โรคเมลิออยโดสิส (MELIOIDOSIS)


1,349 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis)

           เมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีสาเหตุจาก Burkholderia (Pseudomonas ) pseudomallei ซึ่งพบได้ในคน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แพะ แกะ หมู โค กระบือ โรคนี้พบได้มากในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือ โดยเฉพาะในประเทศไทย มีผู้ป่วย 2000 -3000 รายต่อปี อุบัติการณ์ของโรคมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉลี่ย 4.4 ต่อ 100,000 คน พบผู้ป่วยมากในฤดูฝน

           เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งไม่มีอาการจำเพาะ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด หรือมีอาการรุนแรง เช่น พบเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ หรือม้าม หรือพบการติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรวดเร็ว
เชื้อก่อโรค
           Burkholderia pseudomallei เป็นแบคทีเรีย ชนิด Gram negative bacilli มีลักษณะจำเพาะ คือ เซลล์จะติดสีเข้มหัวท้าย เมื่อย้อมด้วยสี Gram Stain หรือ Wayson Stain ทำให้มีลักษณะคล้ายเข็มกลัดซ่อนปลาย ไม่สร้างสปอร์ เคลื่อนที่โดยใช้ flagella เชื้อสามารถเจริญได้ดีในอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียทั่วๆไป ลักษณะโคโลนีและสีจะเปลี่ยนเเปลงตามชนิดอาหารเลี้ยงเชื้อ มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเจริญได้ในภาวะเป็นกรด pH 4.5-8 และอุณหภูมิระหว่าง 15-42 องศาเซลเซียส
ระบาดวิทยา
           ในประเทศไทยมีรายงานแยกเชื้อได้จากดิน และน้ำ ของทุกภาค พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 biotypes เชื้อที่แยกได้จากผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์ Arabinose negative (Ara-) ในขณะที่แยกได้จากสิ่งแวดล้อมมีทั้ง Arabinose negative และ Arabinose positive (Ara+) ความสามารถในการก่อโรคของสายพันธุ์ Ara- มากกว่า Ara+ โดยมีค่า LD50 เท่ากับ 102 cfu/mouse และ 109 cfu/mouse ตามลำดับ ปัจจุบัน Ara+ ถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์ใหม่ ชื่อ Burkholderia thailandnensis
วิธีการติดต่อ
           โดยทั่วไปสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดิน หรือน้ำผ่านทางแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อ หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปนเชื้อเมลิออยโดสิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ ที่อยู่ในดินและน้ำ
ระยะฟักตัว
           ระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 2 วัน หรือเป็นปีขึ้นอยู่กับระยะการติดเชื้อ และการแสดงอาการของโรค

อาการของผู้ติดเชื้อ
           1. อาการไข้นานไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมาพบยแพทย์ด้วยอาการมีไข้เป็นเวลานาน โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบว่าน้ำหนักลดลง ร่างกายอ่อนแพลีย ต่อมาจึงเกิดอาการที่รุนแรงขึ้น
           2. ผู้ป่วยมาด้วยอาการของการติดเชื้อเฉพาะที่ ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อที่ปอด มีอาการเหมือนปอดอักเสบคือ มีไข้ ไอมีเสมหะเล็กน้อย น้ำหนักลด บางรายไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก พบว่าการเกิดโรคมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายมีอาการของฝีในตับ ฝีในกระดูกหรือเป็นเพียงฝีที่ผิวหนังเท่านั้น ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องอาจเกิดอาการรุนแรงขึ้น
           3. การติดเชื้อในกระแสโลหิต เชื้อจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตภายใน 2-3 วันหลังเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยร้อยละ 60 ไม่มีประวัติเป็นมาก่อน ร้อยละ 30 มีประวัติเป็นโรคเมลิออยโดสิสที่ปอดมาก่อน และร้อยละ 20 มีประวัติเป็นโรคเมลิออยโดสิสที่บริเวณผิวหนัง และบริเวณอื่นๆ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสชนิดติดเชื้อในกระแสเลือดประมาณร้อยละ 70

