รู้จักมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย


956 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - รู้จักมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย

             เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ลูคีเมีย มาบ้างแล้ว โดยลูคีเมีย คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemias)
             เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติได้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักเกิดกับเด็ก โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน
2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia)
             เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาเป็นจำนวนมากกว่า เซลล์เม็ดเลือดที่ปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติในร่างกายเป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในหลายๆ ช่วงอายุ

นอกจากนี้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวยังสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเม็ดเลือดขาว ได้แก่
             Lymphocytic leukemia คือ การที่พบเซลล์ในสาย Lymphoid ได้แก่ ลิมโฟไซท์ (Lymphocytes) และพลาสมาเซลล์ (plasma cells) ที่ผิดปกติเป็นจำนวนมากในกระแสเลือด
             Myelogenous leukemia คือ การที่พบเซลล์ที่ผิดปกติในสายไมอีลอยด์ ได้แก่ eosinophils, neutrophils, และ basophils เพิ่มมากขึ้นในกระแสเลือด
ดังนั้นเราจะพบมะเร็ง เม็ดเลือดขาวตามชนิดและแบบได้ใหญ่ๆ 4  อย่างคือ
             1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (acute myeloid leukemia  หรือ AML) พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
             2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ (acute lymphoid leukemia หรือ ALL) พบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี รวมถึงในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีอีกด้วย
             3. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ (chronic myeloid leukemia หรือ CML) พบในผู้ใหญ่ ไม่ค่อยพบในเด็ก
             4. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบลิมฟอยด์ (chronic lymphocytic leukemia หรือ CLL) พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี และสามารถพบในเด็กได้บ้าง แต่ไม่ค่อยส่งผลกระทบเท่าไหร่
             เนื่องจากในผู้ป่วยผู้ใหญ่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ จะพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (AML) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ (CML) ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ 2 โรคนี้เท่านั้น

มะเร็งเม็ด เลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (AML)
             มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการที่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ไม่สามารถเจริญเติบโต (differentiate) ไปเป็นเซลล์ตัวแก่ได้ แต่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน (proliferation) ในระยะของเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูกเป็นจำนวนมาก และขยายตัวออกมาในกระแสเลือดหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงต่างๆ เป็นผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ ตลอดจนเกล็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการจากการขาดเซลล์เม็ดเลือดดังกล่าว
             อุบัติการณ์ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ในประชากรทั่วไปเท่ากับ 2-3 ราย ต่อประชากร 100,000  คน ต่อปี ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 15 ปี พบเป็นร้อยละ 70-80  ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่
สาเหตุ 
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่
             1. พันธุกรรม อุบัติการณ์ของการเกิดโรคในพี่น้องของผู้ป่วยพบสูงกว่าประชากรทั่วไป 3 เท่า ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมแต่กำเนิด เช่น ดาวน์ชินโดรม จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงกว่าคนปกติ
             2. สารรังสี  ประชากรญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ พบว่า มีอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มากกว่าคนปกติ ถึง  30  เท่า
             3. สารเคมี ผู้ป่วยที่ได้รับสารเบนซิน จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงกว่าคนทั่วไป 10 เท่า  นอกจากนี้ยาฆ่าแมลง ยาย้อมผม หรือน้ำยาสเปรย์ผม ก็พบอุบัติการณ์ของโรคสูงขึ้นด้วย
             4. ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดจะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงขึ้น
             5. บุหรี่ การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า บุหรี่สามารถเพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันได้
             อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ ข้างต้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีปัจจัยดังกล่าวจะเกิดโรคเสมอไป คงมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง
การพยากรณ์โรค
             1. อายุ  ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยจะมีการพยากรณ์โรคดีกว่าผู้ป่วยที่มีอายุมาก

