ไม้ประดับเพื่อชีวิต


1,070 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - ไม้ประดับเพื่อชีวิต

 

                                            
ภูมิแพ้-หอบหืด มาจากไหน

          เดิมที่เป็นที่เข้าใจกันในโลกตะวันตกว่าโรคหอบหืด เป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากละอองเกสรดอกไม้ ส่วนคนไทยมักไม่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ ก็เข้าใจว่าฝุ่นละอองเป็นสาเหตุ แต่การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่าสาเหตุสำคัญของโรคภูมิแพ้ คือสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา โดยเฉพาะในที่ที่เราต้องใช้เวลาอยู่มากที่สุด คือในบ้านและในที่ทำงานนั่นเอง
                                 

ในบ้าน-ในที่ทำงานยังมีสารพิษอีกหรือ ?
          การใช้ชีวิตปัจจุบันต้องอาศัยเครื่องอุปโภคบริโภคมากมายซึ่งทำจากวัสดุต่าง ๆ ที่หลากหลาย เป็นต้นว่าพลาสติก วัสดุเคลือบผิวของใช้ต่าง ๆ ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้คือที่มาของสารพิษในอากาศ ในอาคารบ้านเรือนและที่ทำงานพบสารที่เหมือน ผู้ร้ายสามตัว คือ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทธีลีน (TCE) และเบนซีน มากที่สุด
ฟอร์มัลดีไฮด์  
          เป็นสารที่พบได้ง่ายในสิ่งแวดล้อม ในอาคาร ไม่ว่าในบ้านหรือที่ทำงาน แหล่งสำคัญ ได้แก่ โฟม พลาสติก (ชนิดยูเรีย ฟอร์มัลดีไฮด์) ที่ใช้ฉนวน ในไม้อัดกาว (particle board) ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์สำนักงานในปัจจุบัน ในกระดาษที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษเช็ดมือ-เช็ดหน้า กระดาษห้องน้ำรวมทั้งถุงบรรจุของ  กระดาษไข (ที่ใช้รองอาหาร) สารทำความสะอาดในบ้านหลายตัวมีฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารประกอบ ผลิตภัณฑ์ ในอาคารหลายชนิดใช้ยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์เรซิน เช่น วัสดุเคลือบผิวพื้นกระดาษปิดผนัง แผ่นหลัง ของพรม เสื้อผ้าอัดกลีบถาวร พวกนี้ถูกเคลือบหรือพ่นด้วยยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์เรซินทั้งนั้น  แหล่งอื่นๆ  ที่อาจปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ ได้แก่  เชื้อเพลิงหุงต้ม เช่น  แก๊สหุงต้ม น้ำมันก๊าด และแม้แต่ควันบุหรี่ก็มีสารนี้เป็นส่วนประกอบ
          ฟอร์มัลดีไฮด์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกในดวงตา จมูก และลำคอ ยิ่งไปกว่านั้นฟอร์มัลดีไฮด์ยังเป็นสารที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีได้ง่าย สามารถรวมตัวกับโปรตีนได้ง่ายมาก จึงทำให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง แต่ก่อนที่รายงานเพียงว่าการสัมผัสกับฟอร์มัลดีไฮด์ทำให้เกิดการระคายเคืองตา และปวดศีรษะการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าโรคร้ายแรงที่เกิดจากฟอร์มัลดีไฮด์ คือ  หอบหืด  นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของ Environmental Protection Agency (EPA) ของอเมริกาได้ศึกษาวิจัย ซึ่งได้ผลสรุปว่า หอร์มัลดีไฮด์น่าจะเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งลำคอของผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเคลื่อนที่ (mobile homes) ซึ่งคือรถตู้ที่คนตะวันตก  ใช้เป็นบ้านอยู่อาศัยและเปลี่ยนที่จอดไปเรื่อยๆ
ไตรคลอโรเอทธีลีน  (TCE)  
          เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมชนิดต่างๆ อย่างกว้างขวาง  และส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือสำนักงาน สาร TCE มากกว่า 90% ใช้เป็นตัวทำละลายในงานล้างไขมันจากโลหะ (สิ่งของที่เป็นโลหะที่ใช้ในบ้าน ในที่ทำงานผ่านการล้างไขมันมาแล้วทั้งสิ้น) TCE ใช้ในการซักแห้ง และใช้ในหมึกพิมพ์สีเทา แลคเกอร์ น้ำมันซักแห้ง-ชักเงา และวัสดุประเภทกาวสังเคราะห์ทั้งหลาย ซึ่งสารพวกนี้ คือวัสดุที่ใช้ในการสร้างและตกแต่งภายในอาคาร และเป็นวัสดุสำนักงาน
          การวิจัยในปีพ.ศ. 2518 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของอเมริกา รายงานว่า หนูที่ได้รับ TEC มีอาการมะเร็งตับสูงมาก และต่อมาก็มีการจัดสาร TCE เป็นสารก่อมะเร็งตับ

