รังไข่ท่อนำไข่ดีอยู่หรือเปล่า


1,055 ผู้ชม


"รังไข่ท่อนำไข่ดีอยู่หรือเปล่า"

     รังไข่และท่อนำไข่ เป็นอวัยวะภายในที่ไม่ควรมองข้ามและต้องใส่ใจดูแลเช่นเดียวกับอวัยวะภายในอื่นๆ เพราะหากเกิดความผิดปกติอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ และเจ้าตัวเล็กได้นะคะ

หน้าที่ของรังไข่และท่อนำไข่
             รังไข่ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และฮอร์โมนอื่นๆ รวมทั้งทำหน้าที่ผลิตไข่ไปจนกว่าจะถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งการทำงานของรังไข่จะมีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมาช่วยกระตุ้นอีกทอดหนึ่ง
             ท่อนำไข่ มีหน้าที่ตามชื่อเลยค่ะ คือนำไข่ที่ตกจากรังไข่ให้ลอยเข้าไปในท่อเพื่อเก็บไข่ และเมื่อมีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิ ท่อนำไข่นี้เองที่จะทำหน้าทำลำเลี้ยงไข่ไปฝังตัวในมดลูก
โรคที่อาจเกิดขึ้น
รังไข่ อาจมีโรคเกิดขึ้นได้โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
             - โรคที่เกิดกับรังไข่โดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของเนื้องอก มีตั้งแต่ที่ไม่ร้ายแรง เช่น ซีสต์ ถุงน้ำ และเนื้องอก ไปจนถึงขั้นร้ายแรงอย่างมะเร็ง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคเหล่านี้ไม่สามารถระบุได้อย่างาชัดเจน เนื่องจากเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งความผิดปกติของฮอร์โมนและการตกไข่ที่ไม่ปกติ
             - โรคที่เกิดจากรังไข่ทำงานผิดปกติ เนื่องจากการทำงานของรังไข่ต้องเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อฮอร์โมนผิดปกติก็ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติไปด้วย ทำให้ไม่มีการตกไข่ หรือผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้ไม่ดี ซึ่งจะถือว่าเป็นโรคของรังไข่ได้เช่นกัน
ส่งผลต่อการตั้งครรภ์มั้ย
             ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย หรือเป็นซีสต์ธรรมดาก็ไม่ถือว่าร้ายแรงค่ะ เพราะถึงแม้เนื้องอกอาจทำให้ไม่มีไข่ตก หรือผลิตฮอร์โมนไม่ได้ หรือผลิตผิดเพี้ยนไป ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ เพราะรังไข่ของผู้หญิงเรามี 2 ข้าง ถ้าอีกข้างหนึ่งปกติก็ทำงานได้เหมือนเดิม
             ส่วนคุณแม่ท้องก็มีโอกาสเกิดความผิดปกติที่รังไข่ได้เหมือนผู้หญิงทั่วไป ถ้าเป็นโรคในกลุ่มที่ไม่รุนแรงอย่างเนื้องอก หรือซีสต์ธรรมดา คุณหมอบอกว่าแทบจะไม่ส่งผลต่อลูกในท้องเลยค่ะ แต่ควรตรวจติดตามผลไปเรื่อยๆ หากมีขนาดโตผิดปกติจะต้องผ่าตัดออก เพราะเสี่ยงต่อการบิดตัว ที่อาจทำให้กล้ามเนื้อตายเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นได้ (กรณีนี้เกิดขึ้นได้ทั้งคนท้องและไม่ท้องค่ะ)
             แต่ถ้าคุณแม่ท้องมีมะเร็งรังไข่ ก็ต้องผ่าตัดเอารังไข่ออก หากลูกในท้องยังเล็กอยู่ก็จำเป็นต้องเลือกรักษาชีวิตคุณแม่ไว้ แต่ก็ไม่เสมอไปนะคะ บางกรณีคุณแม่ยังมีโอกาสรอให้ลูกคลอดออกมาก่อน แล้วจึงทำการรักษาภายหลังได้ค่ะ
