นกแอ่นกินรัง: ทองคำขาวแห่งเอเชีย…!


845 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - นกแอ่นกินรัง: ทองคำขาวแห่งเอเชีย…!

 


                                นกแอ่นกินรัง: ทองคำขาวแห่งเอเชีย…!

                  เรื่องราวที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปมปริศนาคาใจของหลายผู้คนที่มีความอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับ "รังนกแอ่น” (Edible-nest Swiftlet) หรือที่ชาวตะวันตก เรียกกันว่า “White Gold” หรือแปลเป็นไทยว่า “ทองคำขาว” ทั้งนี้อาจเป็นว่าฝรั่งเรียกเพื่อประชดประชันชาวเอเชียที่ตั้งราคาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำลายของนกจนแพงลิบลิ่ว ของแพงย่อมเป็นจุดสนใจของใครหลายคน และที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือคำถามที่ว่า แล้วนกแอ่นพวกนี้มีชีวิตอยู่ที่ไหน หรืออยู่กันอย่างไร? อีกคำถามหนึ่งที่น่าจะหาคำตอบก็คือเมื่อรังมันมีราคาแพงนัก จริงๆ แล้วมันมูลค่าเท่าใดกันแน่ และเมื่อมันแพง ทำไมประเทศไทยไม่เพาะเลี้ยงและขายรังมันเสียเลย และคำถามอื่นๆ ที่ดูจะหาคำตอบได้ยากยิ่ง มาร่วมกันหาคำตอบเหล่านี้ด้วยกันเถอะ

                  สิ่งแรกคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นกนางแอ่น (Swallows) และนกแอ่น (Swiftlets) ในแง่ทางวิชาการนั้น มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งอุปนิสัยและลักษณะภายนอก จนนักอนุกรมวิธานได้จัดแยกเอาไว้คนละอันดับ (Order) โดยมีข้อสังเกตบางประการถึงความแตกต่างของนกสองกลุ่มนี้คือ นกนางแอ่น(Swallows) เป็นนกมีปีกแต่ละข้างยาวและกว้างแผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่เรียวแหลม มีนิสัยชอบเกาะตามสายไฟฟ้าเป็นฝูงขนาดใหญ่ และที่พวกเราพบคุ้นเคยกันก็คือ นกนางแอ่นบ้าน (Barn Swallow) ที่มาชุมนุมรวมตัวที่ถนนสีลมในกรุงเทพช่วงฤดูหนาวของทุกปี โดยทั่วไปนกนางแอ่นสามารถพบเห็นได้บ่อยทั้งในเมืองใหญ่ ตามท้องไร่ท้องนา นกกลุ่มนี้สร้างรังบริเวณหน้าผาหรือตามบ้านเรือนด้วยดินโคลนผสมกับเศษพืช ดังนั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่มีรายงานว่ามนุษย์คนใดนำรังของนกนางแอ่นมาปรุงเป็นอาหาร…!


                  ส่วน นกแอ่น (Swiftlets) ที่จะกล่าวถึงเป็น “พระเอก” ของเรื่องนั้น เป็นนกที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่าปีกแต่ละข้างยาวเรียวแหลมไม่แผ่กว้างเป็นสามเหลี่ยม บินได้รวดเร็วกว่า หากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่านกกลุ่มนี้กระพือปีกทั้งสองข้างไม่พร้อมกัน เป็นวงศาคณาญาติใกล้ๆ กันกับนกฮัมมิ่งเบิร์ดในทวีปอเมริกาใต้ โดยธรรมชาติได้ออกแบบให้นกพวกนี้มีขาขนาดเล็ก และน้ำหนักเบามากเพื่อจะได้ปราดเปรียวเวลาบิน และส่วนนิ้วตีนของนกกลุ่มนี้ก็มีแค่ 3 นิ้วที่ชี้ไปข้างหน้าทั้งหมด ไม่มีนิ้วที่ชี้ไปข้างหลัง ดังนั้น ที่เราไม่พบเห็นนกกลุ่มนี้เกาะตามสายไฟฟ้าหรือต้นไม้จึงเป็นเพราะมันไม่มีนิ้วตีนหลังสำหรับเกาะยึดนั่นเอง นกในกลุ่มนี้ทั้งหมดสร้างรังแปะติดตามผนังถ้ำและสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยทุกชนิดใช้น้ำลายของตัวเองเป็นตัวเชื่อมรังยึดติดกับวัสดุอื่น และมีบางชนิดที่ใช้น้ำลายของตัวเองเพียงอย่างเดียว รังของนกกลุ่มนี้เองที่มนุษย์นำมาบริโภคมาเป็นเวลาช้านาน

