โรคหลงรูป DORIAM GREY SYNDROME


791 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - โรคหลงรูป Doriam Grey Syndrome

                  20 ปีที่แล้ว ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนชาวไอริชชื่อก้องได้ฝากผลงานวรรณกรรม แนวกอทิกเรื่องดังให้โลกรู้จัก ต้นปีที่ผ่านมา The Picture of Dorian Gray ถูกถ่ายทอดสู่แผ่นฟิล์มอีกครั้งโดยโลกภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่องราวของชายหนุ่มรูปงามผู้ถอดวิญญาณไว้ในภาพวาด ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกอาการทางจิตเวช ประเภทลุ่มหลงในรูปโฉมของตนว่า “ดอเรียน เกรย์ ซินโดรม”

ดอเรียน เกรย์ ซินโดรม คืออะไร
                  “ดอเรียน เกรย์ ซินโดรม” คือโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยลุ่มหลงอยู่กับความงามในอุดมคติ จนต้องขวนขวายหาวิธีดึงรั้งความงามนั้นไว้ไม่ให้เสื่อมหรือหายไปกับกาลเวลา คนไข้เหล่านี้มักคิดวิตกกังวลว่าตนไม่สวย ผิวไม่ดี จมูกไม่โด่ง ตาไม่โต ปากไม่อิ่ม ขาไม่เรียว เรียกว่ามีข้อตำหนิไปเสียทุกอย่าง และยังกังวลว่าคนรอบข้างจะคิดเหมือนกัน จนทำให้ซึมเศร้า เก็บตัว หมกมุ่นอยู่หน้ากระจกและใช้เวลาไปกับการสร้างความสวยงาม ทั้งการใช้เครื่องสำอางมากมาย การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับเยอะแยะ การทำศัลยกรรมตกแต่งที่ไม่มีวันจบสิ้น จนเกิดปัญหาในการเข้าสังคม
                  คนเหล่านี้มักจะหลบหน้าคนรู้จักเลี่ยงการถูกถ่ายรูป หรือแม้แต่กังวลที่จะมองเห็นตัวเองสะท้อนผ่านกระจกเงาในที่สาธารณะ บางรายอาจถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตายเพราะไม่พอใจในรูปลักษณ์ของตน ซึ่งกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อโรคนี้มากก็คือ ดารา นักแสดง หรือเซเลบริตี้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ วัยรักสวยรักงามอย่างวัยรุ่นอีกด้วย
                  อย่างไรก็ดีชื่อโรค “ดอเรียน เกรย์ ซินโดรม” เป็นเพียงชื่อเรียกทั่วไปที่ถูกหยิบยืมมาจากบุคลิกตัวละครเอกในวรรณกรรมของออสการ์ไวลด์เท่านั้น เพราะในความเป็นจริง โรคทางจิตเวช “ดอเรียน เกรย์ ซินโดรม”นั้นมีชื่อเป็นทางการว่า Body Dysmorphic Disorder หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โรคบีดีดี”
ทำความรู้จักโรคบีดีดี
                  โรคบีดีดีมีหลักฐานปรากฏขึ้น ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1886 โดยจิตแพทย์ชาวอิตาลี เอนริเก้ มอร์เซลลี เป็นผู้ให้ชื่อโรคนี้ว่า ดิสมอร์โฟโฟเบีย (Dysmorphophobia) แต่แล้วในอีก 100 ปีต่อมา เมื่อข้อมูลของโรคชัดเจนขึ้น จึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งพร้อมบรรจุในสมาคมจิตแพทย์อเมริกันในนาม Body Dysmorphic Disorder หรือ BDD
                  BDD เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่ไม่เป็นโรค (Somatoform Disorder) มีประชากรโลกราว 1 - 3 เปอร์เซ็นต์ป่วยเป็นโรคนี้ โดยมีสถิติทางการแพทย์บ่งชี้ว่า จะพบคนไข้ BDD ได้มากที่สุดในกลุ่มผู้ที่มาพบแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง
                  BDD เป็นโรคที่ไม่เลือกเพศ อัตราเสี่ยงในเพศชายและหญิงจึงเท่าๆ กัน แต่ที่น่าสนใจคือ อายุของผู้ป่วย ซึ่งมีข้อมูลการแพทย์ทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า ช่วงวัยที่สุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้มากที่สุดคือวัยรุ่น ตั้งแต่ช่วงมัธยมเป็นต้นไป เพราะอยู่ในช่วงวัยรักสวยรักงาม วัยรุ่นที่แต่งหน้าแต่งตัวจัด หรือหลงใหลกับการทำศัลยกรรมเลียนแบบไอดอลที่ชื่นชอบ อาจเข้าข่ายอาการเริ่มต้นของโรคได้ ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด
                  อย่างไรก็ดี BDD ยังเกิดกับผู้ใหญ่ได้เช่นกันแถมอาจจะแสดงอาการหนักกว่าวัยรุ่น เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนมากมาย ทั้งสถานะทางสังคมหรือกำลังทรัพย์ ตัวอย่างคนดังที่ป่วยด้วยโรคนี้คืออดีตราชาเพลงป็อปผู้ล่วงลับ ไมเคิล แจ็คสัน นั่นเอง
สาเหตุและปัจจัยการเกิด BDD
                  ยังไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าสาเหตุของโรคนี้คืออะไร แต่เท่าที่การแพทย์อธิบายได้ก็มีอยู่หลายสาเหตุได้แก่

                   ความผิดปกติของสารเคมีในร่างกาย เช่น การหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง โดยเฉพาะสารเซโรโทนิน ที่ทำให้คนไข้มีอาการร่วมกับโรคซึมเศร้า
                  
