2 นักวิจัยจุฬาลงกรณ์ฯสุดเจ๋งค้นคว้าสารต่อต้านเซลล์มะเร็งสกัดจากแมลงพื้นเมือง และพืชสมุนไพรที่พบในประเทศไทย


1,150 ผู้ชม



หน้าที่ 1 - สารต่อต้านเซลล์มะเร็ง

          เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็ง แม้ว่าปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นในการรักษา แต่ “โรคมะเร็ง” ก็ยังถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นอันดับต้นๆของโลกอยู่ดี โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขนั้นเปิดเผยว่า โรคมะเร็งกลายมาเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยติดต่อกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2542 และมียอดการเสียชีวิตปีละกว่า 50,000 ราย นอกจากนั้นยาเคมีที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรคมะเร็งซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศก็ยังมีราคาแพง และมีผลข้างเคียงมากทีเดียว ...

          ด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงเป็นที่มาที่ไปให้ 2 นักวิจัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะศึกษาสารที่จะสามารถนำมาต่อต้านเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งในอนาคตจะสามารถต่อยอดจากผลการวิจัยไปพัฒนาเป็นยาบำบัดรักษาโรคมะเร็งโดยที่น่าจะมีผลข้างเคียงน้อยลง และมีราคาถูกลงด้วย เนื่องจากสกัดได้จากพืชสมุนไพร และแมลงพื้นเมืองของไทยเรานี่เอง ซึ่งเป็นเจ้าของ 2 ใน 4 โครงงานวิจัยที่ได้รับรางวัลทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด ประจำปี 2008  ซึ่งบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อสนับสนุนโครงงานวิจัยของนักวิจัยไทย และเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของประเทศไทย ไปสู่การยอมรับในระดับนานาอารยประเทศ  
                                         
          ผศ. ดร. จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของโครงการวิจัยเรื่ององค์ประกอบทางเคมีแอกทิวิตีที่ต้านการแบ่งตัวและความเป็นพิษต่อเซลล์ของเซลล์มะเร็ง โดยพรอพอลิสของชันโรง (Trigona laeviceps) ได้อธิบายถึงความสำคัญของงานวิจัยนี้ว่า งานวิจัยนี้สนใจพรอพอลิสจากชันโรง Trigona laeviceps ซึ่งเป็นแมลงพื้นเมืองของไทย โดยเน้นศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ความสามารถขององค์ประกอบที่พบในพรอพอลิสในการต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งที่เลือกมาศึกษา และความเป็นพิษขององค์ประกอบที่พบในพรอพอลิสที่มีต่อเซลล์มะเร็งที่เลือกมาศึกษา ทั้งนี้พรอพอลิส (Propolis) จัดเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่สำคัญอย่างหนึ่งของผึ้ง เป็นยางเหนียวมีสีค่อนข้างไปทางน้ำตาลเข้ม ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณมานานแล้ว 


          “ในส่วนของวิธีวิจัย เริ่มโดยทำการสกัดพรอพอลิสโดยใช้ตัวทำละลายต่างๆ หลังจากนั้นนำสารสกัดอย่างหยาบไปผ่านการวิเคราะห์ พร้อมทั้งวัดปริมาณขององค์ประกอบทางเคมีของ(2)

          พรอพอลิสและทำการตรวจสอบคุณสมบัติของสารสกัดต่อการยับยั้งการเจริญของจุลชีพก่อโรคชนิดต่างๆที่มีความสามารถในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ได้แก่ เซลล์มะเร็งลำไส้ เซลล์มะเร็งหน้าอก และเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ คือค้นพบสารต้านมะเร็งตัวใหม่อันนำไปสู่การพัฒนาเป็นยารักษามะเร็งในอนาคต”ผศ.ดร. จันทร์เพ็ญ กล่าว
                  
          อีกหนึ่งงานวิจัยที่มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับสารต้านมะเร็งเช่นกัน แต่ศึกษาจากพืชสมุนไพรไทย โดยภญ.ผศ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง ภาควิชาเภสัชเวทและศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมทางยาฯ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยเรื่องพืชสมุนไพรไทยที่สร้างอัลคาลอยด์ต้านมะเร็ง: แคมป์โทเธซิน (Thai Medicinal Plant Producing Anticancer Alkaloid: Camptothecin)
 
                                         
          ภญ. ผศ. ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา อธิบายว่า แคมป์โทเธซินเป็นยาต้านมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งของปอดและของรังไข่ ซึ่งสามารถสกัดได้จากแก่นของต้นที่ชื่อแคมป์โทรทิคาอะคิวินาตาร์ที่ผลิตในประเทศจีนมีมูลค่าสูงมาก ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาว่าประเทศไทยของเราจะมีอัลคาลอยด์ที่ชื่อแคมป์โทเธซินชนิดนี้หรือไม่ จุดประสงค์ของการวิจัยนี้ต้องการศึกษาว่ามีพืชสมุนไพรชนิดใดบ้างในสกุล Ophiorrhiza ในไทยที่สามารถสร้าง แคมป์โทเธซินได้ และยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน จากนั้นนำไปศึกษาต่อถึงการกลายพันธุ์ของยีน topoisomerase I โดยหวังว่าจะพบการกลายพันธุ์ในตำแหน่งใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำนายและเลือกใช้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง และยังใช้เป็นเป้าหมายใหม่ของการค้นพบยา นอกจากนี้ยังมุ่งหวังที่จะทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนรากของพืชสมุนไพร ซึ่งในอนาคตอาจใช้เป็นวิธีเพิ่มปริมาณแคมป์โทเธซินแทนการคุกคามพืชในธรรมชาติ 
                                 
          โดยล่าสุดทั้ง 2 งานวิจัยคุณภาพเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด ประจำปี 2008 ซึ่งมอบทุนสนับสนุน   โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ เพื่อให้ผู้รับทุนวิจัยนำทุนที่ได้นั้นไปใช้ประโยชน์ในด้านการค้นคว้าวิจัยผลงานของตนเองอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป ก็ขอร่วมลุ้นให้มีผลวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้โดยเร็ว เพราะถึงแม้ว่าในขณะนี้ทั้งสองงานวิจัยจะยังคงอยู่ในขั้นของโครงงานวิจัย แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง 

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/38273

อัพเดทล่าสุด