“ไส้ติ่ง” มีไว้ทำอะไร


919 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - “ไส้ติ่ง” มีไว้ทำอะไร

           ไส้ติ่ง คือส่วนของลำไส้ใหญ่ที่ยื่นออกมาเป็นติ่งอยู่ตรงบริเวณด้านขวาล่าง มีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ยาวตั้งแต่ 2-20 เซนติเมตร มีรูติดต่อกับลำไส้ใหญ่ แต่เดิมนั้นเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าไส้ติ่งทำหน้าที่อะไร มีประโยชน์หรือไม่ หลายคนคิดว่าไส้ติ่งเป็นส่วนเกินของร่างกาย เมื่อมีเหตุให้ต้องผ่าตัดช่องท้อง จึงผ่าไส้ติ่งทิ้งไปด้วย เพราะเกรงว่าไส้ติ่งจะสร้างปัญหาหากกลายเป็นไส้ติ่งอักเสบขึ้นมา แต่มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าไส้ติ่งนั้นมีประโยชน์ค่ะ


ไส้ติ่งมีไว้ทำอะไร

           นักวิทยาศาสตร์อเมริกันจากมหาวิทยาลัย Duke ค้นพบว่าไส้ติ่งมีหน้าที่สร้างและปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในช่องท้องของคนเรา จุลินทรีย์ที่ว่านี้ช่วยในระบบการย่อยอาหาร นอกจากนี้ไส้ติ่งยังทำหน้าที่กระตุ้นระบบย่อยอาหารให้กลับมาทำงานอย่างมี ประสิทธิภาพ ในกรณีที่ถูกเชื้อโรคอหิวาต์หรือเชื้อโรคบิดเล่นงาน
           ศาสตราจารย์ Bill Parker แห่งมหาวิทยาลัย Duke อธิบายว่า ไส้ติ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนที่หลบภัยและโรงงานผลิตแบคทีเรียที่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของไส้ติ่งจะลดน้อยลงมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีโอกาสเกิดโรคอหิวาต์หรือโรคบิดน้อยมาก แต่สำหรับในประเทศด้อยพัฒนา ไส้ติ่งยังคงมีประโยชน์กับประชากรในประเทศเหล่านั้นอยู่ รายงานบอกด้วยว่าในประเทศด้อยพัฒนานั้นมีอัตราการเกิดโรคไส้ติ่งอักเสบน้อย มากเมื่อเทียบกับในสหรัฐ
           ทฤษฎีเรื่องประโยชน์ของไส้ติ่งนี้บันทึกไว้ในเว็บไซต์ของนิตยสาร Scientific นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยครั้งนี้หลายคนแสดงความเห็นว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับไส้ติ่งนี้มีความเป็นไปได้ และเป็นงานวิจัยที่อธิบายหน้าที่ของไส้ติ่งได้อย่างมีเหตุมีผลมากที่สุด

           อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าแม้ไส้ติ่งจะมีประโยชน์ แต่เมื่อติดเชื้อจนมีอาการไส้ติ่งอักเสบ ก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 300-400 คน

รู้จักหน้าที่ของไส้ติ่งกันแล้ว มารู้จักโรคไส้ติ่งอักเสบกันบ้างค่ะ
           ไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคปวดท้องแบบเฉียบพลันที่พบมากที่สุด มักพบในวัยหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 30 ปี สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง

สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบ
           เกิดจากการอุดตันของไส้ติ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดจากเม็ดฝรั่งตามความเชื่อแต่โบราณ ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากเศษอุจจาระที่แข็งตัว มีบ้างที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอม พยาธิ หรือก้อนเนื้องอก ทำให้ไส้ติ่งเกิดการอุดตัน และติดเชื้ออักเสบขึ้น
อาการของไส้ติ่งอักเสบ
           โดยทั่วไปจะมีอาการปวดท้อง บอกตำแหน่งแน่นอนไม่ได้ อาจปวดรอบสะดือก่อน อาจปวดเป็นพักๆ หรือตลอดเวลาก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักปวดตลอดเวลา หลังจากนั้นอาการปวดจะเริ่มย้ายไปที่ท้องน้อยด้านขวา และปวดตลอดเวลาเช่นกัน อาจมีไข้ต่ำๆ มักไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการไม่เหมือนดังที่กล่าวมา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของไส้ติ่ง เช่น อาจปวดท้องด้านขวาบนหรือตรงกลางก็ได้ถ้าปลายของไส้ติ่งยาวไปถึงบริเวณนั้น
           นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ลง บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากยังไม่ได้รับการรักษา อาการอาจเพิ่มมากขึ้น ไข้อาจสูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส อาจมีอาการปวดมากทั้งด้านซ้ายและขวา กดเจ็บบริเวณที่ปวด และปวดมากเวลาเคลื่อนไหวจนต้องนอนนิ่งๆ ซึ่งนั่นหมายถึงไส้ติ่งเริ่มติดเชื้อรุนแรง เน่า และแตก หรือกลายเป็นฝี โดยทั่วไประยะเวลาตั้งแต่เริ่มปวดจนไส้ติ่งแตก มักไม่เกิน 3 วัน
การรักษาไส้ติ่งอักเสบ
           โรคไส้ติ่งอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ไส้ติ่งกลายเป็นฝีในท้องต้องผ่าตัดออก หรือไส้ติ่งแตกมีหนองออกมาภายในช่องท้อง ทำให้เสียชีวิตได้
           การรักษาไส้ติ่งอักเสบไม่ว่าไส้ติ่งจะแตกหรือไม่ทำได้โดยการผ่าตัด ในรายที่ไส้ติ่งแตก แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
           อาการปวดท้องในระยะแรกไม่ว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือโรคอื่นๆ ก็ตาม จะแยกโรคได้ยาก ต้องใช้การสังเกตอาการ ดังนั้น ในกรณีที่เริ่มปวดท้องโดยที่ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร อย่าเพิ่งกินยาแก้ปวด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน เพราะการกินยาแก้ปวดจะทำให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคลำบาก เนื่องจากยาจะบดบังอาการปวด โดยเฉพาะหากปวดท้องมากติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่เป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็มักเป็นอาการร้ายแรงอื่นๆ เสมอ

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/40451

อัพเดทล่าสุด