                                        
เบนซิน
          ใช้เป็นตัวทำละลายโดยทั่วไปและมีปะปนอยู่ในสารสามัญที่ใช้กันเป็นประจำเป็นต้นว่า ในน้ำมันรถยนต์ หมึก น้ำมัน สีทาพลาสติก และยาง นอกจากนี้เบนซินยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมทำสารซักฟอก สารระเบิด  ใช้ในการทำยา และสีย้อมด้วย
          แต่เดิมเป็นที่รู้จักกันมานานแล้วว่าเบนซินทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังและดวงตา ต่อมาการวิจัยพบว่าเบนซินทำให้เซลล์ของแบคทีเรียเกิดมิวเตต (มีลักษณะแตกต่างจากเซลล์เดิม หรือครั้งหนึ่งที่เคยเรียกกันว่าผ่าเหล่า) และพบว่าเบนซินเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีประจักษ์พยานว่าเบนซีนทำให้เกิดลูคีเมียและทำให้เกิดความผิดปกติในโครโมโซมของมนุษย์
          ผิวที่สัมผัสเบนซีนบ่อยๆ จะมีอาการแห้งกร้านอักเสบ  พอง  เป็นแผลพุพอง  การสูดดมเบนซีนปริมาณมากในทันทีจะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ซึม ไม่รู้สึกหิว ตื่นเต้น และมีอาการถูกรบกวนทางจิต นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าทำให้เกิดโรคในระบบเลือด ซึ่งรวมทั้งโรคโลหิตจางและโรคในไขกระดูก
คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 
          เป็นแก๊สพิษอีกชนิดหนึ่งที่พบในบ้าน แม้จะไม่ร้ายเท่าสามตัวแรก แต่ก็มีโอกาสทำอันตรายได้ เนื่องจากแก๊สนี้ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงอาจสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าได้รับที่ความเข้มข้นต่ำ จะรู้สึกเวียนศีรษะ มึน อ่อนเพลีย มีน้ำมูกคล้ายอาการเป็นหวัด ถ้าได้รับในความเข้มข้นสูงอาจทำให้ตายอย่างกะทันหันโดยหาสาเหตุไม่ได้ การตายกะทันหันเกิดขึ้นเพราะเกิดสารพิษคาร์บอนซีฮีโมโกลบิน (carboxyhemolgolbin) ในเลือด ซึ่งขัดขวางไม่ให้ร่างกายได้รับออกซิเจน
          คาร์บอนมอนอกไซด์ในบ้านเรือนมีแหล่งหลักเกิดจาก การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง จากเตาหุงต้มที่ปรับอากาศเข้าไปไม่พอเพียง หรือเครื่องทำน้ำร้อนที่ใช้แก๊ส เตาน้ำมันก๊าด จากควันบุหรี่ จากไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะคนที่ชอบจอดรถยนต์โดยถอยหลังเข้าบ้านควันรถยนต์จึงถูกพ่นเข้าบ้านทั้งในตอนถอยเข้าและตอนติดเครื่องเพื่อออกรถ จนคาร์บอนมอนอกไซด์ ถูกพ่นเข้าไปถูกกับเก็บในบ้าน
          ทุกวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่าไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราก็ต้องอาศัยอยู่กับสารพิษเหล่านี้ตลอดเวลาและยิ่งมากขึ้นทุกวัน เพียงแต่เราอาจไม่รู้สึก ไม่ทราบ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอ วิถีชีวิตของการบริโภคนิยมสมัยใหม่ทำให้เราสัมผัสสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เพราะความนิยมการเปลี่ยนแปลงของใช้ใหม่ ๆ การบริโภควัสดุที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง การเปลี่ยนแปลงสิ่งตกแต่งในบ้านเรือน ในอาคาร แม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน หรือของใช้สำนักงานเราก็เปลี่ยนแปลงกันบ่อย ๆ ยิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าไร เราก็มีโอกาสรับสารเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น รถยนต์ใหม่ เครื่องใช้สำนักงานที่ซื้อมาใหม่ ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นพลาสติก และเรซินเคลือบผิววงจรไฟฟ้าต่าง ๆ ยิ่งเมื่อใช้ความร้อนยิ่งเกิดรังสีและสารพิษจะยิ่งถูกปลดปล่อยเพิ่มมากขึ้นซึ่งคนส่วนมากจะได้กลิ่น แต่ไม่ได้เฉลียวใจว่านั่นคือสัญญาณอันตราย