             2. ความผิดปกติทางสารพันธุกรรม พบว่าใน AML สามารถบอกการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยได้ตามโครโมโซมที่พบ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
                2.1 กลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคดี ได้แก่ พวกที่มี  t(8;21); t(15;17) และ inv(16)
                2.2  กลุ่มที่การพยากรณ์โรคปานกลาง ได้แก่ กลุ่มที่มีโครโมโซมปกติ หรือความผิดปกติอื่นๆ  นอกจากข้อ  2.1,  2.3 กลุ่มที่มีพยากรณ์โรคไม่ดี ได้แก่ คนที่มี  -7, 7q-, -5, 5q-, 11q23, 3q21, +8, พวกที่มี multiple chromosome abnormalities หรือรายที่เป็น  MDS  นำมาก่อน
อาการและอาการแสดง
             อาการซีดและเหนื่อยง่าย เป็นอาการสำคัญที่พบบ่อยมาก เหตุจากการที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ
             อาการเลือดออกง่าย มีสาเหตุมาจากเกล็ดเลือดต่ำ เนื่องจากไขกระดูกสร้างได้น้อยลง จะพบจุดเลือดออกบริเวณแขนขา เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนออกมาก อาจมีเลือดออกในจอประสาทตา ทำให้ตามัวได้  ถ้ามีภาวะเลือดออกในสมองมักจะรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้
             อาการไข้ มักเป็นอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาจจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ  หรือเกิดจากตัวโรคเอง
             เหงือกบวมโต (gum hypertrophy) พบได้ประมาณร้อยละ  25-50 ของผู้ป่วย
             น้ำหนักลด เป็นอาการแสดงสำคัญ พบได้ถึงร้อยละ  70  ของผู้ป่วย
             อาการปวดกระดูกหรือปวดตามข้อ ในระยะแรกมักจะพบน้อย แต่พบได้บ่อยในระยะที่โรคลุกลามไปมาก
             อาการทางสมอง มักจะมีการดำเนินโรครุนแรงจนทำให้เสียชีวิต มีอุบัติการณ์เฉลี่ยร้อยละ 10-30 ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง อัมพาตของเส้นประสาท เป็นต้น
เกณฑ์การวิ นิจฉัย
             เกณฑ์การวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การพบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (blast cells) อย่างน้อยร้อยละ 30  ของเซลล์ทั้งหมดในไขกระดูก
การรักษา
1. การรักษาแบบประคับประคอง (supportive care) หมายถึงการรักษาอย่างอื่นๆ  นอกเหนือจากการให้เคมีบำบัด
             1.1. การให้ส่วนประกอบของเลือด ให้เกล็ดเลือดเข้มข้น เพื่อให้ระดับของเกล็ดเลือดในเลือดสูงเกิน 20 x 109/ลิตร
                   - ให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น เมื่อผู้ป่วยซีดหรือระดับ Hct ต่ำกว่า  24-25%  ในรายที่อายุน้อย  หรือต่ำกว่า  28-30 %  ในรายที่อายุน้อยมาก
             1.2. ผู้ป่วยที่มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส และมีจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil  ต่ำกว่า 0.5 x 109/ลิตร แพทย์จะทำการสืบค้นเบื้องต้นเพื่อหาตำแหน่งของการติดเชื้อ แล้วพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะชนิดครอบคลุมกว้างขวางเข้าหลอดเลือดดำ
             1.3. ผู้ป่วยที่มีกรดยูริคสูง จะให้ยาต้านกรดยูริค (allopurinal)  300 มก/วัน  แต่มีผลข้างเคียงที่ควรระวังในผู้สูงอายุหรือมีโรคไต
