5 สาเหตุใกล้ตัวก่อมะเร็ง


1,196 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - 5 สาเหตุใกล้ตัวก่อมะเร็ง

            หนังสือ The America Cancer Society’s book กล่าวว่า กระบวนการก่อตัวของเซลล์มะเร็งนั้นเกิดจากปัจจัยหลากหลายทั้งจากภายนอกและภายใน เช่น สารก่อมะเร็งที่คนเราได้รับในชีวิตประจำวัน และการทำกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นให้เซลล์ทำงานผิดปกติ


            แม้ปัจจุบันวงการแพทย์จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าสาเหตุใด คือ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าสาเหตุดังต่อไปนี้ คือ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเนื้องอกและเซลล์ร้ายในร่างกาย
1. ภูมิชีวิต (Immune System) บกพร่อง
            “มะเร็งไม่ใช่โรค” คือ คำกล่าวที่อาจารย์สาทิสอินทรกำแหง กูรูชีวจิตกล่าวถึงโรคมะเร็งในหนังสือมะเร็งแห่งชีวิต เพราะความเจ็บป่วยที่ถือว่าเป็นโรค ซึ่งอาจารย์สาทิสยึดตามคำจำกัดความด้านการแพทย์นั้นต้องเกิดจากเชื้อโรคเป็นต้นเหตุ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และพยาธิเท่านั้น ส่วนมะเร็งนั้นถือว่าเป็นเนื้องอกหรือกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ร้ายนั้น คือ กระบวนการกลายพันธุ์ และปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ก็คือ ความบกพร่องของภูมิชีวิตนั่นเอง
            อาจารย์สาทิสกล่าวว่า “Immune System เป็นตัวคุ้มครองป้องกันชีวิตของคุณเหมือนอย่างตำรวจ ทหารที่เป็นผู้คุ้มกันสร้างความสงบสุขให้กับประเทศ...นอกไปจากนั้น Immune System ยังเป็นผู้ทำนุบำรุงเลี้ยงร่างกายให้ใหญ่โต แข็งแรง เป็นตัวสร้างพลังทั้งปกติและพิเศษในตัวคนเราอีกด้วย
             “Immune System ตามแนวทางชีวจิต นอกจากจะหมายถึง Immune System โดยตรงแล้วยังครอบคลุมไปถึงระบบอื่นๆของร่างกายด้วย เช่น ระบบย่อย ระบบเลือด”
            ดังนั้นความบกพร่องของ Immune System จึงทำให้อวัยวะในร่างกายและเซลล์ต่างๆทำงานผิดปกติ ซึ่งปัจจัยที่ทำลาย Immune System ก็คือ การที่ร่างกายมีสารพิษหรือ Toxin มากเกินไป ซึ่งอาจารย์สาทิสกล่าวว่า ความผิดทั้งทางกายและทางใจล้วนเป็นตัวสร้าง Toxin ไม่ว่าจะเป็นการกิน นอน พักผ่อน ทำงานที่ผิด และขาดการออกกำลังกายรวมถึงความเครียด
            เมื่อร่างกายสะสม Toxin ไว้มากโดยไม่ได้ขับออกโดยระบบขับถ่ายหรือการออกกำลังกาย สารพิษต่างๆจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ Immune System และการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายบกพร่อง
            การดูแลรักษาภูมิชีวิตให้แข็งแรงจึงเป็นดั่งปราการปกป้องมะเร็งได้ค่ะ

