งานวิจัยชุดตรวจวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมและข้อเข่าอักเสบ


1,248 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมและข้อเข่าอักเสบ


รศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเสิศ กับบรรยากาศสบายๆของห้องทำงาน

                   ห้องทำงานของ รศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูวุ่นวายตั้งแต่เช้าของวัน จากจำนวนนักศึกษาแพทย์ ที่เข้าออกระหว่างห้องปฏิบัติการและห้องทำงานของอาจารย์เพื่อขอคำปรึกษา  เป็นทั้งเรื่องชั้นเรียนและขั้นตอนการทำงานต่อยอดงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2550 ประเภทงานวิจัยเชิงวิชาการและโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก  งานที่ว่าคือ งานวิจัยชุดตรวจวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมและข้อเข่าอักเสบ

                 ด้วยประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับโรคข้อเข่ามากว่า 15 ปี รศ.ดร.ปรัชญา ได้เก็บเกี่ยวมาเป็นผลงานที่ไม่ด้อยไปกว่าต่างประเทศ ทั้งนี้ยังได้มีการแตกยอดความรู้ไปยังโรคต่างๆ ทั้งชุดตรวจโรคตับ ข้ออักเสบ และชุดตรวจข้อเข่าเสื่อม 
ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าคนไทยจะต้องมีเวชภัณฑ์ราคาถูกใช้  และมีเป้าหมายที่จะส่งออกเวชภัณฑ์ดังกล่าวไปตลาดต่างประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล่ำทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้อาจารย์ ปรัชญายังได้มีมุ่มมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการวิจัยของบ้านเราอีกด้วย


                 รศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ  เริ่มบรรยายให้ทีมงานของเราฟัง “โรคข้อเสื่อมมันจะมีอุบัติการณ์ประมาณ 10% เท่ากับคนในประเทศ 100 คน มีโอกาสที่จะเป็น 10 คน คนไทยมี 60 ล้านคน ก็จะมีคนที่เป็นโรคข้อเสื่อม 6 ล้านคน มีคนวิจัยแล้วเขาบอกว่า คนหนึ่งคนที่เป็นโรคนี้จะเสียค่ารักษาประมาณ 5,000 เหรียญต่อปี เป็นเงินไทยก็ประมาณ 150,000บาท เราลองเอาไปคูณกับ 6 ล้านคนดูสิครับ ว่ามันเป็นมูลค่าขนาดไหน  แล้วมันยังมีค่าเสียโอกาสอื่นที่ไม่เป็นตัวเงินอีก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นโรคข้อเสื่อม ผมก็เดินมาสอนหนังสือเด็กไม่ได้  ผมก็ไม่มีรายได้”

                 “ในการรักษาโรคข้อ ปัจจุบันวิธีการที่หมอเชื่อที่สุดคือ การใช้ x-ray แต่กว่าที่เราจะเห็น กระดูกอ่อนของหัวเข่ามันก็เสียไปแล้ว ถ้าเรา x-ray มาแล้วมันเป็นปัญหา ก็แสดงว่า มันรักษาไม่ได้ บริเวณภายในข้อเข่ามันไม่เหมือนกับผิวหนัง ถ้ามีดบาดผิวหนังมันก็ซ่อมแซมตัวเองได้ ข้อมันซ่อมตัวเองไม่ได้ มันเสียแล้วเสียเลยไม่มีทางรักษา ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด เราก็ต้องตรวจว่าใครเป็นโรคข้อเสื่อมให้เร็วที่สุดก่อนที่มันจะเป็น แล้วก็หายารักษา”