หากจะย้อนอดีตดูประวัติความเป็นมาของการนิยมบริโภครังนก แม้ไม่บอกทุกคนก็คงเดาถูกว่าคือเริ่มจากชนชาติจีน ซึ่งนิยมกันมาเป็นเวลานานมากและการบริโภคได้เฟื่องฟูมากในสมัยราชวงศ์หมิง ชาวจีนนั้นมี ความเชื่อกันว่ารังของนกแอ่นมีสรรพคุณในแง่ต่างๆ ในการรักษาโรค หรือเป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยความเชื่อในสรรพคุณเหล่านี้เอง จึงก่อให้เกิดการค้าขายรังนกแอ่นบนโลกนี้ขึ้น เท่าที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของพ่อค้าชาวยุโรปพบว่ามีมานานกว่า 400 ปีแล้ว จึงไม่น่าสงสัยว่าเหตุใด นกแอ่นกินรัง จึงได้สูญหายหรือไม่สร้างรังต่อในหลายประเทศอันได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ รวมทั้งตอนใต้ของประเทศจีน

                  อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ว่าประเทศไทยนั้นถึงแม้มีหลักฐานชัดเจนว่ามีกิจการค้าขายรังนกแอ่นตั้งแต่สมัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนกลางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นกแอ่นกินรังก็ยังคงอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ดังจะเห็นได้จากสถิติตัวเลขการส่งออกรังนกแอ่นจากประเทศไทยไปยังเกาะฮ่องกงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณถึง 7,000 กิโลกรัมต่อปี!

จากรายงานจำนวนสมาชิกของนกแอ่นกินรังในสกุล Collocalia จำนวน 14 ชนิด พบว่าทุกชนิดมีถิ่นการกระจายส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยจะขอกล่าวเฉพาะนกแอ่นกินรัง 3 ชนิดคือ  

                  ปัจจุบันยังเป็นที่สับสนกันว่านกแอ่นกินรังที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดไหนกันแน่ ระหว่างนกแอ่นกินรัง และแอ่นกินรังตะโพกขาว หรือพบทั้งสองชนิดเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดถือตำราจากปรมาจารย์สำนักไหน อย่างไรก็ตามรังของนกทั้งสองชนิดนี้ทำจากน้ำลายล้วนๆ ไม่มีสิ่งอื่นมาเจือปน สีของรังจึงมีสีขาวถึงสีแดง เป็นที่นิยมค้าขายกันและมีราคาสูงมาก ในที่นี้จะขอเรียกนกสองชนิดนี้ว่า “นกแอ่นรังขาว” ส่วนนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมนั้น มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าสองชนิดนั้นเล็กน้อย แล้วสร้างรังด้วยน้ำลายผสมกับขนของตัวเอง รังจึงออกมาเป็นสีดำสนิท ขอเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกแอ่นรังดำ”น่าประหลาดใจที่ว่าในหลายๆ ท้องที่มักพบนกทั้งสองชนิดนี้อาศัยหากิน และสร้างรังบริเวณพื้นที่เดียวกัน  

“รู้เขารู้เรา..รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

                  แต่ก่อนที่จะเดินหน้าเล่าถึงเรื่องราวรายละเอียดการศึกษาวิจัยต่างๆ ของนกแอ่นกินรังในประเทศไทย ต้องเข้าใจก่อนว่า การศึกษาวิจัยพัฒนา“ทองคำขาว” ของเราที่ได้จากนกแอ่นกินรัง ต้องเริ่มจากการทบทวนเอกสารที่บันทึกไว้ทั้งหมดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อจะได้ทราบว่าชาติอื่นๆ เขาคิดและทำเรื่องนี้กันถึงไหนอย่างไรบ้าง หรือดังที่ “คัมภีร์ซุนวู” กล่าวไว้ว่า “รู้เขารู้เรา…รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง!”