             1.4. พิจารณาการแยกส่วนประกอบของเลือด โดยแยกเฉพาะเม็ดเลือดขาวออก (leukapheresis)  ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่า 100 x 109/ลิตร  หรือมีอาการของอวัยวะต่างๆ ขาดเลือดจากการที่เม็ดเลือดขาวจำนวนมากไปอุดตันการไหลเวียนของเลือด เช่น มีอาการทางปอด มีหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หรืออาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ ซึม สับสน หรือ ชัก เป็นต้น
2. การรักษาเฉพาะโรค แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
             2.1. การรักษาเพื่อชักนำให้โรคสงบสมบูรณ์ (Induction of remission) เป็นการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยเข้า สู่ระยะโรคสงบสมบูรณ์  (Complete remission  หรือ CR ) ยาเคมีบำบัดมาตรฐานในปัจจุบันคือ สูตร 3+7  ได้แก่การให้ anthracycline (doxorubicin หรือ idarubicin) ทางหลอดเลือดดำ 3 วัน ร่วมกับ cytosine arabinoside ทางหลอดเลือดดำ 7 วัน พบว่า ประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระยะ CR ได้
             การที่จะบอกว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะ CR หรือไม่นั้นอาศัยดูจากทางคลินิกว่า ผู้ป่วยอาการต่าง ๆ หายเป็นปกติ การตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือดกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติหมด ที่สำคัญคือ การตรวจไขกระดูกพบเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ปกติ และพบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (blast cell) น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเซลล์ทั้งหมด
             การที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ CR ไม่ได้หมายความว่าเซลล์มะเร็งจะหมดไปจากร่างกาย แต่ว่ามีอยู่ในจำนวนที่น้อยเกินกว่าที่วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการธรรมดาจะ ตรวจได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้เคมีบำบัด หลังจากที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ CR แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคจริงๆ
             2.2. การรักษาระยะหลังโรคสงบ (post remission therapy) เป็นการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาอีก  (relapse)  และเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังคงเหลืออยู่ให้หมดไปจากร่างกาย ทำได้หลายทาง
                  - Consolidation therapy  เป็นการให้ยาเคมีบำบัดในลักษณะเดียวกับใน induction of remission แต่ให้ติดต่อกัน  3-4 ครั้ง  ห่างกันทุก  1-2  เดือน
                  - Intensification การรักษาแบบเข้มข้น คือการให้เคมีบำบัดในขนาดสูงกว่า induction of remission  เพื่อหวังกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ที่อาจเป็นเซลล์ดื้อยา
             การให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงอาจจะร่วมกับการฉายรังสี และตามด้วยการให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด) โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดอาจมาจากพี่น้องที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้  (HLA-matched sibling donor) เรียกว่า allogeneic stem cell transplant หรืออาจจะมาจากตัวผู้ป่วยเอง โดยเก็บไว้ในระยะที่โรคสงบสมบูรณ์ เรียกว่า  autologous stem cell transplant โดยทั่วไป ถ้าได้รับจากผู้อื่นจะมีปัญหาแทรกซ้อนมากกว่า  แต่จะมีผลในแง่อัตราของโรคกลับมาเป็นใหม่น้อยกว่า  เมื่อเทียบกับที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตัวผู้ป่วยเอง

