ไข้หวัดนก บทเรียนจากธรรมชาติ


1,522 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - ไข้หวัดนก บทเรียนจากธรรมชาติ

 


           ชั่วโมงนี้... หากไปไหนมาไหน แล้วพบเห็นสัตว์ ปีก บินผ่าน หรือเสียชีวิตใกล้ๆ หลายคนแสดงอาการผวาไปตามๆ กัน แม้หน่วยงานหลายหน่วยงานจะออกมายืนยันว่า โรคไข้หวัดนก จะติดได้จากการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์ป่วยเช่น อุจจาระ น้ำลาย น้ำตา น้ำมูก ที่ไม่ผ่านการแปรรูปด้วยความร้อนก็ตาม
 
แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่วาย “หวาดกลัว”

และหลายคนก็เกิดอาการ “วิตกจริต”
 
           วิกฤตการณ์ไข้หวัดนกที่เกิดขึ้น ทำให้คนไทยไม่น้อยประกาศงดเมนูสัตว์ปีก และไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับสัตว์จำพวกนี้อีก
ที่มาของไข้หวัดนก 
           ไข้หวัดใหญ่ในนก หรือไข้หวัดนก (Avian Influenza หรือ Bird Flu) ซึ่งก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในคน (Human Influenza) ณ ขณะนี้  มีสาเหตุมาจากไวรัส (Influenza virus) ซึ่งอยู่ในตระกูล (Genus) Orthomyxovirus   
 
           คำว่า Ortho มาจากภาษากรีก หมายถึง ทำให้ตรง ทำให้สะดวกสบายขึ้น ส่วนคำว่า myxo หมายถึง เยื่อเมือก ซึ่งโดยความหมายจากชื่อแล้ว ไวรัสชนิดนี้จัดเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ของเยื่อเมือกในระบบทางเดินหายใจ   (บางครั้ง ไวรัสชนิดนี้ สามารถลุกลามสู่ระบบประสาทได้ แต่ส่วนใหญ่จะติดเชื้อตลอดระบบทางเดินหายใจ)
 
           ไวรัสตระกูล Orthomyxovirus แบ่งเป็น 3 ชนิด (Type) คือ ชนิดเอ (A) ชนิดบี (B) และ ชนิดซี (C) 
 
           ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายและแพร่ระบาดมากที่สุด พบได้ในคนและสัตว์ (ม้า สุกร สัตว์ปีก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล) ส่วนชนิดบี พบเฉพาะในคน สามารถก่อให้เกิดการระบาดได้ แต่ไม่รุนแรงและมีการระบาดเป็นครั้งคราว สำหรับชนิดซีพบในสัตว์มีกีบ (เช่น สุกร) และมนุษย์  ชนิดสุดท้ายนี้แทบจะไม่เป็นพิษเป็นภัย เพียงก่อให้เกิดอาการป่วยกับระบบทางเดินหายใจเล็กน้อยเจ้าไวรัสชนิดเอนี่เอง ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดนก 

           ไวรัสชนิดนี้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 นาโนเมตร มีทั้งทรงกลม และทรงกระบอกจัดเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส (ไวรัสแบ่งเป็น ดีเอ็นเอไวรัส และอาร์เอ็นเอไวรัส) เพราะมีจีโนมเป็นอาร์เอ็นเอ (สายพันธุกรรมสายเดี่ยว) โดยมีอาร์เอ็นเอทั้งหมด 8 ชิ้น อยู่ภายในอนุภาค

                
           นักวิทยาศาสตร์กำหนดสายพันธุ์ย่อย (subtype) ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอลงไปอีก โดยใช้อักษร H และ N เป็นตัวกำหนดสายพันธุ์ย่อย อักษรทั้งสองตัวก็คือโปรตีนซึ่งอยู่ในโครงสร้างของไวรัสนั่นเอง  มีลักษณะยื่นออกมาจากผิวเซลล์ของไวรัสมีลักษณะเหมือนหนามจึงเรียกว่า spike 
 