จากเอกสารพบว่าในพ.ศ. 2539 นักวิทยาศาสตร์จากประเทศอังกฤษและอินโดนีเซียได้รวบรวมเอกสารทางวิทยาศาสตร์ที่เขียนเกี่ยวข้องกับนกแอ่นกินรังตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันไว้แล้ว แต่เห็นแล้วก็ต้องถอนใจเฮือกใหญ่ เพราะมีจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1,500 เรื่อง โดยเริ่มมีรายงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2174 หรือประมาณ 370 ปีล่วงมาแล้ว จากเอกสารทั้งหมดนี้ มีเรื่องที่กล่าวถึงประเทศไทยไม่ถึง 10 เรื่องด้วยซ้ำ ซึ่งพอจะคาดการณ์ได้ว่านกกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อประเทศในแถบภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก จึงได้มีงานวิจัยกันมากมาย ขอเรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นสังเขปดังนี้

โดยธรรมชาติของนกกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษกว่านกชนิดอื่นคือสามารถส่งคลื่นเสียงความถี่สูง (Echolocation) เพื่อใช้ค้นหาทิศทางในที่มืดสนิทได้เช่นเดียวกับค้างคาวกินแมลง (Insectivore bat) เป็นนกที่มีนิสัยการหาอาหารโดยการบินแล้วใช้ปากโฉบจับแมลงกลางอากาศ มีการศึกษาถึงชนิดและจำนวนของแมลงที่เป็นอาหารของนกแอ่นกินรังบริเวณถ้ำที่อยู่บนเกาะบอร์เนียวของประเทศมาเลเซียโดยการผ่ากระเพาะอาหารของนก พบว่ามีแมลงอยู่ในกระเพาะอาหาร มีน้ำหนัก 1-2 กรัม และนับจำนวนตัวได้อยู่ระหว่าง 27-232 ตัว เมื่อคำนวณกลับไปสู่จำนวนประชากรนกทั้งหมดที่มีอยู่พบว่า นกในถ้ำนี้แห่งเดียวช่วยกำจัดแมลงประมาณปีละ 5,000 กิโลกรัม (5 ตัน) หรือนกในถ้ำนี้กินแมลงวันละประมาณ 100,000,000 ตัว (ร้อยล้านตัว) โดยพบว่าแมลงที่เป็นอาหารอยู่ในกลุ่มมดที่มีปีก 60 % กลุ่มปลวกมีปีก 27 % และแมลงอื่นๆ เช่นด้วงปีกแข็ง มวน เพลี้ยและแมลงวันอีก 13 %

                  นกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีฤดูสร้างรังในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน แต่ก็มีรายงานหลายชิ้นที่ระบุว่านกกลุ่มนี้สามารถสร้างรังวางไข่ได้ตลอดทั้งปี พิสูจน์ได้โดยมีการศึกษาถึงอวัยวะที่ผลิตวัสดุสร้างรัง พบว่าเป็น เจ้าต่อมน้ำลาย (saliva glands) ที่อยู่บริเวณคางของนกนี้เอง การศึกษาต่อมาพบว่าต่อมนี้จะพัฒนาจนโตในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมิถุนายน แล้วจะไม่พบต่อมน้ำลายนี้เลยในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม นก 2 ชนิดนี้ใช้เวลาสร้างรังประมาณ 30-55 วัน วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง รายงานทุกฉบับกล่าวตรงกันหมดว่า นกชนิดนี้มีความสามารถในการสร้างรังทดแทน (Re-nest) ได้ทุกครั้งเมื่อรังถูกทำลายหรือเก็บไปก่อนโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเก็บก่อนที่จะมีการวางไข่ของนก โดยทั่วไปหลายประเทศจึงกำหนดให้เก็บรังนกได้ปีละ 2-6 ครั้งต่อหนึ่งฤดูกาล โดยนกจะใช้เวลาฟักไข่อยู่ระหว่าง 20-30 วัน และใช้เวลาเลี้ยงดูลูกอ่อนอยู่ระหว่าง 40-60 วัน