2. พฤติกรรมการกิน
            คำกล่าวที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอนั้นสามารถใช้ได้กับทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่การกิน เพราะเมื่อใดที่เรากินอาหารดีมีประโยชน์ เซลล์ทั่วร่างกายก็จะเติบโตแข็งแรง แต่เมื่อใดที่เรากินอาหารที่อุดมไปด้วยแป้งขาว ไขมัน และสารพิษ เมื่อนั้นร่างกายก็จะอ่อนแอ และถูกโรคภัยนานาชนิดคุกคามได้ง่าย
            พฤติกรรมการกินแบบชาวตะวันตกนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้ร่างกายทำ งานผิดปกติ เพราะอาหารที่ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เต็มไปด้วยแป้งและเนื้อสัตว์ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ร้าย
            อาหารฟาสต์ฟู้ดยังเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ระบบเผาผลาญน้ำตาล ก่อให้เกิดอาการอักเสบในเซลล์และอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ส่งเสริมให้เกิดเซลล์มะเร็งด้วย
            ดังที่อาจารย์สาทิส กล่าวว่า “อาหารที่เข้าปากเรากับอาหารที่ไปบำรุงร่างกายนั้นไม่เหมือนกัน เพราะเมื่ออาหารเข้าสู่ร่างกาย ก็จะถูกย่อยและทำให้เป็นสารอาหาร”
            ดังนั้น ถ้าเรากินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น แป้งขัดขาว เนื้อสัตว์ที่อุดมไปด้วยกรดแอมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย และไขมันเลวชนิดที่ร่างกายไม่ต้องการ เมื่อเข้าสู่ระบบย่อยก็จะกลายเป็นสารพิษ และจะถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ร่างกายของเราจึงเต็มไปด้วยสารพิษซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ Immune System ตก
            ที่สำคัญยังก่อให้เกิดโรคอ้วนด้วย ซึ่งโรคอ้วนก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคไขมันในเส้นเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ทั้งยังมีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์
            จากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 17 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวเกินจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูก หมาก 34 เปอร์เซ็นต์ และในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม มากกว่าผู้หญิงน้ำหนักปกติ 2 เท่า
            นอกจากนี้การดื่มแอลกฮอล์ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งด้วยดังที่ The National Institutes of Public Health in Denmark ศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชากรชายชาวเดนมาร์คจำนวน 30,000 คน พบว่าผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์มากกว่าวันละ 2 แก้วทุกวัน จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectal Cancer) มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มสามเท่า
            และผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์วันละครึ่งแก้วทุกวัน จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมมากว่าผู้หญิงทั่วไป 6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์มากกว่าวันละ 2 แก้วทุกวัน จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมมากว่าผู้หญิงทั่วไป 21 เปอร์เซ็นต์
            เรื่องใกล้ตัวอย่างอาหารการกินจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญก่อมะเร็งค่ะ
3. วิถีชีวิต
            เราอาจกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตนั้นสามารถก่อมะเร็งได้เท่าๆกับป้องกันมะเร็ง เพราะวิถีชีวิตที่ดีนั้นสามารถป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ได้ เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะมีระบบเผาผลาญ ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบกำจัดของเสียออกจากร่างกายที่มีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลัง กาย ขณะที่การดำเนินชีวิตแบบไม่ใส่ใจสุขภาพ ส่งผลให้คนเรามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เช่น ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และดื่มแอลกฮอล์ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ร่างกายอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
            จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตและการเกิดโรคมะเร็ง พบว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งสูงกว่าผู้ที่ออกกำลัง กายเป็นประจำ เพราะมีไขมันสูงและการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยก่อโรคมะเร็งเช่นกัน
        นอกจากนี้ความเครียดยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย เพราะเมื่อเครียดร่างกายจะทำงานผิดปกติ และระบบต่างๆในร่างกายจะแปรปรวน
        ดังอาจารย์สาทิส กล่าวว่า “เมื่อคุณคิดผิดๆ คิดถึงแต่ความโลภ ความโกรธ ความเกลียด หรือคิดถึงแต่ความอยากได้ อยากได้อะไรต่ออะไรร้อยแปด นั่นคือ มะเร็งในความคิด...มะเร็งในความคิดจะขยายต่อไปเป็นมะเร็งในร่างกาย”
            การใส่ใจสุขภาพด้วยการหันมาออกกำลังกาย ลดความเครียด และกินอาหารที่มีประโยชน์ จึงเป็นเกราะป้องกันมะเร็งและโรคร้ายอื่นๆได้ เพราะสาเหตุใกล้ตัว คือ ต้นตอใหญ่ของมะเร็งร้ายทุกชนิด
4. สิ่งแวดล้อม
            การมีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีนั้น ถือเป็นหนึ่งในปัญจกิจของชีวจิตที่อาจารย์สาทิสได้บัญญัติขึ้น เพราะการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากสารพิษนั้นส่งเสริมให้เรามีสุขภาพดี
            ในทางกลับกัน หากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษสุขภาพของเราก็จะทรุดโทรม และถูกโรคนานาชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์
            ถึงแม้ว่าร่างกายจะมีกลไกขับสารพิษโดยอัตโนมัติ แต่หากมนุษย์ได้รับสารพิษเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน เซลล์ปกติก็จะค่อยๆกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เพราะสารเคมีบางชนิดที่เราได้รับในชีวิตประจำวันนั้น สามารถทำร้ายเซลล์ได้ลึกถึงดีเอ็นเอเลยทีเดียว
            ส่วนใหญ่เรามักได้รับสารก่อมะเร็งจากอาหาร อากาศ น้ำดื่ม และอุปกรณ์อื่นๆในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ ไมโครเวฟ และการเอกซเรย์ และสารพิษที่เราได้รับมักเป็นสารเคมีจำพวกยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนที่อยู่ในเนื้อสัตว์ สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ ยาฆ่าแมลง และควันบุหรี่ซึ่งถือว่าเป็นสารพิษที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด
            The American Cancer Society เผยว่าในจำนวนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดนั้น มีผู้ที่สูดควันบุหรี่มือสองเป็นจำนวนถึง 3,000 คน และผู้ที่ได้รับสารพิษที่ตกค้างจากควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อม เช่น เส้นผม เสื้อผ้า ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีและสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะสารตะกั่วมากเช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง


            นอกจากนี้ สารตะกั่วแล้วสารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในบ้านยังส่งผลเสียต่อร่างกาย ด้วย ดังผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Occupational and Environmental Medicine ที่พบว่าสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
            นอกจากสารเคมีแล้วอาหารตัดต่อพันธุกรรมยังเป็นตัวการก่อโรคมะเร็งได้ด้วย เพราะมีรายงานว่าเมื่อเรากินอาหารตัดต่อพันธุกรรมเข้าไป อาหารดังกล่าวจะเข้าไปทำลายดีเอ็นเอในเซลล์ให้เสียหาย ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยและโรคมะเร็ง
            สิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กำหนดสุขภาพของเราทุกคน
5. พันธุกรรม
            นอกจากลักษณะทางกายภาพภายนอก เช่น สีผิว ตา และผม ที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษแล้ว บางคนยังอาจได้รับยีนส์ (Genes) หรือสารพันธุกรรมที่ซุกซ่อนการกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกายมา เช่น ยีนส์ BCRA1 และ BCRA2 ซึ่งเป็นยีนส์ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมและรังไข่มากถึง 40-80 เปอร์เซ็นต์
            นอกจากนี้โรคมะเร็งเต้านม รังไข่ ต่อมลูกหมาก และลำไส้ใหญ่ จะถูกส่งต่อจากญาติที่ใกล้ชิดที่สุดคือ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และพี่น้อง แต่การมีพันธุกรรมมะเร็งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะต้องป่วยเป็นโรค มะเร็งเสมอไป เพราะผลการศึกษาโรคมะเร็งในฝาแฝดที่มียีนส์มะเร็งทั้งคู่ พบว่าโดยทั่วไปแล้วจะมีฝาแฝดเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่เป็นโรคมะเร็ง
            ส่วนคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งนั้น ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคนี้เช่นกัน เพราะอาจมีพฤติกรรมก่อมะเร็งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การสูบบุหรี่ ความเครียด และวิถีชีวิต
            ทว่า เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยทางด้านพันธุกรรมแล้ว นักวิจัยและแพทย์ต่างเห็นว่าพันธุกรรมนั้นมีผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นปัจจัยที่ทุกคนสามารถยับยั้งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
            5 ปัจจัยก่อมะเร็งรู้ไว้ก่อนป้องกันได้ก่อนค่ะ

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/42988

อัพเดทล่าสุด