                                            

ไม้ประดับเพื่อชีวิต...  ดูดสารพิษแทนเรา

          การวิจัยของ NASA ที่ต้องการศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการมีชีวิตของมนุษย์อวกาศ ทำให้ได้ผลพลอยได้ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในพื้นผิวโลก โครงการหนึ่งนั้นคือ Interior Landscape Plants for Indoor Air Pollution Abatement ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่าง  NASA กับ ALCA (Associated Landscape Contractors of America) เพื่อค้นหาสภาพแวดล้อมภายในอาคารที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัยจากสารพิษตามวิธีการทางธรรมชาติ คือใช้ต้นไม้ที่อยู่กับมนุษย์ได้ดีที่สุดตลอดเวลา โครงการได้ทดสอบต้นไม้หลายชนิดที่ใช้ปลูกประดับภายในอาคาร
          ผลการศึกษาพบว่าไม้ประดับที่มีประสิทธิภาพในการขจัดสารพิษในอากาศได้ดีเป็นไม้เมืองร้อน ชนิดที่มีอยู่ดาษดื่นในบ้านเราและเป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ไม่ต้องการดูแลพิเศษใด ๆ เลย แล้วทำไมเราจึงจะไม่ใช้ประโยชน์จากความรู้นี้บ้างหรือ
          ไม้ประดับภายในอาคารไม่ใช่เพียงแต่ให้ความสดใสแก่อาคารเท่านั้น แต่ยังช่วยขจัดสารพิษและฟอกอากาศภายในอาคารอีกด้วย ผลการวิจัยให้ข้อสรุปว่าไม้แต่ละชนิดสามารถขจัดสารพิษได้เฉพาะอย่าง บางชนิดก็ขจัดได้หลายสาร แต่ปริมาณอาจต่ำ
          การทดสอบของ Dr.Wolverton ที่ทดสอบการดูดสารพิษของไม้ประดับ ในห้องปิดที่มีพื้นที่เท่าห้องปกติ (ประมาณ 10 ตารางเมตร) และมีสารเบนซีนที่มีความเข้มข้น 0.235 ppm เป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่า ตีนตุ๊กแกฝรั่งขจัดเบนซีนได้ถึง 90% แต่ขจัด TCE (ความเข้มข้นเริ่มต้น 0.174 ppm) ได้เพียง 11% การทดสอบกับเดหลี พบว่าสามารถขจัดเบนซีน (ความเข้มข้นเริ่มต้น 0.166 ppm) ได้ 80% ขจัดฟอร์มัลดีไฮด์ (ความเข้มข้นเริ่มต้น 10.0 ppm) ได้ 50% และขจัด TCE (ความเข้มข้นเริ่มต้น 20.0 ppm) ได้ถึง 50% เป็นต้น
          ต่อไปนี้จะเป็นรายชื่อของไม้ประดับที่มีประสิทธิภาพในการขจัดสารพิษเฉพาะอย่างตามการแนะนำของ Dr.Wolverton  อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่ามีไม้ประดับอีกหลายชนิดที่แม้ไม่มีในรายชื่อในการกำจัดเฉพาะสารแต่ก็สามารถขจัดสารพิษรวม ๆ ได้หลายสารแต่อาจจะมีอัตราการขจัดที่ต่ำกว่า