            มีที่มาจากคำว่า ฮีมแมกกลูตินิน (Hemagglutinin)  แบ่งออกเป็น 15 ชนิดคือ H1 ถึง H15 จัดเป็น แอนติเจน ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับมนุษย์เรา  สามารถจับกับส่วนจับเฉพาะ (receptor) บนผิวเซลล์ที่มันเข้าไปอาศัยอยู่ (เช่น ผิวเซลล์ของคนเรา เป็นต้น) และกระตุ้นร่างกายของคนเราให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน โดยการสร้างสารก่อภูมคุ้มกัน หรือแอนติบอดี 

                 

           ส่วน  N  มาจาก นิวรามินิเดส (Neuraminidase) แบ่งออกเป็น 9 ชนิดคือ N1 ถึง N9
จัดเป็น แอนติเจนเหมือนกับ H และก็เป็นเอ็นไซม์สำคัญซึ่งสามารถย่อยเยื่อเมือกในระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งสามารถย่อย receptor บนผิวเซลล์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ไวรัสที่เกิดขึ้นใหม่แพร่กระจายไปทั่วร่างกายคนเราได้ง่ายขึ้น
 
               

           เจ้าเชื้อไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในไทยในขณะนี้ก็จัดเป็นสายพันธุ์ย่อย  H5N1 คือมีฮีแมกกลูตินินชนิดที่ 5 และนิวรามินิเดสชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกที่เราคุ้นหูตามสื่อมวลชน 

จากนก  สู่เป็ดไก่ และสู่คน
จากนกสู่เป็ดไก่ 

           นกในธรรมชาติ ทั้งนกเป็ดน้ำ และนกอพยพ พบไวรัสสายพันธุ์ย่อย H1ถึง H15 และ N1ถึง  N19    ในสุกรพบไวรัสสายพันธุ์ย่อย H1 และ H3 ส่วน N พบ N1 และ N2
 
           สำหรับในคน ปกติจะพบ H เพียง 3 ชนิด คือ H1  H2 และ H3 (ปัจจุบันพบเพิ่มขึ้นมาอีก  3 ชนิด คือ H5,  H7 และ H9) ส่วน N มี 2 ชนิดคือ N1 และ N2 
 
           เจ้า H5N1นั้น อาศัยอยู่ในนกน้ำ นกอพยพ และนกตามธรรมชาติ มานานมากแล้ว แต่ก้ไม่ได้ทำให้สัตว์เหล่านี้ป่วยหรือแสดงอาการแต่อย่างใด เราจึงจัดให้นกเหล่านี้เป็นสัตว์รังโรค คือเป็นแหล่งของโรค แต่หากเกิดการติดมายังสัตว์ปีกอื่นๆ เช่น เป็ด ไก่ ในฟาร์มและบ้านที่ไวต่อการรับเชื้อทางระบบหายใจและทางเดินอาหาร สัตว์เหล่านี้ก็สามารถแสดงอาการของโรคได้ (ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน ตั้งสมมติฐานว่า การอพยพของนกจากจีน-ไซบีเรีย มายังประเทศไทย อาจเป้นสาเหตุของความไม่ชอบมาพากลของโรคที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้)
 
           ระยะฟักตัวของโรคนี้ในสัตว์ปีกสั้น เพียงไม่กี่ชั่วโมงถึง 3 วัน ก็แสดงอาการ โดยมีอาการซึม ซูบผอม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด ไอ จาม หายใจลำบาก หน้าบวม หงอนและเหนียงบวม มีสีคล้ำ มีอาการทางประสาท ท้องเสีย อาจตายกระทันหัน โดยไม่แสดงอาการ อัตราการตายสูงถึง 100%
 
จากเป็ดไก่ สู่คน
 
           ในปี 2540 องค์การอนามัยโลก ประกาศพบหลักฐานที่ชี้ว่า โรคไข้หวัดนกซึ่งปกติแพร่ระบาดอยู่เฉพาะในสัตว์ปีก ได้กลายพันธุ์จากการติดเชื้อในสัตว์ปีกด้วยกันมาเป็นจากสัตว์ปีกแพร่เข้าสู่คน 
 