                  ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆ แต่เมื่อไปดูเอกสารอีกหนึ่งกองก็ต้องตกใจเป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นเอกสารเรื่องการทำฟาร์มนกแอ่นกินรังในประเทศอินโดนีเซีย (The Farming of Edible Sweftlets in Indonesia) การทำฟาร์มนกในประเทศนี้หมายถึงการปลูกบ้านทิ้งไว้ให้นกมาทำรังในบ้านแล้วคนก็เข้าไปเก็บรังมาขาย ในเอกสารนั้นระบุว่าเริ่มมีแนวความคิดที่จะพัฒนาการทำฟาร์มในลักษณะนี้มาตั้งแต่ ปีค.ศ.1950 แต่มาประสบความสำเร็จจริงจังหลังค.ศ. 1990 จนมีตัวเลขจำนวนนกที่อยู่ในฟาร์มมากกว่า 40 ล้านตัว จึงไม่น่าแปลกใจว่าจากตัวเลขการนำเข้ารังนกแอ่นของเกาะฮ่องกงเพียงเกาะเดียวประมาณปีละ 160,000 กิโลกรัม เป็นรังนกจากประเทศอินโดนีเซียถึงประมาณ 70,000 กิโลกรัมและจากประเทศไทยเพียง 7,000 กิโลกรัม สำหรับราคาที่ซื้อขายกันที่เกาะฮ่องกงในเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พบว่ามีราคาอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 2,620 – 4,060 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 100,000–180,000 บาทต่อกิโลกรัม! ถ้าหากให้ลองเดาราคารังนกแอ่นในท้องตลาดของประเทศไทยก็คงจะพอเดาๆได้ว่าราคาต่ำสุด ก็น่าไม่ควรจะต่ำกว่า 50,000 บาทต่อกิโลกรัม (จริงๆแล้วไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังด้วย) แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกน้ำลายนกว่าทองคำขาวได้อย่างไร ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียได้ขยายการผลิตและตั้งเป็นสมาคมการเพาะเลี้ยงที่ใหญ่ อีกทั้งยังมีการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจเป็นประจำทุกปี ซึ่งคงเดาได้ว่าค่าลงทะเบียนนั้นถูกหรือแพงเพียงไร…

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างโดยย่อของข้อมูลที่พอจะรวบรวมและนำเสนอมาให้เห็นเพื่อ “รู้เขา” ต่อไปจะเป็นการสำรวจเพื่อคำว่า “รู้เรา”

                  จากการรวบรวมเอกสารภาษาไทยที่กล่าวถึงนกแอ่นกินรังในบ้านเราจนถึงปัจจุบันพบว่ามีเพียง 3 เรื่อง ซึ่งจะขอสรุปให้ฟังคร่าวๆ ว่า นกแอ่นกินรังในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำรังตามเกาะที่อยู่ในทะเลนับได้ถึง 142 เกาะของในท้องที่จังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ พังงา ตรังและสตูล มีการศึกษารายละเอียดของชีววิทยาของนกแอ่นรังขาวบริเวณอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชของวนิสาในพ.ศ.2528 พบว่านกชนิดนี้สร้างรังวางไข่ตลอดปี แต่มีการทำรังวางไข่มากที่สุดในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม รังมีขนาด 5 X 13 เซนติเมตร รังหนักประมาณ 10 กรัมต่อรัง ใช้เวลาสร้างรังประมาณ 30-35 วัน วางไข่ 2 ฟองต่อรัง ไข่มีสีขาวขนาดประมาณ 12 X 20 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 22-25 วัน ลูกนกออกจากไข่ไม่มีขนปกคลุมลำตัวและยังไม่ลืมตา พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกอยู่ประมาณ 35-40 วันจึงจะบินได้ เมื่อนำรังไปวิเคราะห์หาสารอาหารพบว่ามีโปรตีน 60 % ฟอสฟอรัส 0.03 % แคลเซียม 0.85% และโปรแตสเซียม 0.03% 
ตามรายงานของ อ.โอภาส ขอบเขตต์ ซึ่งได้ศึกษาการเก็บรังนกในประเทศไทย พบว่า มีการเก็บครั้งแรกเมื่อนกเริ่มสร้างรังช่วงต้นฤดูก่อนวางไข่ นกจะใช้เวลาการสร้างรังประมาณ 35-40 วัน และเก็บครั้งที่สองเมื่อนกสร้างรังครั้งที่สอง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20-25 วัน และรังที่สามจะใช้เวลาประมาณ 15-17 วัน และเมื่อเก็บไปเรื่อยๆ นกก็จะสร้างรังขึ้นมาทดแทนได้ แต่ต้องเก็บรังก่อนที่นกจะวางไข่