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ (Chronic myeloid leukemia)

สาเหตุ 
             ยังไม่ทราบแน่ชัดเช่นกัน การฉายรังสีเป็นปัจจัยเดียวที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น  ผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายรังสีเพื่อการรักษาโรคข้อบางชนิด และผู้ที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรซิมาและนางาซากิ พบว่า มีอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ สูงกว่าคนทั่วไปมาก

ลักษณะ ทางคลินิก
             ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 15-50  ปี  อายุเฉลี่ยในต่างประเทศประมาณ 39-48 ปี แต่ในประเทศไทยจากการศึกษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วย อยู่ระหว่าง 36-38 ปี ร้อยละ 89  ของผู้ป่วยในประเทศไทยจะมีอายุต่ำกว่า 50 ปี พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย บางรายไม่มีอาการอะไรเลย  ทราบว่าเป็นโรคนี้โดยบังเอิญ เช่น การตรวจร่างกายประจำปี การไม่สบายเป็นอย่างอื่น ไปพบแพทย์แล้วตรวจพบว่าเป็นโรคนี้
             นอกจากนั้น ก็อาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผอมลง รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องหรือคลำก้อนได้ในท้อง เป็นต้น  ผู้ป่วยชายบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการอวัยวะเพศแข็งตัวไม่ยอมหด  แล้วตรวจเลือดพบว่าเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยมีม้ามโต คลำได้ชัดเจน ขนาดของม้ามขึ้นอยู่กับระยะเวลาของโรค ยิ่งเป็นมานานม้ามยิ่งโตมาก
             ผู้ป่วยโรคนี้  มีความผิดปกติทางเลือดที่พบจำเพาะโรคนี้คือ บางส่วนของแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 9  ถูกย้ายไปอยู่บนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 22 และบางส่วนของแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 22 ถูกย้ายไปอยู่บนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 9 เราเรียกโครโมโซมคู่ที่ 22 ที่มีส่วนของคู่ที่ 9 อยู่ด้วยว่า ฟิลาเดลเฟียโครโมโซม พบฟิลาเดลเฟียโครโมโซม ในผู้ป่วยโรคนี้ประมาณร้อยละ 95
             ความผิดปกติทางเลือดที่ตรวจพบ คือ ผู้ป่วยจะมีโลหิตจางเล็กน้อยถึงปานกลาง เม็ดเลือดขาวจะสูงกว่าปกติ ม้ามโต ยิ่งเป็นมานานม้ามยิ่งโตมาก เม็ดเลือดขาวจะยิ่งสูงมาก บางรายสูงถึง 4-5  แสน/ลบ.ซม. (คนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวประมาณ 5,000-10,000/ลบ.ซม) ส่วนจำนวนเกล็ดเลือดมักปกติหรือสูงกว่าปกติ มีบางรายที่อาจมีเกล็ดเลือดต่ำ
ผู้ป่วยโรคนี้มีอยู่  3 ระยะ คือ
             1. ระยะเรื้อรัง (Chronic phase) ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในระยะนี้เมื่อมาพบแพทย์ครั้งแรก เมื่อได้รับการรักษาแล้ว  ผู้ป่วยมักเข้าสู่ระยะที่ โรคสงบ ตับ ม้ามมักจะยุบหมด เม็ดเลือดกลับมาปกติ ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 3-5 ปี ก็จะเข้าสู่อีกระยะหนึ่ง
             2. ระยะลุกลาม (Accelerated phase) เมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่งผู้ป่วยบางคนเข้าสู่ระยะลุกลาม ทำให้เริ่มไม่ได้ผลจากการรักษา เริ่มมีอาการซีด อาจต้องให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด บางรายเกล็ดเลือดต่ำ ถ้าต่ำมากก็อาจทำให้มีจุดเลือดออกตามตัว  หรือเลือดออกตามไรฟันได้ เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น ม้ามเริ่มโตขึ้นทำให้แน่นท้องมากขึ้น
             3. ระยะเฉียบพลัน (Blastic phase)  ถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรค มีอาการคล้ายๆ กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน คือ มีไข้ ซีดมาก เพลีย มีอาการเลือดออกง่าย หรือมีจุดเลือดออกตามตัว หรือแขน ขา เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น ระยะนี้ถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรค การรักษาส่วนใหญ่มักไม่ได้ผลดี
การพยากรณ์
             ตัวแปรที่บอกถึงการพยากรณ์โรคในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา ที่ยอมรับกันทั่วไป คือ
             1.อายุ ผู้ป่วยที่อายุเกิน 60 ปี มีการพยากรณ์โรคไม่ดี
             2.เพศหญิง จะมีการพยากรณ์โรคดีกว่าเพศชาย
             3.ม้ามโตมาก มีการพยากรณ์โรคไม่ดี
             4.ตับโตมาก มักจะมีการพยากรณ์โรคไม่ดี
             5.เม็ดเลือดขาวสูงมาก
             6.เกล็ดเลือดที่สูงมากหรือต่ำกว่าปกติ
             7.จำนวนตัวอ่อนในเลือดมาก
             8.คนที่มีพังผืดในไขกระดูกได้ผลจากการรักษาไม่ดีเท่าคนที่ไม่มีพังผืด
             9.คนที่มีโครโมโซมที่ผิดปกตินอกเหนือไปจากการมีฟีลาเดลเฟียโครโมโซม
             10.มีเม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล ( basophil ) สูง
แนวทางการรักษา
1. เคมีบำบัด
             ส่วนใหญ่จะใช้วิธีให้เคมีบำบัดชนิดรับประทานยา ที่มีใช้กันแพร่หลาย คือ บูซัลแฟน (Busulfan)  และไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) ยาทั้ง 2 ตัว สามารถจะควบคุมให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลงมาอยู่ในระดับปกติได้ ถือว่าอยู่ในระยะโรคสงบ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเม็ดเลือดขาวจะปกติโลหิตจางหายไปได้ แต่ตัวฟิลาเดลเฟียโครโมโซมก็ยังมีอยู่ ดังนั้น โรคก็ยังอยู่ไม่ได้หายขาดจากโรค และการให้เคมีบำบัดชนิดต่างๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้จำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมหายไปได้ เคมีบำบัดเหล่านี้ จึงเป็นเพียงยาที่ควบคุมให้โรคสงบลงเท่านั้น ไม่ได้รักษาให้หายขาดได้