           องค์การอนามัยโลกยกกรณีฮ่องกง เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในปี 2540 มีคนเสียชีวิตเพราะเชื้อ H5N1 จำนวน 6 คน จากยอดผู้ป่วย 18 คน 
 
           หลังจากนั้น  มีรายงานเป็นระยะๆ ว่า ประชาชนในหลายประเทศมีการติดเชื้อชนิด H5N1, H9N2 และ H7N7 ทั้งในฮ่องกง จีน และเนเธอร์แลนด์ 
 
           มาถึงเดือนกรกฎาคม 2546 มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อ H5N1 ขึ้นอีกในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น เกาเหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ลามลงมาถึงประเทศเวียดนาม จนกระทั่งประเทศไทยเจอกับโรคระบาดนี้ 
 
           จนถึงวันนี้ ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่า เชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก สามารถแพร่ระบาดมาสู่คนได้  แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่าเชื้อโรคนี้มีการติดต่อจากคนสู่คน แต่องค์การอนามัยโลกก็ให้ความสนใจและตั้งเป็นสมมติฐานว่าสามารถเกิดขึ้นได้ และออกมาเตือน เพื่อให้มีการระมัดระวังมากขึ้น
 
           สำหรับคนเรา การติดโรคง่ายหรือยากนั้น ขึ้นอยู่กับ “สภาพร่างกาย” ของผู้ที่ติดเชื้อด้วย  เมื่อติดเชื้อจากสัตว์ป่วย  ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี เมื่อเป็นแล้วรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถหายเองได้ หรือทำให้เกิดหวัดธรรมดา คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม แต่ในเด็กอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้   โดยระยะฟักตัวในคนใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน เท่านั้น
 
           ในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ยืนยันว่าเสียชีวิตจากเชื้อโรคนี้ด้วยผลทางห้องปฏิบัติการขั้นสุดท้ายถึง 6 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 8 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์  2546 กระทรวงสาธารณสุข) 
แล้วทำไม จึงเกิดการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตได้
 
           ข้อมูลจากรายงานต่างๆ ประกอบกับความรู้ด้านไวรัสวิทยา ทำให้เรารู้ว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอมีการเปลี่ยนแปลงของจีโนมเป็นระยะๆ  ด้วยโครงสร้างในจีโนมของไวรัสชนิดนี้ที่เป็นอาร์เอ็นเอ ซึ่งแบ่งเป็นชิ้นย่อยๆ ถึง 8 ชิ้น ก็ยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ได้บ่อย 
 
            ...เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี 2 ปี จนถึงร้อยๆ ปี มันสามารถกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ย่อย ซึ่งกระบวนการกลายพันธุ์เราแบ่งเป็น antigenic shift และ antigenic drift 
 
antigenic shift
           เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนยีนข้ามสายพันธุ์ (เช่น คนกับสัตว์ปีก เป็นต้น)  มีการเปลี่ยนแปลง H และ N หรือทั้งสองอย่างจนได้ไวรัสส่ายพันธุ์ใหม่ที่มี H หรือ N ชนิดใหม่เกิดขึ้น โดยพบการเปลี่ยนแปลงของ H ได้บ่อยกว่า N 
 
           ผลของกระบวนการนี้ทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปทั่วโลก (pandemic)
 
           ปกติกระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ยาก และไม่บ่อยครั้งนัก  ซึ่งเมื่อเกิดไวรัสสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ขึ้นมา คนเราก็ไม่มีภูมิคุ้มกัน วัคซีนที่มีอยู่ก็ใช้ไม่ได้ผล

antigenic drift
           เป็นกระบวนการกลายพันธุ์ย่อย เกิดการปลี่ยนแปลงยีนภายในเชื้อไวรัสเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของ H หรือ N หรือทั้งสองอย่างจากการเกิดการกลายพันธุ์เฉพาะจุด (Point mutation) 
 
           ผลของกระบวนการนี้ทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งคราว (epidemic) 
              
              