                  ในอดีตเคยเชื่อว่ายิ่งเก็บรังนกออกมากเท่าไหร่สีของรังจะแดงขึ้นเพราะว่านกต้องกระอักเลือดมาสร้างรังใหม่ แต่จากการศึกษาก็พบว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสีของรังนกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของถ้ำที่นกสร้างรัง ถ้ำไหนมีความชื้นสูงหรือมีน้ำซึมจากผนังถ้ำมาที่รังนก รังนกก็จะออกมาเป็นสีแดงไม่ว่าจะเป็นรังที่หนึ่งหรือรังที่สองหรือรังที่สามก็ตาม ด้วยความสามารถผลิตรังที่มีราคาแพงมากจน นายแพทย์สุด แสงวิเชียร สนใจศึกษานกแอ่นกินรังเพื่อหาว่าแท้จริงแล้วรังนกนี้สร้างมาจากอวัยวะส่วนใดของนกกันแน่ จากผลการศึกษาของท่านได้ให้ข้อสังเกตไว้เป็นที่น่าสนใจทีเดียวว่า นกน่าจะผลิตสารเพื่อสร้างรังจากบริเวณกระเพาะพัก (crop) ของนก นับว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงกันต่อไป

                  เมื่อทราบข้อมูลเชิงชีววิทยาของนกแอ่นกันบ้างแล้ว ต่อไปจะเล่าถึงการเดินทางไปดูแหล่งเพาะเลี้ยงในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มนกแอ่นแบบเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย คือที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ตัวอำเภอทั้งช่วงเช้าตรู่และหัวค่ำ ผู้เขียนได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงนกแอ่นนับล้านๆ ตัว บินเต็มท้องฟ้าเพื่อเข้าออกในตัวตึกคล้ายคอนโดมิเนียมที่คนสร้างไว้ให้ และถือว่าเป็นโชคดีที่สุดที่ได้รับความกรุณาจากเจ้าของตึกบางท่านให้เข้าไปศึกษาภายในตัวตึก พบว่ามีรังนกแอ่นเกาะติดตามเพดาน เหมือนกับภาพการทำฟาร์มในประเทศอินโดนีเซียไม่ผิดเพี้ยน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจแทนคนไทยที่มีความสามารถที่ได้สร้างตึก 5-7 ชั้น เพื่อให้นกมาสร้างรังและเก็บมาเป็นสินค้าส่งออกได้ ผู้เขียนได้สอบถามอย่างคร่าวๆ ถึงราคาตึกที่สร้างรวมค่าที่ดินในตอนนี้ตกหลังละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2 กิโลกรัมต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตโดยรอบๆตัวอำเภอปากพนังกำลังมีการก่อสร้างตึกเพื่อดึงดูดให้นกแอ่นอยู่ไม่น้อยกว่า 50 หลัง ที่น่าเป็นห่วงคือไม่รู้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ นกแอ่นหรือตึกจะมีจำนวนมากกว่ากัน

หากมองตัวเลขทางผลผลิตการนำเข้าส่งออกรังนกแอ่นของประเทศไทยล่าสุดในระหว่างปีพ.ศ.2541-2543

พบว่าตัวเลขปริมาณการนำเข้าและส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือมูลค่าตัวเงินดูค่อนข้างแตกต่างกันเหลือเกิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราส่งออกสินค้าคุณภาพต่ำ แต่นำเข้าสินค้าอย่างเดียวกันแต่คุณภาพสูง ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ถ้ามองในแง่ร้ายที่สุดคือต่างชาติเข้าไปย้อม (แมว) รังนก ที่จริงก็เป็นของบ้านเราแต่ไปใส่บรรจุหีบห่อแล้วนำกลับมาขายให้คนไทยในราคาที่แพงกว่าเดิม
  
จะทำฟาร์มเลี้ยงนกแอ่นกินรังในประเทศไทยได้จริงหรือ?