2. การใช้ยาฉีดอินเทอร์เฟียรอน (interferon) 
             เป็นยาฉีดที่ราคาค่อนข้างสูง  ต้องฉีดทุกวัน และมีผลข้างเคียงมาก เช่น เพลีย เป็นไข้สูง ปวดเมื่อยคล้ายๆ เป็นไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะเป็น 2 สัปดาห์แรกหลังฉีดยา แก้ไขให้ผลข้างเคียงของยาน้อยลงได้ โดยการฉีดตอนเย็นหรือก่อนนอน และรับประทานยาแก้ไข้ แก้ปวด ก่อนฉีดยาประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้อาการต่างๆ บรรเทาลงได้บ้าง หลังจากฉีดลงไป 2 สัปดาห์แล้วอาการข้างเคียงจากยามักจะน้อยลงหรือหายไป
             การฉีดยาอินเทอร์เฟียรอนสามารถ ทำให้จำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลงได้ ในรายที่ตอบสนองต่อยาดี  สามารถทำให้ฟิลาเดลเฟียโครโมโซมหายไป  กลับมามีโครโมโซมที่ปกติได้ แต่จำเป็นต้องฉีดยาระยะยาวประมาณ 2-3 ปี ใช้เวลา 6 เดือน ถึง 12 เดือน จึงจะเริ่มเห็นว่าจำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลง รายที่ฉีดยาแล้วกลับมามีโครโมโซมที่ปกติได้ มีการพยากรณ์โรคดี มีสิทธิ์หายขาดจากโรคได้  แต่เท่าที่ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยไทย พบว่า อัตราการตอบสนองต่อยาอินเทอร์เฟียรอนต่ำกว่าผู้ป่วยในต่างประเทศมาก
             ในรายที่ได้รับยาอินเทอร์เฟียรอนแล้ว  ฟิลาเดลเฟียโครโมโซมไม่ลดลง ถ้าให้ยาฉีดเอร่าซี (Ara C) ร่วมด้วย จะมีโอกาสตอบสนองดีขึ้น สามารถทำให้ฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลงหรือหายไปได้   แต่การใช้ยาฉีดทั้ง 2 ตัว ร่วมกัน จะมีผลข้างเคียงมากขึ้น ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถทนต่อการฉีดยา 2 ตัวร่วมกันได้
3. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด 
             ผู้ที่จะทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้ต้องมีอายุไม่มาก และมีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ที่มีเลือดเข้ากันได้ โดยดูจากการตรวจเอช แอล เอ ว่าเข้ากันได้หรือไม่ พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน มีโอกาสที่มีเอช แอล เอ เหมือนกัน ร้อยละ 25  คนที่มีอายุน้อย เมื่อทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จะมีปัญหาแทรกซ้อนน้อยกว่าคนที่อายุมาก  นอกจากนี้การทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ภายใน 1 ปีแรก  หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ จะได้ผลดีกว่าเมื่อเกิน 1 ปีไปแล้ว
4. ยาใหม่ๆ
             เช่น กลีเวค เป็นยารับประทานที่มีฤทธิ์ยับยั้งฟิลาเดลเฟียโครโมโซมโดยตรง ดังนั้นจึงสามารถทำให้จำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลงจนเป็นศูนย์ได้ ซึ่งหมายความว่าโรคหายขาดได้ เป็นความหวังใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์นี้  ส่วนใหญ่น่าจะได้ผลดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นๆ ของโรค ถึงแม้ว่าในระยะท้ายๆ จากการศึกษาก็ยังพบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาตัวนี้ได้ แต่ยาตัวนี้ยังมีราคาแพงมาก ต้องรับประทานวัน 4-6 เม็ด คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อวัน ถึง 4,000-6,000 บาท ระยะเวลาที่ต้องรับประทานยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ต้องรับประทานไปนานเท่าไร และเมื่อหยุดยาแล้วฟิลาเดลเฟียโครโมโซมจะกลับมาอีกหรือไม่
             ผู้ป่วยในระยะลุกลามและระยะเฉียบพลัน มักได้ผลจากการรักษาไม่ดีเท่าผู้ป่วยในระยะเรื้อรัง ส่วนใหญ่แล้วต้องให้การรักษาแบบประคับประคองร่วมไปด้วย เช่น ซีดมาก มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจต้องให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด รายที่มีเกล็ดเลือดต่ำมาก มีจุดเลือดออกตามตัวหรือออกตามไรฟัน   จำเป็นต้องให้เกล็ดเลือดเข้มข้นแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันการที่จะมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญๆ เช่น ในสมอง เป็นต้น รายที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำจากการให้เคมีบำบัดอาจมีการติดเชื้อได้ จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เป็นต้น

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/42379

อัพเดทล่าสุด