             ท่อนำไข่ โรคที่พบบ่อยจะเป็นกลุ่มอาการอักเสบติดเชื้อ ที่หลายคนคุ้นเคยกับคำว่าปีกมดลูกอักเสบ ซึ่งความจริงแล้วคือท่อนำไข่อักเสบติดเชื้อนั่นเอง
             สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม เป็นต้น ส่วนเนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดกับท่อนำไข่จะพบน้อยมาก
ส่งผลต่อการตั้งครรภ์มั้ย
             ความรุนแรงของโรคอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
             - ระยะสั้น ถ้าท่อนำไข่เกิดการอักเสบรุนแรง จะทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย รุนแรง มีไข้สูง ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นและเป็นหนอง อาจกลายเป็นฝีได้
             - ระยะยาว ถ้าติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เช่น หนองในเทียม ในระยะสั้นอาจไม่ส่งผลรุนแรงมากนัก แต่อาจทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กลายเป็นฝีและเป็นหนองที่ห่อนำไข่ได้เช่นเดียวกัน
             กรณีที่อักเสบเรื้อรังในระยะยาว การทำงานของท่อนำไข่จะเสียไป ท่อนำไข่อาจตันหรือตีบ ซึ่งจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง เนื่องจากไม่สามารถลำเลียงไข่ไปยังโพรงมดลูกได้ เมื่อไข่ผสมกับเชื้ออสุจิก็จะทำให้เกิดการท้องนอกมดลูก ซึ่งมีความอันตรายสูงหรือบางรายก็ทำให้มีลูกยาก
รักษาอย่างไร
             มีตั้งแต่การให้กินยาและผ่าตัด เช่น
             หากเป็นซีสต์ธรรมดา ถ้ามีขนาดเล็กคุณหมอจะให้กินยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด ซีสต์จะค่อยๆ ยุบไปเอง แต่อาจกลับมาเป็นอีกได้
             หากเป็นช็อกโกแล็ตซีสต์หรือเนื้องอกต้องผ่าตัดออก เพราะอาจเป็นได้ทั้งเนื้อดีและเนื้อร้าย และถ้าเป็นถุงน้ำจะรักษาด้วยการเลาะออก โดยเหลือส่วนดีของเนื้อรังไข่ไว้ เพราะในรังไข่หนึ่งข้าง ถ้ามีเนื้อรังไข่สัก 10% ก็สามารถทำงานได้เป็นปกติ
             อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคที่รังไข่หรือท่อนำไข่ คุณหมอบอกว่าหากรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลัก คือวัยและความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย หากผู้ป่วยอยู่ในวัยหมดประจำเดือนก็ตัดรังไข่หรือท่อนำไข่ทิ้งได้ แต่หากผู้ป่วยยังอยู่ในวัยมีประจำเดือนและมีความต้องการจะมีบุตรอีก ในกรณีที่ไม่ร้ายแรงมากนักก็ไม่จำเป็นต้องตัดรังไข่หรือท่อนำไข่ทิ้งค่ะ
ดูแลอย่างไม่เกิดโรค
             ถ้าพูดถึงตัวโรคอาจจะป้องกันลำบากค่ะ แต่ถ้าเป็นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงก็พอป้องกันได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมทางเพศ
             นอกจากนั้น โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏอาการให้เห็น คุณหมอจึงแนะนำให้ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรไปตรวจภายใน เพราะหากตรวจพบความผิดปกติก็จะรักษาได้ทันท่วงที
             รู้ความลับที่ซ่อนอยู่อย่างนี้แล้ว ไม่ควรนิ่งนอนใจกับเรื่องของรังไข่และท่อนำไข่นะคะ ต้องให้เวลากับสุขภาพด้วยการไปตรวจภายในเพื่อความปลอดภัยด้วยค่ะ
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=491

อัพเดทล่าสุด