อย่าละเลย ‘ปวดท้องประจำเดือน’ เตือนภัยโรคร้ายแฝงเร้น


1,050 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - อย่าละเลย 'ปวดท้องประจำเดือน' เตือนภัยโรคร้ายแฝงเร้น

               รศ.นพ.สุวิทย์ บุญยะเวชชีวิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูตินรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการปวดท้องประจำเดือนหรือปวดท้องเมนส์ว่า ภาวะปวดท้องประจำเดือน หรือปวดระดู (Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดท้องน้อยที่สัมพันธ์กับการมีระดู เป็นปัญหาที่พบบ่อยของสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ ปวดระดูชนิดปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) หรือเรียกว่า แบบธรรมชาติ  เป็นภาวะปวดท้องน้อยจากมดลูกหดเกร็งระหว่างมีระดู โดยไม่มีโรคร้ายใดๆ ซ่อนอยู่
               ทุกครั้งที่มีประจำเดือนมดลูกจะสร้างสารตัวหนึ่งชื่อ พรอสตาแกลนดินส์ มีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวเป็นพักๆ เพื่อไล่เลือดออกมา แต่มีผลต่อระบบเส้นเลือดบีบตัว กล้าม เนื้อบีบตัว และลำไส้บีบตัวผิดปกติ ซึ่งการบีบตัวของอวัยวะในช่องท้องก็ทำให้มีอาการ เช่น มดลูกบีบตัวไล่เลือดออกมา ทำให้มีการปวดบีบเหมือนโดนอะไรบีบจะมีอาการมากหรือน้อยแตกต่างกันไป และมีอาการเส้นเลือดบีบตัวที่สมอง ทำให้ปวดหัวเหมือนเป็นไมเกรน หรือบางคนมีอาการคลื่นไส้  อาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากลำไส้ทำงานผิดปกติ ทำให้มีกลุ่มอาการของการมีประจำเดือนเกิดขึ้น และเป็นธรรมชาติที่ผู้หญิงทุกคนต้องทรมานกับอาการดังกล่าว และกลุ่มอาการพวกนี้มักจะมีในช่วงวัยรุ่นและมีแค่ 1 ปีแรก หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะปวดลดลง ซึ่งอาการจะปวดมากที่สุดในวันแรกของการมีระดูตรงท้องน้อยหรืออาจปวดร้าวกระจายไปบริเวณหลังหรือต้นขาและทุเลาลง หรือ 1-2 ชั่วโมงก่อนมีประจำเดือน

               ส่วนปวดระดูชนิดทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เป็นภาวะปวดท้องน้อยจากมดลูกหดเกร็งที่เกิดจากพยาธิสภาพภายในอุ้งเชิงกราน สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจทางคลินิก คืออาการจะตรงข้าม กับแบบธรรมชาติ เช่น ตอนสาวๆ ไม่ปวดแต่กลับเพิ่งมาปวดตอนอายุมากขึ้น เป็นทีละหลายๆ วัน และปวดมากขึ้นทุกเดือนๆ จนทำงานไม่ได้ต้องลางาน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาจจะมีประจำเดือนไหลมากขึ้นผิดปกติ มีไข้สูง มีหนองไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งแสดงว่าเป็นสัญญาณอันตรายอาจจะมีโรคอื่นซ่อนอยู่ข้างใน ได้แก่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในบางกรณีที่เป็นมากอาจพบ มีถุงน้ำที่รังไข่ (โรคช็อกโกแลตซีสต์) โรคเนื้องอกของ กล้ามเนื้อมดลูก โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
               ส่วนใหญ่โรคที่พบบ่อย คือ “โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปอยู่ที่ตำแหน่งอื่นของร่างกาย โดยปกติจะไปอยู่ที่อุ้งเชิงกราน นอกตัวมดลูก คือ ในแต่ละเดือนผู้หญิงเมื่อมีประจำเดือนมดลูกจะบีบตัวเพื่อไล่เลือดประจำเดือนออกมา แต่จะมีบางส่วนที่ไหลย้อนกลับเข้าไปข้างในมดลูก ถ้าฝังอยู่นิดหน่อยจะกลายเป็นพังผืด แต่ถ้าฝังอยู่มากตรงรังไข่เลือดรวมกันเป็นก้อนกลายเป็นถุงน้ำและมีเลือดคลั่งอยู่ข้างในมีสีน้ำตาล เรียกว่า โรคช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีแต่มีสิทธิเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้าโตมากๆ เกิน 4 ซม. ต้องผ่าออก เพราะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงและวันดีคืนดีอาจแตกและเกิดการอักเสบในช่องท้องถึงขั้นเสียชีวิตได้
               อย่างไรก็ตามทุกคนมีภาวะเลือดประจำเดือนไหลย้อนได้ แต่ว่ามีบางคนร่างกายสามารถกำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปฝังตัวผิดที่เหล่านี้ ได้ แต่บางคนไม่สามารถกำจัดได้ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ คนที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยและหมดประจำเดือนช้า คนที่อายุมากเพราะสะสมเลือดที่คั่งค้างไว้นานกว่าในบางรายอาจมีปัญหามีบุตรยากร่วมด้วย
               สำหรับการรักษาถ้าหากมีอาการปวดท้องประจำเดือนไม่มากนักอาจรักษาเริ่มแรกโดย การรับประทานยาระงับปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล หรือยาที่ต้านฤทธิ์พรอสตาแกลนดินส์ ก็จะสามารถบรรเทาอาการปวดและควรออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยลดอาการปวดได้ แต่ถ้าหากสงสัยว่าตัวเองมีอาการปวดแบบมีโรคซ่อนอยู่อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นให้มาพบแพทย์อย่ากลัวการตรวจภายใน เพราะโรคที่ซ่อนมากับอาการปวดท้องระดูนั้นสามารถรักษาให้หายได้ โดยการรับประทานยาหรือถ้าจำเป็นก็ต้องผ่าตัด สำหรับในผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และอาจกลัวการตรวจภายในนั้นสามารถใช้วิธี อัลตราซาวด์ตรวจทางหน้าท้องได้ไม่ต้องตรวจภายใน หากแต่งงานมีลูกแล้วก็สามารถตรวจโดยการตรวจภายในและอัลตราซาวด์ได้ซึ่งในสตรีที่แต่งงานแล้วจะแนะนำให้ทำเป็นประจำทุกปี และสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกในคราวเดียวกัน
               อย่ามัวทนปวดอยู่เพราะอาการปวดนั้นเราไม่สามารถทราบได้ว่ามีโรคร้ายซ่อนอยู่หรือไม่ ถ้าสงสัยให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะโรคที่ซ่อนอยู่ทำให้เราทนทุกข์ทรมานจนต้องขาดเรียนหรือหยุดงานส่งผลให้ มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงและอาจมีอาการรุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้.

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/42032

อัพเดทล่าสุด