ไม้ประดับขจัดฟอร์มัลดีไฮด์

          ไม้ที่ขจัดสารฟอร์มัลดีไฮด์ความเข้มข้นสูงได้ดีที่สุด ได้แก่ ปาล์มไผ่ วาสนา ลิ้นมังกร วาสนาอธิษฐาน เดหลี เศรษฐีเรือนใน ฟิโลเดรนดรอน และพลูด่าง แต่ที่ความเข้มข้นต่ำ ว่านหางจระเข้จะดูดได้ดีกว่า

ไม้ประดับขจัดไตรคลอโรเอทธีลีน (TCE)

          ไม้ประดับภายในอาคารห้าชนิด ได้แก่ เยอร์บีร่า วาสนาอธิษฐาน เดหลี วาสนา และปาล์มไผ่ พบว่ามีประสิทธิภาพในการขจัดสาร TCE ได้ดีที่สุด

ไม้ประดับขจัดสารเบนซีน

          ไม้ประดับที่ขจัดสารเบนซีนได้ดีมากได้แก่ เยอร์บีร่า เบญจมาศ เดหลี วาสนาราชินี ปาล์มไผ่ ตีนตุ๊กแกฝรั่ง และ ลิ้นมังกร

ไม้ประดับขจัดคาร์บอนมอนนอกไซด์
          ไม้ประดับที่ขจัดสารคาร์บอนมอนนอกไซด์ได้ดีมากได้แก่ เศรษฐีเรือนใน และ พลูด่าง 
                                    
ยอดไม้ประดับขจัดสารพิษ

          ไม้ประดับที่เลือกมาข้างบนนั้นเป็นไม้ที่แสดงความสามารถในการขจัดสารพิษแต่ละชนิดได้สูง อย่างไรก็ตามผลการทดสอบยังพบไม้หลายชนิดที่สามารถดูดสารพิษได้หลายสารแต่อาจจะดูดได้ในปริมาณที่ไม่มากเท่าต้นที่ดูดสารโดยเฉพาะตามได้กล่าวมา และที่สำคัญคือเราเองก็ไม่ทราบแน่ว่าในบ้านหรือในที่ทำงานของเรามีสารพิษชนิดใดอยู่และจะปลูกไม้ประดับต้นใด ดังนั้นเราจึงมักต้องการไม้ที่ทำหน้าที่รวม ๆ กันไปได้
          Dr. Wolverton ได้แนะนำไม้ประดับที่มีประสิทธิภาพในการขจัดสารพิษในอาคาร 11 ชนิดแรกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการขจัดสารพิษทั้งสี่ชนิดในอาคาร (ฟอร์มัลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทธิลีน เบนซีน และคาร์บอนมอนอกไซด์) เราอาจเลือกต้นไม้จากรายชื่อดังต่อไปนี้ มาปลูกไว้ในบ้านหรือห้องทำงานบ้าง
               
ปัญหาต่อไปคือ เรารู้จักไม้ประดับเหล่านี้ดีหรือไม่
          ไม้ประดับเหล่านี้มีหน้าตาเป็นอย่างไรเพราะถ้าดูเพียงชื่อ เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าต้นไหนเป็นต้นไหน เพราะว่า ไม้หนึ่งต้นมีเรียกชื่อกันได้หลากหลายมาก หรือในทางกลับกัน ชื่อเดียวอาจใช้เรียกไม้หลายต้น ดังนั้นเพื่อความมั่นใจว่าถูกต้นจึงต้องอ้างอิงจากต้นฉบับเดิม ส่วนข้อมูลพฤกษศาสตร์ และข้อมูลการปลูกผู้ที่สนใจศึกษาจากแหล่งทางต้นไม้โดยตรง

ปาล์มไผ่ (Bamboo Palm ชื่อพฤกษศาสตร์ Chamaedorea seifritzii)
          ปาล์มไผ่ เป็นไม้ต้นขนาดเล็กและโตช้า จึงเหมาะปลูกภายในอาคาร พืชในวงศ์เดียวกัน (วงศ์ Arecaceae เดิมเรียก Palmaceae) ได้แก่ จั๋ง (Lady Palm) หมากเหลือง (Yellow Palm) หมากเขียว (Mc Arthur Palm) ก็ช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ได้ดีมาก ปาล์มสามารถกำจัดสารเบนซีนได้ดีเป็นพิเศษ พืชตระกูลปาล์มชนิดอื่น ๆ เช่น มะพร้าว ก็สามารถเป็นไม้ประดับในอาคารที่ช่วยสุขภาพของผู้อยู่อาศัยได้ดี แต่ต้นอาจจะใหญ่เกินที่จะนำเข้ามาไว้ในอาคาร
                                             

เขียวหมื่นปี (Chinese Evergreen ชื่อพฤกษศาสตร์ Aglaonema sp.)