                  หลังจากที่ได้สำรวจข้อมูลของทั้งสองฝ่ายแล้ว เป้าหมายหรือชัยชนะของเราจริงๆ ก็คือ “การทำฟาร์มเลี้ยงนกแอ่นกินรังให้ดีกว่าหรือดีเท่ากับประเทศอินโดนีเซียให้ได้” โดยเป็นคำกล่าวของ รศ.โอภาส ขอบเขตต์ แห่งภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ท่านเล็งเห็นว่าหากเรายังปล่อยให้มีการเก็บรังนกกันในธรรมชาติมาขายอยู่ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายในอนาคต ทั้งนี้เพราะภายใต้กฎหมายการเก็บรังนกพ.ศ. 2542 ที่ได้ปรับปรุงจากกฎหมายพ.ศ. 2482 กำหนดให้แต่ละจังหวัดที่มีรังนกแอ่นเปิดประมูลสัมปทานรังนกในธรรมชาติกันเองโดยมีระยะเวลาสัมปทานคราวละ 5 ปี โดยยอดเงินที่ใช้การประมูลในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป เท่าที่ทราบพบว่ามีตั้งแต่ไม่กี่ล้านบาทจนเป็นหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ใครที่ได้สัมปทานก็ย่อมต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากรังนกให้ได้มากที่สุดเท่าที่ระยะเวลาจะเอื้ออำนวย ถึงแม้ว่ากฎหมายจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้เก็บรังนกได้ปีละสามครั้งเท่านั้น แต่ความเป็นจริงใครเล่าจะเป็นผู้ตรวจสอบตามหมู่เกาะแก่งต่างๆ กลางทะเลอันไกลโพ้น และการปลูกตึกเพื่อดึงดูดนกให้มาทำรังโดยไม่มีการจัดการดูแลนั้นก็หาได้ใช่การเพาะเลี้ยงไม่

                  เรื่องที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องในปัจจุบันก็คือ “การกีดกันทางการค้า” เนื่องจากรังนกที่เก็บได้เกือบทั้งหมดของประเทศไทยใช้เป็นสินค้าส่งออก ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงกว่าในหลายๆ ประเทศ ทำให้เริ่มมีการผลักดันให้นกแอ่นกินรังถูกขึ้นชื่ออยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ตาม   อนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งหมายความว่าประเทศที่จะส่งรังนกออกได้ต้องเป็นรังนกที่ได้มาโดยไม่ไปรบกวนประชากรในธรรมชาติหรือต้องได้จากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ห้ามส่งออกและนำเข้ารังนกแอ่นจากธรรมชาติโดยเด็ดขาด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากหากประเทศไทยยังไม่เตรียมตัวรับสถานการณ์นี้ 
                  อย่างไรก็ตามเพื่อพัฒนาแนวทางการเพาะเลี้ยงนกแอ่นกินรังให้ได้ในประเทศไทย (ซึ่งในปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าเราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการเพาะเลี้ยงจริงๆ ได้เลย) จึงอยากจะขอแบ่งการศึกษาออกเป็นสองส่วนคือ ศึกษาในสภาพธรรมชาติและในสภาพกรงเลี้ยง ดังต่อไปนี้

