งานวิจัยใหม่!!! ยาที่ช่วยให้ไม่เกิดอาการติดมอร์ฟีน/เฮโรอีน


927 ผู้ชม


น้าที่ 1 - ยาใหม่...ลดอาการเสพติดมอร์ฟีน/ เฮโรอีน

ยาในกลุ่มโอปิออยด์ (opioid) เป็นยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพสูงที่ออกฤทธิ์บริเวณสมองและระบบประสาทเป็นหลัก มีประโยชน์มากในการใช้ระงับความเจ็บปวดขั้นรุนแรงในโรคต่างๆ เช่น การผ่าตัด ความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากเป็นยาที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทจึงต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ มิฉะนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายและก่อให้เกิดการเสพติดได้ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ มอร์ฟีน (morphine), บิวพรีนอร์ฟีน (buprenorphine), เฟนทานิล (fentanyl), เมทาโดน (methadone), เฮโรอีน (heroin) เป็นต้น

อาการติดยาเกิดจาก เมื่อยาในกลุ่มโอปิออยด์จับกับตัวรับสัญญาณ (Opioid receptor) แล้ว จะไปกระตุ้นการจับกันระหว่าง TLR4 (Toll-Like Receptor4)และ MD2 (Myeloid differentiation factor2) ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังสมองส่วน nucleus accumbens ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเกิดอารมณ์แบบต่างๆ หรือเกิดแรงจูงใจ เมื่อ nucleus accumbens ถูกกระตุ้นจากสารกลุ่มโอปิออยด์จะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนได้รับรางวัลและมีความสุข แต่เมื่อใช้ยาในปริมาณเดิมๆ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง สมองก็จะปรับตัวโดยการลดระดับการตอบสนองต่อยาลดลง (หลั่งโดปามีนลดลง) ทำให้เมื่อใช้ยาปริมาณเท่าเดิมจะไม่มีความสุขเพลิดเพลินได้มากเท่าเดิมอีกต่อไป จึงต้องเพิ่มขนาดและความถี่ของการใช้ยาเพื่อให้ได้ความพึงพอใจในระดับที่ต้องการจนกลายเป็นการติดในที่สุด

 

เมื่อใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์มากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะกดการหายใจ หัวใจเต้นช้าลง หรืออาจช็อคได้ ที่ผ่านมาจึงได้มีการใช้ยา naloxone เพื่อรักษาอาการข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ โดย naloxone นี้เป็น competitive inhibitor กล่าวคือจะไปแย่ง MD2 จับที่ TLR4  ทำให้ฤทธิ์ของยาในกลุ่มโอปิออยด์ลดลง ซึ่งทำให้อาการเสพติดอันเนื่องมาจากการใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์ลดลงด้วย

ดอกเตอร์มาร์ค ฮัทชินสัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Adelaide และศาสตราจารย์ลินดา วัตส์กินส์ จากมหาวิทยาลัย Colorado ได้ตระหนักถึงปัญหาของผลข้างเคียงจากการใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์นี้และเล็งเห็นความสามารถในการยับยั้งฤทธิ์ยาในกลุ่มโอปิออยด์ของ naloxone จึงได้ศึกษากลไกการทำงานของ naloxone ในการต่อต้านฤทธิ์ของสารกลุ่มโอปิออยด์ แล้วทำการพัฒนา naloxone ขึ้น เพื่อนำคุณสมบัติการยับยั้งการเสพติดของ naloxone ไปประยุกต์ใช้กับยาในกลุ่มโอปิออยด์ที่มีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวด โดยดัดแปลง naloxone ให้ไปจับกับยาในกลุ่มโอปิออยด์ได้ ซึ่ง naloxone ที่ถูกดัดแปลงใหม่นี้ มีชื่อว่า (+)- naloxone  

โดยปกติ การตอบสนองต่อการหลั่งโดปามีนของยาในกลุ่มโอปิออยด์ (opioid) นั้นจะทำให้เกิดการหลั่งในปริมาณมากๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการติดยา แต่ด้วยความสามารถของ (+)- naloxone ที่จับกับยาในกลุ่มโอปิออยด์นี้ จะทำให้การตอบสนองต่อการหลั่งโดปามีนนั้นอยู่ในระดับเดียวกับการตอบสนองทั่วไปเช่นเดียวกับการกินอาหาร ทำให้ไม่เกิดการเสพติด

 

หลังจากที่ผู้วิจัยได้ดัดแปลง naloxone จนได้ (+)- naloxone แล้ว เพื่อทดสอบคุณสมบัติในการยับยั้งการเสพติด จึงได้นำ(+)- naloxone ไปทดสอบกับหนูที่ได้รับยาเรมิเฟนทานิล (remifentanil) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์ พบว่า (+)- naloxone สามารถยับยั้งอาการติดยาได้ ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงนำ (+)- naloxone ไปใช้ร่วมกับมอร์ฟีนเพื่อทดสอบในหนูอีกครั้ง ซึ่งผลที่ได้ออกมาทำนองเดียวกันคือ สามารถลดการหลั่งโดปามีนที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ อีกทั้งยังสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดอันเนื่องมาจากฤทธิ์ของมอร์ฟีนได้อีกด้วย 

จากผลที่ได้ทำให้ผู้วิจัยเชื่อว่า (+)- naloxone น่าจะสามารถนำไปใช้ร่วมกับยาในกลุ่มโอปิออยด์ตัวอื่นๆ ได้และได้ผลเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าผลการทดลองกับมนุษย์ได้ผลสำเร็จแบบที่ทดลองในหนู จะสามารถนำ (+)- naloxone นี้ไปช่วยผู้ป่วยได้อีกมากมาย โดยไม่ต้องกลัวผลข้างเคียงจากการใช้ยาภายหลังจากการรักษาเสร็จสิ้น  
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/44047

อัพเดทล่าสุด