 พันธุกรรม แม้จะยังไม่มี ข้อมูลยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีสถิติน่าสนใจว่าผู้ป่วย BDD จำนวนมาก มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคทางจิตเวช
                  
 สิ่งแวดล้อม รูปแบบการดำเนินชีวิต การเลี้ยงดูสังคม และวัฒนธรรมที่หล่อหลอมชีวิต ล้วนมีส่วนสำคัญและส่งผลทางอ้อมให้เกิดโรคได้อย่างไม่รู้ตัวเช่นกัน
สัญญาณเตือน BDD
                  เพราะความงามคือ สำนึกโดยสามัญของมนุษย์ แต่สัญญาณความลุ่มหลงในความงามเหล่านี้อาจกำลังบอกได้ว่าคุณมีปัญหาทางจิตเวช และนี่คือพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้ป่วย BDD ค่ะ
                  
 อยู่หน้ากระจกได้เป็นเวลานานๆ โดยไม่ทำสิ่งอื่นใดนอกจากพินิจดูความงามและความบกพร่องของตน หรือบางครั้งก็เกลียดกลัวการส่องกระจก เพราะเกรงว่าตนเองไม่ได้สวยงามดังคาด
                  
 อำพรางจุดด้อยของตนด้วยสารพัดเครื่องสำอาง เครื่องแต่งตัวและเครื่องประดับ
                  
 วิตกกังวลว่าผู้อื่นจะเห็นความบกพร่องหรือ จุดด้อยของตน ทำให้ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หรือเลี่ยงการเข้าสังคม
                  
 มุ่งมั่นจะขจัดจุดด้อยแม้เพียงน้อยนิดด้วย การทำศัลยกรรมตกแต่ง แม้สิวเพียงเม็ดเดียวหรือริ้วรอยจางๆ บนใบหน้าก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนเหล่านี้
                  นอกจากสัญญาณผิดปกติข้างต้น อาการต่อไปนี้ก็อาจบ่งชี้ถึงโรค BDD ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปากแห้ง ร้อนวูบวาบตามตัว มือเย็นหรือมีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข มองรูปลักษณ์ตนเองในแง่ลบ มือเท้าชาไร้ความรู้สึก กลัวและหวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมซ้ำซาก เช่น ส่องกระจกบ่อยๆ มีจังหวะการหายใจสั้น กล้ามเนื้อตึงเครียด คิดหมกมุ่นอย่างควบคุมไม่ได้ และคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

BDD กับขั้วเหมือนและขั้วต่าง
                  BDD เป็นโรคทางจิตเวชที่ค่อนข้างซับซ้อน อาจเป็นได้ทั้งสาเหตุและผลลัพธ์จากโรคจิตเวชอื่นๆ ดังนั้นในกระบวนการวินิจฉัยเพื่อทำการรักษา จึงเป็นประเด็นสำคัญที่แพทย์ต้องแยกแยะให้ได้ว่าผู้ป่วยมีอาการ BDD หรือเป็นโรคอื่นในกลุ่มเดียวกับ BDD เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
                  ขั้วเหมือนของ BDD โรคทางจิตเวชที่แสดงอาการคล้าย BDD ได้แก่ โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive
Compulsive Disorder: OCD) โรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง (Major Depression) อาการหลงผิด (Delusion) รวมทั้งโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) โดยร้อยละ 30 ของผู้ป่วย BDD มักมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วย และร้อยละ 2 - 7 ของคนไข้คลินิกศัลยกรรมป่วยด้วยโรค BDD
                  ขั้วต่างของ BDD โรคทางจิตเวชที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นประเภทเดียวกับ BDD ได้แก่ บูลิเมีย (Bulimia Nervosa) หรือโรคความผิดปกติทางจิตที่ทำให้ต้องล้วงคออาเจียนหลังการกินอาหาร อะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) หรือโรคความผิดปกติทางจิตที่ทำให้คิดว่าตัวเองอ้วนตลอดเวลาและโรคหลงตัวเอง (Narcissism)
การรักษา
                  เพราะ BDD เป็นความผิดปกติทางกายที่ส่งผลต่อจิตใจ การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งยาและการบำบัดพฤติกรรมร่วมด้วย การรักษาด้วยยา สาเหตุหนึ่งของโรคคือความผิดปกติของการหลั่งสารเซโรโทนิน การรักษาจึงต้องใช้ยาเพื่อกระตุ้นการหลั่งเซโรโทนินหรือ SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) ซึ่งขนาดและปริมาณของยานั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการของโรคอื่นด้วย เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล และหลงผิด ควรให้การรักษาโรคเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน
จิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัด
                  ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนแนวคิดเรื่องความงามภายนอก ให้รู้จักรักและยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น รวมทั้งขจัดทัศนคติเชิงลบที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิด ทั้งด้านความสวยความงามและมุมมองต่อสังคม แนวโน้มของ BDD ในสังคมไทย
                  แม้ตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกหรือในเมืองไทยจะไม่ได้มากมาย แต่สภาพสังคมที่ลุ่มหลงในวัตถุ ล้วนแต่มีส่วนทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ ทางออกที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่การสร้างเกราะคุ้มกันแก่วัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่ม เสี่ยงหลัก โดยปลูกฝังให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของตนเอง รวมทั้งควรส่งเสริมให้มุ่งเน้นคุณธรรมมากกว่ารูปโฉมหรือเปลือกนอก การเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงธรรมะตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยให้เขาเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งได้ โดยผู้ปกครองอาจพาลูกหลานไปทำบุญที่วัด ฟังธรรม สวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ ฝึกสติเสริมปัญญา ให้เกิดความสุขสงบจากภายในเพื่อความสุขที่ยั่งยืนตลอดไป

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/42396

อัพเดทล่าสุด