                 “ผมเลยมาคิดว่าเราจะตรวจคนที่กำลังจะเป็นโรคนี้ได้อย่างไรให้เร็วที่สุด” อ.ปรัชญาพูดต่อ “เราก็เลยมาวิจัยกับสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า  Hyalolonic Acid(ไฮยาโลโลนิค เอซิด)หรือ HA สารตัวนี้มันจะมีทั่วร่างกายเรา ทั้งผิวหนัง ทั้งกระดูกอ่อน ถ้าพบว่าเมื่อไรก็ตามที่มีกระบวนการอักเสบของร่างกายเกิดขึ้น ร่างกายก็จะมีการผลิต HA มากขึ้น  อธิบายง่ายๆ HA ก็เป็นสารตัวเดียวกับพวกสถานเสริมความงามชอบเอามาใช้โฆษณา เช่น เรามีการใส่ HA ลงไปบนผิวหน้า ทำให้หน้าเราดูอ่อนกว่าวัย ซึ่งอันที่จริง HA มีคุณสมบัติ ดูดน้ำไว้ประมาณพันเท่า ตามสภาพของเข่า สารตัวนี้ก็มีหน้าที่เหมือนจารบี ไปอยู่ตามข้อให้มันลื่นลดแรงขัดสี ดังนั้นคนที่เป็นโรคเข่าเสื่อมมันก็มีกระบวนการที่จะทำลายสารตัวนี้อยู่มาก และร่างกายก็มีการสร้างขึ้นมาใหม่มากด้วยเช่นกัน


 พี่นักศึกษาแพทย์ ป.เอก ม.เชียงใหม่ กำลังทำงานอย่างมีสมาธิ ในแลปปฏิบัติการ

                 “ดังนั้น เราจะมีการตรวจกระบวนการของร่างกายตรงนี้ได้หรือไม่? ก็เลยคิดว่าเราน่าจะพัฒนาน้ำยาที่ใช้ตรวจ HA ขึ้นมา โดยมีฐานคิดที่ว่า ถ้ามีอาการข้ออักเสบร่างกายของเราก็จะมีการผลิตสารตัวนี้ขึ้นมากขึ้นกว่าเดิม”

                 “อันนี้มันก็จะมาโยงกับโรคตับ เพราะเราวิจัยมาต่อเราก็พบว่า HA มันจะถูกนำไปทำลายที่ตับ ตับเหมือนเป็นโรงงานกำจัดขยะ และส่วนอื่นๆในร่างกายก็จะถูกนำไปทำลายที่ตับ ประมาณ 90% หากวันหนึ่งตับทำงานผิดปกติหรือเสีย มันก็เหมือนกับเราใช้งานโรงงานกำจัดขยะไม่ได้ ขยะมันก็จะเต็มเมือง ฉะนั้นเมื่อตับเสีย HA มันก็จะมีปริมาณมากขึ้นในร่างกาย”

                 “สำหรับคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมแต่ตับปกติมันก็ยังอยู่ในระดับที่เราสามารถตรวจได้ ในขณะเดียวกันคนที่เข่าปกติแต่ตับไม่ดี เราก็สามารถที่จะบอกได้เช่นกัน ซึ่งองค์ความรู้เรื่องการตรวจวัดนี้ ใครๆเขาก็รู้กัน แต่ผมเป็นคนที่พัฒนาชุดตรวจนี้”

                 “โรคตับมีหลายโรค ตับอักเสบ ตักแข็ง มะเร็งตับ เราพบว่าโรคตับที่มีปริมาณของ HAมากที่สุด คือโรคตับแข็ง อาการของโรคคือ ตัวของตับเองมันจะทำลายHAได้น้อยลง และจะเกิดขบวนการแข็งตัว ในตอนนี้วิธีการตรวจตับแข็งเขาทำอย่างไร เขาก็เอาเข็มแทงเข้าไปในตับ แล้วก็ดูด แล้วก็เอาเนื้อตับบางส่วนขึ้นมาตรวจ ให้เรานึกดูว่ามีหมอถือเข็มมาขอแทงตับเรา เราจะยอมให้หมอตรวจด้วยวิธีการนี้ไหม? แน่นอนว่าถ้าเป็นการเจาะเลือดเราจะไม่ปฏิเสธ ชุดตรวจของผมสามารถที่จะตรวจจากเลือดได้”

“ดังนั้นผมก็เลยได้น้ำยาสำเร็ปรูป ซึ่งพัฒนาขึ้นสมบรูณ์แบบที่ห้องแลปนี้ แล้วเราก็ไม่ได้ซื้อเทคโนโลยี่มาจากใคร เรามีสิทธิบัตร เรามีผลผลิต ตอนนี้มีคนสนในซื้อลิขสิทธ์ตัวน้ำยาของเราไปผลิต เป็นบริษัทไทยที่อยู่ในประเทศสิงคโปร”
“ในห้องแลปนี้ ผมก็จะผลิตขายคนไทย ส่วนที่สิงคโปรเขาก็จะผลิตเพื่อไปขายต่างประเทศ เราก็จะมีเงินจากสิงคโปรเข้ามา เราไม่เสียอะไร  เราได้  เราไม่ขายให้เขาทั้งหมด ทุกอย่างอยู่ที่เรา”