แล้วทำอย่างไร การวินิจฉัยโรคไข้หวัดนกจึงจะทำได้อย่างทันท่วงที
 
           การวินิจฉัยการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้งในคนและสัตว์นั้นทำได้ยาก เนื่องจากโรคไข้หวัดนกมีอาการที่คล้ายกับโรคทางเดินทายใจเฉียบพลันอื่นๆ จำเป็นต้องทำการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ โดยปกติใช้การเพาะเลี้ยงเชื้อซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-10 วันจึงจะทราบผล ซึ่งไม่ทันต่อการควบคุมการระบาดในสัตว์และในการรักษาผู้ป่วย  และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ (ผู้ป่วยหากติดเชื้อ ต้องให้ยารักษาภายใน 48 ชั่วโมงจึงจะได้ผล)
 
           ในการระบาดที่ฮ่องกงนั้นได้มีระบบการวินิจฉัยโรคโดยอาศัยวิธีการตรวจชนิดให้ผลรวดเร็ว ( rapid diagnostic test ) เพื่อใช้ในการตรวจสอบเบื้องต้นว่าสัตว์หรือในผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อนั้นเกิดจากเชื้อกลุ่มนี้จริงหรือไม่ ซึ่งทำให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาประมาณ 10-15 นาที ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการควบคุมและเฝ้าระวังการติดเชื้อ
 
           ถึงแม้ว่าจะมีความจำเป็นที่ต้องใช้ชุดตรวจดังกล่าว แต่ในช่วงที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดที่จะใช้งานในประเทศไทยเนื่องจากเป็นชุดตรวจที่มีราคาแพง (ประมาณ 1,000 บาทต่อชุด) ไม่สามารถผลิตขึ้นได้ในประเทศ และบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศยังมีกำลังการผลิตที่จำกัด ไม่สามารถรองรับความต้องการหากจำเป็นต้องใช้ชุดตรวจจำนวนมากได้  
 
           ไบโอเทคจึงได้ร่วมกับบริษัท อินโนวา ไปโอเทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กับภาคเอกชนที่มีความชำนาญในพัฒนาและผลิตชุดตรวจวิจัย ทำการวิจัยและพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถทำการผลิตชุดตรวจวินิจฉัยดังกล่าวได้ในประเทศไทย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการควบคุมและเฝ้าระวังโรคดังกล่าว
Innova  Flu-A  ผลจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นประโยชน์
           ผลการพัฒนาตามโครงการนี้ทำให้สามารถผลิตชุดตรวจสำเร็จรูป ชื่อ Innova  Flu-A (อินโนวา ฟลู-เอ) โดยใช้หลักการอินมูโนโครมาโตกราฟฟี ซึ่งใช้ตรวจสอบในเบื้องต้นได้ว่าสัตว์และคนนั้น ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอหรือไม่ 
 
           ภายหลังการพัฒนาชุดตรวจสำเร็จ ผู้เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และห้องปฏิบัติการภาคเอกชน ได้ทำการประเมินคุณสมบัติของชุดตรวจอย่างเป็นระบบในเชิงวิทยาศาสตร์  และพบว่าเป็นชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพสูง มีความเหมาะสมในการใช้งาน โดยชุดตรวจที่ได้ไม่ทำปฏิกิริยาข้ามพวกกับเชื้ออื่น ๆ มีความไวสูง ใช้งานง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่าภายในเวลา 10 นาที สามารถเก็บรักษาอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็น สามารถวินิจฉัยในตัวอย่างที่มีปริมาณมากๆ ได้ และที่สำคัญเป็นการช่วยวินิจฉัยเชื้อโรคเบื้องต้น ซึ่งลดขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัยลงได้ ซึ่งทำให้การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ชุดตรวจดังกล่าวยังมีราคาถูกกว่าของต่างประเทศมากกว่า 3 เท่า คือมีราคาเพียง 190 บาทต่อชุด
 
           นับได้ว่าชุดตรวจวินิจฉัยที่ได้ เป็นผลของการประยุกต์ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/38386

อัพเดทล่าสุด