                  ในสภาพธรรมชาติ เนื่องจากยังตอบคำถามที่ถกเถียงกันไม่รู้จบสิ้นไม่ได้ว่าในบ้านเราจริงๆ มีนกแอ่นกินรังกี่ชนิดกันแน่และในแต่ละชนิดมีการกระจายอยู่ที่ใดบ้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาด้านพันธุกรรม (genetics) ของนกแอ่นกินรังทั้งประเทศ โดยทำการตระเวนเก็บตัวอย่างเลือดนกมาเพื่อตรวจสอบหาความสัมพันธ์ของความเป็นวงศาคณาญาติของนกแอ่นกินรังที่พบในประเทศไทย จากนั้นมีการศึกษาชีววิทยาของนกแอ่นรังขาวและนกแอ่นรังดำโดยการไปเฝ้าสังเกตตามธรรมชาติที่นกสร้างรังอยู่ตามเกาะว่ามีสภาพการดำรงชีวิต สร้างรัง ออกไข่ ฟักไข่ เลี้ยงดูลูกอ่อนรวมทั้งชนิดและปริมาณอาหารที่ใช้ทั้งกินเองและเลี้ยงดูลูกอ่อนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ประกอบในการเพาะเลี้ยง จากนั้นเพื่อต้องการทราบว่านกไปหากินที่ไหน หากินไกลจากรังเท่าใด จึงได้มีการติดวิทยุติดตามตัวนกแล้วปล่อยไป จากนั้นมีการศึกษาเรื่องขบวนการเก็บเกี่ยวรังจากเอกสารและรายงาน โดยพบว่านกสามารถสร้างรังขึ้นมาทดแทน (re-nest)ได้ และมีนกหลายชนิดสามารถออกไข่ขึ้นมาทดแทนไข่ที่หายไป (re-egg)ได้ จึงได้ทดลองเก็บไข่ออกมาเพื่อดูว่านกจะไข่เพิ่มอีกหรือไม่ และได้นำไข่ที่ได้นำมาฟักเอง และทดลองเลี้ยงดูลูกอ่อนอีกต่อไป

ในสภาพกรงเลี้ยง มีการศึกษาโดยมีเงื่อนไขของการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า (Propagation) ซึ่งหมายถึงการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงแล้วให้ผลิตผลได้ดีกว่าธรรมชาติ แต่หากนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงแล้วให้ผลผลิตน้อยกว่าหรือเท่ากับการปล่อยไว้ในสภาพธรรมชาติ จะไม่ถือว่าเป็นการเพาะเลี้ยงและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ไข่ของนกแอ่นที่ทดลองเก็บมาจะนำเข้าสู่ขบวนการฟัก เมื่อฟักได้เป็นตัวจะนำเข้าสู่การเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป นอกจากนี้ อ.โอภาสยังได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เป็นเจ้าของสัมปทานให้นำลูกนกแอ่นกินรังที่พลัดตกมาจากรังมาพยาบาลและเลี้ยงดูในกรงโดยจะเลี้ยงจนแข็งแรงและนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป ปัจจุบันทุกหัวข้อของการศึกษาวิจัยของนกแอ่นกินรังกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยกำลังรวบรวมสรุปผลออกมาทั้งในแง่บวกที่มีความเป็นไปได้ในการทำฟาร์ม และในแง่ลบที่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการทำฟาร์ม

                  จากภาพรวมผลของการศึกษาในปัจจุบัน ทำให้พอจะหลับตาจินตนาการวาดภาพฟาร์มเลี้ยงนกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังบางตัวโผบิน บางตัวบินโฉบอาหารที่ทางฟาร์มพ่นออกมาจากท่อ ในขณะที่นกบางตัวกำลังใช้น้ำลายทำรังที่ฝาผนังห้อง มีพ่อแม่นกบางตัวกำลังเลี้ยงดูลูกอ่อน โดยมีคนถือตะกร้าเดินเก็บรังจากฟาร์ม ซึ่งหากมี "รายการฝันที่เป็นจริง" เกิดขึ้นในประเทศไทย รังนกจะเป็นสินค้าออกที่ทำเงินตราต่างประเทศได้มาก หรือหากมีเกษตรกรสนใจการเพาะเลี้ยงกันกว้างขวางมากขึ้นก็เท่ากับเพิ่มสาขาอาชีพเกษตรอีกหนึ่งสาขา หรือหากมีผลผลิตมากขึ้นจนรังนกราคาถูกลง คนไทยธรรมดาสามัญที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐีก็จะมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสรังนกได้เช่นกัน… 
 

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/37340

อัพเดทล่าสุด