                “ส่วนเรื่องที่ผมได้รับรางวัลจาก สกว.” อ.ปรัชญากลับมาคุยเรื่องเดิม “ในข้อกระดูกอ่อนมันมีการปล่อยสารชีวะโมเลกุลออกมา ในตัวมันเองก็มีด้วย พอมันถูกย่อยสลายด้วยกระบวนการทางพยาธิสภาพ หรือการเป็นโรค กระดูกอ่อนมันจะเสื่อมหรือยุ่ยลง มันก็จะมีการปล่อยสารออกมา สารตัวนั้นเราสามารถตรวจวัดได้ด้วยการผลิตน้ำยาที่เรียกว่าAntibody(แอนติบอดี้) แอนติบอดี้มันก็จะไปจับกับสารตัวนั้นแล้วเราก็จะสามารถตรวจจับได้ในเลือด เราก็ได้ เป็น Monoclonal Antibody(โมโนโคนอล แอนติบอดี้)ซึ่งตัวนี้เราได้จดสิทธิบัตรไปทั่วโลกแล้ว ในปีนี้เราจะทำมาเป็นชุดน้ำยาอีกชิ้นที่ออกมาคู่กับ HA ตัวแรก  แต่ตัวที่สองจะตรวจเลยว่าข้อเข่าของคุณมีแนวโน้มจะเสื่อมยังไง”

                 “พอเอ็นหัวเข่ามันขาดก็จะเกิดการไม่เสถียนของเข่า  ตัวอย่างนักกีฬาดังๆ ก็ไมเคิล โอเว่น คนที่เข้าคิวรอการรักษากรณีนี้มีมาก เราก็ลองเอาเลือดของคนที่เอ็นขาดกับคนปกติมาลองพิสูจน์ดู น้ำยาตัวนี้สามารถบอกเราได้เลยว่า คนที่เอ็นขาดนั้นมีปัญหาเรื่องเข่า นั้นหมายความว่า ถ้าผมใช้น้ำยานี่กับใครก็ได้ ผมสามารถบอกได้เลยว่า คนนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือ ไม่มีแนวโน้ม โดยตรวจวัดได้จากเลือด”

“สารโมโนโคนอล แอนติบอดี้ ถูกสร้างมาจากเนื้อเยื้อเกี่ยวพัน  เนื้อเยื้อเกี่ยวพัน คือ อวัยวะหลายอย่างที่ยึดกันไว้ได้ เช่นรังไข่ของผู้หญิง มดลูก ถือเป็นเนื้อเยื้อเกี่ยวพัน เราก็เลยเอาเลือดของคนที่เป็นมะเร็งรังไข่ เอามาตรวจกับน้ำยาชุดนี้  ปรากฏว่าเราสามารถที่จะตรวจวัดได้ สารโมโนโคนอล แอนติบอดี้ ตัวนี้ ไม่เพียงแต่สามารถที่จะตรวจโรคข้อเข่าเสื่อมได้แต่ยังสามารถที่จะตรวจวัดมะเร็งบางชนิดได้”
“ดังนั้นหนึ่งชุดน้ำยาสามารถที่จะตรวจได้หลายโรค”
 อ.ปรัชญาเน้น

                 “กับคำถามที่ว่า ถ้าน้ำยาไม่สามารถตรวจโรคที่จำเพาะได้ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร?” อ.ปรัชญา ตอบข้อสงสัยของทีมงาน “มันมีประโยชน์ตรงที่ว่า เมื่อคนไข้มาพบหมอ คนไข้ก็จะถูกถามจากหมออยู่แล้วว่าเป็นอะไร ซึ่งคนไข้ก็ต้องบอกอาการหมอไปว่า เขาเป็นอะไร มีอาการอย่างไร หมอก็จะทำการตรวจร่างกายว่าคนไข้ตัวเหลืองตาเหลืองหรือเปล่า? แต่นั้นหมอยังไม่รู้ ว่าเรากำลังเป็นอะไร เพราะหมอก็ไม่เห็นภาพ สิ่งที่หมอจะเชื่อมั่นได้คือ หมอก็ต้องทำการตรวจโดยการ x-ray ทำสแกน เจาะตับ ตรวจเข่า หรือ ใช้น้ำยาเราสองชุดน้ำยา มันจะทำให้หมอมีความมั่นใจในการวินิจฉัยโรค”