          พืชในสกุล Aglaonema (วงศ์ Araceae) เป็นไม้ประดับยอดฮิตในปัจจุบัน มีมากมายหลายสี และหลายราคา เช่น มีตั้งแต่ราคานับเป็นล้านจนเป็นบาท แต่โชคดีที่ต้นดูดสารพิษได้ดีที่สุดเป็นชนิดสีเขียวและมีราคาถูกมากที่เรียกว่า เขียวหมื่นปี (Chinese Evergreen) ต้นเขียวหมื่นปีสามารถอยู่ในที่ร่มได้นาน และชอบดินร่วนที่ระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง แต่อะโกลนีซึ่งเป็นพืชในสกุลนี้ชนิดอื่น ๆ ที่ชอบแดดมากกว่า เขียวหมื่นปีสามารถดูดสารพิษได้ดีเพราะมีใบกว้าง มีพื้นที่ผิวใบสำหรับดูดกลืนสารพิษได้มาก

ตีนตุ๊กแกฝรั่ง (English Ivy ชื่อพฤกษศาสตร์ Hedera helix)
          ตีนตุ๊กแกฝรั่งเป็นไม้เลื้อย เกาะอาศัยตามต้นไม้ใหญ่ ไม้ชนิดนี้ดูดสารเบนซีนได้ดีมาก (การทดลองของ Wolverton พบว่า ดูดสารเบนซีนได้ถึง 90%) อย่างไรก็ตามในประเทศตะวันตก ไม้ชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมเพราะในตะวันตกไม้นี้จะโตเร็วจนเป็นวัชพืช และประการที่สองคือ ใบและผลมีสารไกลโคไซด์ที่เป็นพิษซึ่งถ้ากินเข้าไปทำให้ท้องเสีย ถ่ายท้อง ตื่นเต้น กระสับกระส่าย หายใจไม่ออก เป็นไข้ จนอาจถึงโคม่า และเนื่องจากยังมีไม้ต้นอื่น ๆที่ดูดสารเบนซีนได้ดี จึงไม่จำเป็นต้องใช้ต้นไม้นี้ก็ได้ และในบ้านเราไม้ต้นนี้ยังเป็นไม้นำเข้าและมีราคาแพง

วาสนา (Janet Craig ชื่อพฤกษศาสตร์ Dracaena deremensis วงศ์ Agaveceae)
          เป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีการวิจัยโดย NASA และพบว่ามีประสิทธิภาพในการดูดสารฟอร์มัลดีไฮด์ รวมทั้งวาสนาพันธ์อื่น ๆ เช่น วาสนาราชินี (Dracaena deremensis “Warneckil”) วาสนาอธิษฐาน (Dracaena fragrans “Massangeana”) จันผา ขอบแดง (Dracaena marginata) นอกจากนี้ยังมีพวกไผ่กวนอิมด้วยที่สามารถดูดสารพิษได้

เศรษฐีเรือนใน (Spider plants  ชื่อพฤกษศาสตร์ Chlorophytum comosum  ชื่อวงศ์ Liliaceae)
          ไม้ประดับต้นนี้ คนไทยนิยมปลูกในบ้านมานานแล้ว จึงให้ชื่อว่า เศรษฐีเรือนในเป็นไม้ต้นเล็กที่ไม่ต้องการแสงแดดโดยตรง แต่ต้องการแสงสว่างที่มากพอ ปลูกได้ดีภายในอาคารที่มีแสงสว่างเพียงพอ และไม่ต้องการน้ำมาก นิยมปลูกเป็นไม้กระถางแขวนหรือเป็นพืชคลุมดิน เมื่อโตเต็มที่จะขยายพันธุ์โดยการแตกและขึ้นต้นใหม่เป็นขยุ้ม เหมือนขาแมงมุม ฝรั่งจึงเรียก Spider Plants เศรษฐีเรือนในเป็นไม้ประดับที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งที่ดูดสารพิษในอาคาร (การทดลองของ Wolverton ได้ผลว่าดูดคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ 96% และฟอร์มัลดีไฮด์ 86%) 

