อาการนอนกรน (SNORING)


1,373 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - อาการนอนกรน (Snoring)

 


         อาการนอนกรน (Snoring) เป็นปัญหาของการนอนหลับที่พบบ่อยในคนอายุ 30-35 ปี ซึ่งมักจะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนผนังคอหนา เนื้อเยื่อในช่องคอหย่อนตัวขณะนอนหลับ ประมาณร้อยละ 20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 5 เป็นเพศหญิง ซึ่งอาการนอนกรนจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น

เสียงกรนเกิดขึ้น...

        จากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง ซึ่งมักเกิดจากการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหลับ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน (Soft  Palate) ลิ้นไก่ (uvula) ผนังคอหอย (pharyngeal  wall) หรือ โคนลิ้น (Tongue  base) ทำให้การสั่นสะเทือนและการสะบัดของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณนั้น เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น   และยังพบว่าเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนจากต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ (adenoid) ที่โต ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการกรนที่สำคัญในเด็ก หรือเนื้องอก หรือซีสต์ (cyst)ในทางเดินหายใจส่วนบนหรือการมีโพรงจมูกอุตันจากหลายสาเหตุ เช่น อาการคัดจมูกโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผนังกั้นช่องจมูกคด เนื้องอกในโพรงจมูกและ/หรือโพรงอาการข้างจมูก ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (alcohol) การกินยานอนหลับหรือยาแก้แพ้ชนิดง่วงก่อนนอน ก็จะช่วยเสริมให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัวมากขึ้น และอาจมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเสียงกรนดังขึ้น

          ดังนั้น อาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่อปกติ แต่กลับบ่งบอกถึงการมีสิ่งอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive  sleep  apnea) เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ

ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ...

          อาการนอนกรนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ถือว่าเป็นโรค   แต่เมื่อใดที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อคู้นอน สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน หรือมีผลต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นแล้ว ก็จำเป็นที่ต้องมาปรึกษาแพทย์

         เมื่ออาการนอนกรนเกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์
          ถ้าไม่รักษาอาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่   ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้   นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น

การวินิจฉัย...

1.ซักประวัติสุขภาพโดยทั่วไป   โรคประจำตัว สภาพเศรษฐกิจ ฐานะและสังคม มีอาการซึ่งบ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขฯหลับร่วมด้วยหรือไม่ รวมทั้งมีบุคคลในครอบครัวที่มีอาการนอนกรนด้วยหรือไม่

2.การตรวจร่างกาย   แพทย์จะให้ความสนใจในเรื่องต่อไปนี้

          * ลักษณะทั่วไป ที่อาจส่งเสริมให้เกิดอาการนอนกรน ขณะหลับได้ เช่น คอสั้น อ้วน น้ำหนักมาก มีความผิดปกติในลักษณะโครงสร้างของใบหน้า เช่น คางเล็กถอยร่นมาด้านหลัง
          * การตรวจทั่วไป ได้แก่ วัดความดันโลหิต วัดเส้นรอบวงคอ การตรวจการทำงานของหัวใจและปอด
          * การตรวจทางหู คอ จมูก อย่างละเอียด เช่น ตรวจในโพรงจมูก หลังโพรงจมูก ช่องปาก คอหอย เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล โคนลิ้น และกล่องเสียง เพื่อทราบถึงตำแหน่งและสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน

3.การตรวจพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่

          * การบันทึกเสียงหายใจขณะหลับ (Sleep  tape  recording) ซึ่งมีประโยชน์ในเด็กที่มีอาการไม่ชัดเจน หรือผู้ปกครองไม่สามารถจะสังเกตการหายใจที่ผิดปกติได้ โดยให้ผู้ปกครองใช้เทปคาสเซต (Tape cassette) บันทึกเสียงกรนหรือเสียงหายใจของเด็กขณะหลับประมาณ 1 ชั่วโมง
          * การตรวจการนอนหลับ (polysomnography) เป็นการตรวจวัดที่มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย   และบอกความรุนแรงขแงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยช่วยวินิจฉัย และบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยช่วยวินิจฉัยแยกภาวะหลายหายใจขณะหลับจากการนอนกรนธรรมดา และสามารถบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่ การตรวจการนอนหลับจะใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการนอนหลับในคนทั่วไป

การรักษา...

1.การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด (Nonsurgical  treatment)

          * ลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มความกระชับตึงตัวให้กล้ามเนื้อของทางเดินหายใจ
          * หลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาต้านฮีสตามีน (antihstamine) หรือยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วงโดยเฉพาะก่อนอน
          * การปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอน เช่น ไม่ควรนอนในท่านอนหงาย เนื่องจากจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายการนอนในท่าตะแคง นอนศรีษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ

2.การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด (Surgical  treatment)

          ผู้ใหญ่ที่มีอาการนอนกรนมากกว่าร้อยละ 90 มีการอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณคอหอยส่วนปาก เช่น ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น และมากกว่าร้อยละ 80 มักมีการอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณคอหอยส่วนกล่องเสียงการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด สามารถเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้นและแก้ไขลักษระทางกายวิภาคที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ จะใช้วิธีนี้เมื่อ
          *มีความผิดปกติทางกายวิภาค (anatomical  abnormalities) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
          *มีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและสังคมมาก เช่น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงมาก เสียงกรนรบกวนคู่นอนมาก ทำให้นอนไม่หลับ
          *ล้มเหลวจากการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด  ผู้ป่วยยังมีอาการกรนอยู่ หรือมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกาย

        ส่วนจะเลือกการผ่าตัดประเภทใด ทำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายวิภาคของผู้ป่วยแต่ละราย ตำแหน่ง และสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคประจำตัว ความรุนแรงของอาการกรน และหรือภาวะชอบหรือความต้องการของผู้ป่วยด้วย อย่างไรก็ตามอาการกรน และหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักจะเกิดจากการอุดกั้นในทางเดินหายใจหลายตำแหน่ง ดังนั้นการทำผ่าตัดแก้ไขเพียงจุดใดจุดหนึ่งอาจไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นมากนัก

         อย่าเพิ่งน้อยใจในชีวิตจากปัญหานอนกรน...เพราะแก้ไขได้ จัดเวลาไปพบแพทย์ รู้สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง ความรุนแรง แล้วรักษา เชื่อแน่ว่าคุณจะกลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพจิต 
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/39280

อัพเดทล่าสุด