไม่เกี่ยวกับปวดประจำเดือนแล้ว อาจจะเป็นอาการเลือดออกผิดปกติที่เราต้องดูว่ามีสาเหตุเกี่ยวกับอะไร ถ้าเกิดมันไม่ออกมาตามประจำเดือนที่ควรจะเป็น เช่น ออกระหว่างรอบเดือน เลือดออกผิดปกติ คือออกเยอะ คล้าย ๆ ประจำเดือนแต่ไม่ได้ออกตามรอบเดือน ก็ถือว่าผิดปกติ และต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ยิ่งอายุมาก ๆ อย่าง 40 ขึ้นไป เราก็ต้องระวังโรคอย่างอื่น ให้สังเกตและจดไว้ให้ดี อันนี้คือหน้าที่ที่ควรจดจำไว้ เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้หญิงสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น
           การสังเกตตัวเองเป็นสิ่งง่ายที่สุดที่จะช่วยตัวเองและอาจจะช่วยหมอด้วยในการให้คำวินิจฉัยที่แม่นยำ หรือถ้าเกิดมีความผิดปกติ จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก็อย่าไปกลัวทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจภายในทั้งหมด การรักษาหรือการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมืออย่างอื่นก็มีตั้งเยอะ การตรวจภายในก็อาจจะไม่ต้องทำทุกคน ใครที่ทำได้ก็ทำจริง ๆ แล้วรอยโรคที่เป็นหลายอย่างสามารถตรวจได้โดยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การตรวจภายในคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกคนควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปี ซึ่งจะสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูก (และลดอัตราการตาย) ในประเทศเราที่ตอนนี้เป็นอันดับ 2 โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและรักษาได้ทันท่วงทีก็ขอฝากสาว ๆ ด้วยนะครับ
 ทายซิความเชื่อเหล่านี้ผิดหรือถูก
           1. ผู้หญิงทุกคนต้องปวดประจำเดือน
           2. ผู้หญิงมีประจำเดือน ไม่สามารถออกกำลังกายได้ (รวมถึงว่ายน้ำ)
           3. อาหารการกินและความเครียดมีผลต่อระยะเวลาการมีประจำเดือน
           4. ถ้ามีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือน คุณจะไม่ตั้งครรภ์
           5. ถ้าใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เยื่อพรหมจรรย์จะฉีกขาด
 เฉลย
           1. ผิด บางคนไม่เคยปวดมาก่อนในชีวิตก็มี อนึ่งอาการปวดจะพีคสุดภายใน 24 ชั่วโมงแรกของรอบประจำเดือนนั้น หลังจากนั้นมักจะหายไปตามธรรมชาติ
           2. ผิด การมีประจำเดือนไม่ใช่ความเจ็บป่วย ผู้หญิงทุกคนสามารถออกกำลังกายรวมถึงว่ายน้ำได้ ในขณะที่มีประจำเดือน
           3. ถูกต้อง
           4. ผิด ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ ยิ่งถ้าระยะการมีประจำเดือนสั้นแล้ว คุณอาจจะตกไข่ในวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน อีกข้อหนึ่งก็คือ อสุจิสามารถอยู่ได้ 5-6 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์เชียวนะ
           5. ผิด เยื่อพรหมจรรย์มาในหลายรูปร่างและขนาด ส่วนใหญ่จะมีช่องเปิดให้ประจำเดือนไหลออก แต่เยื่อนี้ อาจฉีกขาดได้ง่าย ๆ ในขณะที่ปีนต้นไม้หรือเล่นกีฬา อีกอย่างก็คือเยื่อพรหมจรรย์ไม่ใช่เครื่องวัดความบริสุทธิ์ของสาว ๆ นะจ๊ะ
 Home Care : บรรเทาปวดประจำเดือนได้ง่าย ๆ ที่บ้าน
           •    วางถุงน้ำร้อนไว้ที่ท้องน้อย (ใต้สะดือ) แต่อย่าวางแล้วเผลอหลับไปนะ
           •    ใช้ปลายนิ้วนวดท้องน้อยเบา ๆ เป็นวงกลม
           •    ดื่มน้ำอุ่น อาบน้ำอุ่น
           •    แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ กินอาหารที่อุดมไปด้วย คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น โฮลเกรน ผักและผลไม้ แต่ให้อยู่ห่างจากเกลือ น้ำตาล แอลกอฮอล์ และกาเฟอีน
           •    ในขณะที่นอนให้ยกขาขึ้นสูง หรือนอนตะแคงแล้วงอเข่าเล็กน้อย
           •    ฝึกผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ หรือโยคะ
           •    สำหรับคนที่กินยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน ให้เริ่มกินก่อน มีประจำเดือนหนึ่งวัน
           •    ลองกินวิตามินบี 6 แคลเซียม และแมกนีเซียมเป็นอาหารเสริม โดยเฉพาะถ้าคุณปวดจากอาการ PMS
           •    เดินหรือออกกำลังเป็นประจำ อย่าลืมบริหารส่วนอุ้งเชิงกราน
           •    ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน
ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=908

อัพเดทล่าสุด