เดหลี (ชื่อสามัญ Peace Lily, Manau Loa ชื่อพฤกษศาสตร์ Spathiphyllum wallisei วงศ์ Araceae)
          เดหลีเป็นพืชที่ดูดสารพิษได้ทั้ง FM, TCE และเบนซีน และฟอกอากาศได้ดีมาก (การฟอกอากาศของพืชในที่นี้หมายถึงการที่พืชดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (จากลมหายใจคน) และปล่อยแก๊สออกซิเจนซึ่งเป็นแก๊สสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์) ออกมา ไม้ประดับต้นนี้แม้จะดูดสารพิษและฟอกอากาศภายในอาคารได้ดี แต่มักถูกปลูกไว้นอกมากกว่าในอาคาร

ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera ชื่อพฤกษศาสตร์ Aloe barbadensis) 
          ว่านหางจระเข้พบได้ทั่วไปในบ้านเราเป็นไม้อวบน้ำในวงศ์ Liliaceae ใบที่หนาและอวบน้ำทำหน้าที่กักเก็บน้ำได้ดีหรือไว้ใช้ในฤดูแล้ง ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดีไม่ชอบให้รากเปียกชื้นตลอดเวลา ว่านหางจระเข้ชนิดต้นใหญ่ชอบแดดมากกว่าต้นชนิดเล็ก ซึ่งชอบร่มมากกว่าแดด ถ้าปลูกต้นใหญ่ต้องนำออกตากแดดบ้างในตอนกลางวัน ว่านหางจระเข้ดูดกลืนฟอร์มัลดีไฮด์ ที่ความเข้มข้นต่ำได้ดีและปัจจุบันพบมันมีคุณสมบัติรักษาแผลไฟไหม้ได้ดี จึงเรียกว่า Burn plant แต่ยางที่เปลือกใบสีเขียวเป็นพิษ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง เวลานำวุ้นใบมาใช้จึงต้องปอกเปลือกล้างยางให้หมดก่อน

 
ลิ้นมังกร (Mother-in Law’s Tongue, Snake plants ชื่อวิทยาศาสตร์ Sauropus changiana S.Y.Hu วงศ์ Euphorbiaceae)
          ไม้ต้นนี้มีชื่อเรียกกันหลากหลายคนอเมริกันเรียกว่า ลิ้นแม่ยาย (Mother-in-Law’s Tongue เพราะคนอเมริกันมักมีอคติกับแม่ยายว่าพูดมาก แต่ตรงข้ามกับคนไทยซึ่งมักไม่มีปัญหากับแม่ยาย แต่มักมีปัญหากับแม่สามี) ไม้ประดับต้นนี้ มักปลูกเป็นไม้ขอบรั้ว ขอบทางเดินซึ่งที่จริงแล้วมีประโยชน์มากสำหรับปลูกในบ้าน อาคาร ห้องนอน เพราะมีประโยชน์ ในการช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในอาคาร

ไม้ประดับฟอกอากาศ
          ไม้ประดับหลายชนิดอาจดูดสารพิษได้ไม่ดีนัก แต่มีคุณสมบัติอื่นที่เหมาะสมสำหรับการนำมาปลูกเลี้ยงในอาคาร นั่นคือเป็นไม้ฟอกอากาศการฟอกอากาศของต้นไม้ ในที่นี้หมายถึงการที่พืชสามารถดูดสารพิษแล้ว ยังสามารถนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่มาจากลมหายใจของคน) ไปใช้ในการสร้างอาหารของพืช และปล่อยออกซิเจนซึ่งเป็นแก๊สที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตของคน ออกมาแทนที่ จึงทำให้อากาศบริสุทธิ์ ไม้ดูดสารพิษบางชนิดมีสมบัติเป็นไม้ฟอกอากาศ เช่น เขียวหมื่นปี เศรษฐีเรือนใน เบญจมาศ เยอร์บีร่า ส่วนไม้ต่อไปนี้ แม้จะดูดสารพิษไม่ดีนักแต่ได้ชื่อว่าเป็นไม้ฟอกอากาศภายในอาคารได้ดีเยี่ยม
               
 

 ที่มา    https://vcharkarn.com/varticle/38376

อัพเดทล่าสุด