“โรคข้อเสื่อมเราทำมาเยอะมาก เราทำในสัตว์ เช่น หมา และ ม้า   มันจะเป็นประโยชน์เรื่องของสัตวบาล หากเราจะไปเจาะดูเข่าม้า เป็นอะไรที่เสี่ยงมาก เจ้าของเขาไม่ให้เจาะ แต่ถ้าเป็นแค่เจาะเลือด มันก็ง่ายขึ้น”

                 “หลักการทำงานของหมอ สำคัญๆจะมีอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่งเราต้องรู้ให้ได้ว่า มันเกิดสภาพอย่างนั้นมาได้อย่างไร สอง คือวินิจฉัยให้เร็วที่สุด สาม คือการรักษาที่ถูกต้อง ในแลปของเราตอนนี้เราเจอสมุนไพรที่จะนำมารักษาโรคพวกนี้ได้ และได้นำมาสกัดแล้ว ตอนนี้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพเขาดูจากงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ ตอนนี้ผลงานของแลปเรามีตีพิมพ์ไปแล้ว เรามีทั้งองค์ความรู้ ทั้งชุดตรวจ และยารักษา ครบทั้งสามอย่าง”


 


 พระเอกของงาน ชุดน้ำยาตรวจข้อเข่าเสื่อม และ Monoclonal Antibody

เมื่อทีมงานถามถึงงานวิจัยที่ อ.ปรัชญา กำลังทำอยู่และจะพัฒนาไปในอนาคตคืองานอะไร  ท่านพาเราไปดูงานเรื่องกระดูดอ่อน

                 “กระดูกอ่อนมันจะเป็นรูปจันทร์เสี้ยว ปกคลุมอยู่ตรงข้อ” อ.ปรัชญาเริ่มบรรยายให้ทีมงานฟังต่อ “ดังนั้นถ้าไม่มีกระดูดอ่อนเวลาเรายืนขึ้นน้ำหนักของตัวเราจะทำให้กระดูกขาทั้งสองข้างแตกได้ ร่วมทั้งกิจกรรมต่างๆในชีวิต เช่นการเดิน วิ่ง กระโดด หรือกระโดดจากที่สูง ยกของหนัก น้ำหนักที่ลงมาสู่ขาของเรามีเยอะมาก โครงสร้างของกระดูกอ่อนจึงเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ น้ำหนักที่มากดทับไปในกระดูกอ่อนเช่นเมื่อเรายืนขึ้น โมเลกุลของน้ำในกระดูกอ่อนมันจะถูกรีดออกไป ต้องมองในระดับโมเลกุลนะ แล้วหากเรานั่งลงมันก็จะดูดน้ำกลับคืน เหมือนกับมันเป็นฟองน้ำชนิดพิเศษ  วิธีการรักษาด้วยยาจะไม่หาย มันแค่ระงับหรือเสริมให้มีสภาพดีขึ้นนิดหน่อย ถ้าเสื่อมไปแล้วก็จะไม่สามารถทำให้ดีเหมือนเดิมได้ ต้องเปลี่ยนไปใช้ข้อเทียม ราคาอยู่ประมาณ สองแสน ถึง ห้าแสนบาท”