การวินิจฉัยโรค
           อาการ และอาการแสดงของผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นหลายโรคเช่น เลปโตสไปโรซิสสครับไทฟัส มาเลเรีย ดังนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงมีความสำคัญมาก การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง รวดเร็วจะมีผลต่อการรักษา และการรอดชีวิตของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตเฉียบพลันมักเสียชีวิตเร็วหลังการรักษา 1-2 วัน
           1. การเพาะเชื้อแบคทีเรียเป็นวิธีมาตรฐาน สามารถเพาะแยกเชื้อได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อปกติ ใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน ตัวอย่างที่ใช้ตรวจ ได้แก่ เลือด เสมหะ น้ำจากปอด หนองจากฝี ปัสสาวะ เมื่อเชื้อขึ้นจะทำการพิสูจน์ชนิดของเชื้อด้วยการทดสอบทางชีวเคมี และทดสอบความไวต่อสารต้านจุลชีพซึ่งจะช่วยให้สามารถเลือกใช้ยารักษาได้เหมาะสม การเลือกใช้อาหารเลี้ยงเชื้อชนิด meat nutrient agar หรือการเติม 1-5% glucose ลงไปในอาหารเลี้ยงเฃื้อ ช่วยให้ผลเพาะเชื้อดีขึ้นร้อยละ 30
           2. การตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อ B. pseudomallei ในซีรัมผู้ป่วย
                วิธี IHA เป็นการทดสอบโดยใช้เม็ดเลือดแดงที่เคลือบแอนติเจนของ B. pseudomallei ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีจำเพาะในซีรัมผู้ป่วย ในกรณีที่มีการติดเชื้อจะเกิดการจับกลุ่มของเม็ดเลือดแดง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
                วิธี IFA เป็นการตรวจแอนติบอดีจำเพาะชนิด IgG และ IgM ในซีรัมผู้ป่วย ต่อเชื้อ B. pseudomallei ที่เคลือบไว้บนสไลด์ และติดตามปฏิกิริยาด้วยการย้อมสารที่ติดฉลากด้วยสารเรืองแสง ซึ่งจะเห็นตัวเชื้อ B. pseudomallei เรืองแสงสีเขียวเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดเรืองแสง
                      ♦ วิธี ELISA เป็นการตรวจแอนติบอดีต่อ B. pseudomallei ในซีรัมผู้ป่วยโดยการทำปฏิกิริยากับสารสกัดจาก B.pseudomallei ที่เคลือบไว้บนไมโครเพลตหรือเมมเบรน และติดตามปฏิกิริยาด้วยแอนติบอดีจำเพาะต่อ IgG หรือ IgM ที่ติดฉลากด้วยเอ็นซัยม์ ทำให้เกิดสีซึ่งสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือวัดปริมาณด้วยเครื่องวัด
           3. การตรวจแอนติเจนของเชื้อในตัวอย่างของผู้ป่วย ซึ่งได้แก่ เลือด ปัสสาวะ หนอง วิธีทีใช้ทดสอบทำได้หลายวิธี ช่วยให้สามารถวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้เร็วขึ้น
           4. การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี PCR มีการศึกษาวิจัยในหลายสถาบัน พบว่ามีความไว และความจำเพาะสูง แต่ยังไม่แพร่หลายในห้องปฏิบัติการทั่วๆ ไป
           5. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้พัฒนาชุดทดสอบสำหรับตรวจแอนติบอดีด้วยวิธี IHA โดยใช้extracellular protein (EXP) เป็นแอนติเจนเคลือบเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีความไวและความจำเพาะเท่ากับร้อยละ 88.6 และ 93.3 ตามลำดับ ได้ผลิตเพื่อให้การสนับสนุนแก่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการทั่วไป นอกจากนั้นยังให้บริการการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี IFA และ IHA

การรักษาโรค
           1. เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว การใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ยาที่นิยมใช้กันได้แก่ tetracycline, chloramphenicol, kanamycin, cotrimoxazole และ novobiocin ที่ใช้ได้ผลดีคือ ceftazidime 4 กรัม/วัน นาน 1 เดือน ต่อเนื่องด้วย tetracycline นาน 6 เดือน
           2. ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาแบบยาชนิดเดียว โดยใช้ ceftazidime 120 มก./กก./วัน โดยฉีดเข้ากล้าม หรือฉีดเข้าเส้นเลือดนาน 14 วัน ในผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งให้ผลอัตราการรอดชีวิตประมาณร้อยละ 60 แบะการรักษาแบบยา 2 ชนิด ceftazidimne 100 มก./กก./วัน ร่มกับ cotrimoxazoleนาน 7 วัน อัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยหนักถึงร้อยละ 70-75 จากนั้นผู้ป่วยควรได้ยาชนิดรับประทานต่อไป
           3. ในรายที่มีฝีจะต้องมีการผ่าตัดเอาฝีออก ซึ่งจะให้ผลดีกว่าการใช้เข็มเจาะ หรือดูดเอาแต่หนองออก การทำผ่าตัดควรทำเมื่อตรวจไม่พบเชื้อในกระแสโลหิตแล้ว
           สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้พัฒนาชุดทดสอบสำหรับตรวจแอนติบอดีด้วยวิธี IHA โดยใช้ Extracellular protein (EXP) เป็นแอนติเจนเคลือบเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีความไวและ ความจำเพาะเท่ากับ 88.6% และ 93.3% ตามลำดับ ได้ผลิตเพื่อให้การสนับสนุนแก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการทั่วไป นอกจากนั้นยังให้บริการการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี IFA และ IHA
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/43712

อัพเดทล่าสุด