“ถ้ามีกรณี กระดูกเสียนิดเดียวไม่ทั้งอัน วิธีการสมัยปัจจุบันคือหมอจะเจาะไขกระดูกขึ้นมาแล้วให้มาซ่อมแซมส่วนที่เสีย แต่ไขกระดูกมันก็ไม่ใช่เนื้อกระดูกอ่อน วิธีการของเรา คือเราไปตัดเอาเซลล์ที่ดีของกระดูกอ่อนมาเพาะเลี้ยง แล้วฉีดกลับเขาไป เราเรียกว่า วิศวกรรมเนื้อเยื้อ วิธีการนี้เขาเรียกว่า Regenerative Medicine(รีเจ้นเนอร์เลทีฟ เมดดิซีน) คือ วิทยาการการฟื้นฟูให้เนื้อเยื้อมันเกิดขึ้นมาใหม่  แนวโน้มของวิทยาศาสตร์การแพทย์ในอนาคต จะต้องเน้นมาทาง รีเจ้นเนอร์เลทีฟ เมดดิซีน ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำเรื่องนี้อยู่ แลปเรามีเนื้อเยื่อที่เพาะเลี้ยงมากที่สุดในประเทศ”

“งานของเราจะมีการขยายไปที่อื่น โมโนโคนอลแอนติบอดี้ เหมือนเป็นจุดเริ่มต้น เราขยายไปสู่โรคตับ ไปสู่สัตวแพทย์ ไปสู่ทันตแพทย์ เช่น กระดูกอ่อนที่รากฟันเป็นปัญหาโรคเหงือก และสุดท้ายไป วิศวกรรมเนื้อเยื่อ การเพาะเซลล์”

              “สิ่งที่เราอยากจะทำต่อไปและหวังไว้ในอนาคต คือ หนึ่ง สร้างชิ้นกระดูกอ่อนเทียม สอง คือ แยกเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือด สาม เราจะค้นหายาที่มีผลระงับการเสื่อมของกระดูกอ่อนจากสมุนไพรไทย  แล้วผมก็ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ผมอยากจะทำในบ้านเรา ว่ากันว่าฝรั่งเข้ามาเมืองไทยหยิบใบไม้ไปหนึ่งใบ เขาเอาไปทำอะไรที่บ้านเขาได้ตั้งหลายอย่าง ฝรั่งใช้ห้องปฏิบัติการทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เล็กกว่าพื้นที่ที่เราใช้ปลูกข้าว แต่ผลิตภัณฑ์ของเขามีมูลค่ามากกว่า ดังนั้นวิชาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในบ้านเรายังขาดการสนับสนุนการวิจัย การหาองค์ความรู้วิชาการที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องซื้อต่างชาติ อย่างในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรามีนักวิจัยเก่งๆหลายคน”

“เราได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาคณะแพทย์ศาสตร์ มหาลัยเชียงใหม่  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโยลีชีวภาพแห่งชาติ และ สภาวิจัยแห่งชาติ เราได้ทุนเข้ามาใช้เฉลี่ยรวมกันปีประมาณ 4 - 5 ล้านบาท ซึ่งไม่มาก บ้านเรายังขาดงานวิจัย ขาดนักวิจัย ที่สำคัญขาดงบวิจัย ประเทศอื่นๆ เขาให้งบวิจัยเยอะมาก ต่างกับประเทศเรา หากมองว่างานวิจัยไม่จำเป็น วันหนึ่งเราอาจจะต้องซื้อ HA จากต่างประเทศ อาจจะมีมูลค่าถึง สองหมื่นบาท เราต้องปลูกข้าวกี่เกวียน แล้วของเรามีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า โดยที่เราไม่ต้องเสียอะไรเลยเพราะมันเป็นของเราที่ได้มาจากงานวิจัยของเราเอง”

หลังจากเสร็จจากการเดินดูห้องทำงานของอ.ปรัชญา พร้อมฟังบรรยาย อาจารย์ก็ฝากการบ้านให้พวกเรา

              “ผมไม่ได้เป็นพวกต่อต้านหรือหัวรุนแรง แต่ผมอยากจะฝากบอกให้เราได้คิดว่า บิล เกลต เจ้าของไมโครซอฟ เขายังตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการวิจัย หากใครมีงานวิจัยดีๆก็สามารถมาขอเงินเขาไปเป็นทุนได้  แล้วคนบ้านเราที่มีเงินเป็นร้อยล้านพันล้านทำอะไร แบ่งมาสัก 5% เพื่อสนับสนุนการวิจัยในประเทศไทยให้เราพัฒนาด้านองค์ความรู้ต่างๆดีกว่าเอาไปทำอย่างอื่นนะผมว่า” อ.ปรัชญา ทิ้งท้าย 
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/37121

อัพเดทล่าสุด